คุยกับทูต : จูเว็งซียู มาร์ติงซ์ ติมอร์-เลสเต ฉลองเอกราช 20 ปี พร้อมประธานาธิบดีคนใหม่ (2)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต : จูเว็งซียู มาร์ติงซ์

ติมอร์-เลสเต ฉลองเอกราช 20 ปี

พร้อมประธานาธิบดีคนใหม่ (2)

 

“สําหรับผม เมื่อได้มาประจำการประเทศไทยก็เหมือนความฝันที่เป็นจริง จากที่ผมได้ยินได้อ่านเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับประเทศไทย เพราะมีลักษณะเฉพาะที่ไม่อาจพบในประเทศอื่น”

นายจูเว็งซียู ดือ จือซุซ มาร์ติงซ์ (H.E. Mr. Juvencio de Jesus Martins) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยติมอร์-เลสเต ประจำราชอาณาจักรไทย เล่าถึงความรู้สึกที่ได้กลับมาประเทศไทยอีกวาระหนึ่งและคราวนี้เหมือนเป็นบ้านหลังที่สอง

“จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นแรงผลักดันให้ผมเลือกมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตที่นี่ จากตัวเลือกทั้งสามที่ถูกนำมาให้ผมพิจารณาระหว่างนิวซีแลนด์ เบลเยียมและไทย ด้วยเล็งเห็นล่วงหน้าว่า การเป็นเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย จะทำให้ประวัติการทำงานของผมมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพราะผมจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ อันแตกต่างจากที่เคยได้รับครั้งก่อนหน้านี้อย่างแน่นอน”

นายจูเว็งซียู มาร์ติงซ์ เอกอัครราชทูตติมอร์-เลสเต-

หากเมื่อย้อนไปในอดีต นายจูเว็งซียู มาร์ติงซ์ เป็นหนึ่งในสมาชิกของคณะกรรมการบริหารซึ่งส่วนมากเป็นนักศึกษาที่จัดการประท้วงเพื่อต่อต้านการยึดครองของอินโดนีเซีย การเดินขบวนของนักศึกษาและประชาชนสิ้นสุดลงด้วยการถูกกราดยิงแบบสังหารหมู่ที่สุสานซานตาครูซ (Santa Cruz cemetery) ในปี 1991 ไม่นานหลังจากนั้น นายมาร์ติงซ์จึงถูกจับเป็นนักโทษการเมืองและต้องโทษจำคุกหกปี

นายจูเว็งซียู มาร์ติงซ์ สำเร็จการศึกษาวิชาภาษาอังกฤษจากมหาวิทยาลัยติมอร์ ติมูร์ (Universitas Timor Timur) อินโดนีเซีย ต่อมา ได้เป็นผู้ช่วยในสำนักเลขาธิการสภาแห่งชาติเพื่อการฟื้นฟูติมอร์ (Conselho Nacional de Resist?ncia Timorense : CNRT) ซึ่งเป็นองค์กรร่วมของขบวนการเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติของติมอร์ตะวันออก

ในเดือนเมษายน 1999 องค์การต่อต้านโดยนักศึกษาและเยาวชนติมอร์ตะวันออก 14 องค์กรได้ยื่นคำร้องต่อรัฐสภา (Presidium Juventude Lorico Ass’wain Timor Loro Sa’eof the CNRT.) โดยมีนายมาร์ติงซ์เป็นผู้ประสานงาน

เพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นเอกราชของติมอร์ตะวันออก นายจูเว็งซียู มาร์ติงซ์ เริ่มต้นเป็นนักการทูตในปี 2001 จากนั้นในปี 2003 ได้เป็นที่ปรึกษา ณ สถานทูตติมอร์ตะวันออกประจำอินโดนีเซีย

และในช่วงหนึ่ง ได้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการร่วมของคณะกรรมาธิการข้อเท็จจริงและมิตรภาพ (Commission on Truth and Friendship : CTF) ซึ่งรวมทั้งอินโดนีเซียและติมอร์ตะวันออกเพื่อสอบสวนอาชญากรรมในปี 1999

นายจูเว็งซียู มาร์ติงซ์ ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตติมอร์ตะวันออกครั้งแรก ประจำประเทศมาเลเซีย เมียนมา และเวียดนาม ช่วงปี 2009-2011และเป็นอธิบดีกรมความสัมพันธ์ภายนอก กระทรวงต่างประเทศติมอร์ตะวันออกช่วงหนึ่ง

จนกระทั่งวันที่ 6 กรกฎาคม ปี 2012 จึงได้รับตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตติมอร์ตะวันออกประจำประเทศฟิลิปปินส์

หลังจากนั้น ได้ทำหน้าที่อธิบดีกรมพิธีการทูต และกิจการกงสุล กระทรวงต่างประเทศติมอร์ตะวันออก

ล่าสุดคืออุปทูตติมอร์ตะวันออกประจำอินโดนีเซีย ก่อนมาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตติมอร์ฯ ประจำราชอาณาจักรไทยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ติมอร์ตะวันออกมีประชากร 1.36 ล้านคน และเป็นหนึ่งในสองประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ส่วนทางด้านเศรษฐกิจ ติมอร์ตะวันออกต้องพึ่งพาทรัพยากรน้ำมันและก๊าซเป็นหลัก

“ไทยและติมอร์ตะวันออก ก่อตั้งความสัมพันธ์ขึ้นทันทีหลังจากที่เราประกาศอิสรภาพเมื่อปี 2002 โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับเรา ควบคู่ไปกับประเทศจีนและนอร์เวย์ ตั้งแต่นั้นมา เราจึงเริ่มกำหนดขอบเขตของความร่วมมือ”

“วันที่ 20 พฤษภาคม 2002 มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการระหว่างไทยและติมอร์ตะวันออก แต่ในความเป็นจริง เรามีความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นทางการเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว ผ่านตัวแทนของกองกำลังทหารไทยที่ไปประจำการในประเทศติมอร์ฯ ภายใต้การอุปถัมภ์ของสหประชาชาติ”

ประเทศไทยได้เข้าไปมีบทบาทในการรักษาสันติภาพและการพัฒนาประเทศติมอร์ฯ ตั้งแต่ปี 1999 ก่อนการก่อตั้งประเทศติมอร์ฯ โดยไทยได้เข้าไปปฏิบัติการร่วมกับสหประชาชาติในหลายภารกิจ อาทิ UN Mission in East Timor (UNAMET), International Force in East Timor (INTERFET), UN Transitional Administration in East Timor (UNTAET) และ UN Mission of Support in East Timor (UNMISET)

“นอกเหนือจากภารกิจหลักในการฟื้นฟูสันติภาพแล้ว ทหารไทยยังได้รับมอบหมายให้ช่วยเหลือชุมชนในส่วนต่างๆ ของประเทศติมอร์ฯ โดยตรง ทั้งในด้านการเกษตร สุขภาพ ฯลฯ ซึ่งได้สร้างประสบการณ์และความประทับใจแก่ชาวชาวติมอร์ฯ”

กองรักษาสันติภาพของไทย ภายใต้กรอบขององค์การสหประชาชาติ ในติมอร์-เลสเต

“คณะผู้แทนทางการทูตติมอร์-เลสเต ประจำกรุงเทพฯ ได้พัฒนากิจกรรมที่มุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่มีอยู่ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนทั้งสองประเทศในทุกระดับ มีการจัดตั้งกลไกที่เรียกว่า ‘การปรึกษาหารือในนโยบาย’ (Policy Consultation) ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันสำรวจและระบุขอบเขตของความร่วมมือในด้านการเกษตร การสาธารณสุข การพัฒนาชนบท การท่องเที่ยว การศึกษา และการเสริมสร้างศักยภาพสำหรับเจ้าหน้าที่ติมอร์-เลสเต”

“นอกจากนี้ เรายังได้รับการสนับสนุนโดยตรงอย่างต่อเนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโครงการให้อาหารโรงเรียน การจัดสวนในโรงเรียน และการเสริมสร้างพลังอำนาจการทำงานของครู โครงการเหล่านี้เป็นประโยชน์อย่างมากต่อชาวติมอร์-เลสเต”

อนึ่ง กองทัพไทยจัดกำลังทหารเข้าร่วมเป็นกองกำลังนานาชาติ และกองรักษาสันติภาพ ภายใต้กรอบขององค์การสหประชาชาติในติมอร์-เลสเต 9 ผลัดระหว่างปี 2000-2004 รวมกว่า 6,300 นาย

เหนือกว่านั้นคือ การได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy : SEP) ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (Bhumibol Adulyadej) ไปเผยแพร่พระอัจฉริยภาพ และพระเกียรติคุณให้นานาชาติได้ประจักษ์ โดยถ่ายทอดความรู้ให้กับชาวติมอร์-เลสเต หนึ่งในภารกิจรักษาสันติภาพของทหารไทย ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก •