‘พระบาง’ เสี้ยวศตวรรษ ณ กรุงสยาม (1) / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

‘พระบาง’ เสี้ยวศตวรรษ ณ กรุงสยาม (1)

 

เมื่อรวมระยะเวลาที่พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืององค์สำคัญจากประเทศลาวชื่อ “พระบาง” เคยประดิษฐานในสยามประเทศเป็นช่วงเวลาสั้นๆ สองครั้งแล้ว นับได้ 25 ปี

ครั้งแรกเป็นเวลา 6 ปี คือตอนปลายสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี จากนั้นได้มีการส่งพระบางกลับคืนสู่ลาว สมัยรัชกาลที่ 1 และครั้งที่สอง ได้อัญเชิญพระบางมาประทับที่กรุงเทพฯ อีก 19 ปี ในสมัยรัชกาลที่ 3 กระทั่งส่งคืนกลับอีกรอบสมัยรัชกาลที่ 4

สิริรวมเวลาทั้งหมดที่พระบางเคยประดิษฐานในกรุงรัตนโกสินทร์ช่วงสั้นๆ ทั้งสองครั้งนี้ รวมแล้ว 25 ปี จึงขอเรียกโดยรวมว่า “เสี้ยวศตวรรษ”

บทความในตอนแรกนี้ จักขอกล่าวถึงมูลเหตุแห่งการส่ง “พระบาง” กลับคืนสู่ลาวแบบไม่ลังเลหรือรีรอใดๆ เลยก่อน ตอนต่อไป จักค่อยๆ ไขปริศนาย้อนกลับไปสู่ปูมหลังของ “พระบาง” ที่เต็มไปด้วยปาฏิหาริย์ ข้อมูลที่ขัดแย้งกันระหว่างเนื้อหาในตำนาน งานพุทธศิลป์ กับความน่าจะเป็น

 

อัญเชิญพระบางเจ้าสู่กรุงธนบุรี

จากหนังสือ พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่อง “จดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี” ได้กล่าวถึงพระพุทธรูป “พระบางเจ้า” ไว้ตอนหนึ่งความว่า

“เจ้าฟ้ากษัตริย์ศึกเข้าเมืองได้ ณ วัน 2 3/ฯ 10 ค่ำ เจ้าเมืองหนี ได้พระแก้วพระบาง”

อธิบายความตอนนี้ประกอบกับข้อมูลจากเอกสารอื่นๆ ได้ว่า ในปี 2321 กองทัพของเจ้าพระยากษัตริย์ศึก (ต่อมาคือรัชกาลที่ 1) แม่ทัพเอกในช่วงปลายรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้ขึ้นไปตีนครเวียงจันท์ (ขอใช้ “จันท์” แทน “จันทร์” หรือ “จันทน์” เนื่องจากศัพท์ภาษาบาลีของเมืองนี้คือ “จันทบุรี”)

ช่วงนั้นผู้ครองนครเวียงจันท์ ชื่อ “เจ้าบุญสาร” หลบหนีไปได้ เจ้าพระยากษัตริย์ศึกจึงอัญเชิญพระพุทธปฏิมากรพระแก้วมรกตและพระบางมาสู่กรุงธนบุรี

เมื่อความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เสด็จขึ้นไปรับพระแก้วมรกตที่กรุงเก่าโดยขบวนเรือพระที่นั่ง ทรงพระแก้วมรกตลำหนึ่ง พร้อมด้วยขบวนเรือทั้งปวงถึง 115 ลำ นำพระแก้วมรกตมาประดิษฐานที่กรุงธนบุรี และมีการสมโภชพระแก้วมรกตเป็นงานใหญ่

น่าแปลกทีเดียว ที่ไม่มีการกล่าวถึง “พระบาง” บ้างเลย ว่าให้ประทับอยู่ในเรือลำไหน และนำพระพุทธรูปองค์นี้ไปประดิษฐานไว้ที่วัดใด แห่งหนไหน?

 

พระบางเจ้า คืนสู่เวียงจันท์ครั้งที่ 1

เหตุที่ “ผี” รักษา “พระ” เป็นอริกัน

มาทราบเรื่องราวของ “พระบาง” อีกที ก็พบว่ากำลังจะถูกส่งกลับคืนเมืองลาวเสียแล้ว จากเอกสารพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่อง “ตำนานพระพุทธรูปสำคัญ”

กล่าวถึงเหตุการณ์ในปี 2327 ช่วงที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 กำลังโปรดให้อัญเชิญพระแก้วมรกตมาประดิษฐาน ณ อุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ช่วงนั้น “เจ้านันทเสน” โอรสของเจ้าสิริบุญสาร ได้ครองนครเวียงจันท์แทนบิดาได้ลงมาเข้าเฝ้าปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ช่วงผลัดเปลี่ยนแผ่นดิน จึงถือโอกาสกราบบังคมทูลว่า

“ผี ซึ่งรักษาพระแก้วมรกต กับผี ซึ่งรักษาพระบางเป็นอริกัน! พระพุทธรูปสองพระองค์นั้นอยู่ในที่ใด มักมีเหตุอันตราย”

จากนั้น เจ้านันทเสนได้อ้างอุทาหรณ์เหตุการณ์ในอดีตว่า เมื่อครั้งพระแก้วมรกตประดิษฐานที่เชียงใหม่ พระบางก็อยู่ที่หลวงพระบาง ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างมีความสุข

ครั้นเมื่อพระไชยเชษฐาอัญเชิญพระแก้วมรกตมาประทับที่หลวงพระบาง จากนั้นก็เกิดเรื่องเลวร้ายตามมา นั่นคือ “เชียงใหม่เป็นขบถต่อกรุงศรีสตนาคนหุต?” ตามด้วยพวกพม่าเข้ามาเบียดเบียน จนต้องย้ายราชธานีลงมาตั้งที่นครเวียงจันท์

หลังจากย้ายเมืองแล้ว จำเป็นต้องอัญเชิญพระสำคัญทั้งสององค์มาตั้งไว้ที่ราชธานีแห่งใหม่ด้วย ปรากฏว่าบ้านเมืองตกต่ำย่ำแย่ ต้องเสียหายตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงธนบุรีอีก

ครั้นกรุงธนบุรีอัญเชิญพระแก้วมรกตกับพระบางมาอยู่ด้วยกันในราชธานี ก็เกิดเหตุการณ์จลาจลในช่วงปลายรัชสมัย ต้องเสียราชวงศ์ให้แก่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกอีก

เจ้านันทเสนได้กราบทูลต่อรัชกาลที่ 1 ว่า “ขออย่าให้ทรงประดิษฐานพระบางกับพระแก้วมรกตไว้ด้วยกันเลย”

ก่อนที่จะเฉลยว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงตัดสินพระทัยประการใด ขอหยุดพินิจถ้อยคำชวนสะดุดของเจ้านันทเสนในประเด็นที่กล่าวหาว่า “เชียงใหม่ก่อกบฏต่อศรีสตนาคนหุต” เสียหน่อยก่อนที่จะข้ามไปประเด็นอื่น

เหตุไรในมุมมองของฝ่ายล้านช้าง ช่วงราว พ.ศ.2100 จึงเห็นว่า “เชียงใหม่เป็นส่วนหนึ่งของหลวงพระบาง”? ทั้งที่ขณะนั้นอาณาจักรล้านนาและล้านช้างต่างเป็นอิสระต่อกัน

เพียงแค่ช่วงสั้นๆ ช่วงหนึ่งที่แผ่นดินล้านนาว่างกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์กลุ่มหนึ่งจึงตัดสินใจอัญเชิญ “พระไชยเชษฐาธิราช” (ผู้มีพระมารดาเป็นธิดากษัตริย์ล้านนา แต่ไปเสกสมรสกับพระเจ้าโพธิสาลราช กษัตริย์ล้านช้าง) ให้มาครองราชย์ในเมืองเชียงใหม่ ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของเชื้อพระวงศ์กลุ่มอื่นๆ อีกหลายก๊กก๊วน

พระไชยเชษฐาครองเชียงใหม่ได้เพียง 2 ปี ก็ต้องกลับไปครองหลวงพระบาง ทั้งแรงบีบภายในเชียงใหม่เอง และทั้งเหตุที่พระราชบิดาสวรรคต

หากฝ่ายล้านช้างจักอ้างสิทธิ์ความเป็น “กษัตริย์สองแผ่นดิน” ของพระไชยเชษฐา และมองว่าล้านนาเป็นส่วนหนึ่งของล้านช้างนั้น คงไม่น่าที่จะกระทำได้

เหตุเพราะหลังจากที่พระไชยเชษฐากลับไปแล้ว ชาวเชียงใหม่ถือว่าพระองค์ทรงสละสิทธิ์ ช่วงที่บัลลังก์เชียงใหม่ว่าง เชื้อพระวงศ์อีกฝ่ายหนึ่งได้รีบอัญเชิญพระเมกุฏิขึ้นเป็นกษัตริย์แทนแล้ว จะมาถือว่าการที่เชียงใหม่มีกษัตริย์พระองค์ใหม่ครั้งนี้เป็นการก่อกบฏต่อศรีสัตนาคนหุต ย่อมไม่อาจเคลมเช่นนั้นได้

ขอกลับมาประเด็นของเจ้านันทเสนต่อ ว่าท่านเอาความเชื่อเรื่อง “ผีของพระบาง-พระแก้วไม่ถูกกัน” นี้มาจากไหน เป็นเรื่องที่คนลาวเล่าลือกัน หรือเป็น “ไหวพริบ” อันชาญฉลาด ที่เจ้านันทเสนคิดอย่างฉับพลันทันด่วน พยายามชักแม่น้ำทั้งห้ามาเจรจาหว่านล้อมให้รัชกาลที่ 1 ประหวั่นพรั่นพรึง จึงต้องประทานพระบางคืนให้เมืองลาว?

ผลลัพธ์คือ รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชดำริว่า

“พระบางก็ไม่ใช่พระพุทธรูปซึ่งมีลักษณะงาม เป็นแต่พวกชาวศรีสตนาคนหุตนับถือกัน”

จากนั้นก็โปรดส่งพระบางคืนไปไว้ที่เวียงจันท์

ต่อกรณีของความเชื่อเรื่องการนำ “พระศักดิ์สิทธิ์” สององค์มาอยู่คู่ในเมืองเดียวกันแล้ว อาจเกิดการ “ข่มกัน” นั้น หาได้มีเพียงแค่เรื่องที่เจ้านันทเสนเล่าให้ฟังถึงแค่ “พระแก้วมรกตกับพระบาง” เท่านั้นไม่ ทว่า ยังปรากฏเรื่องราวทำนองเดียวกันนี้อยู่ในคัมภีร์ใบลานเรื่อง “พุทธจารีต” ฉบับล้านนา

ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร กวี และนักภาษาโบราณ เป็นผู้ปริวรรตถอดความคัมภีร์ฉบับดังกล่าว ที่มีต้นฉบับไมโครฟิล์มอยู่ที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในผูกที่ 1 บรรทัดที่ 7 มีความว่า

“เมืองใด หากเอาพระหินไว้คู่กับพระแก้ว เมืองนั้นจะพิบัติ เมืองใดหากเอาพระแก้วคู่กันสององค์ก็พินาศเช่นกันแล”

ตอนที่อ้ายไพฑูรย์อ่านท่อนนี้ให้ดิฉันฟัง เราต่างมองหน้ากันแบบรู้คำตอบโดยนัย ต่างคนพลางตั้งคำถามในใจว่า

“ด้วยเหตุนี้หรือไม่ ที่ชาวเชียงใหม่ตัดสินใจขอคืนแค่พระแก้วขาวเสตังคมณีจากล้านช้างกลับมาเพียงองค์เดียว ไม่ขอคืนพระแก้วมรกตกลับคืนมาด้วย เมื่อมองย้อนกลับไปนับแต่เชียงใหม่รับพระแก้วมรกตมาจากลำปางแล้ว ก็มีแต่ศึกสงครามตลอดรัชกาลของพระเจ้าติโลกราชไม่หยุดไม่หย่อน จนกระทั่งเสียกรุงให้พม่า?”

 

ตกลงพระบางไม่งามจริงหรือ?

ฤๅไม่เชื่ออย่าลบหลู่

การส่งคืนพระบางกลับสู่เมืองลาวของรัชกาลที่ 1 นั้น ไม่ได้อธิบายไว้ตรงๆ ว่าทรงกลัวอาถรรพ์ของ “ผีอารักษ์” พระพุทธรูปสององค์จะแผลงฤทธิ์

แต่กลับอธิบายด้วยเหตุผลที่ว่า “เป็นงานช่างฝีมือที่ไม่สู้งาม” แนวคิดนี้ได้รับการสำทับซ้ำอีกครั้งใน “สาส์นสมเด็จ” พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ฉบับวันที่ 15 มิถุนายน 2482

“ผู้ที่เคยเห็นพระบาง เขาบอกว่าลักษณะเทอะทะ ไม่น่าชมเลย”

“เป็นพระพุทธรูปขอมสร้าง พวกลานช้างได้ไปไว้คราวหนึ่ง แล้วจะต้องส่งคืนให้ขอม อัญเชิญลงเรือล่องตามแม่น้ำโขงลงไปถึงกลางทาง เรือล่ม พระบางจมหายไป แต่กระทำปาฏิหาริย์กลับมาอยู่ที่เดิม เป็นเหตุให้ผู้คนนับถือลือเลื่องมาแต่นั้น”

ในทัศนะของ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมองว่าการที่พระบางเป็นที่เคารพนับถืออย่างกว้างขวางนั้น เหตุเพราะถึงแม้เคยจมน้ำแต่มีปาฏิหาริย์สามารถกลับมาเองได้

อย่างไรก็ดี ประเด็นเรื่องที่พระบางเคยจมน้ำนี้ น่าจะทำให้สมเด็จในกรมทรงเคลือบแคลงสงสัยอยู่สองประเด็นเกี่ยวกับพระพุทธปฏิมาองค์นี้

หนึ่ง การจมน้ำอาจถูกกระแทก กะเทาะ กร่อนสึก ทำให้ความวิจิตรงดงามหายไป

สอง ดีไม่ดี องค์ที่กราบไหว้กันอยู่ทุกวันนี้ในหลวงพระบางอาจไม่ใช่องค์ดั้งเดิม เพราะเคยจมน้ำไปแล้ว ถ้าหากหาไม่เจอ ก็น่าจะมีการหล่อขึ้นมาใหม่ แล้วช่างฝีมือในชั้นหลังนั้น “ฝีมือไม่ถึง”

“ใครๆ ที่ได้เคยเห็นพระบางเคยบอกหม่อมฉันเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่งามเลย แต่แรกหม่อมฉันนึกสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ทำพระเป็นศรีเมืองให้งดงาม ต่อ (เมื่อได้) อ่านพงศาวดารลานช้างจึงรู้เหตุ ในหนังสือนั้นว่า เรือล่ม พระบางจมหายน้ำหายไป… ที่แท้ พระบางองค์นี้เป็นแต่พระแทนองค์พระบางเดิมเท่านั้น”

ตอนหน้า จักได้กล่าวถึงการอัญเชิญพระบางจากเวียงจันท์กลับมายังสยามอีกครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

แต่ก็อีกนั่นแหละ อัญเชิญมาแล้ว ก็ยังเกรงกลัวอาถรรพ์เรื่อง “ผีอารักษ์ของพระบาง-พระแก้วมรกตไม่ถูกกัน” จึงไม่ยอมให้พระบางประดิษฐานในพระนครหลวงอย่างสมศักดิ์ศรี แต่กลับเอาไว้ที่เมืองรอบนอก •