ดร.นฤมล แนะนโยบาย ศก. ที่ควรเข้าใจ หลังสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อพุ่ง ชี้บริหารความเสี่ยงคือหัวใจ

20 มิถุนายน 2565 อาจารย์แหม่ม ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีต รมช.แรงงาน/เหรัญญิก พรรคพลังประชารัฐ  แสดงความเห็น ถึงสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว เงินเฟ้อพุ่ง ว่า #บริหารความเสี่ยงคือหัวใจ

สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อพุ่ง ที่เรียกกันว่า stagflation ซึ่ง “อาจจะ” เกิดรอบนี้ มีสาเหตุต่างจากที่เคยเกิดขึ้นช่วง 40 กว่าปีก่อน และต้องรับมือด้วยวิธีการต่างกัน

เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ทั่วโลกเกิดสภาพ stagflation ธนาคารกลางต่างแก้ไขโดยเลือกวิธีขึ้นดอกเบี้ยสูงมากเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่ส่งผลให้ธุรกิจเสียหายมาก จนนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยและวิกฤตการเงิน

แต่รอบนี้ สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวพร้อมกับเงินเฟ้อที่เกิดต่อเนื่องจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 เกิดจาก 3 ปัจจัยสำคัญ คือ
(1) แพ็คเกจอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจของหลายประเทศที่ไปเน้นการเพิ่มดีมานหรือความต้องการซื้อในตลาด แต่อาจทำอย่างไม่เหมาะสม
(2) ในขณะที่ฟากฝั่งซัพพลายเผชิญข้อจำกัดในการผลิต ขาดวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทาน และขาดแรงงานจากผลของการล็อกดาวน์ช่วงโควิด
(3) แล้วเคราะห์ซ้ำมาเกิดสงครามรัสเซียกับยูเครนอีก
การมาพบกันโดยมิได้นัดหมายของทั้งสามเหตุ จึงไปดันราคาต้นทุนให้สูงขึ้น

การใช้นโยบายทางการเงินด้วยการขึ้นดอกเบี้ยอย่างเดียวจะไม่สามารถแก้ปัญหาที่สาเหตุ

การบริหารความเสี่ยงด้วยความเข้าใจเป็นหัวใจสำคัญ

คำถามว่าเกิด stagflation รึยัง ไม่สำคัญ ที่สำคัญคือ ถ้าเกิดสภาพ stagflation ครั้งนี้ มีนโยบายรับมือหรือไม่ และต่างไปจากที่เคยเกิดขึ้นอย่างไร

มองในภาพใหญ่ การบริหารนโยบายการคลังและนโยบายเศรษฐกิจที่ควรเข้าใจ คือ การอัดฉีดเงินเพื่อกระตุ้นดีมานไม่ต้องทำมากเหมือนสองปีที่ผ่านมาแล้ว ค่อย ๆ ให้ดีมานกลับเข้าใกล้ภาวะปกติมีผลดีมากกว่า ดังนั้น การกู้เงินมาแจกในโครงการกระตุ้นกำลังซื้อจึงไม่เหมาะสมในช่วงนี้

นอกจากนั้น ต้องหันมาให้ความสำคัญกับฝั่งซัพพลาย ดูแลอุตสาหกรรมการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าอุปโภคบริโภคและพลังงาน และต้องให้มั่นใจได้ว่าฝั่งซัพพลายจะไม่หยุดชะงักติดคอขวด ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม