เอ็นไอเอถอด 8 ความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องเจอในโลกธุรกิจ แก้ได้แค่อ่าน “The Founder II” คลังแสงของคนทำธุรกิจนวัตกรรม

เมื่อโลกหมุนเข้าสู่ยุคที่มนุษย์มีความหลากหลายของเจเนอเรชั่น และกลุ่ม Gen-Y กลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ไม่ต่างจากประเทศไทยที่มองว่า คนเจนวาย เป็นกลุ่มวัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ แต่ด้วยไลฟ์สไตล์ที่เติบโตมากับเทคโนโลยีดิจิทัล คนกลุ่มนี้จึงต้องการรูปแบบชีวิตที่ยืดหยุ่น ชอบความท้าทาย กระหายความสำเร็จ และความก้าวหน้าในอาชีพ บางคนมองว่าวิถีชีวิตมนุษย์เงินเดือนเป็นเรื่องน่าเบื่อ การเป็น “เจ้าของธุรกิจ หรือ Founder” จึงกลายเป็นอาชีพในฝันของใครหลายคน ทำให้หลายปีที่ผ่านมามีธุรกิจสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีเกิดขึ้นใหม่มากมาย แม้การเริ่มต้นทำธุรกิจจะไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม แต่การจะทำให้ธุรกิจที่สร้างขึ้นประสบความสำเร็จ ไม่หลุดออกจากสนามการแข่งขันกลางคันนั้น ไม่ใช่สิ่งที่เจ้าของกิจการทุกคนจะทำได้ เพราะในโลกของธุรกิจ ผู้ประกอบการก็เปรียบเสมือนดั่งปลาที่ต้องแหวกว่ายต่อสู้กับคลื่นลมในมหาสมุทร เพื่อให้มีชีวิตรอดและขยายอาณาจักรให้อยู่ได้อย่างมั่นคงในอนาคต

            เมื่อเส้นทางการทำธุรกิจให้สำเร็จไม่ได้ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก แค่ความตั้งใจและการวางแผนงานที่ดี อาจยังไม่เพียงพอที่จะสร้างแบรนด์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน เท่ากับการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตที่ไม่สามารถคาดเดาได้ อย่างเช่นกรณีที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 หลายธุรกิจต้องปรับรูปแบบเพื่อให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤตและภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดตัวหนัก ขณะที่บางองค์กรก็นำนวัตกรรมมาเป็นตัวขับเคลื่อนและพัฒนาธุรกิจให้ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากพูดถึงคำว่า นวัตกรรม ก็ถือเป็นความท้าทายที่ไม่ว่าจะเป็น ปลาใหญ่อย่างองค์กรที่อยู่มายาวนานหลายทศวรรษ หรือ ปลาเล็ก อย่างกลุ่มสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอี ที่เข้าใจว่าต่างต้องเรียนรู้ร่วมกัน

8 ความท้าทายที่ผู้ประกอบการเล็ก – ใหญ่ ต้องเผชิญในยุคโควิด & เทคดิสรัปชัน

            กว่า 2 ปีที่ผ่านมา ตัวแปรสำคัญจากการระบาดของโควิด – 19 และความก้าวไกลของเทคโนโลยีเป็นชนวนที่ทำให้โลกเกิดความท้าทาย โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาที่ทุกคนต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็น

·      การคิดใหม่ และสร้างความแตกต่าง เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางของผู้บริโภคหรือกลุ่มผู้ใช้งานที่มักมองหา สิ่งใหม่ที่แตกต่างและตอบสนองความต้องการของตนเองได้ ดังนั้น ในโลกธุรกิจยุคใหม่ผู้ประกอบการยิ่งจำเป็นจะต้องหาผลประโยชน์พิเศษที่ที่สร้างความแตกต่างอย่างโดดเด่นเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าเสมือนเพื่อนที่พึ่งพากันได้แม้ในยามวิกฤต

·      การสร้างโซลูชันที่สอดรับกับ Pain Point ของผู้บริโภคในยุคที่ต้องเผชิญกับวิกฤต ผู้ประกอบการที่รู้เร็ว ขยับ และปรับตัวทัน จะสามารถคว้าโอกาสในการสร้างทางเลือกที่ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือบริการเพื่อแก้ปัญหาให้กับผู้คนและสังคมได้

·      การมองกำไรเป็นเป้าหมายสูงสุด ทำให้ขาดเวลาในการพัฒนาหรือยกระดับผลิตภัณฑ์ให้เข้าถึงผู้ใช้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับแบรนด์ที่สร้างผลิตภัณฑ์ที่ดี และมีเป้าหมายในการสร้างคุณค่าที่แตกต่างให้กับวิถีชีวิตที่ชัดเจน

·    การเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร โดยเฉพาะเรื่องวิธีคิด ระบบการทำงาน แนวทางการแก้ปัญหา รวมทั้งในเรื่องของทรัพยากรมนุษย์ที่ยังยึดติดกับกรอบการทำงานแบบเดิม จนไม่สามารถก้าวทันโลกหรือคู่แข่งที่เปลี่ยนแปลงไปได้

·      การเปลี่ยนความเชื่อเรื่อง “แบรนด์ไทย” ที่ยังถูกมองว่าไทยเป็นเพียงฐานการผลิต หรือการทำธุรกิจเพื่อองค์ประกอบของสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ความจริงแล้ว ไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็นเจ้าของนวัตกรรม หรือแบรนด์ที่มีศักยภาพแข่งขันในระดับสากล

·      การเข้าใจความหมายของ “นวัตกรรม” ซึ่งหลายคนมักนึกถึงความทันสมัย หรือเทคโนโลยีขั้นสูง จึงเกิดความไม่มั่นใจที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือความแปลกใหม่ให้กับธุรกิจ แต่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องการเปลี่ยนกระบวนการทำ การคิดแบบใหม่ หรือการขับเคลื่อนงานด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด

·    การเข้าแข่งขันผิดตลาด จึงต้องมีการวิเคราะห์ตลาดและความสามารถของตนเองให้อยู่ในขอบเขตความเชี่ยวชาญ หรือเรื่องที่สามารถแข่งขันได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จ

·    การวิเคราะห์ความเสี่ยง เพื่อเตรียมแผนสำรอง แนวทางการป้องกัน และการแก้ไขหากเกิดการปัญหา หรือเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน

นวัตกรรม ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของ เทคโนโลยีขั้นสูง” The Founder ll อีบุ๊คนี้มีคำตอบ

ไม่ว่าคุณจะเป็นเด็กจบใหม่ที่ตามหาความฝัน หรือเป็นพนักงานออพฟิศที่อยากลาออกจากงานประจำ เพื่อมาทำธุรกิจเล็กของตัวเอง รวมถึงผู้ประกอบการที่อยากจะนำนวัตกรรมมาช่วยพัฒนาแบรนด์ให้ก้าวทันโลกธุรกิจที่เปลี่ยนไปจากเดิม ถ้าหากไม่อยากเจ็บตัวฟรี เพราะต้องเริ่มต้นเองแบบผิดๆ ถูกๆ ลองเปิดอ่าน “The Founder ll” แล้วจะเข้าใจว่า นวัตกรรมไม่จำเป็นต้องเป็นแค่เรื่องของ “เทคโนโลยีขั้นสูง หรือความไฮเทคเสมอไป แต่หมายรวมถึงแนวคิดและมุมมองของบุคคลต้นแบบผู้ก่อตั้งธุรกิจนวัตกรรมในประเทศไทยที่สามารถสร้างทางรอดในภาวะวิกฤตได้ (Innovation in Time of Crisis) ได้แก่ Pandemic ผู้ก่อตั้งองค์กรที่สามารถปรับตัวได้ดีในช่วงวิกฤตโควิด – 19 Climate Change ผู้ก่อตั้งองค์กรที่ตอบโจทย์กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และ Economic Crisis ผู้ก่อตั้งองค์กรที่มีแนวทางการดำเนินงานสอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจโลกยุคใหม่ ซึ่งผู้ก่อตั้งองค์กร หรือ The Founder ทั้ง 3 กลุ่ม ถือเป็นต้นแบบแห่ง “นวัตกรรมเชิงความคิด” ที่จะทำให้ผู้ที่ศึกษาได้เห็นโมเดลที่ทำให้สินค้า – บริการสามารถอยู่รอดได้ในภาวะที่ทุกคนต้องเผชิญร่วมกัน

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เล่าถึงภารกิจสำคัญประการหนึ่งของ NIA คือ การสร้างความตระหนักรู้ด้านนวัตกรรมให้กับกลุ่มเป้าหมายและสังคมไทย ผ่านการสื่อสารในหลากหลายมิติ ทั้งด้านเทคโนโลยี ผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ หรือแม้กระทั่งใน คนหรือกลุ่มคนที่เป็น ต้นกำเนิด ของการเปลี่ยนแปลง พวกเขาคือ นวัตกรผู้สร้างนวัตกรรม ดังนั้น NIA จึงค้นหา The Founder จากทุกภาคส่วน เพื่อบันทึกเรื่องราวของผู้บุกเบิก ก่อตั้ง และวางรากฐานให้องค์กรหรือทายาท ตลอดจนนำพาองค์กรไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สอดรับกับโลกธุรกิจที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

“ปัญหาของบางธุรกิจที่ยังขาดการนำนวัตกรรมมาใช้ประกอบด้วยปัจจัยหลายประการ ทั้งเรื่องการเงิน บุคลากร รูปแบบของนวัตกรรมหรือกระบวนการที่เหมาะสม NIA ต้องการชี้ให้เห็นภาพว่านวัตกรรมไม่ใช่เรื่องไกลตัว เมื่อทำให้ภาพจำของผู้คนเปลี่ยนไป ก็จะเกิดเป็นแรงบันดาลใจ และทำให้บริษัทและแบรนด์นวัตกรรมของไทยนั้นมีความชัดเจน – ถูกผลิตออกมามากขึ้น ทั้งนี้ คาดหวังว่าหนังสือ The Founder II จะช่วยตอกย้ำให้ผู้คนหันมาสนใจหลักการคิด วิธีปฏิบัติ เห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมเชิงความคิด สิ่งที่มีมูลค่าและสามารถผลิตออกมาได้ไม่สิ้นสุด เช่นเดียวกับแบรนด์นวัตกรรมไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างไม่สิ้นสุดในอนาคตเช่นเดียวกัน

สำหรับ “The Founder II” ถูกรังสรรค์ขึ้น เพื่อนำเสนอมุมมองของบุคคลต้นแบบ ผู้ก่อตั้งธุรกิจนวัตกรรมในประเทศไทย ผ่านการสื่อสารเรื่องราวและองค์ความรู้สำคัญที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในรูปแบบ e-Book ผ่านภาพที่แสดงให้เห็นอัตลักษณ์และคาแรคเตอร์ของ The Founder ทั้ง 26 คน 25 องค์กร ในมิติที่เชื่อมโยงกับนวัตกรรมและตัวบุคคลเป็นหลัก ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถช่วยสร้างพลังและการจดจำให้เกิดขึ้นได้ รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้คนไทยเกิดการตื่นตัวที่จะสร้างธุรกิจนวัตกรรม และผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศนวัตกรรมที่มั่นคงและยั่งยืน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการทั่วไป หรือบุคคลที่สนใจสามารถดาวน์โหลดหนังสือ The Founder II ผ่านคิวอาร์โค้ด หรือดาวน์โหลด https://thefounder.nia.or.th/the-founder-ll/ ได้ตั้งแต่วันนี้ ฟรี!! ไม่มีค่าใช้จ่าย