The Will to Remember ศิลปะแห่งการยอมรับและเยียวยาบาดแผลในประวัติศาสตร์ ผ่านภาพถ่าย / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

The Will to Remember

ศิลปะแห่งการยอมรับและเยียวยา

บาดแผลในประวัติศาสตร์

ผ่านภาพถ่าย

 

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีข่าวดีในแวดวงศิลปะภาพถ่ายของประเทศไทย จากการที่ศิลปินภาพถ่ายชาวไทยอย่าง ชรินทร ราชุรัชต คว้ารางวัลระดับโลก จากผลงาน World Press Photo Contest 2022 หรืองานประกวดภาพถ่ายสื่อมวลชนโลก ที่โดยปกติจะเป็นรางวัลที่มอบให้กับผลงานภาพข่าวและภาพถ่ายสารคดี หากแต่ในปีนี้มีการเพิ่มสาขาใหม่อย่าง Open Format ที่เปิดพื้นที่ให้ผลงานภาพถ่ายที่เล่าเรื่องด้วยแง่มุมทางศิลปะสามารถส่งเข้าประกวดได้

ซึ่งชรินทรคว้ารางวัลในสาขานี้จากผลงานชุด The Will to Remember ที่หยิบเอาภาพถ่ายจากเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ ในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 นำมาแปรสภาพเป็นผลงานศิลปะในแบบของเธอ

World Press Photo Award Ceremony

ด้วยการนำภาพถ่ายเหล่านั้นมาฉีกให้ขาดออกจากกัน แล้วซ่อมแซมด้วยเทคนิค “คินสึงิ” (Kintsugi) หรือปรัชญาการซ่อมแซมภาชนะที่แตกหักเสียหายด้วยยางไม้และผงทองของญี่ปุ่น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการยอมรับและเยียวยาบาดแผลในอดีต

และแสดงออกถึงความหวังของการก้าวไปสู่อนาคตข้างหน้าที่ดีกว่า

ชรินทรเปิดเผยแรงบันดาลใจเบื้องหลังผลงานชุดนี้ของเธอให้เราฟังว่า

“ก่อนหน้านี้เราสนใจคินสึงิมาตั้งนานแล้ว แต่ไม่เคยมีโอกาสได้เรียน พอดีเราได้ไปเป็นศิลปินพำนักที่ Tokyo Arts and Space (TOKAS) ที่ญี่ปุ่น ก็เลยตัดสินใจเรียน ตอนที่เรียนก็ยังไม่รู้ว่าจะเอามาทำอะไรเหมือนกัน”

“พอกลับมาเมืองไทยได้สักพักหนึ่ง จากที่ไม่ค่อยสนใจการเมือง เราเริ่มก็เริ่มหันมาสนใจ เริ่มฟังคลิปเสวนาของนักวิชาการฝ่ายประชาธิปไตยต่างๆ ทางยูทูบเรื่อยมา เรียกว่าตาสว่างเพราะยูทูบน่ะนะ เพราะก่อนหน้านี้ในโรงเรียนบ้านเราก็ไม่เคยมีสอนเรื่องพวกนี้อยู่แล้ว”

“ตอนฟังช่วงแรกๆ ก็ยังจับประเด็นไม่ค่อยได้ มาพอเข้าใจบ้างก็ตอนที่ฟังคลิปที่อาจารย์ธนาวิ (โชติประดิษฐ) พูดเกี่ยวกับการปกปิดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 (https://bit.ly/3yT8S2K) เราก็สงสัยว่าทำไมต้องปกปิด มันไม่ดีอย่างไร? ก็เลยศึกษามาเรื่อยๆ ก็พบตัวเองเหมือนโดนหลอกมาทั้งชีวิต”

“หลังจากนั้นก็กลับมาฟังคลิยูทูบของอาจารย์เกษียร (เตชะพีระ) อาจารย์ธงชัย (วินิจจะกูล) (https://bit.ly/3wBi5tq) ที่บอกว่าเขาเป็นผีของ 6 ตุลา เขาพูดว่าความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้คงตายไปกับเขา และเขาไม่ได้คาดหวังเลยว่าคนรุ่นหลังจะจดจำเหตุการณ์นี้ไปได้สักแค่ไหน”

“เราก็เลยรู้สึกว่าเราอยากจะเป็นผีด้วยคน เราคิดว่าในฐานะคนทำงานศิลปะ เราน่าจะสื่อสารและสานต่อความทรงจำนี้ออกไปในวงกว้างได้”

“พอเราดูภาพและศึกษาเรื่อง 6 ตุลา เราก็นึกได้ว่าเราจะใช้เทคนิคคินสึงิที่เราเคยเรียนมานี่แหละทำงานศิลปะขึ้นมา เพราะเราคิดว่า 6 ตุลา เป็นประวัติศาสตร์ของบาดแผล และคินสึงิเองก็เป็นปรัชญาที่พูดเรื่องบาดแผล เป็นการแบกรับความแตกร้าวและรอยแผลให้เป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสิ่งๆ นั้น โดยที่ไม่ปกปิดซ่อนเร้น หากแต่แสดงบาดแผลในรูปแบบของความงามในความไม่สมบูรณ์แบบ”

“เส้นสีทองที่ลากลงไปบทบาดแผลของเครื่องปั้นดินเผาเหล่านั้นก็มีความเป็นธรรมชาติ ไม่ต่างอะไรกับการแตกของเครื่องปั้นดินเผาที่เราไม่สามารถควบคุมได้ กระดาษเองก็เป็นเช่นเดียวกัน ที่ต่อให้เราตั้งใจฉีกอย่างไร รอยขาดก็ไม่มีวันเป๊ะ เพราะไม่สามารถควบคุมได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบ”

“ภาพถ่ายที่ใช้ทำงานชุดนี้ เราได้มาจากโครงการ ‘บันทึก 6 ตุลา’ (https://doct6.com/) ที่น่าสนใจก็คือภาพถ่ายที่ใช้ส่วนใหญ่มีความผิดเพี้ยนบางอย่าง เพราะเป็นภาพที่ถ่ายซ้ำจากภาพถ่ายเดิมที่เคยตีพิมพ์มาแล้ว เราชอบตรงที่ภาพมีความผิดเพี้ยนนิดนึง เพราะเรารู้สึกว่ามันมีความเชื่อมโยงกับความบิดเบือนทางประวัติศาสตร์ที่เรากำลังเผชิญอยู่”

“เราก็เอารูปเหล่านี้พิมพ์ลงบนกระดาษแล้วเอามาฉีก การฉีกนี้นอกจากเพื่อเอาไปทำคินสึงิแล้ว ส่วนหนึ่งเรายังทำเพื่อแสดงสัญลักษณ์ถึงความโหดร้ายรุนแรงของรัฐที่ทำกับประชาชน อีกส่วนคือการแสดงความโกรธของเราจากการถูกหลอกมาทั้งชีวิต เรารู้สึกเหมือนความรัก ความเชื่อใจ และความสัมพันธ์ระหว่างเรากับรัฐ กับประเทศนี้มันขาดสะบั้น และแตกสลายไป”

“แต่เอาเข้าจริงๆ เราก็ไม่อยากแตกหักกับประเทศของตัวเองหรอก ถึงที่สุดแล้ว เราก็อยากจะซ่อมแซม และมองไปข้างหน้าต่อไป”

นอกจากภาพถ่ายเก่าจากเหตุการณ์ 6 ตุลา ชรินทรยังมีผลงานต่อเนื่องที่ทำขึ้นจากภาพที่เธอถ่ายในระหว่างที่เข้าร่วมการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยของประเทศไทยในปี พ.ศ.2563-2565 เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุของการประท้วงในปัจจุบันอีกด้วย

“ตอนทำแรกๆ เราก็คิดเหมือนกันว่าเรามีสิทธิทำงานแบบนี้ไหม เพราะเราไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียอะไรกับเหตุการณ์ 6 ตุลา เราไม่เคยเป็นญาติกับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ พ่อแม่หรือที่บ้านเราก็ไม่ได้เข้าไปร่วมเหตุการณ์นี้ หรือเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงอื่นๆ ตอนประท้วงเสื้อแดงเราก็ไม่ได้ไปกับเขา”

“แต่เราก็คิดว่าเราจะเลือกที่จะทำสิ่งที่เป็นเหมือนการจดจำและยกย่องผู้เสียชีวิตเหล่านี้ เวลาที่เราทำกระบวนการคินสึงิอย่างช้าๆ ซ้ำๆ ไปมา ตอนที่เรากำลังวาดเส้นสีทองบนกระดาษ เหมือนเรากำลังทำสมาธิและภาวนาให้กับวิญญาณของเหยื่อในเหตุการณ์สังหารหมู่ ในวันที่ 6 ตุลาคม การทำเช่นนี้เหมือนเป็นการแสดงการยกย่องคนรุ่นก่อนหน้าเราที่ต่อสู้ในเหตุการณ์นี้มาก่อน”

“พอทำไปทำมา เหมือนงานค่อยๆ ทำให้เรายอมรับอดีตเหล่านี้ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศของเรา ไม่ต่างอะไรกับบาดแผลที่เกิดขึ้นกับเรา และเราต้องยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา โดยไม่ปฏิเสธมัน เมื่อเป็นเช่นนั้นเราจึงสามารถมองไปข้างหน้าต่อได้, พอทำงานชุดนี้ไปสักพัก ก็มีการประท้วงเกิดขึ้น เราก็เข้าไปร่วมด้วย และเข้าไปเก็บภาพในม็อบมาทำเป็นผลงานต่อเนื่องจากชุดนี้”

การได้เดินทางไปรับรางวัลบนเวทีการประกวดระดับโลกของชรินทรในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการแสดงศักยภาพของศิลปินชาวไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกแล้ว ยังถือเป็นโอกาสที่เธอจะสื่อสารและตีแผ่วิกฤตการทางการเมืองในประเทศไทยให้ประชาคมโลกได้รับรู้ได้เป็นอย่างดี

“เวลาเราคุยกับคนต่างชาติ หรือเขียนถ้อยแถลงเกี่ยวกับงาน เราต้องอธิบายเยอะเหมือนกัน เพราะว่าเขาแทบจะไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองของเราเลย คนต่างชาติส่วนใหญ่เมื่อนึกถึงประเทศไทยก็มักจะคิดว่าเมืองไทยแสนดี อาหารอร่อย รักเมืองไทย รักอาหารไทย”

“แต่เขาไม่ค่อยรู้ว่าประเทศเราเป็นประเทศที่มีการรัฐประหารมากติดอันดับโลกถึง 13 ครั้ง หรือแม้แต่เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายอาญา มาตรา 112 พอได้รู้เขาก็ค่อนข้างจะตกใจมาก ว่ามีแบบนี้ด้วย? นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สื่อเราไม่ค่อยนำเสนอ ทั้งๆ ที่เรามองว่าสื่อควรจะต้องพูดเรื่องนี้”

“สำหรับเรา การทำงานศิลปะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงสิ่งเหล่านี้ โดยเฉพาะการพูดเรื่องที่พูดไม่ได้ในบ้านเราให้เผยแพร่ไปทั่วโลก”

“ยิ่งพอเราเล่าเรื่องราวเหล่านี้ให้เขาฟัง คนข้างนอกเขาก็ยิ่งเข้าใจว่าทำไมคนในประเทศไทยถึงต้องออกมาประท้วงกันโดยไม่มีข้อสงสัยเลย ในขณะที่การพูดเรื่องราวเหล่านี้ในประเทศเราไม่เคยมีเสียงออกมาให้ใครได้ยิน แถมยังถูกลดทอนคุณค่าลงด้วยซ้ำไป”

“ตอนนี้เรารู้สึกว่าประเทศของเรามืดมนเอามากๆ เหมือนอยู่ในสถานที่ที่ไร้ซึ่งความหวัง เราเลยพยายามสร้างความหวังให้ตัวเองด้วยการแสดงความหวังลงไปในการทำงานศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในผลงานชุดที่เป็นภาพของการประท้วงในปัจจุบัน เราอยากแสดงให้เห็นว่าทุกคนกำลังต่อสู้เพื่ออนาคต ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย, ตราบใดที่ยังมีคนต่อสู้อยู่ เราคิดว่าความหวังก็ยังคงมีอยู่”

“เด็กๆ เยาวชนที่เขาออกมาต่อสู้ ก็เพราะเขาอยากซ่อมแซมให้ประเทศนี้ดีขึ้น เขาไม่ได้อยากให้ประเทศของเราแตกหักและล่มสลายไปทั้งๆ แบบนี้ เพราะยังไงทุกคนในประเทศก็ไม่สามารถย้ายไปอยู่ประเทศอื่นได้ทั้งหมด”

“การทำคินสึงิบนภาพถ่าย เราพยายามเชื่อมภาพที่ถูกฉีกขาดให้กลับมาต่อประสานกันได้ เช่นเดียวกันกับประเทศนี้ ถ้าเราสามารถซ่อมแซมมันได้ เราเชื่อว่ามันจะแข็งแกร่งขึ้น และเราก็จะยิ่งรักและภูมิใจกับประเทศนี้มากยิ่งขึ้นด้วย”

หลังจากได้รับรางวัลนี้แล้ว ผลงานชุด The Will to Remember ของชรินทร จะเดินทางไปจัดแสดงนิทรรศการในอีก 65 เมืองจาก 25 ประเทศทั่วโลก แต่ยังไม่มีกำหนดการที่จะมาจัดแสดงในประเทศไทยแต่อย่างใด

ถ้ามีความคืบหน้าอันใด เราจะรีบมาแจ้งให้ท่านผู้อ่านทราบโดยพลัน!

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน •