เกมครบ 8 ปี กระแทก ปชป. …จ่อคอประยุทธ์/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

เกมครบ 8 ปี

กระแทก ปชป.

…จ่อคอประยุทธ์

มีคนบอกว่าการเขียนบทบัญญัติมาตรา 158 วรรคท้ายของ กรธ. ไม่ได้ตั้งเอาไว้เป็นกับดัก 8 ปีสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะตอนนั้นไม่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับเลือกตั้งมาเป็นนายกฯ อีกหรือไม่ จึงเขียนบทบัญญัติที่ครอบคลุม โดยไม่สนใจว่า ใครจะเคยเป็นนายกฯ มาจากรัฐธรรมนูญฉบับใด แต่ในช่วงชีวิตเป็นนายกฯ เต็มที่ได้ 8 ปี

บางคนก็บอกว่านี่เป็นกับดักเพื่อป้องกันไม่ให้อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กลับมาเป็นนายกฯ เพราะเป็นมา 5 ปีกว่าแล้ว ซึ่งก็มีคนค้านว่า ช่วงปี 2559-2562 โอกาสที่ทักษิณจะมาติดกับดักนี้ไม่มีเลย

แต่มีนักวิเคราะห์รายหนึ่งบอกว่า เกมครบ 8 ปี มีผลกระทบโดยตรงต่ออดีตนายกฯ ชวน หลีกภัย เป็นสาเหตุโดยอ้อมที่ทำให้ประชาธิปัตย์พังทลายลง และพลังประชารัฐก็ได้เติบโตขึ้นมาแทน

ทีมงานจึงวิเคราะห์ต่อก็พบว่า เรื่องนี้นักกฎหมายที่อยู่ในวงการเมืองย่อมรู้ว่ามาตรานี้จะมีผลต่อใครบ้าง พรรคการเมืองไหนบ้าง แล้วแต่ใครจะหยิบฉวยไปเป็นประโยชน์ทางการเมืองได้

 

1.เป็นแผนสร้างอำนาจต่อรองของที่ปรึกษา

ตั้งแต่ปี 2559 ที่ใส่บทเฉพาะกาลให้ ส.ว.ที่ คสช.แต่งตั้ง 250 คนเลือกนายกฯ ได้ แล้วผลักดันให้มีการลงประชามติ รับรองรัฐธรรมนูญ 2560 ใครค้านก็โดนจับไปขังคุก ไม่ต้องเป็นนักกฎหมาย หรือนักการเมือง ก็รู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะต้องลงสมัครเป็นนายกฯ เพื่อสืบทอดอำนาจอย่างแน่นอน

วันที่ 7 กันยายน 2561 ซึ่งเป็นช่วงท้ายๆ ของการจัดทำ และพิจารณาทำความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมได้พูดคุยถึงปัญหาทางการเมือง ที่ฝ่ายการเมืองซึ่งอยู่ในอำนาจยาวนานเกินไป อาจทำให้มีปัญหาได้ ดังนั้น จึงควรกำหนดให้อยู่ในตำแหน่งโดยมีกรอบเวลา เหมือนกับรัฐธรรมนูญบางฉบับก่อนหน้านี้ที่เขียนไว้ว่า ห้ามเป็นนายกฯ ติดต่อกันเกิน 8 ปี

แต่เพิ่มความเข้มข้น โดยกำหนดเส้น 8 ปี ว่าให้นับรวมตลอดช่วงชีวิตที่เคยเป็นนายกฯ มาแล้ว แม้จะเป็นต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่อง ก็ต้องนับรวมกัน ให้ไม่เกิน 8 ปี แต่ไม่นับรวมระยะเวลาที่รักษาการ

คนที่วางหมากตานี้ไว้สามารถดักผู้มีอำนาจได้ทุกคน ตามทฤษฎี คานอำนาจของผู้อยู่ในระดับรอง เช่น พวกที่เป็นอำมาตย์หรือเสนาธิการ เพื่อใช้ถ่วงดุลกับผู้มีอำนาจสูงสุด ให้ต้องวิ่งมาพึ่งพากลุ่มนักกฎหมาย เมื่อเกิดความขัดแย้ง และกับดักตานี้ก็ส่งผลกระทบต่อแต่ละกลุ่ม แต่ละคนต่างกัน

แต่คนที่เป็นที่ปรึกษาอาจไม่ต้องพังไปพร้อมผู้มีอำนาจ เพราะสามารถจะหันไปหานายใหม่เมื่อทิศทางของกฎหมายไปเข้าข้างผู้ที่จะก้าวขึ้นมามีอำนาจแทน อดีตที่ผ่านมาจะเห็นว่าแม้นายเก่าพังไป แต่ที่ปรึกษายังอยู่กับอำนาจใหม่ตลอดทุกยุคสมัย

 

2.พรรคประชาธิปัตย์โดนก่อน… อดีตนายกฯ ชวน เคยเป็นนายกฯ มาเกิน 6 ปี

ในปี 2561 พรรคประชาธิปัตย์กำลังเกิดความขัดแย้งมีการแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพราะหลายคนคิดว่าเป็นขาลงของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะเดียวกันผลประโยชน์จากการออกไปเคลื่อนไหวปิดกรุงเทพฯ ขัดขวางการเลือกตั้งในนาม กปปส. ก็ไม่ได้ให้ประโยชน์ตอบแทนกลับมา แถมยังมีประชาชนด่าตามหลัง ความขัดแย้งในเชิงความคิดและแนวทางการทำงานของแกนนำในพรรคจึงมีมากขึ้น

มีบางคนรวมกลุ่มหวังแย่งตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพราะนั่นหมายถึงการที่อาจจะได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย แม้ไปไม่ถึงก็ยังได้เป็น รมต. สุดท้ายใน ปชป.ต้องตกลงกันด้วยการหยั่งเสียงแบบ Primary vote โดยมีสมาชิกมาร่วมลงคะแนนแสนกว่าคน พฤศจิกายน 2561 ผลการหยั่งเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยคะแนน 67,505 คะแนน ขณะที่นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ได้ 57,689 คะแนน นายอลงกรณ์ พลบุตร ได้ 2,285 คะแนน

กลุ่มขวาจัดในพรรค ปชป. ซึ่งเป็นแกนหลักของ กปปส. ที่คิดจะเข้ามายึดครองพรรค แต่ก็ต้องมาปะทะและพ่ายกับกลุ่มของนายอภิสิทธิ์ซึ่งยังมีบารมีอยู่ ดูจากคะแนนเสียงการทำ Primary vote ก็รู้ว่าเป็นความแตกแยกที่ค่อนข้างรุนแรง ต่างฝ่ายต่างมีพวก ความแตกแยกในพรรคได้เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ระดับกรรมการพรรค และ ส.ส. ลงไปสู่ท้องถิ่นในระดับหัวคะแนน จากนั้นก็ขยายไปสู่มวลชน

และผลที่ตามมาก็คือการแตกแยกออกจากกัน มีการไปตั้งพรรคการเมืองใหม่

นายชวน หลีกภัย ถูกปิดโอกาสในการแก้ปัญหาพรรค ปชป.

เวลานั้นถ้านายชวน หลีกภัย ย้อนกลับมาลงเป็นหัวหน้าพรรคและเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก็จะลดความเสียหายให้พรรคประชาธิปัตย์ลงได้มาก แม้ความขัดแย้งในระดับกรรมการอาจแก้ไม่ได้หมด แต่ในระดับมวลชน ยังสามารถดึงคะแนนเสียงไว้ได้มากพอควร

แต่มาตรา 158 ทำให้นายชวนมีปัญหา เนื่องจากเป็นนายกฯ มา 6 ปีแล้ว ดังนั้น ถ้าไปสมัครเป็นแคนดิเดตนายกก็จะมีจุดอ่อนที่ว่าถึงชนะได้เป็นนายกฯ ก็จะเป็นได้ไม่ถึง 2 ปี

ในขณะเดียวกันกรรมการพรรคบางคน ก็ยิ่งใหญ่มากขึ้นมองไม่เห็นหัวนายชวน หลายคนมองไปที่วิธีการจะเข้าสู่อำนาจ ความแตกแยกทางการเมืองภายในพรรคจึงขยายให้แตกร้าวมากขึ้น ฐานคะแนนตามจังหวัดต่างๆ ก็มีคนมาเคลื่อนไหวให้ย้าย ไปสนับสนุนพรรคอื่น ซึ่งมีอุดมการณ์อนุรักษนิยมหรือเป็นฝ่ายขวาเหมือนกัน

การพังทลายของ ปชป. จึงเกิดก่อนเลือกตั้ง 2562 และต่อเนื่องมาไม่หยุด

 

3.พลังประชารัฐ ต้องทลายรัง ปชป.เพื่อเอาคะแนน

พลังประชารัฐรู้ดีว่าตัวเองไม่มีฐานคะแนนเก่ามาก่อนเลย จะไปหาคะแนนเสียงจากมวลชนที่อยู่ฝั่งตรงข้าม ก็ไม่มีทางได้ มีแต่จะต้องหาคะแนนจากกลุ่มที่มีอุดมการณ์ขวาเหมือนกัน แหล่งคะแนนที่ใหญ่ที่สุด ก็คือพรรคประชาธิปัตย์นั่นแหละ เพราะในการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายปี 2554 แม้อภิสิทธิ์แพ้ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ก็มีคะแนนถึง 11.4 ล้าน

พลังประชารัฐไม่ได้ตกปลาในบ่อเพื่อน แต่ไปลากอวนในบ่อเลี้ยงปลาของเพื่อน ซึ่งก็ได้ผล

เมื่อดูจากคะแนนของประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งได้ถึง 11.4 ล้านคะแนน มาถึงการเลือกตั้งครั้งล่าสุดมีนาคม 2562 เหลือคะแนนนิยมทั้งประเทศ 3.9 ล้านคะแนน

แสดงว่าคะแนนที่หายไปมากกว่า 11.4 -3.9 ล้าน = 7.5 ล้านคะแนน

จากผลสำรวจการลงคะแนนหลังการเลือกตั้ง 2562 พบว่าผู้ที่ลงให้พลังประชารัฐ เกือบ 80% คือผู้ที่เปลี่ยนใจมาจากประชาธิปัตย์ อีก 20% มีความตั้งใจจะลงคะแนนให้พลังประชารัฐอยู่แล้ว

แสดงว่าคะแนนเสียงของพลังประชารัฐ ได้มาจากฐาน ปชป.มีมากถึง 6.6 ล้านคน ซึ่งถ้าดูจากตัวเลขคะแนนที่หายไปของของ ปชป. ที่มากถึง 7.5 ล้าน แสดงว่ามีความเป็นไปได้จริง

ส่วนอีกประมาณ 1 ล้านคะแนนของ ปชป.น่าจะกระจายไปอยู่กับพรรคอื่น เช่น พรรคสุเทพ พรรคเสรีรวมไทย ฯลฯ

ที่พรรคพลังประชารัฐทำได้ ทั้งๆ ที่เป็นพรรคใหม่ น่าจะมาจาก 4 ปัจจัย

1. ฐานอำนาจ คสช. ที่เป็นรัฐบาลชั่วคราว (5 ปี) ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญได้เอง กุมกลไกอำนาจรัฐซึ่งสนองนโยบายต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว สามารถกระจายงบประมาณจำนวนมากตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ สร้างโครงการลด แลก แจก แถมช่วยคนจนได้หลายครั้ง

2. การแต่งตั้ง ส.ว. 250 คน มาสนับสนุนให้ตนเองเป็นนายกฯ ทำให้นักการเมืองเกิดความมั่นใจว่าพรรคนี้จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลแน่ การระดมทรัพยากรและหัวคะแนนมาสนับสนุนจึงเป็นไปอย่างสะดวก จึงมีนักการเมืองที่ย้ายค่ายจากพรรคเก่าๆ ลงมาร่วม แม้แต่นักการเมืองสอบตก นักการเมืองท้องถิ่นและหัวคะแนน ก็เอาเข้ามาในสังกัดเพื่อเสริมกำลังอย่างเต็มที่ ด้วยเป็นพรรคที่มีเสบียง อาวุธ ในการต่อสู้ได้อย่างเหลือเฟือ จึงสามารถดึงมวลชนติดตามนักการเมือง เข้ามาสนับสนุนได้พอควร

3. สุดท้ายก็สร้างกระแสการเมืองที่ต้องเลือกข้าง…ทำให้มวลชนฝ่ายขวา เทคะแนนให้ พปชร.

เมื่อเกมการเมืองตกอยู่ในสภาพต้องเลือกข้าง กลุ่มที่เป็นโรคกลัวทักษิณ จึงตัดสินใจสนับสนุนให้ คสช.สืบทอดอำนาจต่อผ่านระบบการเลือกตั้ง โดยเทคะแนนให้ พปชร. ที่นำโดยประยุทธ์ ซึ่งครั้งนี้มีความเด่นกว่าประชาธิปัตย์ พวกคัดค้านไม่ให้มีการสืบทอดอำนาจ ก็เทไปให้เพื่อไทยและอนาคตใหม่

4. พรรคพลังประชารัฐ และประยุทธ์ ไม่สนใจรัฐธรรมนูญที่ร่างเอง กล้าเสนอนโยบายที่ทำให้ประชาชนสนใจ ส่วนจะทำได้หรือไม่ได้ หรือไม่ทำเลย พวกเขาก็ไม่วิตกกังวล

เรื่องเป็นนายกฯ ได้ 8 ปี ประยุทธ์และทีมงานก็คิดว่ามีอำนาจบารมีมากพอที่จะแถกผ่านไปได้ แต่มาถึงตอนนี้ ปัญหานี้เหมือนมีดจ่อคอ ต่อให้แทงแล้วไม่ตายก็ต้องบาดเจ็บ

 

การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะมาถึง ปชป.พลิกตัวกลับไม่ทันแล้ว

เพราะพรรค ปชป.ได้เข้าร่วมกับกลุ่มผู้ยึดอำนาจ ปลูกฝังให้ผู้สนับสนุนพรรคชมชอบระบอบเผด็จการ ในขณะที่กลุ่มเผด็จการไม่ว่าจะแตกเป็นกี่พรรค ก็บุกไปแย่งคะแนนเสียง ปชป. เพราะตอนนี้ทำไม่ยากแล้วเนื่องจาก ปชป.กับพรรคร่วมรัฐบาลไม่มีความแตกต่างกัน ทั้งอุดมการณ์ และพฤติกรรม ทำให้ฐานมวลชน ปชป. เลือกใครก็เหมือนกัน ผู้ที่ให้ประโยชน์มากกว่า ย่อมได้คะแนนไป

การก่อตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อเห็นแกนนำแล้วก็รู้ว่าพรรคนี้จะไปเอาคะแนนมาจากไหน เพราะแผนที่ลายแทงหัวคะแนนก็มีอยู่ในมือเหมือนกัน

ปชป.อาจไม่รู้ตัวว่า ตนเองจะต้องลุ้นให้ประยุทธ์หลุดจากเก้าอี้นายกฯ มากกว่าพรรคอื่น ถ้าประยุทธ์ยังชูธงนำในการเลือกตั้งครั้งหน้า ปชป.ไม่เพียงหมดโอกาสชิงเสียงคืน แต่ยังจะถูกแย่งชิงพื้นที่มากขึ้น