เครื่องรางสิงห์-คชสีห์งาแกะ หลวงปู่เหรียญ สุวัณณโชติ วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี / โฟกัสพระเครื่อง : โคมคำ

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

 

เครื่องรางสิงห์-คชสีห์งาแกะ

หลวงปู่เหรียญ สุวัณณโชติ

วัดหนองบัว จ.กาญจนบุรี

 

“พระโสภณสมาจาร” หรือ “หลวงปู่เหรียญ สุวัณณโชติ” อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) และอดีตเจ้าคณะอำเภอเมืองกาญจนบุรี

ได้ชื่อว่าเป็นศิษย์เอกใกล้ชิดและได้รับการสืบทอดวิทยาคมจาก “หลวงปู่ยิ้ม” เจ้าอาวาสรูปสำคัญของวัดหนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี อันเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีพุทธาคมสูง

ที่สำคัญ ยังได้เคยสั่งสอนศิษย์ให้เป็นพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในด้านไสยเวทในยุคต่อมาอีกหลายรูป

นอกจากหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัวแล้ว ยังมีหลวงปู่ดี วัดเหนือ, หลวงปู่ใจ วัดเสด็จ, หลวงพ่อสอน วัดลาดหญ้า, หลวงพ่อแช่ม วัดจุฬามณี, หลวงพ่อหัง วัดเหนือ, หลวงพ่อดอกไม้ วัดดอนเจดีย์, หลวงพ่อเหมือน วัดกลางเหนือ เป็นต้น

หลวงปู่เหรียญ สร้างวัตถุมงคลและเครื่อรางไว้มากมาย อาทิ ตะกรุด ลูกอม ลูกอมแผง แหวนพิรอด พระปิดตา ซึ่งสร้างตามแบบของหลวงปู่ยิ้ม แต่มีขนาดย่อมกว่า สันนิษฐานว่าได้สร้างมาเรื่อยๆ ตามแต่จะมีผู้เลื่อมใสศรัทธาขอและแจกเรื่อยมา

จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงบั้นปลายชีวิต บรรดาลูกศิษย์เห็นว่าวัตถุมงคลที่ได้รับแจกมามีประสบการณ์ ประกอบกับเห็นว่า หลวงปู่ชราภาพมากแล้ว จึงกราบขอให้จัดสร้างพระเครื่องวัตถุมงคล เพื่อไว้เป็นที่ระลึกและแจกให้ผู้ที่มาร่วมบุญ

สิงห์งาแกะหลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว

วัตถุมงคลทุกรุ่น ล้วนแต่ได้รับความนิยม

โดยเฉพาะ “สิงห์งาแกะ” สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2497 ลักษณะเป็นสิงห์แกะ สร้างขึ้นจากงาช้าง แต่ก็มีที่สร้างจากไม้เสาโบสถ์ พุทธศิลป์มีทั้งแบบที่ยืนธรรมดาและแบบที่ยกเท้าหน้าหนึ่งข้าง มีทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก โดยแบ่งออกเป็นแบบ 2 ขวัญ และ 3 ขวัญ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ด้านหน้า เป็นรูปจำลองเป็นรูปสิงห์แกะจากงา ศิลปะเชิงช่างมีเอกลักษณ์คือขวัญจะต้องคล้ายเลขหนึ่งไทย ดวงตราของสิงห์ลงชาดสีแดงสด

ด้านหลังเรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ ในบางองค์มีรอยจาร

คชสีห์งาแกะ หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว

นอกจากนี้ ยังมี “คชสีห์งาแกะ” ด้วย

สร้างขึ้นในปีเดียวกัน คือ พ.ศ.2497 ลักษณะเป็นคชสีห์แกะ สร้างขึ้นจากงาช้าง แต่ก็มีที่สร้างจากไม้เสาโบสถ์ จัดเป็นเครื่องรางที่เป็นพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์หนึ่งของหลวงปู่ จำนวนการสร้างไม่ได้มีการจดบันทึกไว้

ด้านหน้า เป็นรูปจำลองเป็นรูปคชสีห์แกะจากงา ศิลปะเชิงช่างมีเอกลักษณ์

ด้านหลังเรียบ ไม่มีอักขระยันต์ใดๆ ในบางองค์มีรอยจารและอุดผง

สิงห์งาแกะและคชสีห์งาแกะ เป็นเครื่องรางพิมพ์มาตรฐานอีกพิมพ์ จัดเป็นเครื่องรางยอดนิยมที่ชาวเมืองกาญจน์นิยมหวงแหนมาก

หลวงปู่เหรียญ สุวัณณโชติ

มีนามเดิมว่า เหรียญ รัสสุวรรณ เป็นบุตรของชาวไทยเชื้อสายจีน เกิดเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2419 ตรงกับวันเสาร์ แรม 7 ค่ำ เดือนยี่ ปีชวด ที่บ้านหนองบัว ต.หนองบัว อ.เมือง จ.กาญจนบุรี บิดา-มารดาชื่อ นายโผ และนางแย้ม รัสสุวรรณ มีพี่น้องรวมกันทั้งหมด 7 คน

ถึงแม้จะเกิดมาในตระกูลชาวนา-ชาวไร่ มีอาชีพที่เรียกว่าหาเช้ากินค่ำ ต้องช่วยบิดามารดาหาเลี้ยงชีพตามวิสัยชาวชนบทในสมัยที่บ้านเรือนยังไม่เจริญรุ่งเรือง

แต่กระนั้น ก็ยังสามารถเสาะแสวงหาความรู้ ด้วยความเอาใจใส่กับวิชาที่เล่าเรียน จนสามารถอ่านออกเขียนได้ มีความเชี่ยวชาญชำนาญยิ่งทั้งภาษาไทย และภาษาขอม เป็นที่พึ่งแก่คนทั่วไป นับได้ว่าควรแก่การสรรเสริญ จากนั้นท่านจึงได้กลับมาช่วยเหลือบิดามารดาทำไร่ไถนา เป็นการแบ่งเบาภาระตามความจำเป็นในยุคนั้น

อายุย่าง 22 ปี เข้าพิธีอุปสมบทที่พัทธสีมาวัดศรีอุปลาราม (วัดหนองบัว) เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2440 มีเจ้าอธิการยิ้ม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสิงคิบุรณคณาจารย์ (คง ทองสุด) วัดเทวสังฆาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์อยู่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “สุวัณณโชติ”

อยู่จำพรรษาอยู่วัดศรีอุปลารามตลอดมา ครั้นมีพรรษาพอสมควร หลวงปู่ยิ้ม ผู้เป็นพระอุปัชฌาย์ มอบกิจการต่างๆ ให้ช่วยดูแล และเป็นพระกรรมวาจาจารย์สวดนาค

ระหว่างที่ท่านปรนนิบัติรับใช้พระอุปัชฌาย์และศึกษาวิทยาคมจากหลวงปู่ยิ้มจนหมดสิ้น

เป็นพระนอบน้อมถ่อมตน ไม่ชอบโอ้อวดว่าท่านมีดี ให้เกียรติและยกย่องพระอุปัชฌาย์และศิษย์รุ่นพี่ร่วมสำนักอยู่เสมอ

พ.ศ.2454 หลวงปู่ยิ้มถึงแก่มรณภาพลง พระครูวิสุทธิรังษี (เปลี่ยน อินทสโร) วัดชัยชุมพลชนะสงคราม เจ้าคณะจังหวัด พร้อมด้วยพระครูสิงคิบุรคราจารย์ (สุด) วัดเทวสังฆาราม รองเจ้าคณะจังหวัด ตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดหนองบัวสืบมา

 

ลําดับงานปกครอง

พ.ศ.2458 เป็นเจ้าคณะแขวงเมือง

พ.ศ.2473 เป็นพระอุปัชฌาย์

ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ.2461 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่พระครูนิวิฐสมาจาร

พ.ศ.2490 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2496 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระโสภณสมาจาร

มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2503

สิริอายุ 84 ปี พรรษา 63 •