คุยกับทูต : ระห์หมัด บูดีมัน สัมพันธ์อินโดฯ-ไทย 72 ปี แห่งความเข้าอกเข้าใจ (3)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต ระห์หมัด บูดีมัน

สัมพันธ์อินโดฯ-ไทย

72 ปี แห่งความเข้าอกเข้าใจ (3)

 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือศูนย์กลางแห่งความหลากหลายทางชีวภาพของโลก ป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซียถือเป็นผืนป่าที่สำคัญของโลกและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนในสุมาตรา ป่าฝนเขตบอร์เนียวและปาปัว

ป่าฝนเขตร้อนในอินโดนีเซียยังคงถูกคุกคามและถูกทำลายจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและเยื่อกระดาษ ทำลายป่าพรุที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ป้องกันการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก

ลิงอุรังอุตังในบอร์เนียวได้รับความทุกข์ทรมานจากไฟไหม้บ้าน

อีกทั้งยังทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหลากชนิดรวมถึงเสือสุมาตรา อุรังอุตังในบอร์เนียว และนกปักษาสวรรค์ (Bird of Paradise) ซึ่งมีถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่ในปาปัวเพียงที่เดียวในโลก

อินโดนีเซียได้ออกกฎหมายห้ามการทำลายป่าสมบูรณ์ ลดการตัดไม้ทำลายป่าและทำให้ป่าเสื่อมโทรม ฟื้นฟูการทำงานของระบบนิเวศ และการจัดการป่าอย่างยั่งยืน

 

นายระห์หมัด บูดีมัน (H.E. Mr. Rachmat Budiman) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำราชอาณาจักรไทย

บทบาทของอินโดนีเซีย

ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ในฐานะที่เป็นหนึ่งในเจ้าของป่าเขตร้อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก อินโดนีเซียมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีบทบาททางกลยุทธ์และใช้ตำแหน่งที่ตั้งเชิงกลยุทธ์นี้เพื่อสนับสนุนในการจัดการ”

นายระห์หมัด บูดีมัน (H.E. Mr. Rachmat Budiman) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอินโดนีเซียประจำราชอาณาจักรไทย ชี้แจง

“อัตราการตัดไม้ทำลายป่าในอินโดนีเซียลดลงเหลือจุดต่ำสุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา อัตราการเกิดไฟป่าลดลง 82% ในปี 2020 โดยอินโดนีเซียได้ฟื้นฟูพื้นที่วิกฤต 3 ล้านเฮกตาร์ ในปี 2010-2019 และเริ่มฟื้นฟูป่าชายเลนครอบคลุมพื้นที่ 600,000 เฮกตาร์ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก ภายในปี 2024”

“อินโดนีเซียตั้งเป้าลดคาร์บอนจากการตัดไม้ทำลายป่า ภายในปี 2030 และลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2060 ตามแผนระยะยาว (according to Long-Term submissions Strategy for Low Carbon and Climate Resilience 2050) พื้นที่ Net Zero ได้เริ่มได้รับการพัฒนาแล้ว รวมถึงการก่อสร้างสวนอุตสาหกรรมสีเขียวในเขตกาลิมันตันเหนือที่มีพื้นที่ 13,200 เฮกตาร์จากการใช้พลังงานหมุนเวียนและให้ผลผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

Antara Foto Rony Muharrman /REUTERS

การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศเป็นประเด็นที่เร่งด่วนในยุคของเรา ทั้งรัฐบาล เมือง และบริษัทต่างๆ ต่างตั้งเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero target) พันธกิจในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สะท้อนความมุ่งมั่นต่อความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม และภาวะผู้นำ

“อินโดนีเซียเห็นว่า ต้องเร่งรัดธรรมาภิบาลในระดับโลกสำหรับการดำเนินการตามราคาคาร์บอน ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของความตกลงปารีส (Paris Agreement) และให้มีสิ่งจูงใจสำหรับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยคำนึงถึงความสามารถและเงื่อนไขของแต่ละประเทศ ปัจจุบันอินโดนีเซียอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการสรุปข้อบังคับเกี่ยวกับการกำหนดราคาคาร์บอนเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contribution : NDC)”

“นอกจากนี้ เรายังได้เตรียมแผนการจัดหาเงินทุนเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟู ได้แก่

ก. การจัดตั้งสำนักงานจัดการกองทุนสิ่งแวดล้อม (Badan Pengelola Dana Lingkungan Hidup) : การจัดการกองทุนสิ่งแวดล้อมที่มาจากภายในและภายนอกประเทศ ด้วยหลักการที่ยั่งยืนและเชื่อถือได้

ข. การออกตราสารศุกูกเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green sukuk) : นวัตกรรมการจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนวาระการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ค. การออกพันธบัตรรัฐบาลประเภทสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) : เพื่อขยายฐานการลงทุนที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

ง. การพัฒนากลไกมูลค่าเศรษฐกิจคาร์บอน : เพื่อเป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชนบรรลุผลในการลดการปล่อยมลพิษ

จ. การติดแท็กงบประมาณสำหรับงบประมาณด้านสภาพอากาศใน APBN และการนำภาษีคาร์บอนไปใช้ในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

“อินโดนีเซียเชื่อว่าความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน การเป็นหุ้นส่วน การให้ความร่วมมือ และการประสานงานระดับโลกเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โลกต้องทำงานร่วมกันเพื่อจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนผ่านการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม”

 

ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย โจโก วิโดโด

ประเทศติมอร์-เลสเต (Timor-Leste)

กับโอกาสในการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน (ASEAN)

นายระห์หมัด บูดีมัน มีความเห็นว่า

“โดยหลักการแล้ว อินโดนีเซียสนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต อันที่จริงอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ให้การสนับสนุนติมอร์-เลสเตอย่างเต็มที่มาโดยตลอด ตั้งแต่ติมอร์-เลสเตสมัครเข้าร่วมกลุ่มระดับภูมิภาคนี้เมื่อปี 2011”

“การสนับสนุนติมอร์-เลสเตของอินโดนีเซียดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการให้ความช่วยเหลือระดับทวิภาคีด้านการสร้างขีดความสามารถ โดยผ่านกลไกของอาเซียน ด้วย”

“จุดประสงค์หลักในการสนับสนุนอย่างเต็มที่นี้ก็เพื่อเป็นการเพิ่มความพร้อมของติมอร์-เลสเตในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอนาคตอันใกล้”

 

ผู้นำประเทศสมาชิกกลุ่ม G 20

ในขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงได้รับผลกระทบจาก Covid-19 อินโดนีเซียสนับสนุนให้ทุกประเทศทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการฟื้นตัวของโลกที่แข็งแกร่งและยั่งยืนมากขึ้น (Recover Together, Recover Stronger)

กลุ่ม G 20 ก่อตั้งขึ้นในปี 1999 เป็นการประชุมหลักสำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเงินและเศรษฐกิจ ประกอบด้วยประเทศทั้งหมด 19 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดนีเซีย อิตาลี ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา รวมถึงสหภาพยุโรป (EU) ด้วย

โดยกลุ่มประเทศเหล่านี้มีประชากรเกือบ 2 ใน 3 ของโลก ครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 80 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก และร้อยละ 75 ของการค้าโลก

อินโดนีเซีบเป็นประธานกลุ่ม G20

ต่อมาในปี 2008 เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินทั่วโลก การประชุมระดับรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางต่างๆ ในกลุ่ม G 20 จึงถูกยกระดับขึ้นเป็นการประชุมระดับประมุขแห่งรัฐและรัฐบาล เพื่อส่งเสริมความร่วมมือแก้ไขวิกฤตการณ์ที่ดียิ่งขึ้น โดยได้จัดการประชุมสุดยอดครั้งแรกที่กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. สหรัฐอเมริกา ในปีเดียวกันนั้นเอง

ในฐานะที่เป็นการประชุมไม่เป็นทางการ G 20 จึงไม่มีสภาปกครองหรือหน่วยงานถาวร แต่ประเทศในกลุ่ม G 20 จะผลัดกันขึ้นรับตำแหน่งประธานและเจ้าภาพการของประชุมสุดยอดในแต่ละครั้ง

เอกอัครราชทูตระห์หมัด บูดีมัน กล่าวว่า

“ในวาระที่อินโดนีเซียเป็นประธานกลุ่ม G 20 ปีนี้ (ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2021 ไปถึง 30 พฤศจิกายน 2022) อินโดนีเซียจึงมุ่งหวังให้ G 20 เป็นแบบอย่าง และเป็นตัวเร่งให้เกิดการฟื้นตัวอย่างเป็นมิตร ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง” •