กรองกระแส/บทบาท ความหมาย ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 นักเลือกตั้ง นักลากตั้ง

กรองกระแส

บทบาท ความหมาย

ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

นักเลือกตั้ง นักลากตั้ง

เบื้องหน้าการปรากฏขึ้นของ “ปฏิญญาทำเนียบขาว” ได้ปรากฏบทสรุปทั้งที่แสดงความแน่ใจและไม่แน่ใจว่าจะเป็นไปตามคำประกาศจากกรุงวอชิงตันหรือไม่

ถามว่าที่ไม่แน่ใจเพราะอะไร

คำตอบสำคัญ เพราะก่อนหน้า “ปฏิญญา ทำเนียบขาว” ก็เคยปรากฏ “ปฏิญญาโตเกียว” และ “ปฏิญญานิวยอร์ก” มาแล้ว

แต่ก็ยังต้อง “เลื่อน”

ทั้งๆ ที่เป็นการประกาศต่อหน้าบุคคลสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น นายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็น นายบันคี มุน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และรวมถึงผู้นำประชาคมโลกในที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ

ครั้งนี้แม้จะประกาศต่อหน้าประธานาธิบดี นายโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา แต่ยังไม่ทันที่จะเดินทางกลับประเทศ การแปลงสารในลักษณะเตะถ่วง ยืดเวลา ก็ขยายจากปลายปี 2561 อาจเป็นต้นปี 2562

กระนั้น หากจับจากประสบการณ์และความจัดเจนทางการเมืองก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะบิดพลิ้วจาก “ปฏิญญาทำเนียบขาว”

สัญญาณเลือกตั้ง

คือรัฐธรรมนูญ

เหตุผล 1 ที่ก่อให้เกิดอาการขยับและทำให้ “ปฏิญญา โตเกียว” ตลอดจน “ปฏิญญา นิวยอร์ก” ไม่เป็นไปตามคำสัญญาเนื่องจากเป็นการประกาศก่อนมีรัฐธรรมนูญ

พลันที่มีการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 เท่ากับเป็นจุดเริ่ม

หากย้อนกลับไปศึกษากระบวนการภายหลังการประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญก็มักจะตามมาด้วยการเลือกตั้ง

นั่นก็คือ การเลือกตั้งปี 2512 หลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2511

นั่นก็คือ การเลือกตั้งปี 2522 หลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2521

นั่นก็คือ การเลือกตั้งปี 2535 หลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2534

นั่นก็คือ การเลือกตั้งปี 2550 หลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ออกมาไม่กี่เดือน

หากศึกษาจากบทเรียนในทางประวัติศาสตร์แต่อดีตก็มีความเด่นชัดยิ่งว่า การประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญนั้นเองคือหางเสือที่จะกำกับทิศทางในทางการเมือง

ขอให้ศึกษา “สภาพ” ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 เป็นต้นมา

ปูทาง กฎหมายลูก

ไปสู่ “การเลือกตั้ง”

อาจมีข้อกำหนดให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับภายใน 240 วันนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศและบังคับใช้

แต่จริงๆ แล้วที่สำคัญเป็นกฎหมาย 4 ฉบับ

1 กฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 1 กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง 1 กฎหมายว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. และ 1 กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

กรอบก็คือจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 240 วันแล้วส่งให้ สนช.

หากดูจากท่าทียึกๆ ยักๆ ของ คสช. ที่แสดงออกเป็นลำดับมาโดยเฉพาะเมื่อประกาศ “ปฏิญญาทำเนียบขาว” ด้วยการเล่นลิ้นว่าจะประกาศวันเลือกตั้งภายหลังจากกฎหมายลูกประกาศและบังคับใช้ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2561

อันเท่ากับใช้เวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้อย่างเต็มพิกัด และเท่ากับฉวยจังหวะจากวันประกาศกำหนดการเลือกตั้งไปยังต้นปี 2562

แต่ไม่ว่าจะพลิกพลิ้วสักเพียงใดก็ทำได้ไม่เกินจากปี 2562 ได้

เพราะนี่คือข้อกำหนดอันมาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ “แม่น้ำ 5 สาย” ร่วมกันจัดทำขึ้น เว้นแต่จะละเมิดหลักการที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น

ท่าทีแผกต่าง 2 ท่าที

เลือกตั้ง กับ ลากตั้ง

พลันที่กำหนดเวลาของการเลือกตั้งรุกคืบเข้ามาเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นในปลายปี 2561 ไม่ว่าจะเป็นในต้นปี 2562 ปรากฏ 2 ท่าทีอย่างเด่นชัด

ท่าที 1 รอคอยการเลือกตั้งด้วยความหวังเต็มเปี่ยม

ท่าที 1 หงุดหงิด งุ่นง่าน และเพียรอย่างเต็มกำลังที่จะรั้งดึง เตะถ่วง เพื่อยืดและยื้อเวลาของการเลือกตั้งให้ยาวนานออกไปมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ท่าทีแรกเป็นของ “นักเลือกตั้ง” ท่าทีหลังเป็นของ “นักลากตั้ง”

เพราะทันทีที่เข้าสู่กระบวนการของ “การเลือกตั้ง” นั่นเท่ากับว่าอำนาจในการตัดสินใจไปอยู่ในกำมือของประชาชน นี่จึงเป็นโอกาสที่ประชาชนจะเลือกคนที่เขารัก คนที่เขาศรัทธา มอบฉันทานุมัติให้ไปรับผิดชอบในการบริหารประเทศ

สภาพภายหลังการเลือกตั้งจึงเป็นสภาพของ “ประชาธิปไตย” ซึ่งแม้จะยังไม่เต็มใบ แต่สภาพเหล่านี้ก็จะค่อยๆ พัฒนาไปจนค่อยๆ สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ยิ่ง “ประชาธิปไตย” มีความสมบูรณ์ พื้นที่ของ “นักลากตั้ง” ก็ยิ่งหดแคบ ตีบตันและหมดโอกาส