เปิดตัวหนังสือ “อุปถัมถ์ค้ำใคร” ชำแหละการเมืองไทยในความอุปถัมถ์ ทำประชาธิปไตยถดถอย

วันที่ 4 พฤษภาคม 2565 เมื่อเวลา 1500 น. ณ งาน Summer Book Festival สามย่านมิตรทาวน์ สำนักพิมพ์มติชนได้จัดงานเสวนาเปิดตัวหนังสือ ‘อุปถัมถ์ค้ำใคร’: การเลือกตั้งไทยกับประชาธิปไตยก้าวถอยหลัง หนังสือที่ถ่ายทอดประเด็นความสัมพันธ์แบบอุปถัมถ์ในการเมืองไทย โดยเฉพาะในยุค คสช. นับตั้งแต่การรัฐประหาร 2557 ว่ามีส่วนลดทอนพัฒนาการประชาธิปไตยไทยให้หวนกลับสู่ยุคก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 ได้อย่างไร โดยมีวิทยากรหลักคือผู้เขียนหนังสือเล่มดังกล่าว เวียงรัฐ เนติโพธิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สนใจและเชี่ยวชาญเรื่องการเมืองไทย โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยความสัมพันธ์แบบอุปถัมถ์ เครือข่ายเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพล และชนชั้นนำมาอย่างยาวนาน ดำเนินรายการโดยประจักษ์ ก้องกีรติ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการแนะนำหนังสือและประเด็นเสวนาครั้งนี้ ว่าจะมุ่งกล่าวถึง 3 ประเด็นสำคัญ คือ การเลือกตั้ง ความสัมพันธ์แบบอุปถัมถ์ และประชาธิปไตยที่ก้าวถอยหลัง

เวียงรัฐเปิดประเด็นกล่าวถึงกระแสประชาธิปไตยถดถอยกับการผงาดของการเมืองแบบขวาจัดว่ากำลังเกิดขึ้นจริงในการเมืองโลก โดยเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อตัวเองในแง่อุดมการณ์ มี 2 เหตุการณ์ใหญ่ๆ ได้แก่ การบุกอาคารรัฐสภาของสหรัฐฯ โดยประชาชนฝ่ายนิยมโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งตนฐานะที่เชื่อมั่นในสถาบันทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมองว่า การบุกรัฐสภาสหรัฐฯ คือการท้าทายต่อประชาธิปไตยอย่างมาก ทั้งในแง่ความรุนแรงทางกายภาพ และในแง่การทำลายความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นตัวแบบ

ขณะที่อีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งสะเทือนใจอย่างมาก คือวิกฤตการณ์ที่รัสเซียบุกยูเครนในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ทางการเมืองที่กระทบกับชีวิตของตนและคนรอบตัวมากที่สุดคือการรัฐประหารของไทยในปี 2557 ที่ท้าทายอย่างไม่น่าเชื่อว่าในยุคที่เข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ซึ่งผู้คนวาดหวังว่าประชาธิปไตยจะเติบโต จะได้ประสบกับเหตุการณ์การก้าวถอยหลังของประชาธิปไตยมากขึ้นเรื่อยๆ

เวียงรัฐมองว่าปัจจัยที่สนับสนุนให้ประชาธิปไตยก้าวถอยหลังมี 2 ประการ ประการแรก คือมหาอำนาจที่ผงาดขึ้นมาในปัจจุบันโดยไม่ได้ปกป้องหรือให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย ทั้งยังบั่นทอนคุณค่าของประชาธิปไตย โดยเวียงรัฐขยายความว่า ถ้าย้อนไปการศึกษาระยะยาวในแง่พัฒนาการรัฐ เดิมทีประวัติศาสตร์ของมนุษย์คือประวัติศาสตร์ของการทำสงคราม หลายอาณาจักรการเติบโตเกิดจากการใช้กำลังยึดครอง การเมืองการปกครองก็คือการพัฒนามาจากสงคราม

แต่โลกครึ่งหลังศตวรรษที่่ 20 เป็นโลกที่มีข้อตกลงใหม่ ที่ผู้คนฝันถึงสันติภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ ประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ต้องปกปักรักษา ดังที่เราจะได้เห็นการเติบโตของสันติภาพในหลายๆประเทศ ตนซึ่งใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นหลายปีในช่วงทศวรรษ 1990 เห็นว่าสันติภาพแทบจะเป็นมนตราของคนรุ่นนั้นและคนที่มีชีวิตอยู่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนเห็นได้ว่าหลายอย่างกำลังดีขึ้น ทว่าภาพที่ว่ากลับพลิกผันเมื่อประเทศที่เติบโตขึ้นมาโดยมีอำนาจทางเศรษฐกิจในปัจจุบันมองว่าโลกไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงประชาธิปไตยอีกต่อไป

ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ทำให้ประชาธิปไตยก้าวถอยหลังคือการขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้งของโซเชียลมีเดียซึ่งนำเข้าข่าวสาร ข้อมูล และภาพต่างๆ มหาศาลได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงข่าวสารปลอมที่ไม่ได้ยึดโยงกับความจริงด้วย เมื่อความคิดและความฝันทางการเมืองของคนนั้นขึ้นอยู่กับความทรงจำ ขณะที่ในอดีตการจะบันทึกประวัติศาสตร์ไม่ใช่เรื่องง่าย การมีอยู่ของโซเชียลมีเดียที่ช่วยให้สามารถสร้างและนำเข้าประวัติศาสตร์ได้อย่างรวดเร็วกลับมาพร้อมกับการสร้างประวัติศาสตร์หรือสร้างความทรงจำที่ผิดเพี้ยนได้ทันทีทันใดเช่นกัน

ดังที่เราจะได้เห็นตัวอย่างประวัติศาสตร์ของประเทศที่ไม่ให้คุณค่ากับประชาธิปไตย ซึ่งมีการไหลเวียนของข้อมูลที่สร้างความทรงจำที่ผิดๆ ขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย เช่น จะบอกว่ามีประธานาธิบดีเชื้อสายยิวเป็นนาซีก็ย่อมได้ หรือจะทำให้ผู้นำประเทศไทยเป็นคนฉลาด เป็นลุงที่ใจดี ก็ย่อมทำได้ แม้ข้อมูลเหล่านั้นจะไม่ได้ยึดโยงกับความจริง

“…การบันทึกประวัติศาสตร์การถดถอยของประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่เช่นนั้นโลกก็จะถูกครอบงำด้วยการเมืองแบบมโนโกหกหรือการไหลเวียนของความทรงจำที่สร้างขึ้นโดยไม่ยึดโยงกับความเป็นจริง…

จากนั้น เวียงรัฐจึงได้กล่าวถึงภาพรวมประชาธิปไตยไทยในขอบเขตการศึกษาที่ตนสนใจว่า เมื่อตนสนใจการเมืองที่ออกจากวาทกรรมแบบมโนโกหก และได้ร่วมขับเคลื่อนความคิดกับเพื่อนๆ ที่เห็นคุณค่าประชาธิปไตย พร้อมกับที่ได้มีโอกาสลงพื้นที่คุยกับคนจำนวนมาก โดยเฉพาะเจ้าพ่อ ผู้มีอิทธิพล นักเลงหัวไม้รวมถึงโครงการที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง การเมืองท้องถิ่นจากจังหวัดต่างๆ เช่น เชียงใหม่ อุบลราชธานี ขอนแก่น

ก็ทำให้ได้พบสิ่งที่ทำให้ยิ่งรู้สึกหดหู่กับการเมืองไทยหลังรัฐประหาร 2557 นั่นคือการได้เห็นความโดดเด่นของนักการเมืองที่สู้ไม่ถอย หวังเห็นรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งแต่ละวันพวกเขาจะลงพื้นที่พบชาวบ้าน ตอนสายมีงานบวช ตอนบ่ายมีงานแต่ง ตอนเย็นมีงานศพ ไปทุกงานเพื่อให้ชาวบ้านจำได้และพึ่งพาได้ คอยสื่อสารกับชาวบ้านให้อย่าเพิ่งถอยและรอคอยว่าอีกไม่นานจะมีเลือกตั้ง ยืนยันให้เห็นว่าพวกเขาเป็นนักการเมืองได้เพราะประชาชน ขณะที่อำนาจทางการเมืองที่ยึดโยงกับประชาชนก็เป็นไปได้เพราะนักการเมือง

ทว่าหลังรัฐประหาร ระบบราชการแบบรวมศูนย์เริ่มเป็นใหญ่ นักการเมืองกลับถูกผูกติดกับวาทกรรม “นักการเมืองเลว” ที่ถูกสร้างโดยส่วนกลาง ซึ่งบั่นทอนให้ผู้คนไม่เชื่อมั่นในคุณค่าประชาธิปไตย ทั้งที่ประชาธิปไตยจะช่วยเชื่อมโยงประชาชนที่มีความต้องการให้สามารถต่อรองกับนักการเมืองหรือผู้แทนผ่านความสัมพันธ์ที่อยู่บนนโยบายและการเลือกตั้ง

การเมือง “เจ้าพ่อ-คนดี” การอุปถัมถ์แบบข่มขู่ให้กลัว

เวียงรัฐ กล่าวถึงวาทกรรม “คนดี” ด้วยว่า คำๆนี้เกิดขึ้นยุค พล.อ. เปรม ที่ผู้คนถูกหล่อหลอมให้เชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องของคนดีมีศีลธรรม และเป็นความเชื่อเดียวกับที่การรัฐประหารครั้งหลังสุดนี้พยายามทำให้ย้อนกลับมาอีกครั้ง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดคนดีขึ้นจริง และไม่สามารถจูงใจคนได้สำเร็จง่ายๆ อีกต่อไป แม้จะใช้การเมืองมโนโกหกพยายามสร้างข่าวปลุกปั่นก็ตาม โดยกระแสการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หรือการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่แสดงถึงความตื่นตัวทางการเมือง แสดงให้เห็นว่าประชาชนพร้อมจะตรวจสอบการเมืองและนักการเมือง รวมถึงรู้เท่าทันความทรงจำที่อำนาจนิยมพยายามสร้างขึ้น

เวียงรัฐเสริมว่า ประเด็นที่กล่าวถึงในหนังสือและเสวนาครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นการพิสูจน์กรอบอธิบายว่า ขณะที่เรื่องเล่าหลักพยายามบอกว่าบทบาทและอำนาจของเจ้าพ่อผู้มีอิทธิพลเกิดขึ้นมาเพราะการเลือกตั้งและประชาธิปไตย เป็นปัญหาของประชาธิปไตย แท้จริงแล้วอำนาจของเจ้าพ่อและผู้มีอิทธิพลนั้นดำรงอยู่มาอย่างยาวนานโดยยึดโยงกับระบบราชการผ่านเส้นสายกับผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด และยุค คสช. ยิ่งย้ำให้เห็นชัดว่า แม้จะไม่มีการเลือกตั้ง ลักษณะความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์นี้ก็ยังคงดำรงอยู่ ทั้งยังอยู่ในรูปแบบที่ยิ่งล้าหลังและไร้คุณภาพมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับเวียงรัฐนั้น ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมถ์ถือเป็นความสัมพันธ์ในแง่ลบ โดยเฉพาะในรัฐชาติสมัยใหม่และสังคมประชาธิปไตยที่ไม่ควรจะมีใครเหนือกว่าหรือด้อยกว่าใคร แต่ถ้ามองเข้าไปในความสัมพันธ์ดังกล่าวที่ดำรงอยู่อย่างยาวนานนั้น ก็จะพบว่าความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์มีหลายชั้น หลายระดับ หลายคุณภาพ ขึ้นอยู่กับระบอบการปกครอง ณ ขณะนั้น ความสัมพันธ์ในการเลือกตั้งก็อาจมีลักษณะอุปถัมถ์ เช่น ขอให้เลือกผู้แทนคนหนึ่งแลกกับการสร้างเขื่อนกั้นน้ำท่วมให้ชุมชน ต่อให้ผู้แทนจะสร้างเขื่อนให้ได้จริง แต่หากเป็นเขื่อนไร้คุณภาพ

สุดท้ายในการเลือกตั้งครั้งใหม่ชาวบ้านก็อาจไม่เลือกคนเดิม ยังเป็นความสัมพันธ์ที่ต่อรองอำนาจได้ บางยุคอาจไม่มีความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์เลย ทำนโยบายโดยใช้ประชามติ สำรวจความเห็น เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นฐานของประชาชน ทว่าบางยุค ความสัมพันธ์แบบอุปถัมถ์อยู่ในลักษณะของการข่มขู่หรือความรุนแรงที่เลวร้ายสุด อาทิ การข่มขู่ให้ไปเลือกตั้งนะ ถ้าไม่ พวกคุณจะลำบากหรือมีสิทธิ์กินลูกตะกั่ว ซึ่งเกิดขึ้นในทศวรรษ 2520-2530 เป็นความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ที่ยากจะเปลี่ยนหรือออกจากความสัมพันธ์

จากนั้น เวียงรัฐกล่าวถึง 2 บทสุดท้ายของหนังสือที่พยายามชี้ให้เห็นว่า การเมืองหลังรัฐธรรมนูญ 2540 สร้างแนวโน้มที่ดีว่าประชาธิปไตยจะก้าวไปข้างหน้า ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือการกระจายอำนาจ ซึ่งทำให้ประชาชนรู้จักประชาธิปไตยที่กินได้ เห็นว่าการบริหารภาครัฐเป็นสิทธิ ไม่ใช่ความเมตตา และการที่รัฐธรรมนูญเปิดทางให้พรรคการเมืองสร้างสถาบันการเมืองที่เข้มแข็ง เกิดการกระจายอำนาจ เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองนอกกรุงเทพฯ นักการเมืองสามารถได้รับความนิยมโดยไม่จำเป็นต้องทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ในทางกลับกัน หลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด คสช. กลับทำให้การเมืองไทยพลิกกลับ ดังที่เราจะเห็นเครือข่ายนักการเมืองหัวเมืองก่อนการเลือกตั้งปี 62 ว่านักการเมืองเริ่มกลับมาใช้วิธีทำให้คนกลัว เช่น ข่มขู่หรือให้เงิน เกิดการยัดข้อหาให้มีคดี หาช่องว่างกฎหมายจัดการนักการเมืองก่อนเจรจาให้ย้ายข้าง เป็นการสร้างความสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์แบบหนัง Godfather ซึ่งไม่ทำให้เกิดการต่อรองในแนวระนาบ แต่กลับสร้างความกลัวหรือการบังคับให้เลือกข้างแบบยากปฏิเสธ และการต้องใช้เงินหล่อเลี้ยงเพื่อรักษาอำนาจไม่ชอบธรรม

กรณีหนึ่งที่น่าสนใจคือการวิ่งงบฯ กล่าวคือ จากเดิมที่นักการเมืองมีบทบาทผลักดันงบฯ เพื่อใช้กับพื้นที่ แม้การวิ่งงบฯ อาจทำให้พวกเขาได้ประโยชน์จากการฮั้วกันแต่ก็เป็นผลประโยชน์ร่วมกันกับประชาชนในพื้นที่นั้น การวิ่งงบฯ จึงมีตัวแปรสำคัญคือความต้องการของประชาชน แต่ระบอบ คสช. กลับเน้นการปกครองส่วนภูมิภาค ให้อำนาจผู้ว่าฯ มีอำนาจกำหนดชี้ขาด ตัดขาดอำนาจจากการตัดสินใจของประชาชน กลายเป็นการเมืองในกรมกอง ไม่เกี่ยวกับประชาชน เมื่อนักการเมืองและประชาชนถูกตัดจากสมภาร การเมืองก็ย้อนยุคไปสู่ยุคเก่าคือการเมืองแบบราชการรวมศูนย์

เมื่อถามถึงการทำลายประชาธิปไตยที่กำลังดำเนินไปในปัจจุบันนั้น เวียงรัฐกล่าวว่า การทำลายประชาธิปไตยที่เห็นได้ชัดเจนหลังการรัฐประหารคือการยุบสภา การตัดขาดการเลือกตั้ง การแต่งตั้ง ครม. ความไม่เป็นประชาธิปไตยของ รธน. และกติกาการเลือกตั้งจากนั้น ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งสำคัญที่หลงเหลืออยู่ของสถาบันการเมืองคือสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับนักการเมืองก็ถูกทำลายให้อ่อนแอลงอีก แทนที่ด้วยสายสัมพันธ์ผ่านระบบราชการ

โดยจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ในช่วงปี 2557-2558 องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจะถูก สตง.ไล่ตรวจแบบละเอียดยิบ ท้องถิ่นอาจได้รับงบอุดหนุนบ้าง แต่งบก็ขึ้นอยู่กับผู้ว่าฯ ผ่านโครงการไทยแลนด์ 4.0 ไม่ได้อยู่กับนักการเมือง  หรือก่อนการเลือกตั้งปี 62 ที่จะเห็นการทุ่มงบผ่านโครงการประชารัฐไปยังหลายพื้นที่ เป็นการเลียนแบบประชานิยมในพื้นที่และเป็นการหาเสียงทางอ้อม ทั้งยังขยายช่องให้ทุนขนาดใหญ่ ทำให้แม้จะมีเม็ดเงินไหลเวียนในพื้นที่ แต่กลับเป็นการเปิดโอกาสให้ทุนระดับประเทศเข้าแทรกในพื้นที่มากกว่าจะทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง

นอกจากนี้ ตัวอย่างหนึ่งคือกรณีโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งแสดงให้เห็นสิ่งที่ทั้งน่าสนใจและน่าเจ็บใจ คือแท้จริงแล้วท้องถิ่นและเทศบาลมีบทบาทแข็งขันและสำคัญมากในการยับยั้งการระบาด ทว่าเมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อลด จังหวัดกลับกลายเป็นเจ้าของผลงาน ขณะที่ส่วนท้องถิ่นหรือเทศบาลกลับไม่ถูกพูดถึง

ในช่วงท้ายของการเสวนา ประจักษ์ได้เปิดประเด็นถึงการเมืองของการดึงนักการเมืองแบบมุ้งต่างๆ เข้ามาร่วมพรรคเพื่อชัยชนะในการเลือกตั้ง แต่กลับทำลายระบบการเมืองจนพรรคร่วมรัฐบาลเองก็เกิดรอยร้าว ซึ่งเวียงรัฐกล่าวว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการสร้างระบอบที่ไม่เห็นอนาคต ย่อมทำให้เกิดภาวะมือใครยาวสาวได้สาวเอา การเมืองแบบนี้ทำให้มนุษย์ต้องเอาตัวรอด ไม่มีอนาคต ไม่ใช่แค่พรรครัฐบาล รวมถึงพรรคฝ่ายค้านด้วย กล่าวคือ เมื่อเครือข่ายการเมืองไม่เข้มแข็ง ทำให้เกิดการขัดแย้ง เกิดรอยปริแยก เพราะไม่รู้ว่าเส้นทางการเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร ต่างฝ่ายต่างต้องหาหนทางก้าวต่อไป หรือต้องเอาตัวเองรอดก่อนจนทุกอย่างพังทลาย

อย่างไรก็ตาม เวียงรัฐเน้นย้ำว่า ถ้าสุดท้ายมีการเลือกตั้ง ยังไงประเทศก็มีความหวัง ต่อให้ระบอบอำนาจนิยมจะทำให้สังคมบิดเบี้ยวแค่ไหน การเกิดการชุมนุมของคนหนุ่มสาวในปี 2563 ก็ยังทำให้เห็นความหวังบางอย่าง เมื่อมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ก็นำไปสู่การตั้งคำถามถึงการเลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดอื่นและการเลือกตั้งระดับชาติต่อไป

“ตอนนี้นับศูนย์ใหม่ มีความพยายามเปลี่ยนกฎเกณฑ์ที่ส่วนกลางควบคุมมากขึ้น แต่พอเลือกตั้ง มีประชาชนเป็นฐาน ก็จะเป็นความหวัง แต่ช้าเพราะถอยมาไกลมาก” เวียงรัฐกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อถามถึงโอกาสของการรัฐประหารอีกครั้ง เวียงรัฐกล่าวว่าก็ยังมีความเป็นไปได้ ประจวบกับเมื่อการเมืองไทยมีคุณลักษณะแบบประนีประนอม ซึ่งอาจทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นช้า แต่ตนก็เชื่อว่าคนรุ่นใหม่จะไม่ยอมให้การเมืองไทยย้อนกลับสู่ยุคล้าหลังแล้ว จึงขอฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่และสถาบันทางการเมือง ทั้งนี้มองว่าจุดคัดง้างของการเปลี่ยนแปลงยังไงก็ต้องเป็นการเลือกตั้ง อย่าหมดหวัง อย่าท้อถอยกับคุณค่าประชาธิปไตย ยังไงต้องสู้กันต่อไปควบคู่กันทั้งการเมืองผ่านสถาบันทางการเมือง-พรรคการเมือง และการเรียกร้องของประชาชนนอกสภา

“ยังไงการเมืองในสภาก็ต้องคู่กับการเมืองนอกสภา ถ้าสถาบันทางการเมืองไม่สามารถผลักดันความต้องการได้ ก็ต้องมีพลังการเมืองนอกสภามาช่วย นักการเมืองต้องเอาความต้องการจากนอกสภา ผลักดันเป็นวาระในสภา ต้องเชื่อมโยงสอดประสานกัน” เวียงรัฐกล่าวทิ้งท้าย