อาชญากรรมสงคราม-การเมือง/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

อาชญากรรมสงคราม-การเมือง

 

สงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อมากว่า 1 เดือนแล้ว จากเดิมทีกองทัพรัสเซียอันยิ่งใหญ่เกรียงไกร ประเมินว่าจะใช้เวลาแค่ 3 วันคงสามารถยึดกรุงเคียฟ ประกาศชัยชนะได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เพราะทหารยูเครนและประชาชนที่เขาร่วมปกป้องประเทศชาติ สู้กันสุดใจ

กระนั้นก็ตาม ขึ้นชื่อว่าสงคราม ย่อมนำมาซึ่งความสูญเสียทุกอย่าง ชีวิตเลือดเนื้อผู้คน เมืองต่างๆ พังพินาศไปหมด ที่ไม่เสียชีวิตก็ต้องอพยพหลบหนีทิ้งบ้านเกิดเมืองนอน

อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ที่ช็อกคนไปทั้งโลก ในหลายๆ เมืองที่ทหารยูเครนสามารถรุกเข้ายึดคืนมาได้ หรือเมืองที่ทหารรัสเซียถอยออกไป

นักข่าวสงครามของสำนักข่าวใหญ่ๆ ได้บันทึกภาพน่าสลดใจออกเผยแพร่ เป็นการพบศพประชาชนถูกยิงทิ้งเป็นจำนวนมาก ทั้งกองอยู่ในหลุมขนาดใหญ่ กระทั่งนอนตายกลางถนน

เช่น เมืองบูชา ใกล้กับกรุงเคียฟ พบศพพลเรือนหลายสิบศพถูกทิ้งไว้ตามท้องถนน บางศพถูกมัดมือไพล่หลัง ถูกจ่อยิงที่ท้ายทอย

ยูเครนนำภาพหลักฐานออกมาป่าวประจาน เรียกร้องให้ดำเนินคดีกับรัสเซียที่เข่นฆ่าพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ขณะที่ฝ่ายรัสเซียโต้ว่า เป็นการจัดฉากของยูเครนเพื่อใส่ร้ายป้ายสี

กรณีปฏิบัติการทางทหารที่ผิดพลาด ยิงถล่มมั่วไปยังเขตที่อยู่อาศัยของประชาชน ถล่มโรงพยาบาลที่มีผู้คนรักษาพยาบาลอยู่ บอมบ์ใส่โรงเรียนหรือทำร้ายเด็ก ต่างๆ เหล่านี้ ถือเป็นปฏิบัติการที่โลกป่าวประณามอย่างหนักอยู่แล้ว

ทำให้ผู้ก่อสงครามนั้น ขาดความชอบธรรม เป็นสงครามที่จะถูกต่อต้าน โดนคว่ำบาตร โดนบอยคอตในทุกๆ ด้าน

ถ้าเป็นกรณีจงใจเข่นฆ่าพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นอีก ดังภาพโหดร้ายที่เมืองบูชา และอีกหลายๆ ที่

ไปๆ มาๆ สงครามที่รัสเซียก่อครั้งนี้ กำลังจะเข้าข่ายอาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ!!

ถ้ามีการสอบสวนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีพยานหลักฐานชัดเจนแน่นหนา คดีอาจจะนำไปสู่การขึ้นศาลโลก หรือศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ได้

โดยเหตุการณ์ที่เมืองบูชานั้น มีคณะกรรมาธิการยุโรป พร้อมด้วยหน่วยสอบสวน ทีมอัยการคดีอาชญากรรมสงคราม พร้อมผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช เดินทางไปดูเหตุการณ์จริง เริ่มลงมือตรวจสอบและสอบสวน ก่อนนำเสนอสหภาพยุโรปหรืออียู เพื่อให้มีมติสนับสนุนการสอบสวนอาชญากรรมสงครามในยูเครน เพื่อผลักดันให้คดีเข้าสู่ศาลโลกต่อไป

สงครามรัสเซีย-ยูเครน กับประเด็นคดีอาชญากรรมสงคราม จึงน่าจับตามองอย่างยิ่ง

 

ศาลอาญาระหว่างประเทศหรือที่เรียกกันว่าศาลโลก กำหนดขอบเขตดำเนินคดีผู้กระทำความผิดอาญาระหว่างประเทศ 4 กรณี ได้แก่ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน

เท่ากับว่า หากเป็นการก่อคดีร้ายแรงฆ่าหมู่ผู้คนมากมายมหาศาล แล้วไม่สามารถจะนำคดีขึ้นสู่ศาลภายในประเทศได้ ก็จะเข้าข่ายนำขึ้นสู่ศาลโลก แต่ก็มีรายละเอียดอื่นๆ เช่น รัฐต้องลงไปลงนามเป็นสมาชิก ลงนามในสัตยาบัน

กรณีสงครามรัสเซีย-ยูเครน เมื่อมีการพบประเด็นฆ่าหมู่พลเรือน จึงน่าจับตามองว่า จะมีพยานหลักฐานชัดเจน จนถึงขั้นผลักดันให้ศาลอาญาระหว่างประเทศเข้ามาไต่สวนดำเนินคดีหรือไม่

ขณะเดียวกัน สื่อต่างประเทศยังเปิดคำสัมภาษณ์ของอดีตอัยการอาชญากรรมสงครามชื่อดัง ที่มีผลงานสอบสวนคดีอาชญากรรมสงครามในหลายประเทศ ได้ออกมาเรียกร้องให้ศาลอาญาระหว่างประเทศ รีบออกหมายจับประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียจากการกระทำในยูเครน เป็นการด่วน

โดยระบุด้วยว่า จากประสบการณ์ส่วนตัว เชื่อว่าพฤติกรรมของรัสเซียในยูเครนนั้น ทำให้ปูตินไม่รอดข้อหานี้แน่ๆ

และแม้ว่าหมายจับไม่จำเป็นต้องหมายความว่า ปูตินจะถูกดำเนินคดี ถ้าเขายังอยู่ในรัสเซียก็ไม่ถูกดำเนินคดี แต่เขาจะออกนอกประเทศไม่ได้อีกเลย และนั่นคือสัญญาณอันแข็งแกร่งว่า มีหลายรัฐไม่เอาเขาŽ

ดูแล้ว กระแสเอาผิดผู้นำรัสเซีย ในคดีอาชญากรรมสงคราม เริ่มจะมาแรงมากขึ้น

บังเอิญในไทยเรา ช่วงเดือนเมษายน เป็นช่วงรำลึกเหตุการณ์ปราบเสื้อแดง 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งมีประชาชนถูกยิงด้วยกระสุนจริงกลางเมืองหลวง ตายไปถึง 99 ศพ

จนบัดนี้ ยังไม่สามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลในประเทศได้

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ได้มีการเปิดไต่สวนชันสูตรศพ และศาลได้ชี้ผลไต่สวนออกมาแล้ว 17 ศพว่าถูกยิงด้วยปืนจากทหารหรือจากฝั่งทหาร ที่ปฏิบัติการภายใต้คำสั่ง ศอฉ.

ผลไต่สวน 17 รายนี้ จะต้องนำไปสู่การพิจารณาคดีในศาลอาญา แต่จนบัดนี้ยังไม่สามารถนำคดีขึ้นศาลได้

จนทำให้เคยมีความพยายามจะผลักดันคดี 99 ศพ ไปสู่ศาลอาญาระหว่างประเทศหรือศาลโลก

เพราะเป็นการสังหารหมู่ประชาชน ที่ประท้วงทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตยตายร่วมร้อยศพ!

 

หลังเหตุการณ์ปราบเสื้อแดง 99 ศพ ผ่านไปไม่นานนัก เป็นที่รู้กันว่า เมื่อกระบวนการปราบปรามเกี่ยวข้องกับผู้นำกองทัพ ย่อมเป็นเรื่องยากที่จะหวังพึ่งกระบวนการยุติธรรมในไทยได้ จึงเริ่มปรากฏข่าว การผลักดันคดีฆ่าประชาชนกลางเมืองกรุงเทพฯ ไปสู่ศาลโลก

โดยนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความจากสำนักงานทนายความอัมสเตอร์ดัม แอนด์ เปรอฟ ได้รับการจ้างว่าจ้างจากทักษิณ ชินวัตร ให้ช่วยเหลือทางคดีแก่กลุ่ม นปช. ได้เคลื่อนไหวรวบรวมพยานหลักฐานในเหตุการณ์นี้ เพื่อยื่นคำร้องต่ออัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ พร้อมกับเรียกร้องผ่านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอีกทาง

แต่ความพยายามเหล่านี้ก็ติดอุปสรรคสำคัญคือ รัฐบาลไทยยังไม่ให้สัตยาบันเข้าร่วมเป็นภาคีกับศาลอาญาระหว่างประเทศ

คดี 99 ศพ จึงไม่ไปถึงศาลโลกเสียที

แต่ในขณะเดียวกัน ความพยายามในระบบยุติธรรมไทย ก็บรรลุไปในระดับหนึ่ง

โดยเหตุการณ์ 99 ศพ ปี 2553 เกิดขึ้นในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ-สุเทพ เทือกสุบรรณ และกองทัพในยุค พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ต่อมาการเลือกตั้งในปี 2554 ซึ่งพรรคเพื่อไทยชนะถล่มทลาย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จึงเริ่มกระบวนการไต่สวนชันสูตรศพผู้เสียชีวิต

จนศาลได้ชี้ผลไต่สวนไปส่วนหนึ่ง โดยชี้ว่ามี 17 ศพที่ตายด้วยกระสุนปืนจากทหาร ขั้นตอนจากนั้นคือนำคดีที่ศาลชขี้ผลไต่สวนแล้ว ขึ้นสู่ศาลอาญา

แต่แล้วในปี 2556 เกิดม็อบนำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยืดเยื้อไปถึงปี 2557

แม้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์จะยอมถอยทุกด้าน เช่น ปล่อยให้กฎหมายนิรโทษกรรมที่เป็นชนวน ตกไปจากสภา และยอมยุบสภา เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่

แต่ม็อบที่นำโดยนายสุเทพอ้างต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่ยอมให้เลือกตั้ง ขัดขวางเลือกตั้ง จนบ้านเมืองเข้าสู่ทางตัน และ พล.อ.ประยุทธ์ก็นำทหารออกมายึดอำนาจ

จากนั้นสำนวนคดี 99 ศพ ที่จะต้องนำขึ้นไต่สวนชันสูตรศพรายต่อๆ มาก็เป็นอันล้มพับไป

ส่วนคดีที่ศาลชี้ผลไต่สวนแล้วว่าตายด้วยปืนจากทหาร ก็ไม่สามารถนำขึ้นศาลอาญาได้ คดีจึงชะงักงันไปทั้งหมด

แต่การเคลื่อนไหวเพื่อรำลึกคนตาย 99 ศพ ไม่เคยเงียบหาย เสียงเรียกร้องความเป็นธรรมให้คนตายยังเกิดขึ้นไม่สิ้นสุด

พร้อมกับคำถามว่า ม็อบนกหวีดและการรัฐประหารเมื่อปี 2557 มีผลให้คดี 99 ศพหยุดไปใช่หรือไม่!?