E-DUANG : ไม่อยากเป็น ไม่อยากมี “ศรีธนญชัย”

แม้ว่ากระบวนการ “ไม่อยากเป็น ไม่อยากมี” จะออกมาจากปากช่างจำนรรจาของ “ศรีธนญชัย”

แต่ทรงพลานุภาพอย่างยิ่งในสังคมไทย

เพราะในระยะหลังกลายเป็น “กลยุทธ์” สำคัญในการเปิดกระบวนท่า “ลับ ลวง พราง”

ก่อให้อีกฝ่ายเกิด “ตายใจ”

ตายใจว่าไม่มีความทะเยอทะยาน ตายใจว่าไม่มีความต้อง การตำแหน่ง

พลันที่ “ตายใจ” ก็เป็น “โอกาส”

ทาง 1 เป็นโอกาสในการอำพราง ขณะเดียวกัน ทาง 1 เป็นโอกาสในการสะสมกำลัง สร้างความชอบธรรม

ขอให้ดูกรณีของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

 

หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2490 พ.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง

จากกรมทหารราบที่ 1 รอ.ไปสู่กองพลที่ 1 รอ.

แสดงความสามารถในการปราบ “กบฎวังหลัง” ตัดสินใจยิงปืนใหญ่เข้าไปยังประตูวังอย่างเฉียบขาด

ความโดดเด่นสร้างความระแวงให้บังเกิดขึ้น

แต่เมื่อ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เห็นภาพความเมาของ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในงานแต่งงานก็เริ่มวางใจ

ยิ่งเมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยืนยันในปี 2500

“หากผมวัดรอยเท้าท่าน ผมก็หมา” ยิ่งสร้างความไว้วางใจให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม

แต่เมื่อถึงเดือนกันยายน 2500 ก็เรียบโร้ย

 

กลยุทธ์ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือ การสร้างภาพ “หลอก” ว่าเป็นนายทหารขี้เมา ไม่ทะเยอทะยานทางการเมือง

ยิ่งลั่นคำ “ไม่วัดรอยเท้า” ยิ่งจำหลัก หนักแน่น

ผลก็คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ประมาท มึนชา และเปิดโอกาสให้ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สร้างคะแนนความนิยมและสะสมกำลังอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้ล้วนมีพื้นฐานมาจากกระบวนท่าของ”ศรีธนญชัย”ที่ว่า ไม่อยากเป็น ไม่อยากมี

ฉะนั้น ใครที่พูดว่า “ผมพอแล้ว” ขอให้ระวังให้จงหนัก

ใครที่รำพันว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน” ก็อาจจะ “อยู่ยาว” และนาน