ฉัตรสุมาลย์ : งานของภิกษุณีในเรือนจำ

เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าส่งพระอรหันต์สาวกกลุ่มแรก 60 รูปให้ไปประกาศพระศาสนานั้น ทรงมอบหมายให้ไป “ยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”

พระภิกษุณีสงฆ์ที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี จ.นครปฐม ได้เข้าไปเกื้อกูลดูแลสุขภาพใจของผู้ต้องขังติดต่อกันมาเข้าปีที่ 5 แล้ว

ที่จริงแล้วความคิดที่จะไปทำงานในเรือนจำนี้ ไม่ได้วางแผน แต่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ คือ ญาติโยมนำสังฆทานมาถวาย และคิดรอบคอบมาก เมื่อเห็นว่าเป็นพระผู้หญิงก็อุตส่าห์ซื้อผ้าอนามัยมาถวายด้วย เมื่อ 5 ปีก่อนนั้น ภิกษุณีที่วัตรก็ล้วนแต่อยู่ในวัยที่ไม่ได้ใช้ผ้าอนามัย พระก็ช่วยกันคิดว่า ของส่วนเกินนี้ ควรจะไปทำบุญที่ไหน ให้เป็นประโยชน์สูงสุด

เวลามีข้าวสารมาก ก็จะนำไปมอบให้กับบ้านพักคนชราในตัวจังหวัด ครั้นจะนำผ้าอนามัยไปให้บ้านพักคนชรา พนักงานที่นั่นก็ต้องหัวเราะเป็นแน่

คิดไปคิดมา หลวงพี่ท่านหนึ่งเสนอว่า “เรือนจำไง”

นั่นเป็นที่มาของการนำผ้าอนามัยไปมอบให้ผู้ต้องขังฝ่ายหญิงในเรือนจำ พูดคุยเลยไปว่า ฝั่งผู้ต้องขังฝ่ายชายนั้น มีพระภิกษุมาสอน แต่ฝั่งนักโทษหญิงไม่ค่อยมีพระมาสอน เจ้าหน้าที่ก็ถามว่า “หากนิมนต์หลวงแม่มา ท่านจะรับนิมนต์ไหม”

จุดนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นให้ภิกษุณีเข้าไปทำงานในเรือนจำ

 

ทําติดต่อกันมา 5 ปีแล้วค่ะ

ภิกษุณีสุโพธา (หลวงพี่ป๊อบ) ที่มีแฟนคลับติดตามท่านสอนธรรมะอยู่หลายพันคนก็ร่วมในคณะของภิกษุณีและอาสาสมัครเข้าไปทำงานอย่างสม่ำเสมอ จนท่านมรณภาพไป

ในเรือนจำประจำจังหวัดนั้น มีผู้ต้องขัง 3,500 คน ฝ่ายผู้หญิง 700 คน เวลาที่เข้าไปทำงานก็จะเข้าไปเยี่ยมในส่วนแดนผู้ต้องขังหญิง

เมื่อศึกษาสอบถามประวัติพบว่า ส่วนใหญ่ต้องคดียาเสพติด น่าจะสูงกว่า 80% ในตอนแรกที่เข้าไปจะมีผู้สูงอายุประมาณ 30% แต่ครั้งล่าสุดที่ตามท่านธัมมนันทาเข้าไปนี้ (9 สิงหาคม 2560) พบว่า เป็นผู้ต้องขังสาวๆ มากขึ้น

หลักสูตรที่นำเข้าไปสอนนั้น พบว่า ถ้าสอนโดยการเทศน์ ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องวางแผนคิดกิจกรรมเข้าไป ให้เขาได้ผ่อนคลายสนุกสนานด้วย

ชีวิตในเรือนจำเข้าไปทีแรก ประหลาดใจมาก เพราะไปวาดภาพว่า ชีวิตของคนต้องโทษจะน่ากลัว แต่ปรากฏว่า ผู้ต้องขังอยู่กันอย่างสบาย มีฟอร์มใส่ เสื้อสีฟ้า ผ้านุ่งสีน้ำเงิน บางคนมีแถบผ้าสีแดงคาดที่แขนเสื้อ เข้าใจว่า น่าจะเป็นผู้ต้องขังชั้นดี

เข้าใจผิดฉกรรจ์ พวกนี้ต้องคดียาเสพติดเป็นหมื่นเม็ดขึ้นไป

บางคนก็มีคาดแขนเสื้อสีเขียว น้อยกว่าที่คาดสีแดงค่ะ

ผมเผ้ายาว หลายคนแต่งหน้าสวยงาม

เรือนจำบางแห่ง ขาดแคลนน้ำ ผู้ต้องขังหญิงจะถูกตัดผมสั้น เพื่อประหยัดน้ำ แต่ที่นครปฐมต้องเรียกว่า อยู่กันสบายกว่าที่อื่น

ตอนที่อยู่ที่เรือนจำเก่าในตัวเมืองนั้น มีผู้ต้องขังหลายคนมีท้อง หลายคนเลี้ยงลูกเล็กๆ ถ้าคลอดลูกในเรือนจำ ก็สามารถเลี้ยงลูกเองได้ถึง 1 ขวบ จากนั้นก็ต้องส่งออกไปให้ย่า ยาย หรือญาติเลี้ยง

บทบาทของภิกษุณีตรงนี้จะเด่นชัดมาก กรณีหนึ่งที่ผู้เขียนประทับใจมาก ผู้ต้องขังท้องแก่เข้ามาขอพร เพราะจวนคลอดเต็มที ท่านธัมมนันทาสวดมนต์ขอพรให้เธอคลอดลูกโดยปลอดภัยทั้งแม่ลูก

คราวถัดมา เธออุ้มลูกที่เพิ่งคลอดมาให้ภิกษุณีได้ผูกข้อมือรับขวัญเด็ก

 

5ปีผ่านไป ท่านธัมมนันทาจัดทีมภิกษุณีและอาสาสมัครเข้ามาดูแล โดยจัดเป็นหลักสูตร 7 ครั้ง พบกันทุกวันพุธเว้นพุธ ผู้ที่เข้าอบรมครบ 7 ครั้ง ก็จะได้ประกาศนียบัตรที่ทางวัตรมอบให้ ประกาศนียบัตรนี้ สามารถนำไปประกอบเอกสารขอลดหย่อนโทษได้

ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2560 เป็นวันมอบประกาศนียบัตรอีกครั้งหนึ่ง ทั้งอยู่ในช่วงอาทิตย์ที่คนไทยฉลองวันแม่ 12 สิงหาคม ด้วย กิจกรรมจึงเน้นเรื่องความสัมพันธ์แม่กับลูก

ทีมงานที่เข้าไปนี้ มีภิกษุณีที่ประจำโครงการ 3 รูป มีปริญญาตรีทั้ง 3 รูป ท่านธัมมนันทาเข้ามาเฉพาะวันที่มอบประกาศนียบัตร นอกนั้นเป็นทีมงานอาสาสมัครอีก 3-4 คน เช่นเดียวกัน ทีมอาสาสมัครมีทั้งปริญญาและประสบการณ์ทำงานที่ดี ท่านหนึ่งเคยเป็นผู้บริหารของบริษัทใหญ่ระดับเทสโก้ โลตัส อีกท่านหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทำงานกับช่างศิลป์ 10 หมู่

คุณสมบัติของทีมที่เข้าไปอบรมก็จำเป็นที่จะทำงานด้วยกันได้ มีการรับลูกส่งลูกกัน เป็นทีมที่ดี

เนื่องจากคราวนี้เข้าไปในอาทิตย์ที่เป็นวันแม่ ทีมงานเลยทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับวันแม่ แต่ทุกครั้งจะมีการย้ำเตือนสิ่งที่ได้พยายามปลูกฝังไว้ตั้งแต่ครั้งก่อน มีการทบทวนกันเรื่องวิธีคิดเชิงบวก

ท่านธัมมนันทาเล่าให้ฟังว่า ไปประชุมที่พม่า เจ้าภาพจัดเลี้ยงใหญ่โต บนโต๊ะมีอาหาร 8-9 อย่าง แต่เป็นเนื้อสัตว์หมด มีสักสองจานที่เป็นผัดผัก กับผักต้ม ถ้าคิดว่า ฝั่งเจ้าภาพมีอาหารกินเพียบ แต่ท่านมีเพียงผักผัดกับผักต้ม ก็จะรู้สึกไม่ดี แต่ถ้าคิดเป็นว่า โชคดีจังยังมีอาหารให้ตั้งสองอย่าง แล้วก็ยังมีข้าวด้วย ดีจัง ขอบคุณมากๆ

เราก็ต้องรู้จักมีมุมมองที่จะทำให้ตัวเราเองสบายใจ

ออกไปเดินข้างนอกเต็มไปด้วยหนามไหน่ เราจะต้องเอาหนังผืนใหญ่ขนาดไหนไปคลุมเพื่อให้เราเดินได้โดยไม่เจ็บเท้า ง่ายที่สุดเอาหนังมาหุ้มเท้าของเราเสีย (เป็นรองเท้า) เราก็สามารถจะเดินไปไหนๆ ก็ได้

หากเราพยายามจะปรับโลกให้เข้ากับเรา มันก็มีแต่ปัญหานั่นแหละ เราต้องฉลาดที่จะปรับตัวเราเองให้เข้ากับโลก

น้องคนหนึ่งเพิ่งเรียนจบปริญญาตรี ยังไม่ได้รับปริญญา แต่ถูกจับเพราะมียาเสพติดในครอบครอง ความจริงไม่น่าจะต้องโทษมาก แต่เพราะขัดขืนการจับกุม เลยโดนตัดสินตลอดชีวิต เมื่อเข้ามาอยู่ในเรือนจำก็มีปัญหาไปหมด แม้แต่การตากเสื้อผ้า ไม่มีที่ตาก ก็หงุดหงิด เมื่อเข้าหลักสูตรพบว่า ค่อยๆ พัฒนาตนเอง ก็ยังไม่มีที่ตากเสื้ออยู่ แต่ยังรู้จักออกปากพี่ๆ ขยับขยายได้พื้นที่ตากเสื้อบ้าง

กิจกรรมวันนั้น อาสาสมัครถามว่าในบรรดา 72 คนนั้น มีใครเป็นแม่บ้าง ผู้เขียนตกใจเมื่อเห็นเขายกมือกันถึง 90% ที่ตกใจเพราะดูหน้าตายังเด็กๆ เป็นส่วนมาก มีคนที่อายุมากสัก 50 เพียง 5-6 คนเท่านั้น

แสดงว่า ผู้หญิงไทยมีลูกอายุน้อยลง

ให้เขานั่งเป็นแถวหันหน้าเข้าหากัน ให้ฝ่ายหนึ่งสมมติเป็นแม่ และให้ฝ่ายลูกตั้งจิตระลึกว่า อยากจะบอกอะไรกับแม่ ทันทีที่เขากลับมาอยู่กับตัวเอง หลับตานึกถึงแม่ น้ำตาก็ไหลพรากแทบทุกคน หลายคนโผเข้ากอดอีกฝ่ายหนึ่งที่สมมติว่าแทนแม่ บางคนพูด บางคนไม่พูด แต่ให้เป็นเวลาที่เขาได้อยู่กับตัวเอง ส่วนใหญ่จะขอโทษแม่ที่ทำให้แม่ผิดหวัง แทนที่แม่แก่แล้วจะมีลูกเลี้ยงดูสบาย กลายเป็นว่า ลูกมาติดคุก แล้วต้องทิ้งภาระคือหลาน ให้ย่า ยายต้องเลี้ยงดู

ที่วัตรมีกรณีที่พบว่า ทั้งพ่อแม่ติดคุก ลูกสาววัย 15 ต้องเลี้ยงน้องเล็กๆ สองคน ทางวัตรก็เลยเข้าไปอุปถัมภ์ส่งเสียคนที่เป็นพี่สาว วันเสาร์อาทิตย์ต้องไปทำงานเป็นแคดดี้ อยู่ตามสนามกอล์ฟ

 

เนื่องจากวันนั้นเป็นวันสุดท้าย คือกลุ่มนี้ได้เข้าอบรมครบ 7 ครั้งแล้ว ท่านธัมมนันทาทำหน้าที่แจกประกาศนียบัตร และมอบสายสิญจน์ โดยให้หลวงพี่ทั้งสามรูปช่วยกันผูกสายสิญจน์ให้ สร้างขวัญและกำลังใจอย่างยิ่ง

เมื่อจบหลักสูตรหนึ่งเราก็เริ่มหลักสูตรต่อไป โดยหัวข้อที่อบรมไม่ซ้ำกัน เพื่อคนที่เคยอบรมแล้วก็สามารถเข้าร่วมได้อีก

เราถือว่า งานนี้เป็นหน้าที่ของพระที่จะเข้าไปสร้างขวัญกำลังใจ ให้ความหมายกับชีวิต ให้ทิศทางที่เป็นกุศล บางคนติดช่วงสั้น เมื่อออกมาแล้วก็มาตั้งหลักให้ถูกต้อง

การสร้างคน เป็นเรื่องสำคัญ ผลิตคนดีคืนสู่สังคม ก็ช่วยลดทอนภาระของรัฐไปได้อีกโสตหนึ่ง หลวงพี่เองก็ได้เรียนรู้ และได้พัฒนาตนควบคู่กันไปเสมอ