‘กัญชาเสรี’ ฟีเวอร์ กับตลาดมูลค่าแสนล้าน ข้อดีมากมาย ผลร้ายใครรับผิดชอบ?/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

‘กัญชาเสรี’ ฟีเวอร์

กับตลาดมูลค่าแสนล้าน

ข้อดีมากมาย

ผลร้ายใครรับผิดชอบ?

 

ถูกปลดล็อกให้หลุดออกจากกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข และมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา สำหรับ “กัญชาและกัญชง” พืชเศรษฐกิจตามนโยบายกัญชาเสรีของพรรค ‘ภูมิใจไทย’ หลังเคยลั่นคำมั่นสัญญาต่อประชาชนเมื่อครั้งหาเสียงก่อนเลือกตั้งปี 2562 ว่าหากมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล จะทำให้นโยบายนี้เกิดขึ้นจริง

หลังการปลดล็อก ประชาชนทุกคนในประเทศสามารถปลูกเพื่อใช้งานเองได้ แต่ต้องจดแจ้งผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น ‘ปลูกกัญ’ เพื่อขอรับใบรับจดแจ้งปลูกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยวันแรกที่เปิดลงทะเบียน ยอดการเข้าใช้งานมากถึง 9.6 ล้านครั้ง ประชาชนแห่ปลูก ยอดขายคึกคักสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

กัญชาในภาพจำของคนไทย ถูกบรรจุอยู่ในกลุ่มสารเสพติดผิดกฎหมายมานานนม แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีประโยชน์ในทางการแพทย์ไม่น้อย แถมยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างมูลค่าให้ระบบเศรษฐกิจในหลายๆ ประเทศ

เรื่องนี้ ‘อาจารย์อ๊อด-รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์’ อาจารย์และนักวิชาการสาขาเคมีอินทรีย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยพูดถึงความน่าสนใจของกัญชาและกัญชงว่าหากปลดล็อกแล้วจะเกิดประโยชน์อย่างไร ในแง่ของธุรกิจและการใช้สารสกัด โดยยกตัวอย่างตลาดในยุโรปในปี 2019 ว่ามีการใช้กัญชาอยู่ที่ประมาณ 10% แต่ในปี 2021 มีการขยายตัวถึง 21% จึงอาจบอกได้ว่า ความต้องการในการใช้กัญชา จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน

ตลาดใหญ่ที่สุดในเอเชียอย่างญี่ปุ่น มีการประมาณการในปี 2567 ว่า ตลาดกัญชาของญี่ปุ่น จะมีมูลค่าสูงถึง 2,057 ล้านเหรียญดอลลาร์

ส่วนการใช้กัญชาในประเทศไทย จะคล้ายกับทางยุโรป คือนำมาใช้ในการแพทย์ก่อนเป็นอันดับแรก แล้วค่อยขยายไปด้านอื่นๆ

มีการคาดการณ์มูลค่าของกัญชาในปี 2028 ไว้ที่ 123 ยูโร และมีแนวโน้มที่ตัวเลขจะสูงขึ้นเรื่อยๆ สอดคล้องกับการใช้ทางการแพทย์ที่อาจจะเพิ่มขึ้น

 

ด้าน ‘รศ.สุขุม นวลสกุล’ อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง มองว่านี่คือผลงานชิ้นใหญ่ของพรรคภูมิใจไทย ที่น่าจะศึกษามาดีว่าเรื่องนี้ทำได้ ทำแล้วจะมีคะแนน ประเทศไทยใช้กัญชามานานแล้วแต่ยังผิดกฎหมายจึงต้องแอบใช้ ทางพรรคคงรู้และพยายามหาทางที่เป็นประโยชน์กับประชาชน

“พรรคภูมิใจไทย เป็นพรรคใจถึง ใจนักเลง กระสุนเยอะ กระสุนคือความใจกว้าง ความกล้าช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ที่เดือดร้อน เขาหาทางออกได้ อันนี้เป็นกระสุน แต่ที่ผ่านมาเขาขาดสิ่งที่สำคัญคือกระแส พรรคเลยเงียบๆ แต่เมื่อนโยบายกัญชาสำเร็จ คนชื่นชมกันเยอะ อันนี้คือกระแสและพรรคได้กระแสแล้ว พูดแล้วทำกัญชาเสรี ตอนนี้พรรคภูมิใจไทยมีครบสูตรสำเร็จการเมืองไทย มีพร้อมทั้งกระสุนและกระแส” อ.สุขุมกล่าว

ขณะที่เสียงในสังคมมีทั้งฝั่งคนที่มองเห็นประโยชน์และอีกฝั่งที่กังวล

เพราะหลังจากนี้ไปทุกคนจะต้องเจอกัญชาอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่เว้นแม้แต่ในอาหาร ซึ่งต้องฝากไปยังพ่อค้าแม่ขายช่วยแจ้งลูกค้าด้วยความสัตย์จริง

เพราะเคสตัวอย่างกินกัญชาที่ผสมในอาหารแล้วเกิดอาการแพ้อย่างหนักเคยเกิดขึ้นมาแล้ว

 

อีกหนึ่งกลุ่มที่ออกมาแสดงความกังวลต่อการปลดล็อกกัญชาอย่างชัดเจน ก็คือกลุ่มแพทย์ ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ‘รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์’ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผอ.ร.พ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวในงานเสวนาของศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) ช่วงหนึ่งระบุว่า ที่ผ่านมามีนโยบายทางการเมืองผลักดันเรื่องการใช้กัญชา แต่เห็นว่ามีความย้อนแย้งของนโยบายที่ประกาศและการปฏิบัติจริง แม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข จะเน้นเสมอว่า การใช้กัญชามีจุดประสงค์เพื่อการแพทย์และขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ไม่ได้เพื่อส่งเสริมสันทนาการ ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือเยาวชนจะเข้าถึงกัญชาได้มากขึ้น เพราะในกฎหมายไม่ได้มีข้อจำกัดถึงเยาวชน ถ้าจะรอข้อบังคับที่จะออกมาในอนาคต ก็อาจจะช้าเกินไป เพราะการออกกฎหมายมีขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา ดังนั้น ช่วงที่เป็นช่องว่างก่อนที่ข้อบังคับต่างๆ จะออกมา คือช่วงที่ต้องช่วยกันเฝ้าระวังอย่างมาก

รวมถึง ‘ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย’ ก็ได้ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนเรื่องกัญชาต่อสุขภาพเด็กและวัยรุ่น พร้อมชี้ผลกระทบที่จะส่งผลต่อสมอง เป็นข้อเตือนใจให้กับสังคมด้วยเช่นกัน

ไม่เพียงแค่ความกังวลที่เกิดขึ้นในสังคมและกลุ่มแพทย์ ในระหว่างการประชุมสภา เพื่อพิจารณาวาระเรื่องด่วน ร่าง พ.ร.บ.กัญชาและกัญชง ‘สุทิน คลังแสง’ ส.ส. จากพรรคเพื่อไทย ก็ได้เผยถึงเรื่องนี้ด้วยท่าทีกังวล ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเกิดขึ้นด้วยความน่าสนใจ เพราะมีความคาดหวังของพี่น้องประชาชน แต่ขอแสดงความกังวลในหลายกรณี เพราะไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การเสพกัญชาก็จะส่งผลให้เกิดการเสพติด แต่หากเอาไปใช้เฉพาะทางการแพทย์จะเป็นประโยชน์อย่างแน่นอน

เนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ยังมีจุดอ่อนอยู่มากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ แม้ว่าจะกำหนดว่าห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ซื้อ-ขายกัญชา แต่หากระบบสังคมไทยที่ปัจจุบันยังไม่แข็งแรง อาจทำให้เกิดปัญหาสังคมที่ยากเกินจะควบคุม จากกฎหมายที่หละหลวม ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงกัญชาได้โดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ

นายสุทินยังกล่าวต่ออีกว่า เรื่องนี้ระวังผิดสนธิสัญญาระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งมีการลงนามกันแล้ว 187 ประเทศรวมถึงไทย ที่ถือว่ากัญชาเป็น 1 ใน 3 ยาเสพติดประเภทรุนแรง แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวยังมีความหละหลวมและเสี่ยงขัดสนธิสัญญา ทำให้ตนไม่สบายใจที่จะลงมติ

 

ท่ามกลางการถกเถียงและความกังวลที่เกิดขึ้นในสังคม ล่าสุดสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานครพบข้อมูลมีผู้ป่วยเข้ามารักษาตัวจากการเสพกัญชาเกินขนาดใน กทม. แล้ว 4 ราย โดย 1 รายเสียชีวิตจากการเสพกัญชาเกินขนาด และน่าตกใจคือพบว่า 2 รายที่เกิดผลข้างเคียงจากการเสพกัญชายังเป็นเยาวชน ซึ่งเรื่องนี้นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.บอกว่า ทาง กทม.มีความกังวลอย่างมาก เตรียมเล็งประกาศ กทม.เป็น ‘โรงเรียนปลอดกัญชา’ ให้ได้

เรื่องนี้เมื่อถึงหู ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ก็โบ้ยให้ไปถาม ‘นายอนุทิน ชาญวีรกูล’ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข แต่ยอมรับเป็นห่วงเช่นเดียวกับทุกคน ขณะนี้มีการตั้งคณะกรรมการระหว่างรอกฎหมายควบคุม ส่วนจะออกเป็น พ.ร.ก. เพื่อให้เร็วขึ้น ตามที่ ส.ว.เรียกร้องหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่ายังไม่ทราบ ให้ทางคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา

ด้านนายอนุทิน หลังถูก พล.อ.ประยุทธ์โยนให้เป็นผู้ตอบคำถาม ปมมีผู้เสพกัญชาจนเสียชีวิต ก็กล่าวว่าปัญหาเสพกัญชาเกินขนาดไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น ย้ำมีเป้าหมายเพื่อใช้ทางการแพทย์และสุขภาพ ที่ผ่านมามีการเตือนมาโดยตลอด อย่าดึงมาเป็นประเด็นการเมือง อย่าก้าวก่ายหรือเปรียบเทียบกับคนอื่นว่าเขาไม่หวังดีกับประชาชน

ยืนยันว่าคนที่เข้ามาทำงานการเมือง ยึดประชาชนเป็นที่ตั้งทุกคน

 

ความกังวลต่อการปลดล็อกกัญชา ยังคงมีหลายคนหลายภาคส่วนออกมาแสดงความเห็นเป็นระยะ ล่าสุด ‘จาตุรนต์ ฉายแสง’ แกนนำพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ‘Chaturon Chaisang’ จี้ให้ทบทวนกรณีปลดล็อกกัญชา ใจความช่วงหนึ่งระบุว่า

‘สธ.จ่อออกกฎคุมใช้งานกัญชาก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการเปิดเสรีไปก่อน คิดมาตรการทีหลัง ถามว่าที่จะต้องออกกฎคุมการใช้งานนี้เพราะการใช้งานอาจมีปัญหาใช่หรือไม่ ถ้ามี ทำไมจึงปล่อยใช้กันตามใจชอบมานานแล้ว’

‘พ.ร.บ.ยังไม่ผ่าน มาตรการยังไม่ได้คิด แต่เปิดเสรีกัญชาไปแล้ว เป็นตัวอย่างของการทำอะไรหวังผลแต่ในทางคะแนนเสียงและผลประโยชน์ของผู้ที่มีความพร้อมในการค้าขาย มากกว่าสุขภาพของประชาชน รีบกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ได้แล้ว’

สถานการณ์หลังปลดล็อกกัญชายังจะเป็นเรื่องที่สังคมต้องถกกันอีกนาน แม้จะทำให้ถูกกฎหมายแล้วก็ตาม ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับความจริงว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกัญชาไว้บังคับใช้อย่างชัดเจน และหากเกิดปัญหาขึ้นมาต่อเนื่องในระหว่างรอกฎหมายควบคุมออกมา ใครต้องรับผิดชอบ ภาระจะถูกผลักไปอยู่ที่ใคร?

สุดท้ายคือประชาชนเองที่ผิด หรือช่องโหว่ทางกฎหมายที่ไม่ได้เตรียมพร้อมมาตั้งแต่แรกกันแน่