‘ชินวัตร’ แฟมิลี่ ครอบครัว ‘เพื่อไทย’ การเมือง ‘คู่ขนาน’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

‘ชินวัตร’ แฟมิลี่

ครอบครัว ‘เพื่อไทย’

การเมือง ‘คู่ขนาน’

 

การไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ “เป็นอย่างไรกันบ้างคะ”

เมื่อวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2565 ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับการจับตามองอย่างมาก

เพราะนี่เป็นการไลฟ์สดแบบเดี่ยวครั้งแรกตั้งแต่หลบหนีคำพิพากษาคดีรับจำนำข้าว เมื่อปี 2560 ไปอยู่ต่างประเทศ

ก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเป็นเพียงแขกรับเชิญออกรายการของพี่ชาย โทนี่ วู้ดซัม นายทักษิณ ชินวัตร เท่านั้น

แต่คราวนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกมาอย่างเต็มตัว

แม้เนื้อหาจะไม่ได้ดุเดือดแหลมคมเหมือนพี่โทนี่ วู้ดซัม

อาจจะแตะไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บ้างก็เล็กน้อย

โดยเมื่อถูกถามว่าหากเจอหน้า พล.อ.ประยุทธ์จะยังคุยกันได้หรือไม่

ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า “ต้องถาม พล.อ.ประยุทธ์ เจอหน้ายิ่งลักษณ์ ยังคุยได้อีกหรือเปล่า”

ส่วนเนื้อหาอื่นเป็นลักษณะเล่าสู่กันฟังมากกว่า

แต่กระนั้น การเริ่มเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์นิ่มๆ ครั้งนี้ กลับถูกมองว่าน่าจะแฝงนัยทางการเมืองไม่น้อย

โดยเฉพาะเป้าหมาย “แลนด์สไลด์” ทางการเมือง

 

สัญญาณการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่เร่งเร้าขึ้นมาตามลำดับ

ทำให้เราได้เห็นการเคลื่อนไหวของคนตระกูลชินวัตร ที่วาดหวังกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นอย่างสูง

นั่นคือชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของพรรคเพื่อไทย จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

อันจะทำให้โอกาสได้กลับบ้านของนายทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดกว้างขึ้น

เราจึงเห็นการขับเคลื่อนทางการเมืองแบบคู่ขนานกันไปของตระกูลชินวัตร และพรรคเพื่อไทย

โดยนายทักษิณเคลื่อนไหวผ่านโทนี่ วู้ดซัม และรายการ Care Talk x Care ClubHouse มุ่งวิพากษ์วิจารณ์ พล.อ.ประยุทธ์ รัฐบาล รวมถึงพรรคร่วม ในสไตล์แบบฮาร์ดคอร์อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด ร่วมเสวนาในรายการดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 มีนาคม หัวข้อ “ไทยแลนด์แสนวิกฤต โควิดยังไม่ซา เอาอีกแล้วหว่า รัสเซีย-ยูเครน”

ถือเป็นการสื่อสารไปยังกลุ่มแฟนคลับอย่างต่อเนื่อง

แต่กระนั้น ในด้านหนึ่งถึงจะเปลี่ยนแบรนด์เป็นโทนี่ วู้ดซัม เพื่อต้องการสื่อไปถึงคนรุ่นใหม่ แต่ก็ยังอาจไม่กว้างขวางไปถึงกลุ่มกลางๆ ซอฟต์ๆ

นี่จึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้มีรายการ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไลฟ์สดผ่านเพจเฟซบุ๊ก เข้ามาช่วยเสริม

โดยมุ่งการสร้างแบรนด์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ให้มาสอดรับแบรนด์ของ “โทนี่ วู้ดซัม” ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเน้นไปยัง “คนรุ่นใหม่” มีแนวคิดกลางๆ อย่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวระหว่างไลฟ์สดว่า “ตอนนี้อาจจะเรียกว่าหมดยุคเราแล้วหรือไม่ เพราะวันนี้เป็นช่วงเวลาของคนรุ่นใหม่แล้ว เด็กรุ่นใหม่มีความสามารถเยอะ”

ซึ่งคงต้องติดตามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะรุกเข้ามาสื่อสาร “คนรุ่นใหม่” เสริมโทนี่ วู้ดซัม อย่างไร

เชื่อว่าหลังจากนี้ เราคงได้เห็นบทบาทของคนในตระกูลชินวัตร ที่ชื่อยิ่งลักษณ์มากขึ้นตามลำดับแน่นอน

 

ส่วนคนในตระกูลชินวัตรอีกคนหนึ่ง คือ อุ๊งอิ๊ง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร บุตรสาวนายทักษิณ ที่ประกาศตัวเข้าร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยเมื่อ 28 ตุลาคม 2564 ระหว่างงานประชุมใหญ่สามัญประจำปีพรรคเพื่อไทย ในตำแหน่งประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม

โดยได้ประกาศที่จะผลักดันการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 3 ด้าน คือ การศึกษา เทคโนโลยี และซอฟต์ เพาเวอร์

และความตั้งใจ “ในฐานะลูกของคุณพ่อ ไม่เคยลืมบุญคุณแผ่นดินไทย ไม่เคยลืมพี่น้องคนไทยที่ไม่เคยลืมท่าน และท่านปรารถนาอย่างมากที่จะกลับมากราบแผ่นดินไทยอีกครั้ง กลับมากราบผู้มีพระคุณ”

ก็เริ่มแสดงบทบาทมากยิ่งขึ้น

โดยเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา น.ส.แพรทองธารได้เข้าร่วมประชุม ส.ส.ของพรรคประจำสัปดาห์ โดย น.ส.แพทองธารถูกห้อมล้อมด้วย ส.ส. และร่วมถ่ายภาพกับสมาชิกพรรคอย่างเป็นกันเอง

ให้ภาพความเป็นหนึ่งเดียวกับคนในพรรคเพื่อไทย

ขณะที่พ่อคือนายทักษิณ และอาคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับพรรคไม่ได้ เพราะมีคุณสมบัติต้องห้าม ก็ได้ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียสื่อสารการเมืองกับคนในและนอกพรรคแทน

จึงไม่น่าจะใช่เหตุบังเอิญแน่นอนที่ “ครอบครัว” ตระกูลชินวัตร ออกมาเคลื่อนไหวโดยพร้อมเพรียงและต่อเนื่องกันในตอนนี้

 

ขณะที่พรรคเพื่อไทยเองก็มีแคมเปญที่ “คู่ขนาน” กันไปเช่นกัน

นั่นคือ แคมเปญ “ครอบครัวเพื่อไทย แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน”

โดยนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่าจะเปิดกิจกรรมในวันที่ 19 มีนาคมนี้ที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของพรรค

ทั้งนี้ แคมเปญ “ครอบครัวเพื่อไทย แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน” นี้ นายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) บอกความเป็นมาว่าสืบเนื่องจากความล้มเหลวของรัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้

ขณะที่ความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลยิ่งทำให้เสถียรภาพสั่นคลอน หากเพลี่ยงพล้ำก็มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองทุกเมื่อ พรรคเพื่อไทยจึงได้เตรียมความพร้อมเข้าสู่สนามการเลือกตั้งในครั้งหน้าด้วยการเดินหน้าระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

เปิดให้ประชาชนทั่วประเทศเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในการเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศร่วมกับพรรคเพื่อไทยผ่านแคมเปญ “ครอบครัวเพื่อไทย แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน”

คุณสมบัติของผู้เข้าร่วม จะเปิดกว้างคือไม่จำกัดอายุ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสมัคร

ทำให้ประชาชนทุกวัย ทุกภาคส่วน สามารถมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองได้ง่ายขึ้น โดยจะมีสิทธิประโยชน์ให้ คือ 1.ได้รับข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ โดยตรงจากทางพรรค พท. 2.มีสิทธิลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่ทางพรรคจัดขึ้นในอนาคตก่อนบุคคลทั่วไป 3.สามารถซื้อสินค้าที่ระลึกต่างๆ ของพรรค พท.ได้ในราคาพิเศษ

น.พ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย บอกอย่างมั่นใจว่า เครือข่ายครอบครัวเพื่อไทยจะเป็นฐานสำคัญให้พรรค หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น พรรคเพื่อไทยจะได้ ส.ส.มากกว่า 253 ที่นั่ง และเป็นรัฐบาลที่แข็งแรง มีเสถียรภาพอย่างแน่นอน

“เครือข่ายครอบครัวเพื่อไทยมีเป้าหมายเดียวกัน คือทำให้พรรคเพื่อไทย แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน” นพ.ชลน่านบอกอย่างมั่นใจ

 

นี่จึงถือเป็นการขับเคลื่อนแบบ “คู่ขนาน” ระหว่างครอบครัว “ชินวัตร” กับ “ครอบครัวเพื่อไทย”

โดยมีเป้าหมายร่วมที่ “แลนด์สไลด์”

แต่เมื่อหวังใหญ่เช่นนั้น

ก็ย่อมเผชิญแรงเสียดทานจากฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ตัวอย่างที่ปรากฏสดๆ ร้อนๆ ก็คือวันเดียวกับที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เปิดตัวผ่าน “ไลฟ์สด”

ก็มีเหตุบังเอิญที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า อัยการสูงสุดได้สรุปสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีใช้อำนาจมิชอบโอนย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (เลขาฯ สมช.)

คดีนี้ เหตุเกิดปี 2554 ป.ป.ช.มีมติชี้มูลเมื่อปี 2563 เห็นว่า การกระทำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีมูลความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ

อย่างไรก็ตาม อัยการสูงสุดเห็นแย้งว่า หลักฐานยังไม่เพียงพอ

จึงนำไปสู่การตั้งคณะกรรมการร่วมพิจารณาจากสองหน่วยงาน

จนมีข้อสรุปและอัยการสูงสุดสั่งฟ้องดังกล่าว

โดยต้องใช้เวลานานถึงกว่าสิบปีเลยทีเดียว

หลังจากที่กรณีนี้ ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์พ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 และนำไปสู่การถูกฟ้องคดีอาญา

และที่สุดอัยการสูงสุดก็ชี้ขาดจะฟ้องร้อง

ชี้ชัดว่าผลจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ยังดำรงอยู่อย่างหนาแน่น

คดีเก่าเก็บตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพร้อมจะถูกจะรื้อฟื้นมา “เล่นงาน” ตลอดเวลา

และช่างเป็นจังหวะอันเหมาะสมกับการเปิดตัวผ่าน “ไลฟ์สด” ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างเหมาะเจาะพอดีในตอนนี้ด้วย

นี่ย่อมถือเป็นการใช้ “องค์กรอิสระ” เพื่อดำเนิน “นิติสงคราม” อย่างต่อเนื่อง

และถึงคนใน “ชินวัตร” จะบรรลุเป้าหมายแลนด์สไลด์ แต่ก็ยากที่จะพ้น “นิติสงคราม” ไปได้

 

ยิ่งไปกว่านั้น ทุกย่างก้าวของคน “ชินวัตร” และของเพื่อไทย ยังถูกจับตาอย่างหวาดระแวงจากฝ่ายการเมืองตรงข้าม ว่าแฝงเป้าหมายบางอย่างไว้

อย่างกรณีพรรคเพื่อไทยเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยให้แก้ไขมาตรา 28-29

ปรากฏว่าถูกตีตกโดยที่ประชุมรัฐสภา

โดยนายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุว่าที่ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับพรรคเพื่อไทย ไม่ผ่าน เพราะไปแก้ไขมาตรา 28-29 เปิดช่องให้คนนอกแทรกแซงครอบงำพรรคได้ เป็นการฉวยโอกาสลักไก่ เพื่อผลประโยชน์คนนอกถือว่าน่าเกลียด อาจขัดกับรัฐธรรมนูญที่เขียนกลไกป้องกันการแทรกแซงครอบงำจากคนภายนอก

แม้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะพยายามชี้แจงว่า ไม่ได้มีการยัดไส้แก้ไขมาตรานี้เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกเข้ามาครอบงำ ชี้นำ ควบคุมกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองแต่อย่างใด เพียงแต่แก้ไขให้รัดกุมเพื่อมิให้มีการตีความกลั่นแกล้งจนถึงขั้นยุบพรรค

แต่กระนั้นก็ดูจะไร้ผล

เพราะดูเหมือน ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและวุฒิสมาชิก เชื่อว่าเป็นการแก้ไขเพื่อเปิดให้คนนอกเข้ามาครอบงำพรรค

ซึ่งคนนอกที่ว่าแน่นอนก็คงไม่ใช่ใครอื่น

หากแต่เป็นคนในตระกูลชินวัตร ที่จะต้องหักโค่นลงนั่นเอง

สะท้อนให้เห็นถึงการประกบติดที่จะไม่ยอมให้ตระกูลชินวัตรและพรรคเพื่อไทยขับเคลื่อนการเมืองคู่ขนาน เพื่อบรรลุเป้าหมายแลนด์สไลด์ได้อย่างง่ายๆ