สุจิตต์ วงษ์เทศ : ประเพณี 12 เดือน รับขวัญรวงข้าว กระยาสารท เดือนสิบ

เดือนสิบ (ทางจันทรคติ) เป็นช่วงฝนตกหนักต่อเนื่อง มีน้ำป่าไหลนองหลาก การเดินทางลำบากทั้งทางน้ำทางบก

คนทั่วไปหลบฝนหลบน้ำ ไม่เดินทางไกล ต้องคอยดูแลเอาใจข้าวในนา


พิธีสารท
ทวาทศมาส โคลงดั้น ยุคต้นอยุธยา พรรณนาว่ามีพิธีสารท ทำบุญเลี้ยงพระด้วยถั่วงา และข้าวกวนด้วยน้ำอ้อย น้ำตาลหรือน้ำผึ้ง เรียกกันสืบถึงปัจจุบันว่ากระยาสารท ดังนี้

๏ เดือนภรรบัทศารทคล้อย    คืนไกล
เชิญบิดรมารดา                  พร่ำพร้อง
ถวายคิดจำหน่ายใน             บัวบาท พระนา
แลบ่เห็นน้องน้อง                เมื่อใด ฯ

ฯลฯ

๏ เดือนสิบถถั่นแท้              เททรวง พี่แม่
เดือนยาตรมาเยียวหยิบ        แม่ผ้าย
เรียมโหยรลุงลวง                ลาญสวาดิ
ละพี่เดียวให้หว้าย              โศกศัลย์ ฯ

๏ พรรษาภิเษกสร้อย          สรรเพชญ์
เคยบำรุงรสธรรม์              ที่ไท้
โอ้แก้วกับแดเดจ               เดียวจาก ไปฤๅ
ละแต่ภรรดาให้                แหบโหย ฯ

กฎมณเฑียรบาล นอกจากมีพิธีภัทรบท (คือ สารท) แล้ว ยังมีพิธีทอดเชือกดามเชือกเกี่ยวกับช้าง และมีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา มีความว่า

“เดือน 10 การพิทธีพัทรบท ทอดเชือกดามเชือกถวายบังคม เลี้ยงลูกขุนถือน้ำพระพิพัท”

ยุคปลายอยุธยา มีพระราชนิพนธ์นิราศธารโศก ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) พรรณนาขยายความทั้งพิธีสารทและพิธีทอดเชือกดามเชือก ว่าเกี่ยวกับช้างต้นและม้าต้น ความดังนี้

๏ เดือนสิบเจ้าสร้อยสวาท  พิธีราชตามโบราณ
ช้างม้าอ่าสระสนาน          ผัดพานไล่ไม่เห็นอร ฯ

๏ ภัทรบทดลมาศแล้ว       สงสาร
สารทพิธีโบราณ              ห่อนเว้น
ช้างม้าอ่าสระสนาน         วรรูป
เขาผัดพานไล่เหล้น          ไป่ได้เห็นอร ฯ


พิธีพราหมณ์ ไม่พุทธ
พิธีภัทรบทในเดือนสิบเป็นของพราหมณ์ ส่วนพิธีสารทก็เนื่องในพิธีพราหมณ์ ร.5 ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในพระราชพิธีสิบสองเดือน ดังนี้

“ข้าพเจ้าได้พบในหนังสือนพมาศ ได้ความชัดว่า พิธีภัทรบท เป็นพิธีของพราหมณ์ทำอย่างไสยศาสตร์แท้ ไม่ได้เกี่ยวกับพุทธศาสน์ แต่เป็นเครื่องนำหน้าพิธีสารท

พิธีเดือน 10 คงเป็นอันที่พราหมณ์ทำส่วนของพราหมณ์เองในกลางเดือนพิธีหนึ่ง เพื่อจะเป็นการชำระบาปของตัวให้บริสุทธิ์ไว้ทำการพระราชพิธีสารทซึ่งจะมีต่อปลายเดือนภายหลังพิธีแรก

คือพิธีกลางเดือนนั้นเรียกว่าพิธีภัทรบท พิธีหลังคือพิธีปลายเดือนนั้นเรียกว่า พิธีสารท”

“การพิธีสารทนี้เป็นของพราหมณ์ พุทธศาสนาทำตามอย่างพราหมณ์ การที่กวนข้าวปายาสหรือข้าวทิพย์ก็ดี ทำยาคูด้วยข้าวใหม่ซึ่งออกรวงเป็นน้ำนมก็ดี ก็เป็นลัทธิของพราหมณ์หรือของประเทศซึ่งนับถือพราหมณ์ ทำเลี้ยงพราหมณ์ ซึ่งเป็นที่นับถือของคนในประเทศนั้นมาก่อนมีพระพุทธศาสนาช้านาน”


รับขวัญข้าวตั้งรวง
เดือนสิบของที่ราบลุ่มเจ้าพระยาภาคกลาง ตั้งแต่ตอนบน (สุโขทัย-อุตรดิตถ์-พิษณุโลก) ลงมาถึงตอนล่างรอบอ่าวไทย จะมีน้ำนองหลากทุ่งนา ข้าวโตเต็มที่ เริ่มตั้งรวงมีเมล็ดข้าวอ่อนๆ เรียก ข้าวน้ำนม

ตรงนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญช่วงหนึ่งของชาวนายุคดึกดำบรรพ์ที่ต้องพึ่งพาธรรมชาติ เกรงภัยอันตรายจะเกิดขึ้นทำให้รวงข้าวเสียหาย เลยต้องมีพิธีรับขวัญหรือสู่ขวัญ แล้ววิงวอนร้องขออำนาจเหนือธรรมชาติ ให้ช่วยคุ้มครองป้องกันรวงข้าวอ่อนๆ นั้น เพื่อให้เติบโตขึ้นจนเม็ดข้าวแก่ จนเก็บเกี่ยวไว้กินได้ทั้งปีต่อไป

เมื่อรับศาสนาฮินดู-พุทธจากชมพูทวีป (อินเดียโบราณ) แล้ว ผู้คนในสุวรรณภูมิ (อุษาคเนย์) ก็ปรับพิธีพราหมณ์-พุทธ ให้เข้ากับผีที่เป็นความเชื่อดั้งเดิม โดยยกข้าวเป็นเรื่องหลักในการทำบุญเลี้ยงพระ แล้วเลี้ยงผีไปพร้อมกัน เช่น พิธีสารทมีกระยาสารท, พิธีกวนข้าวทิพย์มีข้าวทิพย์, จนถึงพิธีเลี้ยงผี (เปรต) มีข้าวเปรต ฯลฯ

สารท เป็นภาษาสันสกฤต มีรูปคำเดิมว่า ศารท หมายถึง สุภาพ เรียบร้อย, ใหม่

อีกความหมายหนึ่งคือปีที่เป็นฤดูกาล ซึ่งข้าวอันสุกในฤดูร้อน แล้วใช้เรียกพิธีกรรมอย่างหนึ่งของพราหมณ์ว่าพิธีศารท เอาข้าวอันสุกคารวงใหม่ๆ มาทำเครื่องกินให้พราหมณ์อย่างข้าวทิพย์บ้าง กระยาสารทบ้าง

กระยาสารท (กระยา แปลว่า เครื่องสำรับ เครื่องกิน) หมายถึงขนมทำด้วย ถั่ว งา และข้าวเม่า ข้าวตอก กวนกับน้ำตาลหรือน้ำอ้อย เอาไปถวายพระ มีพรรณนาในนิราศเดือนของเสมียนมี (หรือหมื่นพรหมสมพัตสร) กวีสมัย ร.3 ว่า

๏ ถึงเดือนสิบเห็นกันเมื่อวันสารท       ใส่อังคาสโภชนากระยาหาร
กระยาสารทกล้วยไข่ใส่โตกพาน         พวกชาวบ้านถ้วนหน้ามาธารณะ
เจ้างามคมห่มสีชุลีนบ                     แล้วจับจบทับพีน้อมศีรษะ
หยิบเข้าของกระยาสารทใส่บาตรพระ  ธารณะเสร็จสรรพกลับมาเรือน

กระยาสารทของพราหมณ์แท้ๆ แต่โบราณจะเป็นอย่างไรแน่ คงไม่จำเป็นต้องค้นหา แต่ที่นิยมกินในเมืองไทยก็เป็นอย่างไทย เพราะปรุงอย่างไทยไปแล้ว ดังพระราชนิพนธ์ของ ร.5 ว่า

“ตกลงเป็นข้าวทิพย์และกระยาสารทของเรานี้ก็เป็นอย่างไทย ทำสำหรับคนไทยกินอร่อย เป็นแต่ยืมชื่อของเก่ามาใช้เท่านั้น”

ชื่อข้าวทิพย์กับกระยาสารท หมายถึงข้าวอย่างหนึ่งในพิธีพราหมณ์ ในพระราชนิพนธ์ ร.5 บอกว่าเป็นอย่างเดียวกับข้าวมธุปายาสที่นางสุชาดาปรุงถวายพระพุทธเจ้า แต่เมื่อมาถึงเมืองไทยนานเข้าก็เหลือเป็นอาหารเฉพาะข้าวทิพย์ ส่วนกระยาสารทกลายเป็นขนมตามฤดูกาล ดังนี้

“ในการพระราชพิธีสารทนี้ เป็นกำหนดทรงบาตรในการนักขัตฤกษ์อีกครั้งหนึ่งทั้งสามวัน ของทรงบาตรมีวิเศษขึ้น คือข้าวทิพย์และกระยาสารท แต่ข้าวทิพย์นั้นได้ทรงวันเดียว แต่วันหลังกระยาสารทเป็นขนมตามฤดู ทำนองก็จะมาจากข้าวปายาส แต่จะให้อร่อยถูกปากไทยเท่านั้น”