พฤษภารำลึก (3) พายุใหญ่กำลังก่อตัว/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

พฤษภารำลึก (3)

พายุใหญ่กำลังก่อตัว

 

“มิติของอภิสิทธิ์ทหารในความเป็นสถาบันมีนัยถึงการที่สถาบันกองทัพทึกทักเอาว่า ทหารมีสิทธิ์หรือมีสิทธิพิเศษที่จะควบคุมการปกครองภายใน และสามารถแสดงบทบาทมากกว่าการเป็นทหารในกลไกรัฐ หรือแม้กระทั่งมีบทบาทในการจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคมการเมืองหรือประชาสังคมด้วย”

Alfred Stepan (1988)

ผู้เชี่ยวชาญด้านทหารกับการเมืองในละตินอเมริกา

 

ปี2534 เป็นหมุดหมายสำคัญหนึ่งในชีวิตของผมในทางวิชาการ…

ผมมีโอกาสนำเสนอผลึกทางความคิดเรื่องทหารไทยกับการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองก่อนที่จะเดินทางกลับไทย โดยเสนอในเวทีการประชุมทางวิชาการของ “สมาคมเอเชียศึกษา” ของสหรัฐ ที่นิวออร์ลีนส์

และหลังจากนั้น ผมสอบผ่านโครงร่างวิทยานิพนธ์ ทำให้มีสถานะเป็น “candidate” ในระดับปริญญาเอก และเตรียมตัวกลับเพื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในบ้านตัวเอง

แต่ 2534 ก็เป็นดังปี “แผ่นดินไหวทางวิชาการ” ของตัวเอง เมื่อชุดความคิดในการวิจัยที่เตรียมไว้นั้น เหมือนกับถูกผู้นำทหารที่กรุงเทพฯ “ไฮแจ็ก” ไปอย่างคาดไม่ถึง ด้วยเหตุการณ์รัฐประหารกุมภาพันธ์ 2534 โดยกลุ่มทหารที่เรียกตัวเองว่า “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อย่างคาดไม่ถึง

ซึ่งไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า ทหารไทยในยุคหลังสงครามคอมมิวนิสต์จะหวนกลับสู่การยึดอำนาจอีกครั้ง เพราะความล้มเหลวของรัฐประหารของกลุ่มยังเติร์กในปี 2524 และ 2528 เป็นคำเตือนอย่างดีสำหรับผู้นำทหารในทุกระดับว่า นายทหารที่เข้าร่วมรัฐประหารอาจมีค่าใช้จ่ายสูงเสมอในวันที่เป็น “ผู้แพ้” แต่รัฐประหารก็เกิดขึ้นอีกครั้ง

ว่าที่จริงแล้วไม่ว่าคณะรัฐประหารจะใช้ชื่ออะไรเพื่อ “พรางตัว” แต่สาระของการยึดอำนาจไม่ได้แตกต่างกัน คือการใช้พลังอำนาจทางทหารของกองทัพในการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และพาตัวเองเข้าสู่อำนาจเพื่อเป็นรัฐบาลแทน

ยุทธการยึดรัฐ

หากพิจารณาในเชิงเปรียบเทียบแล้ว ยุทธศาสตร์ระหว่าง “นักปฏิวัติฝ่ายซ้าย” ของลัทธิเหมาเจ๋อตุง กับ “นักรัฐประหารฝ่ายขวา” ของลัทธิเสนานิยม ดูจะไม่แตกต่างกัน

ทั้งสองฝ่ายล้วนยืนอยู่บนฐานคิดเดียวกันของประธานเหมาว่า “อำนาจรัฐเกิดจากปากกระบอกปืน”… ถ้าฝ่ายซ้ายใช้ยุทธศาสตร์ “ป่าล้อมเมือง” ฝ่ายขวาก็ใช้ “ยุทธการยึดเมือง” ในการยึดอำนาจรัฐ

แน่นอนว่าโดยหลักการทางทหารนั้น การยึดอำนาจไม่มีทางเป็นอื่น นอกจากต้องใช้ “กองกำลังติดอาวุธ” เป็นเครื่องมือหลัก เป็นแต่เพียงกองกำลังสำหรับฝ่ายซ้ายเป็นนักรบกองโจร ส่วนกองกำลังของฝ่ายขวาเป็นทหารของกองทัพประจำการ ซึ่งมีสถานะเป็น “กองทัพแห่งชาติ” ในโครงสร้างอำนาจรัฐ

ปรากฏการณ์เช่นนี้จึงกล่าวได้ว่า รัฐประหารคือการใช้ “กองทัพแห่งชาติ” เพื่อโค่นล้มและยึดอำนาจจาก “รัฐบาลแห่งชาติ” ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว กองทัพมีฐานะเป็นเพียง “กลไกรัฐ” ที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล หรือที่ทฤษฎีทางรัฐศาสตร์เรียกหลักการนี้ว่า “การควบคุมโดยพลเรือน” (civilian control) ฉะนั้น รัฐประหารในหลักของวิชารัฐศาสตร์ จึงเป็นสภาวะที่การควบคุมโดยพลเรือนได้ล้มเหลว และพังทลายไปโดยสิ้นเชิง อันเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลทหารในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลต้องต่อสู้กับนักรบกองโจรฝ่ายซ้าย รัฐมีกองทัพเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับสงครามก่อความไม่สงบ แต่เมื่อรัฐบาลต้องต่อสู้กับนักรัฐประหารฝ่ายขวาที่ใช้กองทัพของรัฐเองเป็นเครื่องมือในการยึดอำนาจแล้ว รัฐบาลจะเอาอะไรเป็นเครื่องมือในการต่อต้านรัฐประหาร

หากมองจากมุมของรัฐบาลพลเรือนแล้ว ความสำเร็จใน “ยุทธการต่อต้านรัฐประหาร” ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เว้นแต่จะต้องมีเงื่อนไขอื่นที่สำคัญ ได้แก่ กองทัพไม่มีเอกภาพในการยึดอำนาจ รัฐบาลพลเรือนมีทหารส่วนหนึ่งเข้าร่วมด้วย

หรือในอีกด้านคือประชาชนในประเทศไม่ตอบรับกับการยึดอำนาจ และออกมาประท้วงใหญ่

หรือการถูกกดดันจากปัจจัยในเวทีระหว่างประเทศ จนกลายเป็นเงื่อนไขทางการเมืองในตัวเองที่บังคับให้ผู้นำทหารต้องยอมปล่อยมือจากอำนาจที่ยึดได้

แต่ก็มิได้บอกว่าเงื่อนไขดังที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเป็น “ตัวแปร” ที่เพียงพอต่อการบังคับให้ผู้นำทหารยอมยุติบทบาททางการเมือง (ดังเช่นกรณีผู้นำทหารเมียนมาในปัจจุบัน)

ภาวะเช่นนี้ทำให้รัฐบาลพลเรือนในการเมืองไทยแทบไม่สามารถต้านทานการโค่นล้มที่เกิดจากผู้นำทหารได้เลย

ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเป็นคำยืนยันในตัวเองถึง “พลังอำนาจทางทหาร” ของรัฐ ที่ไม่ได้ถูกใช้ในการสงครามกับรัฐข้าศึก แต่ใช้ในการรัฐประหารเพื่อโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของตนเอง…

เหตุการณ์ในปี 2534 จึงเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงอำนาจของกองทัพในการแทรกแซงทางการเมือง

 

ความสัมพันธ์ที่เปราะบาง!

ทุกครั้งที่เกิดการรัฐประหารในไทย เราจะเห็นการ “ประดิษฐ์วาทกรรม” เพื่อสร้างความชอบธรรมให้เกิดแก่การโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนเสมอ

ผู้นำทหารหวังว่าวาทกรรมที่ขายในเวทีสาธารณะจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนในสังคมยอมรับการยึดอำนาจที่เกิดขึ้น อันจะทำให้เกิดความชอบธรรมในตัวเอง

ผู้นำรัฐประหารไทยหวังเสมอว่า เขาจะไม่ต้องเผชิญกับการต่อต้านขนาดใหญ่ในสังคม ซึ่งว่าที่จริงก็ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดอย่างทันท่วงทีในสังคม

เราอาจจะต้องยอมรับความจริงว่า การเมืองไทยไม่มีประสบการณ์ในการ “จัดตั้งมวลชน” เพื่อต่อต้านรัฐประหารแบบฉับพลัน

เงื่อนไขเช่นนี้เป็นโอกาสโดยตรงต่อความสำเร็จของฝ่ายทหาร หรือในอีกด้านคือ เราอาจจะเคยมีการประท้วงรัฐบาลทหาร แต่เราแทบไม่เคยมีการต่อต้านการยึดอำนาจอย่างกว้างขวางและทันที (ดังตัวอย่างเช่น มวลชนกับการต่อต้านรัฐประหารในบูกินาฟาโซ 2557 ตุรกี 2559 เมียนมา 2564)

รัฐประหาร 2534 พยายามเสนอขาย 5 วาทกรรม ได้แก่

1) รัฐบาลคอร์รัปชั่น

2) รัฐบาลข่มเหงข้าราชการประจำ

3) รัฐบาลรวบอำนาจทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ

4) รัฐบาลทำลายสถาบันทหาร

และ 5) รัฐบาลบิดเบือนคดีล้มสถาบัน

น่าสังเกตว่าไม่มีการอ้างถึงภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์ในครั้งนี้ แต่ก็เห็นการนำเสนอวาทกรรมใหม่ของฝ่ายทหาร

โดยภาพรวมแล้ว หากนำเอาชุดความคิดจากละตินอเมริกามาเปรียบเทียบแล้ว การประกอบสร้างวาทกรรมของของรัฐประหารไทยครั้งนี้ สะท้อนให้เห็น “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง” (Antipolitics Ideology) ที่กองทัพมีทัศนะแบบต่อต้านประชาธิปไตย และมองพรรคการเมืองและนักการเมืองเป็นภัยคุกคาม โดยโฆษณาด้วยประเด็นการคอร์รัปชั่น การแทรกแซงข้าราชการ (ทั้งทหารและพลเรือน) และการรวบอำนาจ (หรือที่ฝ่ายขวาในยุคหลังเรียกว่า “เผด็จการรัฐสภา”)

รัฐประหาร 2534 จึงสะท้อนให้เห็นถึงชุดความคิดของทหารและฝ่ายขวาได้ขยับจาก “อุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์” ไปสู่ “อุดมการณ์ต่อต้านการเมือง”

หรืออีกนัยหนึ่งคือ การสมาทานความคิดแบบ “ต่อต้านประชาธิปไตย” อันเป็นการเปลี่ยนจุดยืนจากที่เคยเชื่อจากคำสั่ง 66/23 ว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่ภัยคุกคาม และเป็นสิ่งที่ใช้ในการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์

แต่เมื่อสงครามคอมมิวนิสต์ยุติลง ประชาธิปไตยเริ่มกลับมาเป็นภัยคุกคามใหม่ เพราะทหารและกลุ่มฝ่ายขวาหันมาสู้กับนักการเมืองในอีกแบบ

ดังนั้น พื้นฐานของปัญหาความขัดแย้งในระบอบเลือกตั้งระหว่างกองทัพกับรัฐบาลเกิดจากความหวาดระแวงและความไม่ไว้วางใจ ปัจจัยสองประการนี้เป็นโจทย์ของความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร (หรือความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลพลเรือนกับกองทัพ) ที่เปราะบางและต้องการการคิด อีกทั้งต้องตระหนักว่าปัญหาชุดนี้ไม่มีคำตอบที่เป็นสูตรสำเร็จ แต่เป็นปัญหาที่อาจนำไปสู่จุดแตกหักได้เสมอ

ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อผู้นำทหารระแวงการปลดผู้บัญชาการเหล่าทัพ และการตั้งอดีตนายทหารระดับสูงเข้ามาคุมกองทัพแล้ว ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ทหารจำนวนหนึ่งจึงได้บุกเข้าควบคุมตัว พล.อ.ชาติชาย นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ขณะเตรียมตัวเดินทางไปเชียงใหม่ด้วยเครื่องบินของกองทัพอากาศเพื่อเข้าเฝ้าฯ ถึงแม้ทหารพยายามค้นหาคำสั่งโยกย้ายผู้นำเหล่าทัพ แต่จนบัดนี้ประเด็นดังกล่าวยังคงเป็นปริศนาไม่จบ

ไม่ว่าคำสั่งดังกล่าวจะมีหรือไม่ รัฐประหารได้เกิดขึ้น และทหารได้ยึดอำนาจสำเร็จแล้ว… การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ดำเนินมาตั้งแต่ยุค พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้จบลงแล้วด้วย

 

แบล็กเมล์ทางการเมือง

ผู้นำทหารพยายามสร้างภาพใหม่ด้วยการที่ตนเองไม่ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเชิญอดีตนักการทูตนายอานันท์ ปันยารชุน เข้ามารับตำแหน่งดังกล่าวแทน ไม่ต่างกับในรัฐประหาร 2500 ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เชิญนายพจน์ สารสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

แม้รัฐบาลอานันท์จะได้รับการยอมรับจากประชาชน แต่การดำเนินการของคณะรัฐประหารค่อนข้างจะมีปัญหาอย่างมาก โดยเฉพาะการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน ซึ่งมีลักษณะของการ “แบล็กเมล์” มากกว่าจะเป็นการตรวจสอบการคอร์รัปชั่น จนเป็นเหมือนการ “ตีเมืองขึ้น” และจับเอาบรรดาแม่ทัพเก่าและเชลยมาเป็นพวก โดยเอาผู้ที่อยู่ในบัญชีตรวจสอบเข้ามาเป็นผู้ร่วมงานกับฝ่ายทหารเพื่อจัดตั้งรัฐบาลในอนาคต (คล้ายคลึงกับหลังรัฐประหาร 2557)

การดำเนินการในลำดับถัดมาหลังจากรวบรวมกำลังคนได้แล้วคือ การจัดตั้ง “พรรคทหาร” อันเป็นการเดินย้อนรอยพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป.พิบูลสงคราม พรรคชาติสังคมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอม กิตติขจร… พรรคสามัคคีธรรมจึงเกิดขึ้นโดยมีกลุ่มผู้นำรัฐประหารอยู่เบื้องหลัง และมีนักการเมืองที่ถูกตรวจสอบคดีคอร์รัปชั่นเข้าร่วมเป็นกำลังหลัก (เทียบได้กับพรรคพลังประชารัฐในปัจจุบัน)

ฉะนั้น เมื่อการเลือกตั้งหลังรัฐประหารเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2535 สิ่งที่ตามมาคือ วิกฤตการเมืองในตัวเอง เพราะสังคมไม่ยอมรับการจัดตั้ง “รัฐบาลสืบทอดอำนาจ” ที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี… ความท้าทายใหญ่กำลังเกิดกับรัฐบาลและกองทัพอย่างมาก ซึ่งนับจากนี้ไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการเมืองไทย

ผู้นำรัฐประหารที่ก้าวเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมักจะมีความมั่นใจเสมอว่า เขาสามารถควบคุมการเมืองได้… ควบคุมมวลชนได้ เพราะตรรกะง่ายๆ คือ ถ้าทหารควบคุมการเมืองไม่ได้แล้ว พวกเขาจะยึดอำนาจสำเร็จได้อย่างไร

ความมั่นใจเช่นนี้ทำให้พวกเขาไม่ต้องคิดอะไรมากมาย เพราะไม่มีทางเลยที่จะมีสิ่งใดมาล้มรัฐบาลที่กองทัพยืนสนับสนุนอยู่เบื้องหลังอย่างเข้มแข็งได้!