จรัญ มะลูลีม : จากเนห์รูถึงโมดี นโยบายต่างประเทศของอินเดียที่เปลี่ยนไป (2)

จรัญ มะลูลีม

บราเจสห์ มิชรา (Brajesh Mishra) ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของวัชปายี ถึงกับพูดถึงความเป็นไปได้ที่จะสร้างแกนสหรัฐ-อิสราเอลและอินเดีย (Washington-Tel Aviv-New-Delhi) ขึ้นมาเป็นแกนทางการเมืองระหว่างประเทศ

ภายใต้พันธมิตรร่วมเพื่อความก้าวหน้า II (United Progressive Alliance) หรือ UPA-II เวลานี้ภายใต้รัฐบาล นเรนทรา โมดี (Narenda Modi) ความปรารถนานี้เริ่มเห็นเป็นความจริงแล้ว

ในบรรดาประเทศที่อินเดียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดในปัจจุบันได้แก่ สหรัฐและอิสราเอล

ทั้งสองประเทศกำลังเข้ามาเบียดแทรกรัสเซียในฐานะผู้ส่งอาวุธที่ใหญ่ที่สุดให้อินเดีย

 

จนถึงเวลานี้อินเดียไม่ได้สนับสนุนภารกิจของชาวปาเลสไตน์อีกต่อไปแล้ว แม้ว่าอิสราเอลจะกลายมาเป็นรัฐที่มีการเหยียดชาติพันธุ์มากขึ้นก็ตาม

อินเดียภายใต้โมดีเรียกร้องให้เกิดนิสัยการยกเว้นการออกเสียงในสหประชาชาติว่าด้วยมติในการละเมิดสิทธิมนุษยชนของอิสราเอล

อินเดียรับรู้เป็นอย่างดีว่ารัฐบาลอิสราเอลไม่ได้มีความตั้งใจแม้แต่น้อยนิดที่จะให้ปาเลสไตน์เป็นรัฐอิสระหรือหยุดยั้งการสร้างบ้านเรือนในดินแดนของชาวปาเลสไตน์ทั้งในเวสต์แบงก์และกาซ่า

แต่สิ่งเหล่านี้ไม่มีผลต่อการวางนโยบายของอินเดีย ความช่วยเหลือด้านการป้องกันประเทศจากอิสราเอลและความมั่นคงภายในของอินเดียมีน้ำหนักมากกว่าประเด็นการตั้งรัฐปาเลสไตน์และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน

รัฐบาลอิสราเอลภายใต้นายกรัฐมนตรี แอเรียล ชารอน (Ariel Sharon) ซึ่งเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของชาวปาเลสไตน์นับพันคนถูกเชิญไปเยือนอินเดีย ภายใต้รัฐบาลแรกของ NDA

ภายใต้รัฐบาล NDA ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีของอินเดียในขณะนั้นได้โฆษณาถึงการมาเยือนของนายกรัฐมนตรีอิสราเอล ในขณะที่ดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครองตกอยู่ท่ามกลางความโกลาหลอลหม่าน

การแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันเกิดขึ้นทั้งในรัฐบาล UPA-1 และ II โดยโมดีได้กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ไปเยือนอิสราเอล

 

อิหร่านสมาชิกชั้นนำของกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ซึ่งอินเดีย “มีความสัมพันธ์พิเศษ” เป็นหนึ่งในหลายประเทศในภูมิภาคที่ไม่สบายใจต่อนโยบายของอินเดียที่มีต่ออิสราเอล

ผู้นำอาวุโสของอิหร่าน รวมทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุดอะยาตุลลอฮ์ อะลี คอเมเนอี ได้วิพากษ์ความสัมพันธ์อินเดีย-อิสราเอลและนโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่มีต่อแคชมีร

อินเดียได้สร้างท่าเรือชาบาฮัร (Chabahar) ในอิหร่าน ทั้งนี้ อิหร่านเป็นประเทศสำคัญในฐานะที่เป็นแหล่งพลังงานสำหรับอินเดีย

มีสิ่งที่น่าสังเกตว่าในเวลานี้อินเดียไม่มีอารมณ์ที่จะทำความตกลงใดๆ ในภาคพลังงานเป็นพิเศษกับอิหร่าน

รัฐบาลอินเดียภายใต้พรรคคองเกรสได้ขยายความสัมพันธ์กับอิสราเอลและประเทศตะวันตกออกไปอย่างกว้างไกล

7 ปีหลังจากการทดลองนิวเคลียร์ในปี 1998 รัฐบาลของ มาน โมฮันซิงห์ ได้ลงนามว่าด้วยนิวเคลียร์ที่ยังคงเป็นข้อถกเถียงอยู่จนถึงปัจจุบัน

จากนั้นก็ตามมาด้วยข้อตกลงด้านการป้องกันประเทศ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ทหารของสองประเทศมีความใกล้ชิดกัน

การซ้อมรบร่วมกันของสหรัฐ อินเดีย ญี่ปุ่นที่มะละบาร์ (Malabar) ที่มีความเกี่ยวข้องกับการนาวิกโยธินของทั้งสามประเทศนั้นเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ทางการทหารและยุทธศาสตร์ ซึ่งเติบโตขึ้นนับตั้งแต่อินเดียได้ลงนามข้อตกลงการป้องกันประเทศกับสหรัฐในปี 2015

นับจากนั้นเป็นต้นมาสหรัฐจึงนับเนื่องอินเดียให้เป็นประเทศหลักของการป้องกันร่วม (Major Defence Partner) ซึ่งเป็นการให้เกียรติเป็นพิเศษอย่างเดียวกับที่สหรัฐได้มอบให้กับอิสราเอล ส่วนข้อเสนออื่นๆ จะรวมไปถึงเทคโนโลยีการป้องกันและการค้าที่ทั้งสองประเทศจะร่วมกับพันธมิตรผลิตอาวุธ ในปี 2016 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่อินเดียอนุญาตให้มีการอำนวยความสะดวกให้แก่ฐานทัพต่างประเทศด้วยการมีบันทึกความเข้าใจด้านโลจิสติกกับสหรัฐ

ตามข้อตกลงนี้อินเดียจะอนุญาตให้สหรัฐใช้ทjkเรือและฐานทัพทางทหารของตนได้ ก่อนหน้านี้รัฐบาล UPA ของอินเดียซึ่งตกอยู่ภายใต้ความกดดันได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าวมาแล้ว

ในปี 2016 พรรคคองเกรสของอินเดียได้เรียกข้อตกลงด้านโลจิสติกกับสหรัฐว่าเป็นเหมือน “การทอดทิ้งหลักการพื้นฐานของนโยบายยุทธศาสตร์ทางทหารที่เป็นกลาง” (strategic military neutrality) ที่ผ่านกาลเวลาแห่งการทดสอบมาแล้วเป็นเวลายาวนาน

พรรคคอมมิวนิสต์ของอินเดีย (มาร์กซิสต์) ได้วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ด้วยการกล่าวถึงข้อตกลงทางโลจิสติกว่าเป็นการเอาอธิปไตยของอินเดียไปต่อรองกับสหรัฐ และเป็นการยอมจำนนต่อ “เขตแดนแห่งความเป็นอิสระทางยุทธศาสตร์” ซึ่งรัฐบาลก่อนหน้านี้ให้การยอมรับ

จนถึงทศวรรษ 1980 หลักการของการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของอินเดียมีผลต่อการออกมาปฏิเสธการคงอยู่ของกองทัพสหรัฐในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามหมู่เกาะของท้องทะเลอินเดียอย่างดีอีโก กราเซีย (Diego Garcia)

หลั”การสิ้นสุดสงครามเย็นสหรัฐได้สร้างฐานทัพนับร้อยๆ แห่งขึ้นมาโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในเอเชียและแอฟริกา

รัฐบาลปัจจุบันของอินเดียมุ่งที่จะลงนามข้อตกลงด้านความมั่นคงขนาดใหญ่อีกสองข้อตกลง ได้แก่ บันทึกความเข้าใจด้านการคมนาคมและข่าวสารด้านความมั่นคง (CISMOA) และการแลกเปลี่ยนข้อมูลพื้นฐานความร่วมมือ (BECA) ระหว่างประเทศ

 

ด้วยเหตุนี้อินเดียในเวลานี้จึงถูกมองว่าเป็นพันธมิตรแนวหน้าของสหรัฐมากขึ้น ข้อตกลงการสนับสนุนด้านโลจิสติกควบคู่ไปกับข้อตกลงสำคัญอื่นๆ ว่าด้วยการขายอาวุธกับสหรัฐ ได้มีการลงนามในสมัยของ บารัค โอบามา เท่ากับเป็นการประกาศถึงการทหารของสหรัฐที่หันเข้าหาตะวันออกมากขึ้น

จุดมุ่งหมายของฝ่ายบริหารของโอบามาก็คือการสร้างพันธมิตรทางการเมืองและการทหารเพื่อต่อต้านจีนในพื้นที่โดยร่วมมือกับญี่ปุ่นและอินเดียในฐานะพันธมิตรร่วมสมัย

รัฐบาลโมดีให้การสนับสนุนตำแหน่งของสหรัฐในทะเลจีนใต้และได้เข้าสู่การซ้อมรบทางทะเลกับนาวิกโยธินของสหรัฐและญี่ปุ่น

อินเดียและสหรัฐได้ร่วมกันใช้ข้อมูลว่าด้วยการเคลื่อนไหวของเรือจากประเทศจีน และเรือดำน้ำในมหาสมุทรอินเดีย

การเดินทางไปเยือนสหรัฐหลังจากทรัมป์ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของนายกรัฐมนตรีโมดีเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

ผู้นำของทั้งสองประเทศกล่าวว่าการเป็นหุ้นส่วน “ยุทธศาสตร์โลก” ของทั้งสองประเทศจะมีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น

โมดีกล่าวต่อไปว่าการเป็นหุ้นส่วนกับสหรัฐมีความสำคัญต่อ “การปกป้องผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์” ของเรา ในพื้นที่อินเดีย-แปซิฟิก เขาถึงกับยกให้สหรัฐเป็นหุ้นส่วนพื้นฐานในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเศรษฐกิจของอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ฝ่ายบริหารของทรัมป์ได้หันมาให้ความสนใจปัญหาเกาหลีเหนือ ด้วยเหตุนี้สหรัฐจึงเบนความสนใจไปยังจีนที่มีอิทธิพลต่อเกาหลีมากกว่าอินเดีย

ทรัมป์มองไปที่จีนเพื่อให้จีนบีบเกาหลีเหนือให้ยกเลิกโครงการนิวเคลียร์และการทดลองการยิงขีปนาวุธต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องใช้เวลาเกือบจะ 6 เดือนกว่าที่ทรัมป์กับโมดีจะได้พบกันในที่สุด