The Colors of Jazz สีสันและอารมณ์นามธรรมแห่งดนตรีแจ๊ซ / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

The Colors of Jazz

สีสันและอารมณ์นามธรรมแห่งดนตรีแจ๊ซ

 

หลายคนคงเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ศิลปะมักส่องทางให้แก่กัน” หลายครั้งหลายครา มีการส่งแรงบันดาลใจข้ามผ่านกันระหว่างงานศิลปะแขนงต่างๆ, ศิลปะแต่ละสื่อสาขาในโลกนี้โดยมาก ต่างก็ล้วนแล้วแต่เคยได้รับแรงบันดาลใจ หรือได้รับอิทธิพลมาจากงานศิลปะหรือสื่อสร้างสรรค์ประเภทอื่นๆ มาแล้วทั้งสิ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปะที่สื่อสารแสดงออกด้วยเสียงอย่าง “ดนตรี” นั้นถือเป็นศิลปะที่เข้าถึงและตราตรึงอารมณ์ความรู้สึกของคนได้รวดเร็วและง่ายดายที่สุด

ศิลปินแขนงต่างๆ ทั้งหลายในโลกนี้ต่างก็ได้แรงบันดาลใจจากดนตรีมาไม่มากก็น้อย

ดังเช่นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้บุกเบิกศิลปะแนวนามธรรมขึ้นมาเป็นคนแรก อย่าง วาสซิลี คานดินสกี (Wassily Kandinsky) ที่มองว่าดนตรีเป็นรูปแบบอันเลอเลิศที่สุดของงานศิลปะที่ไม่บอกเล่าเรื่องราว เหตุเพราะนักดนตรีสามารถสร้างภาพในจิตใจของผู้ฟังด้วยเสียงดนตรีของพวกเขาโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเรื่องราวจากเนื้อร้องใดๆ เลยด้วยซ้ำ

คานดินสกีนิยามภาพวาดของเขาว่าเป็น “Visual Music” หรือ “ดนตรีที่มองเห็นได้” โดยเปรียบสีสันในภาพวาดกับเสียงดนตรี, หลายครั้งเขายังตั้งชื่อผลงานของเขาด้วยศัพท์แสงทางดนตรีเลยทีเดียว

หรือศิลปินนามธรรมผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 อีกคน อย่างพีต มองเดรียน (Piet Mondrian) ผลงานชิ้นท้ายๆ ในชีวิตของเขาอย่าง Broadway Boogie-Woogie (1942-43) และ Victory Boogie Woogie (1942-44) นั้นได้แรงบันดาลใจจากสีสันและแรงขับเคลื่อนอันเร้าใจของดนตรีแจ๊ซ และดนตรี Boogie-woogie แอฟริกัน/อเมริกันบลูส์อันเป็นที่รักของเขา ซึ่งอวลอายอยู่ในทุกอณูของมหานครนิวยอร์กยุค 1940s

จิรภัทร อังศุมาลี

เช่นเดียวกับ จิรภัทร อังศุมาลี ที่มิตรรักนักอ่านผู้หลงใหลดนตรีกาลในบ้านเราหลายคนรู้จักเขาจากนามปากกา “สิเหร่” ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้หลงใหลใฝ่รู้เรื่องดนตรีแจ๊ซระดับลึกซึ้งแตกฉานของเมืองไทย

นอกจากดนตรีแล้ว ความหลงใหลอันลึกซึ้งอีกประการหนึ่งของจิรภัทรคืองานศิลปะที่เสพด้วยดวงตาอย่างทัศนศิลป์ (Visual art), ทั้งในฐานะผู้เสพและผู้สร้างสรรค์

ล่าสุด ในเดือนพฤษภาคมนี้ จิรภัทรมีนิทรรศการแสดงเดี่ยวชื่อ The Colors of Jazz ที่หลอมรวมเอาศิลปะสองแขนงที่เขารักและหลงใหลเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน, ด้วยการเปลี่ยนกระแสเสียง, ท่วงทำนอง, จังหวะจะโคนของดนตรีแจ๊ซ ให้กลายเป็นสีสัน, เส้นสาย สำแดงอารมณ์หลายหลากบนผืนผ้าใบ

ภาพวาดที่ตีความจากอัลบั้ม A Love Supreme ของจอห์น โคลเทรน

ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์เร่าร้อนรุนแรง ลื่นไหลไร้กฎเกณฑ์ ในจิตวิญญาณอันเสรี

หรืออารมณ์อ่อนหวาน สบายๆ สดใสชื่นบาน, หรืออารมณ์รวดร้าวกรีดใจ, หรืออารมณ์อันลุ่มลึกดื่มด่ำในความรักและศรัทธาต่อดนตรีและพระผู้สร้าง

จิรภัทรถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อดนตรีที่เขารักเหล่านี้ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของเราผ่านภาพวาดนามธรรมของเขา

ดังเช่นคุณสมบัติของดนตรีที่สามารถสร้างภาพในจิตใจของผู้ฟังโดยไม่จำเป็นต้องอาศัยเรื่องราวจากเนื้อร้องใดๆ

ภาพวาดนามธรรมของจิรภัทรเองก็อาจจะสร้าง “เสียง” ของดนตรีแจ๊ซ ขึ้นในจิตใจของผู้ชมได้ โดยไม่จำเป็นต้องบอกเล่าเรื่องราวผ่านเนื้อหาใดๆ ได้เช่นเดียวกัน

ภาพวาดที่ตีความจากอัลบั้ม Free Jazz ของออร์เน็ต โคลแมน

จิรภัทรกล่าวถึงที่มาที่ไปของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นงานที่ได้แรงบันดาลใจจากการที่ผมเป็นคนรักดนตรีแจ๊ซ ฟังเพลงแจ๊ซมายาวนานมาก มีแผ่นดนตรีแจ๊ซเยอะมาก และเขียนเรื่องดนตรีแจ๊ซมาพอสมควร, ภาพวาดทั้งหมดจึงเป็นการสื่อถึงสีสันและอารมณ์ของผมที่มีต่อดนตรีแจ๊ซออกมาในแบบที่ผมรู้สึก แต่คนดูอาจจะไม่รู้สึกเหมือนผมก็ได้ ไม่เห็นจำเป็นอะไร เพราะแจ๊ซเป็นเรื่องของบทสนทนา ไม่ใช่อะไรที่ต้องเป็นระเบียบแบบแผนเป๊ะๆ”

“ในนิทรรศการจะมีผลงานสามชิ้นที่ผมตีความจากผลงานของศิลปินแจ๊ซที่ยิ่งใหญ่สามชิ้น, หนึ่งคืออัลบั้ม A Love Supreme ของ จอห์น โคลเทรน (John Coltrane) ที่ถือเป็นตำนานของวงการแจ๊ซ, อัลบั้มชุดนี้แบ่งออกเป็นสี่ส่วน ผมเลยวาดออกมาเป็นภาพบนเฟรมผ้าใบสี่ช่อง, ตอนแรกผมตีความอัลบั้มนี้ออกมาได้แค่สามส่วน เหลือส่วนสุดท้ายที่คล้ายกับเพลงสวด เหมือนเป็นบทเพลงสดุดีแด่พระผู้เป็นเจ้า, ตอนแรกผมตีความส่วนนี้ไม่ออก ทิ้งเอาไว้เกือบปีถึงเพิ่งวาดออกมาได้, อัลบั้มชุดนี้เป็นงานในช่วงหลังๆ ของโคลเทรนที่พูดถึงศาสนาและสุ้มเสียงของจักรวาล”

ภาพวาดที่ตีความจากเพลง Alone Together จากการบรรเลงคู่ของเอริก ดอลฟี และริชาร์ด เดวิส

“ชิ้นที่สองคือเพลงชื่อ Alone Together จากการบรรเลงคู่ของเอริก ดอลฟี (Eric Dolphy) และริชาร์ด เดวิส (Richard Davis) ซึ่งเป็นเพลงที่เหงา เศร้าบาดลึก และหดหู่มากๆ”

“ชิ้นที่สามเป็นงานที่ผมตีความมาจากอัลบั้มของออร์เน็ต โคลแมน (Ornette Coleman) ชื่อ Free Jazz : A Collective Improvisation ซึ่งเป็นอัลบั้มที่โคลแมนบันทึกเสียงโดยแบ่งเป็นวงควอเต็ตสองวง ฟากซ้ายเป็นวงที่โคลแมนคุมวง ส่วนฟากขวาเป็นวงที่เอริก ดอลฟี คุมวง, ทั้งสองวงเล่นดนตรีพร้อมกันในท่วงทำนองที่ต่างกัน แต่บันทึกเสียงเอาไว้พร้อมๆ กัน, อัลบั้มนี้ถือเป็นต้นกำเนิดของดนตรีฟรีแจ๊ซ (Free Jazz) ที่สำคัญ ปกอัลบั้มนี้โคลแมนหยิบเอาผลงานของแจ็กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) มาใส่ไว้บนปกด้วย, จะว่าไปงานของพอลล็อกก็มีความคล้ายคลึงกับดนตรีฟรี แจ๊ซ อยู่เหมือนกัน เพราะฟรีแจ๊ซ คือความเป็นอิสระ พูดง่ายๆ ก็คือการให้อิสระนักดนตรีทุกคนบรรเลงเพลงได้อย่างเสรี, ภาพวาดนี้พอวาดเสร็จ ผมอยากทำให้เหมือนวงดนตรีสองวงที่เล่มพร้อมๆ กัน ก็เลยจะเป็นภาพที่ถูกผ่าครึ่งแล้วเอามาต่อกันใหม่”

“ส่วนภาพชิ้นอื่นในนิทรรศการเป็นการแสดงสีสันจากอารมณ์ความรู้สึกที่ผมได้รับจากดนตรีแจ๊ซ, อย่างภาพวาดชุด Cool Jazz ก็จะมีสีสันสดใส สดชื่น สบายๆ เหมือนดนตรีคูลแจ๊ซ (Cool Jazz) ที่ส่วนใหญ่จะพูดถึงความรักและธรรมชาติ ไม่เคร่งเครียดจริงจัง, ในขณะที่ภาพอีกชุดก็จะคล้ายๆ เป็นอารมณ์ของดนตรีโมดัลแจ๊ซ (Modal jazz) และฮาร์ดบ็อพ (Hard Bop) งานดนตรีแจ๊ซที่ค่อนข้างเคร่งเครียดจริงจัง มักจะพูดถึงการเมืองและการต่อต้านการเหยียดผิว, แต่ผมก็ไม่ได้เจาะว่าจะต้องเป็นเพลงไหนหรืออัลบั้มอะไร เป็นแค่การแสดงความรู้สึกโดยรวมเกี่ยวกับดนตรีแจ๊ซหลากประเภทออกมา”

สําหรับคำถามที่คนฟังดนตรีบางคนอาจมองว่าแจ๊ซเป็นดนตรีที่ฟังยาก จนต้องปีนกระไดฟัง เช่นเดียวผู้ชมศิลปะบางคนอาจมองว่าภาพวาดนามธรรม (Abstract painting) นั้นเป็นงานศิลปะที่ดูยาก ดูไม่รู้เรื่อง เข้าไม่ถึง จนต้องปีนกระไดดู จิรภัทรตอบว่า

“ผมว่าแจ๊ซไม่ได้ฟังยากนะ เพลงแจ๊ซจริงๆ เป็นเหมือนบทสนทนาระหว่างนักดนตรีและผู้ฟัง, แน่นอนว่าสำหรับอัลบั้มอย่าง Love Supreme หรือ Free Jazz นั้น คุณต้องมีพื้นฐานในการฟังเพลงและศึกษาเกี่ยวกับศิลปินเหล่านี้มาในระดับหนึ่ง ถึงจะฟังไหว, แต่โดยส่วนใหญ่เพลงแจ๊ซเป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก ไม่จำเป็นต้องทำความเข้าใจ, เช่นเดียวกับภาพวาดนามธรรม เหมือนเวลาคุณดูภาพวาดภาพไหนแล้วรู้สึกชอบหรือไม่ชอบ ก็เท่านั้นเอง”

The Colors of Jazz นิทรรศการแสดงเดี่ยวโดยจิรภัทร อังศุมาลี จัดแสดง ณ Mini Xspace ชั้น 2 ตั้งแต่วันที่ 9 พฤษภาคม-30 มิถุนายน 2565 (จันทร์-เสาร์, 10:00-17:00 น) พิธีเปิดงาน 21 พฤษภาคม 2565 (15:00-18:00 น.), สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่; Official Line : @xspace หรือคลิก https://lin.ee/IoAkEaF, โทร : 06-6073-2332, อีเมล : [email protected]

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Xspace Gallery •