ใช้เทคโนโลยีอะไรป้องกันกราดยิง?/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

ใช้เทคโนโลยีอะไรป้องกันกราดยิง?

 

ทุกวันนี้รอบๆ ตัวเรามีการนำเทคโนโลยี Facial recognition ซึ่งเป็นระบบที่สามารถจดจำและแยกแยะใบหน้าของบุคคลได้มาใช้ในหลายบริบท

ไม่ว่าจะเป็น Facial recognition ที่อยู่ในโทรศัพท์ ช่วยให้เราปลดล็อกโทรศัพท์ได้อย่างรวดเร็ว ล็อกอินเข้าไปใช้งานบริการต่างๆ หรือทำธุรกรรมทางการเงิน

ไปจนถึง Facial recognition ที่ตามทางเข้าอาคารเพื่อป้องกันการบุกรุกจากบุคคลภายนอก

สถานศึกษาก็นำเทคโนโลยี Facial recognition มาใช้ด้วยเหมือนกัน วัตถุประสงค์พื้นฐานอาจจะเป็นการใช้เพื่อเช็กชื่อนักเรียนที่เดินเข้าออกเพื่อที่โรงเรียนและผู้ปกครองจะได้รู้ว่านักเรียนเดินทางมาถึงโรงเรียนอย่างปลอดภัยและกลับออกไปเวลาไหน

การยอมรับเทคโนโลยีรู้จำใบหน้าของแต่ละประเทศก็แตกต่างกัน

อย่างจีนซึ่งถือเป็นผู้นำในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ก็มีการใช้งานอย่างกว้างขวางมากเพราะไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องความเป็นส่วนตัวมากเท่าที่อื่น

มีข่าวว่าจีนแอดวานซ์ไปถึงขั้นใช้ Facial recognition เพื่อตรวจสอบว่านักเรียนตั้งใจเรียนหนังสือแค่ไหน และใช้เพื่อสอดส่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในรั้วโรงเรียนด้วย

ในขณะที่ฝั่งยุโรปซึ่งเคร่งครัดเรื่องความเป็นส่วนตัวของพลเมืองมากกว่าก็เคยมีเหตุการณ์โรงเรียนในสวีเดนถูกปรับเพราะใช้ระบบรู้จำใบหน้าในการเช็กชื่อนักเรียนมาแล้ว

การแพร่ระบาดของไวรัสในช่วงสองปีที่ผ่านมาก็ทำให้เทคโนโลยี Facial recognition ถูกหยิบมาใช้ในสถานศึกษามากขึ้นด้วยเหมือนกัน โรงเรียนบางแห่งเลือกใช้การรู้จำใบหน้าเพื่อให้นักเรียนสามารถทำธุรกรรมง่ายๆ อย่างเช่น การจ่ายค่าอาหารในโรงอาหารได้แบบไร้สัมผัสเพื่อลดโอกาสในการติดเชื้อ

ย้ายไปดูที่สหรัฐอเมริกาบ้างว่าโรงเรียนที่นั่นใช้ Facial recognition ทำอะไรในตอนนี้

ปัญหาการกราดยิงภายในโรงเรียนก็ยังเป็นสิ่งที่สหรัฐต้องรับมืออยู่เรื่อยๆ เหตุการณ์โศกนาฏกรรมแต่ละครั้งทำให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินมากมาย และไม่ว่าจะไม่อย่างไรก็ดูเหมือนจะไม่สามารถหาทางออกที่ลงตัวสำหรับทุกฝ่ายได้เสียที

กรณีการกราดยิงในเมืองพาร์กแลนด์ มลรัฐฟลอริดาเมื่อปีที่แล้วทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 17 คน ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้แวดวงเทคโนโลยีช่วยกันคิดว่ามีเทคโนโลยีสมัยใหม่อะไรบ้างที่น่าจะช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องนี้ได้ ซึ่ง Facial recognition ก็เป็นหนึ่งในนั้น

บริษัทเทคโนโลยี RealNetworks ตัดสินใจหยิบยื่นข้อเสนอให้โรงเรียนในสหรัฐและแคนาดาที่สนใจได้ใช้ระบบรู้จำใบหน้าของบริษัทในการป้องกันเหตุกราดยิงได้ฟรีๆ และยังมีบริษัทอีกหลายแห่งที่ตระเวนขายโซลูชั่นแบบเดียวกันนี้ให้กับโรงเรียนต่างๆ โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะช่วยป้องกันการกราดยิงได้

แต่จะป้องกันได้แค่ไหน

 

CNET บอกว่าบริษัทที่ขายโซลูชั่นเรื่องระบบรู้จำใบหน้ามักจะบอกว่าเทคโนโลยีนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้คนแปลกหน้าเข้ามาภายในบริเวณโรงเรียนได้ โดยที่โรงเรียนสามารถสร้างรายชื่อของบุคคลอันตราย อย่างเช่น พนักงานเก่าที่ถูกไล่ออก คนที่ถูกคำสั่งห้ามไม่ให้เข้าโรงเรียน หรือคนที่มีประวัติใช้ความรุนแรง แล้วกำหนดให้บุคคลเหล่านี้ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ ก็จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดความเป็นไปได้ของการเกิดเหตุกราดยิงลง

ทว่า เมื่อทดลองใช้งานภายในโรงเรียนจริงๆ แล้ว แม้แต่ RealNetworks เองก็ต้องออกมายอมรับว่าได้รับบทเรียนที่มีค่ามาก ก็คือเทคโนโลยี Facial recognition ไม่ใช่เครื่องมือป้องกันการกราดยิงที่ได้ประสิทธิผลเหมือนที่คิด

เนื่องจากเหตุกราดยิงในโรงเรียนส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นจากฝีมือของคนที่ไม่ได้ถูกใส่เอาไว้ในรายชื่อคนที่ต้องจับตามอง และไม่ใช่บุคคลต้องสงสัยตั้งแต่แรก

ดังนั้น หากโรงเรียนเองก็ยังไม่รู้ว่าใครคือคนที่มีแนวโน้มจะก่อเหตุ ก็จะไม่สามารถใส่เข้าไปในรายชื่อ และตัวซอฟต์แวร์เองก็ไม่มีทางรู้ได้ว่าจะต้องเฝ้าระวังใครบ้าง

 

Facial recognition ที่ถูกติดตั้งไว้เพื่อป้องกันเหตุกราดยิงยังทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า False sense of security หรือความรู้สึกปลอดภัยแบบเทียม พอโรงเรียนเข้าใจว่าติดตั้งระบบไว้แล้ว ปลอดภัยแล้ว ก็อาจจะหละหลวมและละเลยการป้องกันในรูปแบบอื่นๆ อย่างการมีส่วนร่วมกับนักเรียนหรือชุมชน

บางโรงเรียนอาจจะทุ่มงบประมาณไปกับการติดตั้งระบบจนหมด ไม่เหลือแบ่งมาใช้พัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน พัฒนาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนหรือการให้คำปรึกษานักเรียนที่มีปัญหา

ในประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติสูงอย่างในสหรัฐอเมริกา เทคโนโลยี Facial recognition ก็มีปัญหาเรื่องความแม่นยำมาโดยตลอด เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่ที่ใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นข้อมูลมาจากคนผิวขาว ทำให้ระบบมักจะรู้จำใบหน้าของคนที่ไม่ใช่คนผิวขาวผิดพลาดบ่อยครั้ง โดยอัตราความผิดพลาดเมื่อเทียบกับใบหน้าของคนผิวขาวนั้นอาจจะมีตั้งแต่ 10 ไปจนถึง 100 เท่าเลยทีเดียว

ยังไม่นับปัญหาเรื่องความเป็นส่วนตัวของคนในโรงเรียน การมีเทคโนโลยีที่คอยสอดส่องก็จะไปจำกัดอิสรภาพทางการแสดงออกและความเป็นตัวตนของนักเรียนในที่สุด

 

ข้อสรุปที่ได้ก็คือ Facial recognition อาจใช้ในสถานศึกษาได้ แต่จุดประสงค์หลักคงไม่ใช่การป้องกันเหตุกราดยิง แต่อาจจะเป็นการใช้อำนวยความสะดวกเรื่องอื่นๆ อย่างการใช้เพื่อตรวจสอบว่าพ่อแม่ที่มารับลูกเป็นพ่อแม่ตัวจริง หรือเป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองแล้ว ไปจนถึงการใช้รับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในรั้วโรงเรียน อย่างการดูว่าใครเป็นคนเริ่มลงมือก่อนในเหตุทะเลาะเบาะแว้ง

ส่วนเทคโนโลยีไหนจะช่วยป้องกันและรับมือการกราดยิงที่ได้ผลที่สุดตอนนี้ก็ยังต้องมีการหาข้อมูล ค้นคว้า ทดลองกันต่อไป อย่างเช่น แทนที่จะตรวจจับใบหน้า จะดีกว่าไหมที่ระบบจะมุ่งไปตรวจจับอาวุธแทนโดยที่ไม่สนว่าคนที่นำอาวุธเข้ามาจะเป็นใคร จะได้ไม่ต้องรุกล้ำความเป็นส่วนตัวด้วยการไปตรวจจับใบหน้าด้วย

อย่างไรก็ตาม ฉันเชื่อว่านี่ก็ไม่ใช่การขีดเส้นตายว่า Facial recognition จะไม่สามารถนำมาใช้ในการป้องกันเหตุน่าเศร้าในโรงเรียนได้เลย และอาจจะไม่มีเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะทำหน้าที่นี้ได้ดีด้วยตัวมันเองเดี่ยวๆ หากผนวกระบบรู้จำใบหน้าเข้ากับเครื่องมืออื่นๆ และใช้อย่างตรงจุดก็อาจจะทำให้สามารถสร้างเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งขึ้นมาได้

โดยที่เด็กๆ ก็ยังมีพื้นที่ในการแสดงออกและเติบโตแบบไม่ต้องคอยระแวงด้วย