ยุติธรรม ในบรรยากาศที่ขมุกขมัว/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

ยุติธรรม

ในบรรยากาศที่ขมุกขมัว

 

โลกกฎหมายยังคงถกเถียงกันไม่จบระหว่างจุดแข็งจุดอ่อนของ “คอมมอนลอว์” กับ “ซีวิลลอว์” ทั้งที่ความจริงแล้วทั้งสองระบบมีดี มีเสีย มีความเหมาะและไม่เหมาะกับสภาวะแวดล้อมและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน

“คอมมอนลอว์” ช่ำชองแนวทำนองปฏิบัติที่ยึดถือกันผ่านๆ มาเป็นหลัก ส่วน “ซีวิลลอว์” เคร่งครัดข้อบัญญัติอันเป็นลายลักษณ์ บันทึกชัดป้องกันการเฉไฉบิดเบือนของ “ผู้บังคับใช้กฎหมาย”

แต่พฤติการณ์มนุษย์นั้นเป็นสากล พอรู้เดียงสาก็จะเริ่มยึดมั่นถือมั่นในอัตตา มีความอยากความต้องการ จากแรงจูงใจฝักใฝ่กลายเป็นไขว่คว้า จากมุ่งมั่นแสวงหาความสำเร็จกลายเป็นตะเกียกตะกายมักได้ใคร่อยาก อยากมีอยากเป็นอยากเด่นจนกลายเป็นฉกฉวย ช่วงชิง จนถึงขั้นทำลาย ถ้าไม่มี “กฎหมาย” ก็จะนำไปสู่ความไร้ระเบียบ

ระบบกฎหมายทั้งคอมมอนลอว์และซีวิลลอว์ประสงค์จะควบคุมพฤติการณ์ของมนุษย์กับจะเป็นหลักประกันว่ากฎหมายจะไม่ถูกใช้โดยอัตวิสัย หากแต่มีความชัดเจนแน่นอน และเสมอกันหน้ากัน จะต่างกันก็แค่ คอมมอนลอว์ ไม่บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร หากแต่ดำรงอยู่ในคำวินิจฉัยของศาลที่ผ่านมา การเบียดบังก็คือเบียดบัง จะมาตีความข้างๆ คูๆ เอาตามใจชอบไม่ได้ เคยวินิจฉัยว่าทุจริต ถ้าพฤติการณ์เหมือนกัน ถึงแม้จะเป็น “ใบหน้า” ของประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ก็คือทุจริต มีความผิดเหมือนกัน

กล่าวกันว่า “ซีวิลลอว์” เป็นระบบที่เกิดขึ้นเพื่อ “ลดโอกาส” ความไม่ชัดเจนแน่นอนของกฎหมาย จึงได้บัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรให้ดิ้นได้ยาก

แต่ในที่สุดก็ดิ้นได้ด้วยพฤติการณ์ของมนุษย์

บ่อยทีเดียวที่การตีความกลายเป็นการเฉไฉ บิดเบือน เอาสีข้างเข้าถู หนักๆ เข้า “นักตีความ” ก็ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือตอบสนองความต้องการของผู้มีอำนาจ ตีความให้เป็นโทษแก่ฝ่ายตรงข้าม กับตีความให้เป็นคุณแก่พรรคพวกบริวาร

“ความยุติธรรม” จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับระบบกฎหมายแต่ขึ้นอยู่กับ “ความหนา-บาง” ของยางอาย!

 

ศาลยุติธรรมเป็น “ที่พึ่งสุดท้าย” ในการบังคับใช้กฎหมาย

เมื่อต้นปี 2539 มีคดีตัวอย่าง

ศาลแห่งแคลิฟอร์เนียมีหนังสือขอความร่วมมือให้ไทยส่งตัวนายทนง ศิริปรีชาพงศ์ หรือ ป.เป็ด เป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปดำเนินคดีที่สหรัฐอเมริกาด้วยข้อหา 1.ทำธุรกิจผิดกฎหมายติดต่อกันหลายปี 2.ลักลอบขนกัญชาเข้าสหรัฐ และ 3.วางแผนร่วมมือกันขนกัญชาเข้าสหรัฐ

นายทนงถูกส่งตัวไปขึ้นศาลแขวงนครซานฟรานซิสโก

ถูกจำคุกระหว่างสู้คดีอยู่ราว 3 ปี จนวันหนึ่งเมื่อนายทนงถูกนำตัวไปศาล นางแคเรน สเนล ทนายความแจ้งต่อผู้พิพากษาว่า อัยการเสนอเงื่อนไขให้จำเลยรับสารภาพแล้วจะได้รับการปล่อยตัวแลกกับการยกฟ้องข้อหาอื่นๆ

ถ้าสู้- มีแนวโน้มจะชนะ เพราะข้อเท็จจริงคดีพบว่านายแฟรงก์ เกอร์วาซิโอ สายสืบพิเศษของหน่วยศุลกากรสหรัฐ “พยานปากสำคัญเพียงคนเดียว” ติดสินบนให้กับนายไมเคิล วูดส์ คนที่เป็นสายให้กับเจ้าหน้าที่ใน “คดี ป.เป็ด”

“ป.เป็ด” ไม่มีทางเลือก ยอมรับสารภาพในคดีที่ติดคุกล่วงหน้าไปแล้วกว่า 3 ปี ศาล “ยกฟ้อง” จากเหตุที่ผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายสร้างพยานหลักฐานโดยทุจริต

เข้าทำนองปรักปรำ จับก่อนแล้วค่อยแสวงหาพยานหลักฐานทีหลัง!

วิลเลียม ออสเตอร์ฮูด ทนายความอีกคนของ ป.เป็ดจึงกล่าวว่า คดีนี้เป็นการพิสูจน์ว่า เสรีภาพของนายทนงได้ถูกบิดเบือน

ขณะที่นายทนง หรือ ป.เป็ด ก็กล่าวภายหลังได้รับการปล่อยตัวเมื่อเดือนมิถุนายน 2542 ว่า ได้เรียนรู้อย่างมากกับระบบศาลสถิตยุติธรรมและผู้รักษากฎหมายที่เลวร้ายยิ่งกว่าผู้ร้าย มีดีอยู่อย่างเดียวก็คือผู้พิพากษาที่เป็นกลางในท่ามกลางระบบราชการที่เฉื่อยชา

“ความยุติธรรม” มิอาจเกิดขึ้นได้เพียงเพราะมี “กฎหมาย” และ “กระบวนการ” อำนวยความยุติธรรมตั้งแต่ชั้นแสวงหาพยานหลักฐานไปจนถึงการวินิจฉัยตัดสินและจองจำ

ความยุติธรรมจำต้องอาศัย “คน” ซึ่ง “ทำหน้าที่”

แต่ภายใต้วัฒนธรรมอำนาจนิยมอย่างสังคมไทยนั้น “คน” ในระบบยุติธรรมยังถืออำนาจบาตรใหญ่ ถึงแม้ระบบกฎหมายจะดี ระบบยุติธรรมถูกออกแบบไว้ดี มีกระบวนการ มีขั้นตอนที่เป็นธรรม บัญญัติให้ไตร่ตรอง ตรวจสอบ ถ่วงดุล มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ แต่ถ้าคนยังคงเห็นคนไม่เท่ากัน การปฏิบัติยังขึ้นๆ ลงๆ ตามกระแส เคร่งครัดเข้มงวดกับคนที่ต่ำกว่า แต่ผ่อนปรนและให้ทางกับคนมีฤทธิ์ “ความยุติธรรม” ก็ไม่อาจเกิดขึ้น

คดี ป.เป็ด คือการปั้นพยานหลักฐานเท็จแล้วจับ ถ้าเกิดขึ้นในบ้านเราไม่แน่นักว่า “เจ้าพนักงานของรัฐ” จะใส่เกียร์ถอยหลัง

บ่อยครั้งที่ “จับก่อน” แล้วค่อยหาพยานหลักฐานทีหลัง และเมื่อผลปรากฏว่า “จับผิดตัว” ผู้บริสุทธิ์ที่ถูกจับมาก็กลายเป็น “ผู้หายสาบสูญ”

 

เมื่อปี 2547 มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ให้ศาลเป็นผู้ “ออกหมายจับ”

จะจับ จะขัง จำคุก หรือค้นในที่รโหฐานต้องมีคำสั่งหรือหมายอาญา

ศาลเป็นผู้ออกหมายจับ หมายค้น หมายขัง ตามที่ “เห็นสมควร” หรือตามที่เจ้าพนักงานร้องขอซึ่งจะต้องมีพยานหลักฐานน่ารับฟังพอสมควร ไม่มักง่าย ไม่พร่ำเพรื่อ และไม่ทำตามอำเภอใจ

การออกหมายจับใครสักคนในยุคหลังแก้ไข ป.วิอาญา จึงต้องมี “เหตุ” เช่น มีหลักฐานว่าคนนั้นทำความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกสูงเกิน 3 ปี หรือมีหลักฐานว่าคนที่ทำความผิดคนนั้นจะหลบหนีหรือไปก่อกวนยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่ออันตรายประการใด

หรือไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือถ้าไม่มาตามหมายเรียกโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี

การแก้ไขปรับปรุง ป.วิอาญาปี 2547 นับเป็นพัฒนาการ

ประมวลกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจน แน่นอน แทบไม่ต้อง “ตีความ” อะไร แต่ในทางปฏิบัติ ตำรวจ อัยการ และศาลในสังคมไทยก็ยังคงมีจารีตที่ “ให้เกียรติ” ทางวิชาชีพแก่กัน ยังคงไม่เข้มข้นในการไต่สวน ตรวจสอบ และถ่วงดุลเพื่อจุดประสงค์ค้นหาความจริง

แม้ทุกวันนี้ “เสรีภาพ” จะเป็นสิ่งจำเป็นที่ “ขาดเสียมิได้” สำหรับทุกคน การจำกัดหรือพรากเสรีภาพไปจากบุคคลหนึ่ง “ต้องมี” เงื่อนไขหรือเหตุพิเศษ

แต่หลายกรณีก็มีคนสร้างบรรยากาศให้ขมุกขมัว!?!!