แล้งสลับท่วม ปัญหาซ้ำซาก-จุดบอบบางประเทศ รอวัดฝีมือพรรคการเมือง… พรรคไหนจะได้ใจ โกยคะแนนช่วงเลือกตั้ง/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

แล้งสลับท่วม

ปัญหาซ้ำซาก-จุดบอบบางประเทศ

รอวัดฝีมือพรรคการเมือง…

พรรคไหนจะได้ใจ โกยคะแนนช่วงเลือกตั้ง

 

ในปี 2565 นี้ หลายฝ่ายออกมาคาดการณ์ว่า จะมีการเลือกตั้งใหม่

เรียกได้ว่าช่วงนี้พรรคเล็กพรรคใหญ่ต่างออกมาเร่งเครื่องโกยคะแนนเสียงกันอย่างหนัก

โดยเฉพาะช่วงเกิดอุทกภัยน้ำท่วมในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ตรัง นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา และสงขลา เห็นหลายพรรคเริ่มออกนโยบายในการช่วยเหลือน้ำท่วมออกมา รวมถึงเห็นภาพการลงพื้นที่

แม้แต่สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ แกนนำและผู้ร่วมก่อตั้งพรรคสร้างอนาคตไทย ก็ยังเห็นภาพควงแกนนำพรรคลงพื้นที่นราธิวาส แจกถุงยังชีพผู้ประสบภัยน้ำท่วม

และแน่นอน พรรคเจ้าถิ่นอย่างพรรคประชาธิปัตย์ นำทีมโดยจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ต้องลงพื้นที่ แอ๊กชั่นการเร่งช่วยเหลือด่วน ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีอย่างขึงขัง

 

ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง ถือเป็นภัยธรรมชาติที่ไทยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เป็นโจทย์ที่ทุกรัฐบาลต้องเผชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังต้องเข้ามาสั่งการด้วยตัวเอง แม้ว่าการแบ่งงานของรัฐบาล มอบให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบก็ตาม

โดยสั่งให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน และกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น เร่งช่วยเหลือด่วน พร้อมขีดเส้นตายให้สถานการณ์น้ำกลับสู่ภาวะปกติทุกพื้นที่ภายในสัปดาห์นี้

ทั้งนี้ จากการสำรวจของศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่ายังมี 4 จังหวัด 11 อำเภอ ที่สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ได้แก่ 1.นครศรีธรรมราช มีพื้นที่ประสบภัย 2 อำเภอ คือปากพนังและชะอวด 2.นราธิวาส มี 3 อำเภอประสบเหตุ ได้แก่ แว้ง สุไหงโก-ลก และสุไหงปาด 3.ปัตตานี ที่ อ.เมือง อ.แม่ลาน อ.หนองจิก และ อ.โคกโพธิ์

และ 4.สงขลา มี 2 อำเภอ ได้แก่ นาทวี และรัตภูมิ ยังอยู่ภาวะน้ำท่วม

 

ส่วนผลกระทบด้านการเกษตร นับตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์-ปัจจุบัน จำแนกเป็น ด้านพืช ได้รับผลกระทบ 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช นราธิวาส สงขลา และจังหวัดพัทลุง เกษตรกร 73,321 ราย พื้นที่ 81,006 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 47,563 ไร่ พืชไร่และพืชผัก 14,184 ไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้นและอื่นๆ 19,259ไร่ ด้านประมง ได้รับผลกระทบ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส สงขลา และจังหวัดพัทลุง เกษตรกร 1,100 ราย พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ (บ่อปลา) 504 ไร่ กระชัง 8,931 ตารางเมตร (ตร.ม.)

ด้านปศุสัตว์ ได้รับผลกระทบ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นครศรีธรรมราช นราธิวาส และจังหวัดพัทลุง เกษตรกร 21,701 ราย สัตว์ได้รับผลกระทบ 296,757 ตัว แบ่งเป็นโค 40,444 ตัว กระบือ 1,402 ตัว สุกร 6,590 ตัว แพะและแกะ 18,612 ตัว สัตว์ปีก 229,709 ตัว แปลงหญ้า 956 ไร

ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างตีมูลค่าความเสียหาย

 

จากผลกระทบดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้หน่วยงานระดับกรม ได้แก่ กรมชลประทาน ประเมินสถานการณ์และปรับแผนการบริหารจัดการน้ำ การระบายน้ำ เสนอผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง เพื่อให้สถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

กรมปศุสัตว์ประเมินสถานการณ์และจัดทำแผนการอพยพสัตว์ในพื้นที่เสี่ยง พร้อมจัดเตรียมบุคลากร เวชภัณฑ์ เสบียงสัตว์ ให้เพียงพอและสอดคล้องกับสถานการณ์ กรมประมงตรวจสอบ กำชับเจ้าหน้าที่ให้เฝ้าระวังฟาร์มเลี้ยงสัตว์ดุร้าย (จระเข้) และสนับสนุนเรือตรวจการณ์ขนาดต่างๆ และเจ้าหน้าที่เข้าปฏิบัติการช่วยเหลือพื้นที่ประสบอุทกภัย

กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร ประเมินสถานการณ์และวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง โดยให้เตรียมการป้องกันพื้นที่เกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีพืชผลที่มีมูลค่าและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ กรมพัฒนาที่ดินประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อมเพื่อสนับสนุนการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง

และกรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร ประเมินสถานการณ์และเตรียมเมล็ดพันธุ์ข้าว เมล็ดพันธุ์พืช เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย พร้อมทั้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรหรือข้อมูลด้านหนี้สินของสมาชิกสถาบันเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการให้ความช่วยเหลือต่อไป

 

นอกจากประเด็นน้ำท่วมที่ภาครัฐจะต้องเร่งบริหารจัดการแล้ว

เรื่องต่อไปที่หน่วยงานรัฐ และประชาชนต้องเตรียมตัวรับมือ คือฤดูร้อน ที่มาพร้อมกับภัยแล้ง

ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2565 ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 10 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้ง และสร้างความชุ่มชื้นให้กับป่าไม้ การเติมน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำและเขื่อนต่างๆ ของประเทศ ป้องกันการเกิดไฟป่าและบรรเทาปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) โดยเริ่มปฏิบัติการไปแล้วเมื่อ 3 มีนาคมที่ผ่านมา

ขณะที่สถานการณ์ปริมาณน้ำในปัจจุบันของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง มีปริมาณอยู่ที่ 51,019 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 67% ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 27,083 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 52% ของความจุอ่าง ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับปี 2564 ปัจจุบันมีมากกว่าปี 2564 จำนวน 10,077 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง

ขณะที่สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ปริมาตรน้ำในอ่าง 47,349 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 67% ของความจุอ่าง ยังสามารถรับน้ำได้อีก 23,577 ล้าน ลบ.ม.

สอดคล้องกับการประเมินสถานการณ์ภัยแล้งปีนี้ของสุรสีห์ กิตติมลฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มองว่าสถานการณ์ปริมาณน้ำในปัจจุบันโดยรวมถือว่าดี แต่นอกเขตชลประทานยังควบคุมได้ยาก และยอมรับว่าห่วงสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถกำหนดได้แน่นอนว่าจะมีพายุหรือมรสุมล่วงหน้ากี่ลูก

สทนช.จึงปรับแผนจากเดิมจะกำหนดมาตรการฤดูฝน ต้องรอให้ถึงเดือนเมษายน ปัจจุบันได้เตรียมแผนรับมือเบื้องต้นไว้แล้ว โดยทำงานใกล้ชิดกับทุกหน่วยงาน อาทิ กรมอุตุฯ และจิสด้า เป็นต้น เป็นการทำงานเชิงรุก ไม่ใช่เชิงรับ

เรียกได้ว่าช่วงนี้สถานการณ์ในหลายพื้นที่ ถือเป็นช่วงซื้อใจประชาชนได้เป็นอย่างดี แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ทำดีระยะสั้นเพียงอย่างเดียวคงซื้อใจคนรุ่นใหม่ไม่ได้ ต้องติดตามยาวๆ ว่าแผนงานที่รัฐบาลชุดนี้ทำไว้ จะสามารถดึงฐานเสียงไว้ได้ หรือต้องแปะมือให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาสะสางปัญหาซ้ำซากเหล่านี้ ต้องลุ้นกันต่อไป