เอกชนจี้รัฐแก้ ศก.ถดถอย เซ่นพิษ’เงินเฟ้อ-ของแพง-สงคราม’ วัดใจบิ๊กตู่ ช่วงกลิ่นเลือกตั้งโชยแรง

แม้ในปัจจุบันประเทศไทยจะเริ่มคลายล็อก และเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 เดินทางเข้าไทยแบบไม่ต้องกักตัวแล้ว เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา

แต่ในวันเดียวกันนั้นก็ถือเป็นวันแรกที่รัฐบาลปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล ส่งผลให้สินค้าทั้งอุปโภคบริโภคต่างแย่งชิงกันปรับขึ้นราคา และไทยยังได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและอ้อมจากปัญหาความขัดย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่มีทีท่าว่าจะจบไม่ลง

ปัจจัยลบเหล่านี้จึงเป็นผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังไม่สู้ดีนัก

ล่าสุด ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ปี 2565 จะเติบโตอยู่ในกรอบ 3-3.5% ซึ่งการที่ภาพรวมเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือแย่ลงนั้น ขึ้นอยู่กับแรงหนุนของรัฐบาลว่าจะทำได้มากและเร็วแค่ไหน

หากหลังจากนี้ภาครัฐไม่สามารถออกมาตรการหรือแพคเกจมากระตุ้นเศรษฐกิจได้เลย มีโอกาสที่จีดีพี 2565 จะโตเพียง 3%

ประเด็นสำคัญที่ศูนย์พยากรณ์ฯ อยากให้ภาครัฐเฝ้าระวังคือ ปัญหาเงินเฟ้อ และหนี้ครัวเรือน

จากการสำรวจพบว่าจากกลุ่มตัวอย่าง 1,260 ตัวอย่างทั่วประเทศ กว่า 99% มีภาระหนี้สินที่มาจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หนี้บัตรเครดิต และที่อยู่อาศัย

ส่วนปัญหาเงินเฟ้อ ที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากการปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล เพดานไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร ส่งผลให้มีโอกาสที่น้ำมันดีเซลจะขยับถึงเพดาน 35 บาทต่อลิตรภายในเดือนมิถุนายนนี้

ดังนั้น การที่ดีเซลแพงขึ้นทุก 1 บาทต่อลิตร ยาวไป 1 ปี เศรษฐกิจจะชะลอ 0.2% หากปรับขึ้น 5 บาทต่อลิตร จะกระทบเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง จะย่อลง 0.5%

เป็นเรื่องต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า ที่สุดแล้วจะมีการปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจลงอีกหรือไม่

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (อีไอซี) ประเมินว่า จากปัญหาภาวะเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและยังมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอดทั้งปีนี้ จากปัจจัยด้านราคาพลังงานและอาหารยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อกำลังซื้อภาคครัวเรือน

ภาวะเงินเฟ้อสูงในช่วงที่รายได้ฟื้นตัวช้าจากแนวโน้มตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง จะส่งผลกระทบต่อรายได้ที่แท้จริง กำลังซื้อ และความสามารถในการชำระหนี้ที่ลดลง ประกอบกับครัวเรือนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มรายได้น้อยที่มีค่าใช้จ่ายในส่วนอาหารและพลังงานรวมกันมากกว่าครึ่งของค่าใช้จ่ายทั้งหมด อาจจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเมื่อรายได้ไม่พอรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาที่เร่งตัว

อีไอซีคาดว่าปีนี้หนี้ครัวเรือนไทยจะยังคงขยายตัวสูงต่อเนื่อง และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี จะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงใกล้เคียงเดิม!

สำหรับเงินเฟ้อในรอบนี้เกิดขึ้นจากหลากหลายปัจจัย นอกเหนือจากน้ำมันยังมีเรื่องสงครามรัสเซียกับยูเครนส่งผลต่อปัญหาด้านอุปทานที่ไกลเกินกว่าเรื่องของน้ำมัน ที่มักเป็นต้นทางของปัญหาเงินเฟ้อรอบก่อนๆ

นอกจากรัสเซียจะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตน้ำมันและพลังงานหลักของโลกแล้ว รัสเซียรวมถึงยูเครนยังเป็นแหล่งจัดหาโภคภัณฑ์สำคัญอื่นๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องกับการผลิต อาทิ โลหะอุตสาหกรรม และสารตั้งต้นที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์อัน ได้แก่ แพลเลเดียมและก๊าซนีออน และที่เกี่ยวข้องกับอาหารและการเกษตร เช่น ธัญพืช อาหารสัตว์ และปุ๋ยเคมี เป็นต้น

ขณะเดียวกัน มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียได้ก่อให้เกิดความกังวลต่อการขาดแคลนด้านอุปทานและราคาวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้นแบบยกแผงแทบจะทันที เป็นแรงกดดันโดยตรงต่ออัตรากำไรของภาคธุรกิจ ที่จำเป็นต้องเลือกว่าจะส่งผ่านภาระต้นทุนไปที่ผู้บริโภค หรือแบกรับไว้เองเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด

ขณะที่การขยายการจ้างงานในบางภาคธุรกิจอาจจำเป็นต้องเลื่อนออกไปเพื่อควบคุมต้นทุน เงินเฟ้อจึงมีแนวโน้มจะเร่งตัวในวงกว้างกว่ารอบก่อน ขณะที่การจ้างงานจะยังฟื้นตัวได้ช้า และค่าแรงจะยังขึ้นได้ไม่มากจากแรงหน่วงด้านต้นทุน

ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือนยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ที่ผ่านมาภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือเพื่อพยุงสถานะทางการเงินของภาคครัวเรือนที่อ่อนแอลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านโครงการปรับโครงสร้างหนี้และมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้

อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ผ่านมายังเป็นเพียงมาตรการแก้ปัญหาในระยะสั้น โดยภาครัฐควรมีมาตรการจัดการเรื่องหนี้ครัวเรือนแบบยั่งยืน มุ่งเน้นทั้งการจัดการหนี้ปัจจุบัน ลดการก่อหนี้ที่เกินตัวเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงการส่งเสริมด้านรายได้และการจ้างงาน

เช่น การส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในภาคธุรกิจผ่านการอุดหนุนการจ้างงาน และการปรับทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เป็นต้น

เกรียงไกร เธียรนุกุล

ขณะที่เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจในปัจจุบันว่า ส.อ.ท.กังวลสถานการณ์เศรษฐกิจไทย ที่ได้รับแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมาก ล่าสุดค่าครองชีพของคนไทยจะสูงขึ้นอีกจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่รัฐบาลปรับขึ้นราคาดีเซล โดยปัจจุบันต้นทุนดีเซลพุ่งกว่า 41 บาทต่อลิตรแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลใช้วิธีปรับขึ้นราคาแบบขั้นบันได และอยากให้ตรึงอัตราการลดภาษีสรรพสามิตดีเซล 3 บาทต่อลิตร ออกไปอีก 3 เดือน จากกำหนดสิ้นมาตรการ ในวันที่ 20 พฤษภาคมนี้

อีกทั้งหากรัฐบาลไม่ดูแลราคาดีเซลจะส่งผลต่อค่าขนส่งขยับขึ้น 15-20% กระทบต้นทุนสินค้าอีก 3-4% อาจทำให้สินค้าปรับราคาขึ้นอีกหลายรายการ ดังนั้น ส.อ.ท.จะนำประเด็นความกังวลดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ต้นเดือนพฤษภาคมนี้ เพื่อขอความเห็นจาก กกร. ขับเคลื่อนมาตรการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจต่อไป

โดย ส.อ.ท.จะเสนอให้พิจารณาเรื่องมาตรการลดค่าครองชีพ ลดเงินเฟ้อประชาชน ขยายโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 เพราะเป็นมาตรการที่กระตุ้นกำลังซื้อประชาชนได้มากที่สุด ส่วนประเด็นค่าแรงที่รัฐบาลเตรียมปรับขึ้นปลายปีนี้ อยากให้ร่วมพิจารณาจาก 3 ฝ่ายคือ รัฐ เอกชน และแรงงาน และไม่อยากให้การเมืองเข้าครอบงำ อยากให้สะท้อนต้นทุนแท้จริงในแต่ละพื้นที่ เพื่อลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการต่อไปด้วย

หลังจากนี้ ต้องเงี่ยหูฟังว่ารัฐบาลจะได้ยินหรือไม่ ในห้วงเวลาที่เริ่มนับถอยหลังรัฐบาล “บิ๊กตู่” เข้าโหมดการเลือกตั้งทั่วไปเต็มตัว!!