ฐากูร บุนปาน : ข้อสังเกต 6 เดือนของอีอีซี

ความสุขอย่างหนึ่งของคนทำข่าวก็คือ การได้ไปนั่งฟังคนฉลาดหรือท่านผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา มาให้ความรู้ในเรื่องที่ท่านเจนจบ

ที่ยังมืดมนอยู่ก็พอเห็นแสงสว่างรำไรในกะโหลกหนาๆ

ฉะนั้น เวลาที่มีเสวนาหรือสัมมนาอะไรที่อยู่ในความสนใจ

ไม่ว่าจะโดยหน้าที่หรือความอยากรู้อยากเห็นส่วนตัว

ถ้าไปได้ก็พยายามจะไปนั่งฟังกับเขาทุกรอบละครับ

ล่าสุด ในโอกาสครอบรอบ 40 ปี “มติชน” เขาจัดเสวนามาเป็นชุด

เริ่มตั้งแต่ไทยแลนด์ 4.0 มาฟินเทค

และหัวข้อล่าสุดก็คือ 6 เดือนของอีอีซี

รายละเอียด ความคืบหน้า หรือว่าข้อคิดแง่มุมอะไร เชื่อว่าท่านผู้อ่านส่วนใหญ่คงได้อ่านได้ชมจากมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ ทั้งในสิ่งพิมพ์และบนออนไลน์ไปแล้ว

จะฉายหนังซ้ำก็เกรงใจ

แต่มีข้อสังเกตบางอย่างจากคนที่นั่งดูอยู่ข้างเวทีเรื่องนี้มาหลายหนหลายครั้ง

นั่นคือ อีอีซีนั้นจะว่าไปแล้วก็คือภาคต่อหรือภาค 2 ของโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว

ทั้งในแง่แนวคิด หลักการ แผนงาน หรือแม้กระทั่งการระดมพลเข้ามาร่วมกันผลักดันโครงการ

ข้อสังเกตประการแรกจึงมีอยู่ว่า

ถ้าเป็นภาค 2 หรือภาคต่อ อะไรที่ภาคแรกทำผิดหรือพลาดไว้ ก็อย่าเผลอไปเดินซ้ำรอยอีกหน

โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบกับคนและสิ่งแวดล้อม

และถ้าเชื่อว่าได้พยายามหาทางแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงอย่างถึงที่สุดแล้ว

ที่ต้องทำก็คือการเดินหน้าลงไปทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง

เพราะที่ผ่านมา พี่น้องประชาชนเหล่านี้อยู่ในฝ่ายส่วนเสียมากกว่าส่วนได้

(ซึ่งธุรกิจหรือทุนใหญ่รับไปก่อน)

ข้อสังเกตประการต่อมาก็คือ

ความละม้ายในวิธีการผลักดันโครงการเมื่อเทียบกับอีสเทิร์น ซีบอร์ด นั้นอยู่ตรงที่ความพยายามในการระดม “เทคโนแครต” จากภาครัฐในแต่ละส่วน แต่ละหน่วยงาน ให้ร่วมหรือสอดประสานกันดาหน้ามาเป็นแผง

เพราะความละม้ายข้อนี้เอง จึงเป็นแรงขับให้กลับไปหาหนังสือ “พลังเทคโนแครต” ที่สำนักพิมพ์มติชนเขาพิมพ์เอาไว้ตั้งแต่ปี 2556 มาอ่านอีกหน

หนังสือเล่มนี้เอาจริงๆ คืออัตชีวประวัติของ “อาจารย์เสนาะ อูนากูล” หนึ่งในแกนนำของเทคโนแครตไทยคนสำคัญช่วงทศวรรษ 2510-2530

อ่านอีกก็สนุกอีก

จะอ่านเอาแง่มุมทางประวัติศาสตร์ ดูวิวัฒนาการของบ้านของเมืองก็ได้

อ่านเอาเกร็ด มองภาพความสัมพันธ์ของคนที่อยู่ใน “แวดวง” ซึ่งกำหนดความเป็นไปของสังคมไทยยุคหนึ่งก็ได้

หรือจะอ่านเอาความรู้-ประสบการณ์ เพื่อเรียนรู้ว่าการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจ (และการเมือง) แต่ละเรื่องในอดีตนั้น ต้องอาศัยปัจจัยและความสัมพันธ์อย่างไรบ้างก็ได้

ใครเผลออ่านมาถึงตรงนี้แล้วเกิดอยากจะอ่านหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาบ้าง

ขอออกตัวเสียก่อนว่าไม่ให้ยืมครับ (ฮา)

ติดต่อหาซื้อที่สำนักพิมพ์มติชนจะดีกว่า

ขายของกันดื้อๆ อย่างนี้แหละ (ฮา-อีกที)

หลังจากความเหมือนผ่านไป คราวนี้ก็มาถึงความ (อาจจะ) ต่างกันระหว่างการผลักดันโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด กับอีอีซี ดูบ้าง

ถ้าใครพอจำประวัติศาสตร์การเมืองยุคนั้นได้ ก็คงระลึกได้ว่า

ถึงเพลานั้นประเทศไทยถังแตกเต็มอัตราศึก แต่คณะรัฐมนตรี (รวมไปถึงที่ปรึกษาและคนรอบข้าง) ของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ โดยเฉพาะในตำแหน่งสำคัญๆ ชี้เป็นชี้ตายนั้น ล้วนแล้วแต่ “ชั้นหนึ่ง” ทั้งสิ้น

แต่ขนาดชั้นหนึ่งเกรดเอ ยังทุลักทุเลสะบักสะบอม แทบเอาตัวไม่รอด

คำถามคือหนนี้มีทีมงาน มีผู้กำกับและผลักดันนโยบาย รวมทั้งมีผู้กุมบังเหียน ไปจนกระทั่งถึงแรงสนับสนุนทั้งทางลับทางแจ้ง อย่างหนที่ผ่านมาหรือไม่

ถ้าคำตอบคือใช่ก็แล้วกันไป

แต่ถ้าคำตอบคือไม่

สงสัยลมบูรพาจะพัดโหมมาในไม่นาน