ศึกเลือกตั้งชิงเก้าอี้เสาชิงช้า/ลึกแต่ไม่ลับ จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

 

ศึกเลือกตั้งชิงเก้าอี้เสาชิงช้า

 

ศึกเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” จำนวน 1 คน กับ “สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.)” เขตละ 1 คน จำนวน 50 คน จะมีขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ขณะนี้ถือว่าขยับเข้าใกล้โค้งสุดท้ายเต็มประดาแด เหลือเวลาอยู่ไม่ถึงเดือนแล้ว

หากวัดกระแสจากผลสำรวจของสำนักสื่อต่างๆ หรือที่ได้รับความนิยม และเครดิตดีที่สุดอย่าง “สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์” หรือ “นิด้าโพล” ที่ทำการสำรวจความเห็นประชาชนครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 เมษายน

เรื่อง “สนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.65 รอบที่ 1” ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 5-7 เมษายน จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสิทธิเลือกตั้งใน กทม.ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 50 เขต ว่า “จะเลือกใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.”

อันดับ 1 ยังนิ่งอยู่ที่ “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” (อิสระ) ร้อยละ 38.84 อันดับ 2 “ยังไม่ตัดสินใจ” ร้อยละ26.58 อันดับ 3 “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” (อิสระ) ร้อยละ 10.06 อันดับ 4 “นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” (พรรคประชาธิปัตย์) ร้อยละ 6.83

อันดับ 5 “นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร” (ก้าวไกล) ร้อยละ 6.02 อันดับ 6 ไม่เลือกใคร ร้อยละ 2.94 อันดับ 7 “นายสกลธี ภัททิยกุล” (อิสระ) ร้อยละ 2.28 อันดับ 8 จะไม่ไปลงคะแนนเลือกตั้ง อันดับ 9 “น.ส.รสนา โตสิตระกูล” (อิสระ) ร้อยละ 1.98 อันดับ 10 “น.ต.ศิธา ทิวารี” (ไทยสร้างไทย) ร้อยละ 0.94

ตัวเลขใกล้เคียงกับผลสำรวจของ “นิด้าโพล” หลายครั้งที่ทำมาก่อนนี้ หรือ “ครั้งที่ 11” กับคำถามที่ว่า “อยากได้ใครเป็นผู้ว่าฯ กทม.” ที่เปิดเผยสำรวจเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2565

“นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ครองแชมป์ ที่ร้อยละ 38.01 ยังไม่ตัดสินใจเลือกใคร ร้อยละ 13.40 “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ร้อยละ 11.73 “นายวิโรจน์” ร้อยละ 8.83 “นายสุชัชวีร์” ร้อยละ 8.61 ไม่เลือกใคร ร้อยละ 5.56 “น.ส.รสนา” ร้อยละ 3.73

ศึกเลือกตั้งชิงเก้าอี้เสาชิงช้าครั้งนี้ เชื่อกันว่า “คนกรุง” จะแห่ออกมาใช้สิทธิกันถล่มทลายมากกว่าทุกครั้ง เพราะอัดอั้นมายาวนาน อยากจะแสดงพลังเต็มแก่

หากเอาผลจาก “นิด้าโพล” หรือสื่อกระแสหลักอื่นๆ มาเป็นมาตรวัด “นายชัชชาติ” จะนอนมาแบบแบเบอร์ ยกเว้นช่วงโค้งสุดท้ายไปเดินเหยียบเปลือกกล้วย สะดุดขาตัวเองหกล้ม หรือใครไปขุดคุ้ยเจออะไรไม่ดีไม่งามขึ้นมา จนเป็นห้องเครื่องให้คะแนนนิยมลดลง ก็อย่าประมาท การเมืองมันลูกกลมๆ

แต่ถ้าประคองตัว ถีบๆ ถอยๆ ศึกนี้ก็ไม่มีอะไรหวือหวาน่าตื่นเต้น ถึงตอนนี้ “ชัชชาติ” มีความเสถียร คงเส้นคงวา รักษามาตรฐานตัวเองได้ดีอยู่ แต่เนื่องจากว่า ศึกเลือกตั้งคาบนี้ มีผู้สมัครระดับ “บิ๊กเนม” ลงชิงชัยกันคับคั่งเต็มสนาม มีการแยกขั้ว แบ่งข้าง ถือหาง อยู่ตรงกันข้ามชัดเจน ทำให้ฐานคะแนนแตกกันยุ่บยั่บ ตัดกันเองระหว่าง “สีเดียวกัน”

แม้ว่าคนกรุงเทพฯ จะอัดอั้น อยากเลือกตั้งมายาวนานแล้ว ต้องหลั่งไหลออกมาใช้สิทธิกันมากว่าครั้งก่อนๆ แต่ “ผู้ชนะที่ 1” มีการคำนวณแล้วว่า คะแนนเสียงจะได้รับเลือกตั้งไม่ถึง 1 ล้านเสียง ปริ่มๆ อยู่ที่ 8-9 แสนคะแนนโดยประมาณ

 

ศึกชิงเก้าอี้หมายเลข 1 เสาชิงช้า กรณียึดจากผลการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ มาวัดเรตติ้ง โดยเฉพาะครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2556 ปรากฏว่า “ประชาธิปัตย์” แชมป์เก่าผูกปียึดครองมาหลายสมัย แถม “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ทุบสถิติกระเจิง ได้รับเลือกตั้งสมัยที่ 2 ด้วยคะแนน 1,256,349 เสียง เสียงท่วมท้นอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

แต่สถิติมีไว้เพื่อทำลาย “ประชาธิปัตย์” เป็นขวัญใจคนกรุง มีผู้สมัครของพรรคผูกปีได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.มาหลายยุคหลายสมัย ตั้งแต่ “ธรรมนูญ เทียนเงิน-พิจิตต รัตตกุล-อภิรักษ์ โกษะโยธิน-ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” 2 รายหลังคนละ 2 สมัย

แต่กับศึกเลือกตั้งในวันที่ 22 พฤษภาคม ประชาธิปัตย์ส่ง “สุชัชวีร์” เป็นตัวแทนลงป้องกันแชมป์ แต่นับตั้งแต่วันเปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 31 มีนาคมเป็นต้นมา ทุกโพลที่ทำการสำรวจ ไม่เคยกระโดดขึ้นมาเป็นผู้นำเลย แถม “ทัวร์ลง” มาตลอดระยะ

ครั้งแรกปากพาจนเรื่องหลาน “อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์” อัจฉริยะด้านวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลก พอเรื่องเริ่มจาง กระแสทำท่ากระเตื้องขึ้นมาได้บ้าง จู่ๆ งูเห่าเข้าบ้านอีก กับประเด็น “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” ทั้งพรรคประชาธิปัตย์-ดร.เอ้ โดนหนัก แรงมากราวกับคลื่นยักษ์ถล่ม กวาดทุกสิ่งทุกอย่างหายวับ

การนำศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.เมื่อ 9 ปีที่แล้วมาเป็นกระจก คูณคำนวณ อาจจะมี “ระยะห่าง” คนละยุคสมัย ไกลเกินไป นำผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ครั้งล่าสุด มาเป็นต้นตำรับ

ปรากฏว่า สนามเลือกตั้ง กทม.ซึ่งมีการแบ่งเขตเลือกตั้ง มี ส.ส.จำนวน 30 ที่นั่ง เกิดพลิกล็อกวินาศสันตะโรมากเช่นเดียวกัน เพราะแชมป์เก่าเมื่อปี 2554 ได้แก่พรรคประชาธิปัตย์เกิดเกมโอเวอร์ รับประทานไข่ในสนามเมืองหลวงครั้งแรก ไม่ได้รับเลือกตั้งเลยแม้แต่ที่นั่งเดียว

ส.ส.สนาม กทม.หยิบชิ้นปลามัน แชร์กัน 3 พรรค ได้แก่ “พลังประชารัฐ” 12 ที่นั่ง “เพื่อไทย” 9 ที่นั่ง กับ “อนาคตใหม่” 9 ที่นั่ง โดยที่ฐานที่มั่นของประชาธิปัตย์เดิมคือ กทม.ชั้นใน ถูกยักย้ายถ่ายเท เปลี่ยนมือตกไปเป็นของ “พลังประชารัฐ” ที่ชู “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี ยึดหัวหาดไปทั้งหมด โดย “เพื่อไทย-อนาคตใหม่” ยึดพื้นที่รอบนอก

สำหรับศึกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่จะระเบิดขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2 พรรคใหญ่ ทั้ง “พลังประชารัฐ-เพื่อไทย” มาตามนัดไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ส่งเพียงสมาชิกภา กทม.หรือ ส.ก. ลงชิงชัย มีเพียง “อนาคตใหม่” ที่มาใช้ชื่อ “ก้าวไกล” ส่งผู้สมัครทั้งผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก.

“นิด้าโพล” ครั้งล่าสุด สร้างเนื้อนาบุญให้กับผู้สมัครบางคนมาก เพราะเป็นเหตุและปัจจัยให้ “กลุ่มทุน-ผู้สนับสนุนมือเติบ” นำมาเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจว่าช่วยเบอร์ไหน หมายเลขใด ได้เด็ดขาด ไม่ต้องกึ๊กๆ กั๊กๆ