เรื่องคลุกดิน ของนักเทนนิสในเฟรนช์ โอเพ่น/คลุกวงใน พิศณุ นิลกลัด

พิศณุ นิลกลัด

คลุกวงใน

พิศณุ นิลกลัด

Facebook : @Pitsanuofficial

 

เรื่องคลุกดิน

ของนักเทนนิสในเฟรนช์ โอเพ่น

 

การแข่งขันเทนนิสเฟรนช์ โอเพ่น 2022 รายการเมเจอร์ที่สองของปี จะเริ่มขึ้นวันที่ 22 พฤษภาคมไปจนถึงวันที่ 5 มิถุนายน เป็นการแข่งขันบนคอร์ตดิน

พื้นสนามโรล็องด์ การ์รอส (Roland Garros) ที่มีสีดินเผา แท้จริงแล้ว ไม่ได้ทำจากดินอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ประกอบด้วยหินหลายประเภทซ้อนกันเป็นชั้นๆ ลึกประมาณ 90 เซนติเมตร

ชั้นบนสุดคือหินปูน โรยหน้าด้วยผงอิฐสูงประมาณ 3 มิลลิเมตร มาจากโรงงานทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ใช้อิฐที่ถูกทิ้งไว้กลางแจ้งเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี นำมาบดอย่างละเอียดกลายเป็นดิน บรรจุใส่ถุง และส่งไปยังสนามโรล็องด์ การ์รอส ซึ่งทั้ง 20 คอร์ตใช้ดินรวมกันทั้งหมดประมาณ 50 ตัน

สีของดินทำให้มองเห็นลูกเทนนิสได้อย่างชัดเจน และทำให้พื้นมีความลื่นขึ้น เหมาะกับการวิ่งสไลด์

ด้วยความที่เฟรนช์ โอเพ่น เป็นแกรนด์สแลมบนคอร์ตดินเพียงรายการเดียว และมีการดูแลดินเป็นอย่างดี บวกกับประวัติศาสตร์ของการแข่งขันที่ยาวนาน

หนึ่งในของที่ระลึกจากการแข่งขันซึ่งขาดไม่ได้เลยจึงเป็นดินจากสนามบรรจุใส่ขวดแก้วเล็กๆ ขายราคาขวดละ 20 ยูโร หรือ 740 บาท ให้แฟนๆ ซื้อกลับบ้านไว้เป็นความทรงจำ

ซึ่งนักเทนนิสก็มักจะนำดินกลับบ้านไปเป็นที่ระลึกทุกปี แต่ไม่ได้ใส่ขวด และไม่ต้องเสียเงินซื้อสักบาท เพราะทุกครั้งที่ลงแข่ง ร่างกายของนักเทนนิสจะเปรอะเปื้อนไปด้วยดินทั้งถุงเท้า รองเท้า และเสื้อผ้า

มีคนลองคิดเล่นๆ ว่าปริมาณดิน 50 ตันที่ใช้เทบนทุกคอร์ตในสนามโรล็องด์ การ์รอส หากนำมาเทียบกับราคาของที่ระลึกซึ่งวางขายเป็นขวดเล็กๆ ขวดละ 20 ยูโร ก็จะมีมูลค่ารวมกว่า 35 ล้านดอลลาร์ (1,200 ล้านบาท) น้อยกว่าเงินรางวัลรวมของการแข่งขัน French Open ไม่มากนัก

ปีนี้เงินรางวัลรวมของเฟรนช์ โอเพ่นอยู่ที่ 43 ล้านยูโร หรือ 1,580 ล้านบาท

โดยแชมป์ เฟรนช์ โอเพ่น หญิงเดี่ยว และชายเดี่ยว จะได้เงินรางวัลคนละ 1.8 ล้านยูโร หรือ 66 ล้านบาท

โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ (Roger Federer) ยอดนักเทนนิสชาวสวิตเซอร์แลนด์ แชมป์ French Open ปี 2009 บอกว่าดินในสนามที่ฝรั่งเศสนั้นละเอียดมาก รู้สึกแตกต่างกับดินที่สนาม ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และคอร์ตของเฟรนช์ โอเพ่นมีความประณีตมาก คุณสัมผัสได้ว่าทีมงานที่ฝรั่งเศสทุ่มเทกับการดูแลสนามอย่างเต็มที่

สตีฟ จอห์นสัน (Steve Johnson) นักเทนนิสมืออันดับ 115 ชาวอเมริกัน ที่เมื่อปีที่แล้วเข้ารอบ 3 ในเฟรนช์ โอเพ่น บอกว่าเวลาแข่งบนคอร์ตดินเขาจะไม่สวมเสื้อผ้าสีขาวอย่างเด็ดขาด แต่จะสวมชุดสีเข้มๆ พอแข่งเสร็จเขาก็จะนำรองเท้าใส่ในกล่องรับบริจาคเขาจะไม่นำรองเท้าที่เต็มไปด้วยดินกลับบ้านไปด้วย

แคโรไลน์ วอซเนียคกี้ (Caroline Wozniacki) อดีตนักเทนนิสหญิงมือ 1 ของโลกชาวเดนมาร์ก ที่ปัจจุบันรีไทร์แล้ว บอกว่ารองเท้าและถุงเท้าเปื้อนดินถือเป็นประสบการณ์หนึ่งของการแข่งขันเฟรนช์ โอเพ่น

เธอชอบสวมรองเท้าสีอ่อนๆ อย่างเช่นสีเหลือง เพื่อให้ตัดกับสีพื้นสนาม เพราะจะทำให้เธอดูโดดเด่น แม้รองเท้าจะเปื้อนดินสีส้มก็ยังดูดี

คริส เอฟเวิร์ต (Chris Evert) ยอดนักเทนนิสหญิงตลอดกาล ชาวอเมริกัน เจ้าของแชมป์ เฟรนช์ โอเพ่น 7 สมัย (ปี 1974, 1975, 1979, 1980, 1983, 1985 และ 1986) ได้รับคำยกย่อง ว่าเป็น Queen of Clay ซึ่งปัจจุบันอายุ 67 ปี กล่าวชื่นชม คอเล็ตต์ (Colette) คุณแม่ของเธอว่า มีบทบาทสำคัญในการที่ทำให้เธอได้แชมป์เฟรนช์ โอเพ่น ถึง 7 สมัย เพราะแม่ของเธอตามไปแข่งขันด้วยทุกที่

และในเฟรนช์ โอเพ่น คุณแม่คอเล็ตต์มีหน้าที่สำคัญมาก คือ ซักถุงเท้า เสื้อชั้นใน กางเกงชั้นใน ให้เธอในซิงก์ที่ห้องพักในโรงแรม

 

คริส เอฟเวิร์ตเล่าว่า สมัยนั้น เมื่อ 40 กว่าปีก่อน นักเทนนิสได้เงินรางวัลไม่เยอะเหมือนสมัยนี้ แถมนักเทนนิสหญิงยังได้เงินรางวัลน้อยกว่านักเทนนิสชาย ด้วยเหตุผลที่ว่าเล่นจำนวนเซ็ตน้อยกว่า

ปี 1974 คริส เอฟเวิร์ต ได้เงินรางวัลจากการเป็นแชมป์หญิงเดี่ยว เฟรนช์ โอเพ่น เพียง 40,000 ฟรังซ์ หรือ 1.4 ล้านบาท ต่างจากปีนี้มหาศาล ที่แชมป์ปีนี้ได้เงิน 66 ล้านบาท

เมื่อเงินรางวัลน้อย ทำให้ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด ผู้จัดการแข่งขันไม่ได้ดูแลค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กับนักเทนนิสอาชีพอย่างในปัจจุบัน

สมัยก่อน นักเทนนิสที่ลงแข่งขันต้องซักเสื้อผ้าเอง ซึ่งการซักแห้งในสมัยก่อนราคาแพงมาก คริสจึงต้องให้แม่ซักเสื้อผ้าให้ หรือหาร้านซักผ้าแบบหยอดเหรียญ จนเธอมีรายการจากการแข่งขันมากขึ้นถึงเริ่มส่งเสื้อผ้าไปซักแห้ง โดยควักกระเป๋าจ่ายเอง

 

จอห์น แม็กเอ็นโร (John McEnroe) อดีตนักเทนนิสหมายเลข 1 ของโลก ชาวอเมริกัน วัย 63 ปี เล่าว่า ครั้งแรกที่เขาเดินทางไปแข่งขันเทนนิสระดับเยาวชนครั้งแรกในต่างประเทศ เขาไม่ทราบว่าค่าซักแห้งในโรงแรมนั้นแพงมาก จึงส่งเสื้อผ้าไปซักแห้ง

พอได้บิลค่าซักแห้งกลับมาพร้อมถุงเสื้อผ้าเล็กๆ ที่เป็นชุดเทนนิสที่ส่งไปซัก แทบลมจับ เพราะค่าซักแห้งที่โรงแรมแพงถึง 300 ดอลลาร์ หรือ 10,000 บาท โดยโรงแรมคิดค่าซักถุงเท้าคู่ละ 10 ดอลลาร์ หรือ 330 บาท กางเกงชั้นในตัวละ 15 ดอลลาร์ หรือ 500 บาท

นับจากนั้น จอห์น แม็กเอ็นโร บอกว่า เวลาไปแข่งขันต่างประเทศเขาต้องหาร้านซักผ้าแบบหยอดเหรียญ ซึ่งในบางประเทศหายากมาก

แต่มาในสมัยปัจจุบัน ผู้จัดการแข่งขันเฟรนช์ โอเพ่น และเทนนิสรายการใหญ่ๆ มีบริการซักแห้งฟรี ให้กับนักเทนนิสที่เข้าแข่งขัน

 

ในเฟรนช์ โอเพ่น เมื่อนักเทนนิสแข่งเสร็จแต่ละแมตช์ก็จะนำเสื้อผ้าที่ต้องการซักใส่ถุงและกรอกชื่อนามสกุลในแบบฟอร์มแนบไปกับถุงเสื้อผ้า ซึ่งจะมีหมายเลขรหัสประจำตัวนักเทนนิสว่าเสื้อตัวนี้ ถุงเท้าคู่นั้นเป็นของนักเทนนิสคนไหน และแยกประเภทสิ่งของที่จะซักใส่ในถุงตาข่ายที่เขียนหมายเลขรหัสประจำตัวกำกับ เสื้อซักกับเสื้อ

บริษัทที่ทำหน้าที่ซักแห้ง จะมารับเสื้อผ้าของนักเทนนิสวันละ 2 รอบ คือเวลาบ่ายโมง และ 1 ทุ่ม และนำเสื้อผ้าที่ซัก รีด สะอาดแล้ว มาส่งในวันรุ่งขึ้น เวลาบ่าย 2 โมง

ถุงเท้าซักกับถุงเท้า โดยถุงเท้าของนาดาลอาจถูกซักร่วมกับถุงเท้าของเฟเดอเรอร์ และวันรุ่งขึ้น เสื้อผ้าที่นักเทนนิสส่งซัก ก็จะสะอาดเหมือนใหม่ รีด พับ เรียบร้อย และนำมาส่งให้ที่ล็อกเกอร์ รูม

สำหรับนักเทนนิสระดับเยาวชน ที่ลงแข่งเฟรนช์ โอเพ่น หากเข้ารอบควอเตอร์ ไฟนอล หรือรอบ 8 คนสุดท้าย จะได้รับเกียรติซักเสื้อผ้าที่ใส่แข่งขันฟรี จนถึงรอบชิงชนะเลิศ หญิงเดี่ยว ซึ่งคือ 1 วันก่อนการแข่งขันเฟรนช์ โอเพ่นจบ