สถานีคิดเลขที่ 12 โดย สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร/เขาและเรา

สถานีคิดเลขที่ 12/สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร

————————

เขาและเรา

—————————-

มีบางฝ่าย พยายามบอกว่าอย่าเอาเหตุการณ์ ที่ศรีลังกา มาเปรียบกับไทย

โดยอ้างว่า การเมือง เศรษฐกิจ สังคมไทย ไม่ได้เลวร้าย ถึงขนาดเป็น”ชาติล้มเหลว”เช่นนั้น

ซึ่งโดยส่วนตัว ไม่เห็นด้วยนัก

ด้วยมองว่า กรณีศรีลังกา มีสิ่งที่น่าเรียนรู้และเตือนใจ สำหรับคนไทยยิ่ง

โดยเฉพาะ ผู้อยู่ในอำนาจ และกำลังพยายามทุกวิถีทางที่จะ”ไปต่อ”ภายใต้อำนาจนั้น โดยไม่คำนึงว่ามันจะก่อภาวะเลวร้ายให้ประเทศและประชาชนอย่างไร

ซึ่งศรีลังกา ก็เป็นรูปธรรมแห่งตัวอย่างนั้น เพียงแต่จะมอง หรือ พยายามหลับหูหลับตาปฏิเสธว่าเราไม่มีทางที่จะเลวร้ายขนาดนั้น หรือไม่เท่านั้น

ว่าที่จริง กว่าทศวรรษที่ผ่าน ไทยซึ่งผ่านการรัฐประหารมา 2 ครั้ง ในปี 2549 และ 2557ไม่ได้ก้าวหน้าไปไหน

ติดหล่มวิกฤตน้องๆศรีลังกาเลยทีเดียว

ตอนแรกยังดูล้าหลัง ย่ำแย่กว่าด้วยซ้ำ เพราะเราแก้ปัญหาด้วยการยึดอำนาจ ที่ตอนนี้มีเฉพาะประเทศด้อยพัฒนาเท่านั้น

แม้จะมีความพยายามลบความล้าหลังนั้น ด้วยการประแป้งตราประชาธิปไตย ให้ดูดีขึ้น

แต่ก็ซ่อนกลเกมสืบทอดอำนาจเอาไว้มากมาย

ตั้งแต่”รัฐธรรมนูญ”ที่เป็นกฎหมายสูงสุด ไปถึงกฎหมายลูก และกลไกอื่นๆ

ส่งผลให้เกิดความบิดเบี้ยว-ผิดเพี้ยน ในการปฏิบัติหน้าที่ ของ องค์กรหลัก องค์กรอิสระ อย่างแก้ไขได้ยาก

ทำให้ การโฆษณาชวนเชื่อว่าจะมีการปฏิรูปประเทศเป็นเพียงน้ำยาบ้วนปาก

ตัวอย่างแห่งความล้มเหลว ที่กำลังจะได้สัมผัสกันในสัปดาห์ที่จะมาถึงนี้ ก็คือเรื่อง”ปฏิรูปการเมือง”

ในสภาที่กำลังจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

เราได้ยินแต่เรื่อง “กล้วย”

ได้ยินแต่เรื่องการต่อรองผลประโยชน์ของพรรคเล็กพรรคน้อย เพื่อแลกเปลี่ยนกับการได้ไปต่อของฝ่ายที่กุมอำนาจในปัจจุบัน

ซึ่งแม้จะสามารถดิ้นรนผ่านไปได้

แต่ก็คงถลำลึกไปสู่ปัญหาอันผิดเพี้ยนของกฏ กติกา เป็นเขาวงกตอีก

สูตร หารร้อย หรือหารห้าร้อย ที่ไม่เพียงจะต้องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขัดหรือไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เท่านั้น

ผลแห่งการวินิจฉัยไม่ว่าจะออกทางไหน ก็นำไปสู่พิมพ์เขียวทางการเมืองอันผิดเพี้ยนสืบเนื่องต่อไป ไม่ว่า การเกิดพรรคสาขา พรรคแตกแบงก์ ฯลฯ

อันล้วนหมายถึงการเมือง”อปกติ”เสียทั้งสิ้น

และ ความอปกตินี้ ก็ย่อมนำไปสู่ บิดเบี้ยวไม่เรื่อยๆ

ยิ่ง ฝ่ายที่กุมอำนาจ คิด ที่จะ”ไปต่อ” ยิ่งต้องหาสิ่งพิศดาร หรือแสวงหาปาฏิหารย์ทางกฎหมายมาเป็นประโยชน์แก่ฝ่ายตนจนไม่รู้ว่า ประชาธิปไตยอันแท้จริงจะมีขึ้นได้เมื่อใด

เป็นเช่นนี้เราจะบอกว่า เราดีกว่าศรีลังกาได้อย่างไร

ยิ่งกว่านั้น อย่าเพิ่งไปอวดว่าไทยจะเหนือกว่า

เพราะแม้ ศรีลังกาจะย่ำแย่อย่างไร แต่สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นก็คือเขายังพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะแก้ไขวิกฤตไปตามระบบ

แม้ประเทศจะก้าวไปสู่จุดเลวร้ายต่ำสุดๆถึงขนาดเป็นรัฐล้มเหลว

แต่ตอนนี้เราไม่ได้ยินเสียงนกหวีด เรียกร้องหาอัศวินขี่ม้าขาวออกมาช่วย

และไม่มี บิ๊กทหาร ออกมาล้มโต๊ะประกาศว่า เมื่อพวกคุณคุยกันไม่รู้เรื่อง งั้นผมของยึดอำนาจ

การสรรหาผู้นำใหม่ของศรีลังกา ยังอยู่ในรัฐสภา

ถึงจะมีการตั้ง คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยทหารและตำรวจ เพื่อฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

ก็ทำหน้าที่เพื่อรักษาความสงบ หลังประชาชน ฮือไปยึด บ้านผู้นำ สำนักงานนายกรัฐมนตรีรวมถึงอาคารของรัฐอื่นๆ

ไม่ใช่การล้มโต๊ะ ยึดอำนาจ

ซึ่งหากศรีลังกา สามารถเปลี่ยนผ่านวิกฤตไปได้ตามระบบ มิใช่การรัฐประหาร

ไทยคงต้องค้อมหัว เรียนรู้

——————