E-DUANG : 33 เขต พื้นที่เลือกตั้ง “กทม.” สนามแย่งชิง การเมือง “ร้อน”

กรุงเทพมหานครจะกลายเป็นสมรภูมิในการต่อสู้และแย่งชิงทางการเมืองอันมากด้วยความแหลมคม

เพราะมีจำนวน ส.ส.มากที่สุดจาก 33 เขตเลือกตั้ง

มากกว่า นครราชสีมาซึ่งมี 16 เขตเลือกตั้ง มากกว่า เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานีซึ่งมี 16 เขตเลือกตั้ง มากกว่าบุรี รัมย์ ชลบุรี ซึ่งมี 10 เขตเลือกตั้ง

หากประเมินจากผลการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. ประสานเข้ากับ 50 ส.ก.เมื่อเดือนพฤษภาคม ก็พอจะมองออกว่าพื้นที่กทม.จะเป็น พื้นที่แย่งชิงของพรรคการเมืองใด

เด่นชัดว่าพรรคเพื่อไทยยืนระยะเป็นผู้นำเพราะยึดครอง ส.ก.ได้ 20 เขต ขณะที่พรรคก้าวไกลยึดครอง ส.ก.ได้ 14 เขต ตามมาด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคไทยสร้างไทย พรรคพลังประชารัฐ

กระนั้น หากประเมินจากการตระเตรียมและเริ่มขยับขับเคลื่อนเด่นชัดยิ่งว่าพรรคสร้างอนาคตไทยก็ไม่ลังเลที่จะส่งคนเข้าต่อกร

ขณะเดียวกันบรรดาพรรคการเมืองอันแยกตัวจากพรรคประชาธิปัตย์อย่างพรรคกล้า พรรครวมไทยสร้างชาติก็พร้อม

เพียงเห็นสัญญาณในอีก 8 เดือนก็สัมผัสได้ในความร้อนแรง

 

พรรคเพื่อไทยขยับไปแล้วก้าวหนึ่งและตามมาด้วยก้าวที่ 2 ด้วยคำสั่งแต่งตั้งประธานผู้รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาชุดใหญ่

พรรคก้าวไกลแม้ยังมิได้ประกาศตัวผู้สมัครอย่างเป็นทางการ แต่ก็เริ่มปล่อยรายชื่อออกมาเป็นลำดับ

พรรคไทยสร้างไทยแม้จะถูกแรงกระแทกอย่างรุนแรงจากพรรคเพื่อไทย แต่การขยับของ คุณหญิงสุดารัตน์เ เกยุราพันธุ์ บ่งสะท้อนว่าต้องการปักธงอย่างแน่นอน

พรรคประชาธิปัตย์ก็มิได้ถอยหนีแม้ว่าการแยกตัวออกไปของ พรรคกล้า พรรครวมไทยสร้างชาติ ตลอดจนบางส่วนของพรรคสร้างอนาคตไทย ก็ตาม

คำถามก็คือ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมแผ่นดิน จะมีท่าทีอย่างไรในการแย่งชิงพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร

 

สายตาทางการเมืองอาจจะทอดมองไปยังพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นด้านหลัก เพราะชัยชนะของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และจำนวน 20 ส.ก.ย่อมเป็นฐานการเมืองอย่างสำคัญ

กระนั้น ก็ไม่อาจมองข้าม 14 ส.ก.พรรคก้าวไกลไปได้

เช่นเดียวกับความมุ่งมั่นอันมาจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคสร้างอนาคตไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ

ทุกพรรคล้วนมีเป้าหมายแย่งชิงจาก 33 เขตทั้งสิ้น