อรุณี ร่ายยาว สิทธิของประชากรแฝง : เพราะความเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่ได้จำกัดแค่ทะเบียนบ้าน

27 พ.ค. 2565 ดร.อรุณี กาสยานนท์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย โพสต์บทความ สิทธิของประชากรแฝง : เพราะความเป็นคนกรุงเทพฯ ไม่ได้จำกัดแค่ทะเบียนบ้าน ก่อนอื่นเลย หญิงต้องขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งกับ อ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ได้เป็นผู้ว่ากรุงเทพฯแบบแลนด์สไลด์ของจริง และ ส.ก.ของพรรคเพื่อไทยทั้ง 20 เขตที่ชนะใจพี่น้องชาวกรุงเทพมหานคร หญิงเชื่อว่าทั้ง อ.ชัชชาติ และ ส.ก.ของพรรคเพื่อไทย จะสามารถสร้างกรุงเทพมหานครให้กลายเป็น “เมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน” และเป็น “กรุงเทพฯมั่งคั่ง” ได้อย่างแน่นอนค่ะ
แม้ผลการเลือกตั้งจะสร้างความหวังและแรงกระเพื่อมมหาศาลต่อการเมืองภาพใหญ่ การเฉลิมฉลองดีใจของพี่น้องชาวกรุงเทพฯ ได้จุดประกายความหวังในประชาธิปไตยให้กับพี่น้องทั่วประเทศ คนกรุงเทพฯต่างหวังว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปจะเป็นยุคใหม่ของคนกรุงเทพฯจริงๆเสียที ผู้ว่ากรุงเทพฯคนใหม่นี้ที่คนกรุงเทพฯเลือกมากับมือ จะสามารถต่อเติมเสริมความหวังและอนาคตของพวกเขาได้อย่างแน่นอน
แต่น่าเสียดายตรงที่ว่า “ไม่ใช่คนกรุงเทพฯทุกคน…จะมีสิทธิได้เลือกตั้งผู้ว่าฯ”
อ่านแบบนี้แล้ว หลายคนอาจเถียงนะคะว่า คนกรุงเทพฯทุกคนก็มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าอยู่แล้วไม่ใช่หรอ?
ก็จริงอยู่คะ แต่นิยามของคำว่าคนกรุงเทพฯที่ว่านั้น
หมายถึงเพียงแค่คนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านกรุงเทพฯเท่านั้น
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2563 พบว่า กรุงเทพฯ มีประชากรราว 10 ล้านคน แต่เป็นคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่กรุงเทพฯจริงๆ เพียง 6 ล้านคน ซึ่งจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพียง 4.6 ล้านคน คิดเป็น 46% ของประชากรทั้งหมด นั่นหมายความว่า ที่เหลืออีก 4 ล้านคน ก็คือประชากรแฝงของกรุงเทพฯ โดยประชากรแฝงในกรุงเทพฯ แบ่งเป็นประชากรแฝงชาวต่างชาติราว 1 ล้านคน และประชากรแฝงคนไทยราว 3 ล้านคน
เอาหล่ะ คำถามที่น่าสนใจคือ แล้วประชากรแฝงคนไทยที่เหลือราว 3 ล้านคนนี้
“เราจะไม่นับว่าเขาเป็นคนกรุงเทพฯเลยหรอคะ?”
ทั้งๆที่พวกเขาทั้ง 3 ล้านคนก็ได้รับผลกระทบจากนโยบายของผู้ว่ากรุงเทพฯเหมือนกัน
ทั้งๆที่พวกเขาทั้ง 3 ล้านคนก็เป็นคนที่ขึ้นรถไฟฟ้า โหนรถเมล์ ลงเรือด่วน ซ้อนวินมอเตอร์ไซค์ ขับรถบนถนน เป็นคนที่เดินบนทางเท้าที่ผุพังเหมือนกัน เจอปัญหาน้ำขังน้ำรอระบายเหมือนกัน เจอสายไฟระโยงระยางเหมือนกัน เจอฝุ่น PM2.5 เหมือนกัน เจอควันจากท่อไอเสียเหมือนกัน เจอปัญหาทุกอย่างเหมือนกันกับคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ
ทำไมเขาทั้ง 3 ล้านคน ถึงไม่ถูกเรียกว่า “คนกรุงเทพฯ”
และหากเรายอมรับนับรวมว่าพวกเขาเหล่านั้นทั้ง 3 ล้านคนเป็นคนกรุงเทพฯ เหมือนกัน
“แล้วทำไม เขาถึงไม่มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่ากทม.?”
หลายคนแย้งว่า ก็คนเหล่านี้ไม่ได้เสียภาษีให้กรุงเทพฯ จะมีสิทธิเลือกผู้ว่ากรุงเทพฯได้ยังไง
ภาษีที่กทม.จัดเก็บเองที่ได้มากที่สุด คือ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งประชากรแฝงเหล่านี้มักไม่ได้มีบ้านหรือที่ดินเป็นของตัวเอง แต่มักเป็นผู้เช่าอาศัยมากกว่า แต่ทว่าประชากรแฝงเหล่านี้ ก็จ่ายค่าเช่าให้กับเจ้าของบ้าน เพื่อให้เจ้าของบ้านนำเงินค่าเช่าดังกล่าวไปจ่ายภาษีโรงเรือนและที่ดิน ดังนั้นจะเรียกว่าประชากรแฝงไม่จ่ายภาษีโรงเรือนและที่ดินก็คงไม่ได้ เพราะเขาได้จ่ายทางอ้อมผ่านค่าเช่าบ้านค่าเช่าหอไปเรียบร้อยแล้ว
ส่วนภาษีที่ส่วนราชการจัดเก็บให้แล้วจัดสรรให้กทม.นั้น ภาษีได้มากที่สุด คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรมสรรพากรจะเป็นคนเก็บให้และจัดสรรตามสัดส่วนของเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้ในเขตกรุงเทพมหานคร นั่นหมายความว่า ยิ่งเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เยอะ กทม.ก็จะได้รับจัดสรรเยอะตามไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าประชากรแฝงก็จะจับจ่ายใช้สอยซื้อของเพื่อดำรงชีพเหมือนคนที่มีทะเบียนบ้านในกทม.ทุกคน และทุกคนรวมทั้งประชากรแฝง ก็จ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT7% อยู่แล้วผ่านการซื้อของในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ประชากรแฝงก็เป็นคนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มให้กทม.เหมือนกันกับคนที่มีทะเบียนบ้านในกทม.
.
ดังนั้น ข้ออ้างที่บอกว่าประชากรแฝงไม่ควรเลือกตั้งผู้ว่าฯ เพราะไม่ได้จ่ายภาษีให้กทม.จึงเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น
.
หลายคนก็บอกว่า ถ้าอยากเป็นคนกรุงเทพฯจริงๆ ก็ย้ายทะเบียนบ้านมาสิ แค่นี้ก็จบแล้ว
.
แต่มันไม่จบแบบนั้นหนะสิคะ เพราะอย่างที่กล่าวไปว่าประชากรแฝงส่วนมากมักอาศัยอยู่ในฐานะ “ผู้เช่า” มากกว่า “เจ้าของบ้าน” พวกเขาเข้ามาทำงานหาเงิน มาเรียนหนังสือ มากกว่ามาซื้อบ้านอยู่ เขาจึงเลือกที่จะมาหาบ้านเช่าหรือหอพักอยู่อาศัยแทน จริงอยู่ที่ตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายจะอยากให้ใครย้ายไปอยู่ที่ไหน ก็ให้ย้ายทะเบียนบ้านไปด้วย เช่น ให้ผู้เช่าย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ในบ้านเช่าด้วย แต่ในทางปฏิบัติแล้วทำได้ยาก เพราะความ “ไม่เชื่อใจ” ของเจ้าของบ้านที่กลัวว่าหากย้ายเข้ามาแล้วผู้เช่าสร้างความเดือดร้อนจะทำให้ตัวเองซึ่งเป็นเจ้าของบ้านเดือดร้อนตามไปด้วย หรือความยุ่งยากเสียเวลาสำหรับคนที่ต้องย้ายบ่อย ย้ายเรื่อยๆตามงานที่ทำ ทำให้หลายคนทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่า เลือกที่จะไม่ย้ายทะเบียนบ้าน (แม้จะขัดเจตนารมณ์แห่งกฎหมายก็ตาม) เพื่อความสะดวกและความสบายใจของทั้ง 2 ฝ่าย ฉะนั้นการบอกให้ย้ายทะเบียนบ้านมานั้น มันจึงไม่ได้เป็นเรื่องง่ายในทางปฏิบัติ
.
หลายคนจึงแย้งว่า ก็ไม่ย้ายทะเบียนบ้านมาเอง จะเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งผู้ว่ากทม.ได้ยังไง?
.
มันก็วนกลับไปที่คำถามแรก คือ เราจะนิยาม “คนกรุงเทพฯ” แค่คนที่มีทะเบียนบ้านในกทม.จริงๆหรือคะ แล้วคนที่มาทำงานตั้งแต่มาใช้แรงงาน ขายของหาเช้ากินค่ำ หรือนักเรียนนิสิตนักศึกษา หรือพนักงานออฟฟิศชนชั้นกลาง แม้ว่าเขาจะไม่ได้มีทะเบียนบ้านในกรุงเทพฯ แต่ทุกคนล้วนใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ กรุงเทพฯเป็นที่อยู่ ที่กิน ที่ทำงาน ที่จ่ายภาษี เป็นบ้านของพวกเขาไปแล้ว ทุกคนล้วนได้รับผลกระทบและเจอปัญหาร่วมกันกับคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ แล้วเราจะไม่นับเขาว่าเป็น “คนกรุงเทพฯ” เช่นเดียวกับคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพฯจริงๆหรอคะ?
.
ดังนั้น ความเป็นคนกรุงเทพฯ จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับทะเบียนบ้าน แต่ขึ้นอยู่กับว่า เราใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯหรือไม่
หากใช่ เราทั้งหมดคือ คนกรุงเทพฯ
หากเราทั้งหมดคือคนกรุงเทพฯ เราทั้งหมดก็จะ “ต้องมีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ” ได้เช่นกัน
.
ทางออกของปัญหานี้อยู่ตรงไหน?
.
แน่นอนว่าปัญหามันอยู่ที่ “ทะเบียนบ้าน” ดังนั้น การแก้ไขปัญหาก็ต้องพุ่งตรงไปที่ทะเบียนบ้าน หญิงเสนอทางออกใน 2 วิธีค่ะ ที่อาจจะเปิดทางให้พี่น้องประชากรแฝงชาวกรุงเทพฯทั้งหลายสามารถร่วมกำหนดชะตาอนาคตเมืองของตัวเองได้ คือ
1. ปรับปรุงระบบทะเบียนราษฎร์ให้ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น
หากประชากรแฝงคือคนที่ไม่มีทะเบียนบ้านในกทม. เพราะปัญหาความไม่สะดวกและไม่สบายใจ เราอาจจะต้องปรับปรุงระบบทะเบียนราษฎร์ที่เปิดโอกาสให้ย้ายทะเบียนบ้านได้ง่ายและยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อสร้างทั้งความสะดวกและความสบายใจ เปิดโอกาสให้คนย้ายเข้าย้ายออกได้ง่ายขึ้น ระบบทะเบียนราษฎร์ต้องรวดเร็วเท่าทันการเคลื่อนย้ายประชากร เช่น การให้ย้ายเข้า-ออกทะเบียนบ้านผ่านทางออนไลน์ได้ หรืออื่นๆ
2. เลิกใช้เกณฑ์ทะเบียนบ้านในการให้สิทธิ
หากการใช้เกณฑ์ทะเบียนบ้านมีปัญหามากนัก ก็อาจจะลองใช้วิธีใหม่ที่ไม่ได้ใช้เกณฑ์ทะเบียนบ้านในการให้สิทธิเลือกตั้งดูไหมคะ เช่น การเปิดให้มีการลงทะเบียนก่อนเลือกตั้งเพื่อยืนยันสิทธิในการเลือกตั้งในฐานะผู้ใช้ชีวิตในเมืองนั้นๆ โดยอาจกำหนดให้ใช้สิทธิได้แค่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้น ซึ่งระบบดังกล่าวนี้ก็ใช้อยู่ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นต้น หรืออาจจะออกแบบวิธีการใหม่ที่ไม่ต้องอิงจากทะเบียนบ้าน แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนที่อาศัยใช้ชีวิตสามารถเลือกตั้งได้ตามพื้นที่ที่ตนเองอาศัยใช้ชีวิตอยู่จริงๆ
หากเราสามารถปลดล็อคปัญหาเรื่องทะเบียนบ้านได้ หญิงเชื่อว่าพี่น้องประชากรแฝงทุกคน จะสามารถมีสิทธิมีเสียงในการเลือกตั้งผู้ว่ากทม.เหมือนกันกับคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกทม. และจะสามารถร่วมกำหนดอนาคตของเมืองได้เหมือนกับคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกทม.
สุดท้ายนี้ หญิงขอยืนยันอีกครั้งว่า…
คนกรุงเทพฯ คือ “ทุกคน”ที่อาศัยใช้ชีวิตทำมาหากินเล่าเรียนเขียนอ่านในเมืองแห่งนี้
คนกรุงเทพฯ คือ “ทุกคน”ที่เจอปัญหาและเผชิญกับผลกระทบร่วมกันจากนโยบายการบริหารของกรุงเทพฯ
คนกรุงเทพฯ จึงไม่ใช่แค่คนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพฯเท่านั้น
แต่คือ “ทุกคนที่อยู่และใช้ชีวิตในมหานครแห่งนี้”