สภาพัฒน์จับตาหนี้ครัวเรือนไทย ทะลุ 14.5 ล้านล้าน ห่วงหนี้เสียรถยนต์พุ่ง EIC แนะเร่งสร้างรายได้ให้ประชาชน/บทความพิเศษ ศัลยาประชาชาติ

บทความพิเศษ

ศัลยาประชาชาติ

 

สภาพัฒน์จับตาหนี้ครัวเรือนไทย

ทะลุ 14.5 ล้านล้าน

ห่วงหนี้เสียรถยนต์พุ่ง

EIC แนะเร่งสร้างรายได้ให้ประชาชน

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทย ยังน่าเป็นห่วง

โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลขล่าสุด ณ ไตรมาส 4 ปี 2564 พบว่า หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.58 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 90.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปรับเพิ่มขึ้นจากจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่อยู่ระดับ 89.7% ของจีดีพี

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4 ปี 2564 ขยายตัว 3.9% ชะลอลงจาก 4.2% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยสินเชื่อที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ได้แก่ สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ขยายตัว 5% จาก 5.8% ของไตรมาสก่อน และสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ ขยายตัว 6.5% จาก 7.6% ในไตรมาสก่อนหน้า

ส่วนสินเชื่อที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินเชื่อเพื่อยานยนต์ ขยายตัว 1.2% จาก 0.3% ในไตรมาสก่อน จากมาตรการส่งเสริมการขายในช่วงงาน Motor Expo

ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิต ขยายตัว 1.6% จากที่หดตัว 0.5% ในไตรมาสก่อน ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว

และสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ ซึ่งเป็นสินเชื่อในกลุ่มเช่าซื้อ และลีสซิ่งที่ขยายตัวมากถึง 21.6%

ด้านความสามารถในการชำระหนี้ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในสินเชื่อยานยนต์ เนื่องจากมีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (ค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน) ต่อสินเชื่อรวม สูงถึง 11.08% หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 1.3 แสนล้านบาท

“หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 4 ปี 2564 ขยายตัวชะลอลง คุณภาพสินเชื่อยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังต้องติดตามผลกระทบจากรายได้ครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัว ความเปราะบางของฐานะการเงินของครัวเรือน และค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้” นายดนุชากล่าว

 

สําหรับสถานการณ์ด้านแรงงานล่าสุด ในไตรมาส 1 ปี 2565 มีภาพรวมการจ้างงานทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยการจ้างงานภาคเกษตรกรรม มีจำนวน 11.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3% จากการเพิ่มการผลิตสินค้าเกษตรในกลุ่มพืชสำคัญ ส่วนนอกภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงาน 27.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3%

ทั้งนี้ ในแง่ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้น แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากผู้เสมือนว่างงานที่ในไตรมาส 1 ปี 2565 มีจำนวนถึง 3.8 ล้านคน ขณะที่ผู้ทำงาน 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป หรือกลุ่มทำงานล่วงเวลา มีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังต่ำกว่าช่วงปกติ โดยมีจำนวนผู้ทำงานล่วงเวลา 5.7 ล้านคน ในไตรมาสดังกล่าว จากช่วงปกติจะมีประมาณ 6-7 ล้านคน

ด้านการว่างงานปรับตัวดีขึ้น โดยผู้ว่างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 6.1 แสนคน ลดลงจาก 7.6 แสนคนในช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจาก 6.3 แสนคนในไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นอัตราการว่างงานที่ 1.53% ต่ำสุดในช่วงโควิด-19

“ต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจาก 1) ครัวเรือนมีฐานะการเงินเปราะบางมากขึ้น จากการเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวมาอย่างยาวนาน ทำให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยมีสภาพคล่องต่ำ 2) รายได้ครัวเรือนยังไม่ฟื้นตัว แม้การจ้างงานจะเพิ่มขึ้น แต่ชั่วโมงการทำงานยังไม่กลับมาสู่ภาวะปกติ และผู้เสมือนว่างงานยังมีจำนวนมาก และ 3) ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้ครัวเรือนมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับการชำระหนี้” นายดนุชากล่าว

 

ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานว่า ในไตรมาสแรกปีนี้ สินเชื่ออุปโภคบริโภคในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ 3.3% จากไตรมาสก่อนขยายตัวที่ 4% โดยสินเชื่อที่อยู่อาศัยขยายตัวชะลอลงตามอุปสงค์ต่อที่อยู่อาศัยที่มีแนวโน้มปรับลดลง ด้านสินเชื่อรถยนต์ทรงตัว แม้ว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศเริ่มกลับมาขยายตัวได้

ขณะที่สินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัว 2.3% เพิ่มจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 1.7% สอดคล้องกับปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่ปรับเพิ่มขึ้น และสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัว 6.6% ขยายตัวต่อเนื่องตามความต้องการสภาพคล่องของครัวเรือน

ด้าน ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือน นับเป็นโจทย์ที่ยาก โดยระดับหนี้ที่สูงอาจจะไม่ใช่ปัญหา หากสามารถจัดการได้ แต่ที่สำคัญองค์ประกอบของการก่อหนี้สำคัญที่สุด เพราะหากดูโครงสร้างหนี้ของคนไทย ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้เพื่อการบริโภค ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาคงไม่ใช่แค่ลดหนี้อย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มรายได้ด้วย

“ปัญหาเรื่องหนี้ไม่ใช่ปริมาณอย่างเดียวว่าอยู่ที่ 90% แล้ว แต่เป็นเรื่องขององค์ประกอบไส้ในด้วย ซึ่งเกี่ยวโยงกับแนวทางการแก้ไข ดังนั้น จึงไม่ใช่แก้ด้วยการแค่ลดหนี้อย่างเดียว แต่ต้องเพิ่มรายได้ คุณมีหนี้ได้ แต่ก็ต้องมีรายได้ ทั้งนี้ รายได้อาจเกิดจากการก่อหนี้ใหม่ก็ได้ แต่ต้องก่อหนี้ให้ถูก คือ ก่อหนี้เพื่อทำให้มีรายได้เพิ่ม เช่น ไปสร้างโรงงาน เป็นต้น” ดร.สมประวิณกล่าว

ทั้งนี้ ต้องสร้างโอกาสให้คนมีโอกาสในการหารายได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะต้องไปแก้ในระดับชุมชน เพราะช่วงโควิด-19 จะเห็นว่าทุกคนกลับไปอยู่บ้าน ซึ่งในทางเศรษฐกิจทำให้เกิดตลาดขึ้นในชุมชน เพราะมีคนซื้อ มีคนขาย เงินก็จะหมุนและกระจายออกไป

“เรื่องหนี้ก็น่ากังวล คือ ถ้าเศรษฐกิจค่อยๆ โตไปก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเราดันเจออะไรเหมือนโควิดมาอีก คนที่เป็นหนี้อยู่แล้ว จะก่อได้อีกแค่ไหน ผมว่ามันยาก คือ วันนั้นหนี้อาจจะพุ่งขึ้นไปอีก รายได้ก็จะยิ่งลดลง ความสามารถในการชำระก็ยิ่งลดลง ตรงนี้เป็นปัญหาระดับชาติที่จะต้องแก้ไข ซึ่งเรื่องนี้รวมถึงหนี้ภาครัฐด้วย และการทำนโยบายจะต้องไปสร้างรายได้ให้คนไทยให้ได้ ถ้าการใช้งบประมาณโดยไม่ได้ไปทำให้เกิดการสร้างรายได้ สุดท้ายแล้วหนี้ของรัฐที่มากขึ้น ก็จะมีปัญหาด้วย” ดร.สมประวิณกล่าว

นอกจากนี้ โจทย์ใหญ่ที่คนไทยยังต้องเจอหลังจากนี้ และต้องเตรียมรับมือ ก็เป็นเรื่องของเงินเฟ้อที่จะลากยาวไปถึงปีหน้า เพราะรายได้คนเพิ่มขึ้นน้อยกว่าเงินเฟ้อ

 

ดร.สมประวิณกล่าวด้วยว่า การทำนโยบายด้านเศรษฐกิจตอนนี้ ภาครัฐก็พยายามแก้โจทย์เรื่องค่าครองชีพ ซึ่งการจ่ายเงินอุดหนุนยังจำเป็นอยู่ แต่จะต้องทำให้ตรงจุด

ในกลุ่มที่รายได้เปราะบาง หรือกลุ่มที่รายได้น้อยและยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมาการทำนโยบายค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่มีประวัติ ข้อมูลเรื่องรายได้ของประชาชนชัดเจน ทำให้การช่วยเหลือจึงไม่รู้จะช่วยใคร

ดังนั้น ระยะยาว ภาครัฐจะต้องทำระบบที่สามารถแยกแยะได้ และสร้างฐานข้อมูลรายได้ของประชาชน

ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงนี้ แม้จะเป็นโจทย์ที่ยาก แต่สุดท้ายแล้วก็คงต้องเริ่มแก้ไข

ไม่เช่นนั้นอาจจะกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่บั่นทอนเศรษฐกิจไทยไปตลอด