ผ่า 4 ร่าง พ.ร.ป.ส.ส. : ความเหมือนและความต่างที่ต้องจับตามอง/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

ผ่า 4 ร่าง พ.ร.ป.ส.ส.

: ความเหมือนและความต่างที่ต้องจับตามอง

 

หลังจากวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2564 ที่รัฐสภามีมติเห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปลี่ยนสัดส่วน ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็น 400 : 100 และเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งจากการใช้บัตรใบเดียว คำนวณ ส.ส.แบบจัดสรรปันส่วนผสม มาเป็นบัตรเลือกตั้งสองใบ คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบคู่ขนานแล้ว เป็นความจำเป็นที่ต้องแก้ไขกฎหมายลูก คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอย่างน้อยสองฉบับ คือ พ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไข

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565 รัฐสภาได้ลงมติในวาระที่หนึ่ง ผ่านร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยมีร่างที่ผ่านการรับหลักการจำนวน 4 ร่าง คือ ร่างของคณะรัฐมนตรี ร่างของพรรคเพื่อไทย ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล และร่างของพรรคก้าวไกล

ร่างทั้ง 4 ร่าง มีความเหมือนหรือแตกต่างในเรื่องใด มีความน่าสนใจ และมีโอกาสไปต่อในวาระที่สองและสามอย่างไร เป็นเรื่องที่สมควรจับตามองด้วยความเข้าใจ

เพราะทั้งหมดนี้จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ความเหมือนที่ยังเป็นปัญหา

ประเด็นที่เป็นจุดร่วมเหมือนกันของร่างทั้ง 4 ฉบับ คือ ขั้นตอนในการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งร้อยคน โดยทั้งสี่ร่างยอมรับแนวคิดในการคำนวณแบบคู่ขนาน (parallel counting) ซึ่งเป็นการแยกการคำนวณระหว่างบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต ที่ใช้นับคะแนนในแต่ละเขต และให้ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตนั้นๆ ได้รับเลือกตั้ง (first-past-the-post) โดยคนที่ได้อันดับถัดมา แม้ว่าจะมีคะแนนจากผู้มีสิทธิออกเสียงลงให้มากเพียงใด ก็ไม่ได้นำคะแนนดังกล่าวมาใช้ประโยชน์

ในขณะที่การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อใช้การนับคะแนนจากบัตรเลือกตั้งใบที่สอง โดยใช้สัดส่วนโดยตรงของคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับเทียบเป็นร้อยละกับจำนวนบัตรเลือกตั้งบัญชีรายชื่อทั้งหมดที่มีจากการใช้สิทธิเลือกตั้ง

กล่าวโดยขั้นตอนง่ายๆ คือ เอาจำนวน 100 คนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นไปตัวหารจำนวนบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จะเป็นค่าเฉลี่ยของคะแนนที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องมีหากจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน

คนมาลงคะแนนในบัตรใบที่สอง 35 ล้านคน เมื่อเอา 100 ไปหาร คะแนนเฉลี่ยคือ 350,000 คะแนน ใครได้น้อยกว่านี้ก็หมดสิทธิได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หากคำนวณในรอบแรกแล้วยังมีเศษ ก็ค่อยมาดูจากพรรคที่ได้เศษสูงสุดเรียงลำดับไปเรื่อยๆ โดยไม่มีการกำหนดขั้นต่ำว่าต้องมีคะแนนเสียงอย่างน้อยเท่าไรจึงจะมีสิทธิได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

แต่ก็ประมาณการได้ว่า อย่างน้อยต้องมีคะแนนกว่าสองแสนคะแนน จึงจะมีสิทธิได้รับอานิสงส์จากการปัดเศษ

พรรคเล็กพรรคจิ๋วที่เคยได้คะแนนหลักหมื่นหลักแสนต้นๆ จึงอย่าหวังว่าจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เหมือนผลการเลือกตั้งเมื่อปี 2562

แม้การออกแบบของทั้งสี่ร่างจะเห็นร่วมกันในวิธีการคำนวณแบบนี้ แต่ประเด็นที่ทุกฝ่ายไม่ยอมกล่าวถึง คือ มาตรา 93 และมาตรา 94 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ไม่มีการแก้ไข และระบุถึงขั้นตอนการคำนวณ ส.ส.พึงมีและ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ ในกรณีเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จและกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่ในหนึ่งปีด้วยเหตุทุจริตการเลือกตั้ง

ความในรัฐธรรมนูญสองมาตราดังกล่าว ถูกถ่ายทอดมาเป็นวิธีปฏิบัติใน พ.ร.ป.ส.ส. ที่มาตรา 130 และ 131 ซึ่งต้องเขียนให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

แต่ในทั้งสี่ร่างที่ผ่านการลงมติในวาระที่หนึ่ง กลับเขียนเหมือนกันคือ ยกเลิกเนื้อหาในมาตรา 130 และ 131 ที่อยู่เดิมทิ้งไปแบบไม่กล่าวเหตุผลใดๆ เรียกว่าทำเป็นลืม หรือทำเป็นมองข้ามไปเฉยๆ

หากเกิดกรณีเลือกตั้งไม่เสร็จหรือกรณีเลือกตั้งใหม่ด้วยเหตุทุจริตภายในหนึ่งปี เมื่อรัฐธรรมนูญบอกให้ทำอย่างหนึ่งแต่ในกฎหมายลูกกลับไม่มีรายละเอียดวิธีปฏิบัติ ย่อมเกิดความวุ่นวาย และนี่คือจุดที่ต้องพิจารณาว่า กฎหมายลูกนั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่

ประเด็นการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ตามมาตรา 91 ของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นโจทย์ใหญ่โจทย์หนึ่งซึ่งยังต้องจับตามองแบบไม่กะพริบ

 

ความต่างที่ต้องวัดใจ

ความไม่เหมือนกันของร่าง 4 ร่าง ในประเด็นการให้หมายเลขของผู้สมัครและพรรคการเมืองนั้นแตกออกเป็น 2 แนวทางชัดเจน โดยร่างของคณะรัฐมนตรี และร่างของพรรคร่วมรัฐบาล ใช้แนวทางหมายเลขผู้สมัครเขตและหมายเลขพรรคการเมืองในบัตรบัญชีรายชื่อเป็นคนละหมายเลข ในขณะที่ร่างของพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ใช้แนวทางพรรคเดียว เบอร์เดียวทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นบัตรเลือกตั้งแบบใด

ข้อจำกัดของการที่ต้องออกแบบให้พิลึกพิลั่นคือ การไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 90 ที่กำหนดให้พรรคจะต้องส่งผู้สมัครแบบเขตก่อนจึงจะสามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้

ดังนั้น หากยึดรัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด การสมัครเขตต้องเกิดขึ้นก่อนการสมัครบัญชีรายชื่อ จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่หมายเลขของเขตและบัญชีรายชื่อจะตรงกัน

หากแต่ร่างของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ได้ออกแบบอย่างพลิกแพลงให้การสมัครเขตในวันที่หนึ่ง ยังไม่ต้องรับหมายเลข และเอาหมายเลขของพรรคที่ได้จากการสมัครบัญชีรายชื่อในวันที่สองมาเป็นหมายเลขของผู้สมัครเขตในวันแรกและวันต่อๆ ไป เพียงแค่นี้ หมายเลขของเขตและหมายเลขพรรคก็จะเป็นหมายเลขเดียวกันทั้งประเทศได้

ไม่ใช่ว่าคณะรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาลคิดไม่เป็น ไม่ใช่ว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลฉลาดกว่า เพราะหากย้อนกลับไปดูร่าง พ.ร.ป.ส.ส. ฉบับที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเคยเผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2564 ก็เป็นการออกแบบตามหลักการพรรคเดียวเบอร์เดียวทั้งประเทศ

ร่างของ กกต.ที่นำเข้าการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ก็เป็นพรรคเดียวเบอร์เดียวทั้งประเทศ

แต่ ครม.กลับเลือกที่จะไม่ใช้ กลับไปซื่อตรงตามมาตรา 90 ของรัฐธรรมนูญซึ่งยังไม่มีการแก้ไขที่ต้องสมัครเขตให้เสร็จจึงสมัครบัญชีรายชื่อได้ และเป็นหลักการเดียวกันกับพรรคร่วมรัฐบาลที่ปรารถนาจะเห็นหมายเลขผู้สมัครในแต่ละเขตมีหมายเลขแตกต่างกันแบบเขตใครเขตมันและเป็นคนละเบอร์กับหมายเลขพรรค

 

เป็นความตั้งใจ ไม่ใช่ความไม่รู้ หรือไม่มีปัญญา

แต่จะด้วยสาเหตุอะไร คงต้องไปวิเคราะห์กัน

รอดูบทบาทคณะกรรมาธิการวิสามัญ

การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 49 คนเพื่อพิจารณาคำแปรญัตติในวาระที่สอง และหาข้อยุติในรายละเอียดก่อนการลงมติรายมาตราในวาระที่สองและลงมติรับหรือไม่รับทั้งฉบับอีกครั้งในวาระที่สามจึงเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่มีความหมาย

ยิ่งเห็นตัวกรรมาธิการทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และฝ่ายวุฒิสภา ที่ส่งกันเข้ามาเป็นระดับปรมาจารย์ทางการเมือง การเลือกตั้งที่ไม่แพ้ศักดิ์ศรีกัน ยิ่งรู้ว่า การถกเถียงเพื่อหาข้อยุติในขั้นกรรมาธิการคงดุเดือดเลือดพล่านไม่น้อย

กติกาที่กำลังจะแก้จะเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน หรือจะอ้างประชาชนเพื่อประโยชน์พรรคการเมืองมาออกแบบเพื่อประโยชน์ให้เกิดความได้เปรียบแก่ฝ่ายตนเป็นที่ตั้งโดยไม่สนใจหลักการที่ถูกต้อง ควรเป็นใดๆ

อีกไม่นานคงได้รู้กัน