หลังเลนส์ในดงลึก/”หนึ่งกันยายน”

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

“หนึ่งกันยายน”

กว่า 20 ปีมาแล้ว ช่วงปลายเดือนสิงหาคม ในหนังสือที่ผมมีงานอยู่ ผมจะเขียนงานเพื่อ “รำลึก” ถึงผู้ชายคนหนึ่ง

ผู้ชายซึ่งใช้กระสุนปืน 11 ม.ม. เป็นเครื่องมือทำให้ป่าที่เขาทำหน้าที่ปกป้องดูแล เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

ผู้ชายที่ชื่อ สืบ นาคะเสถียร

อีกสิ่งหนึ่งที่ผมทำคือ ส่วนใหญ่ผมจะใช้ชื่องานว่า “หนึ่งกันยายน”

หลายคนบอกผมว่า โชคดีมากที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับ “พี่สืบ”

ผมรู้สึกถึงความโชคดีอย่างยิ่งเช่นกัน

แต่จะพูดว่าได้ “ร่วมงาน” ไม่น่าจะตรงกับความเป็นจริงนัก

เรียกว่า มีโอกาสได้ช่วยพี่สืบแบกสัมภาระ และช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ จะตรงกับความจริงมากกว่า

ผมพบกับพี่สืบในช่วงเริ่มฝึกฝนการถ่ายรูป หลังจากดูนกอย่างเอาจริงมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว

การถ่ายรูปนกน้ำ คือการฝึกฝน

และการได้ติดตามพี่สืบไปถ่ายรูปในอ่างเก็บน้ำของเขตห้ามล่า อ่างเก็บน้ำบางพระ คือการเริ่มต้นที่ดี

ไม่เพียงความเอาจริง แต่สิ่งที่ได้จากการตามพี่สืบไปถ่ายรูป ผมได้รับการสั่งสอนสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง

“อย่าคิดแต่จะทำให้ได้รูป ต้องระวังอย่าให้เป็นการรบกวนนกมากเกินไป”

พี่สืบบอกเมื่อเราเข้าไปทำซุ้มบังไพร เพื่อถ่ายรูปนกน้ำ ซึ่งกำลังกกไข่และเลี้ยงลูก

วันหนึ่ง เรือลำเล็กๆ ที่เราใช้ ล่ม

เราพร้อมกับเครื่องมือตกลงน้ำ

ที่จริงมันควรเป็นความผิดของผมในการพายเรืออย่างเก้ๆ กังๆ

ขณะผมเป็นห่วงเครื่องมือ

“ช่างมันเถอะ คนไม่เป็นไรก็ดีแล้ว” พี่สืบพูด

เป็นประโยคที่ผมจำได้ทั้งน้ำเสียงและแววตาของคนพูดได้เสมอ

การได้รู้จักพี่สืบ ทำให้ผมได้รู้จักเพื่อนๆ ของพี่สืบด้วย อย่างพี่วีรวัธน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวร พี่นพรัตน์ ที่ทำหน้าที่หัวหน้าสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ รวมถึงพี่เอิบ และอีกหลายๆ คน

พวกเขาไม่ได้เป็นแค่ “พวกป่าไม้”

แต่คือ “ต้นแบบ” ของคนจำนวนมากที่สนใจธรรมชาติ

พี่สืบพาผมไปป่าห้วยขาแข้ง ในปี พ.ศ.2528

นั่นคือ การไปป่านี้เป็นครั้งแรกของผม

เราไปพักอยู่ที่เขานางรำหลายวัน

วันนั้น ผมไม่รู้หรอกว่าจะวนเวียนอยู่ในป่าแห่งนี้อย่างเนิ่นนาน

และผมก็เชื่อว่าในวันนั้น

พี่สืบเองก็คงยังไม่รู้หรอกว่า ที่นี่จะเป็น “บ้าน” ที่พี่สืบจะอยู่ไปตลอดกาล

1กันยายน พ.ศ.2540

พิธีทำบุญง่ายๆ จบสิ้นลง คนแยกย้ายกันกลับหน่วยพิทักษ์ป่า บางคนถือโอกาสกลับบ้าน พวกเขาหลายคนมีบ้านอยู่ในหมู่บ้านที่ได้รับการจัดสรรให้

ทุกคนเรียกหมู่บ้านแห่งนี้ว่า หมู่บ้านป่าไม้

ตั้งแต่ดั้งเดิม พวกเขามีพื้นที่ทำกิน และหมู่บ้านอยู่ในพื้นที่ซึ่งได้รับการประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

เกือบทุกคนมีทักษะในการทำไร่ และเป็นพรานที่เชี่ยวชาญ

เมื่อถูกโยกย้ายออกมาอยู่ข้างนอก พวกเขาเข้าทำงานเป็นคนงานในเขต จากคนงานธรรมดาๆ หลายคนพัฒนา อาศัยทักษะและความชำนาญพื้นที่ สอบบรรจุเป็นพนักงานพิทักษ์ป่าได้

ถึงวันนี้ หลายคนทยอยเกษียณ รุ่นลูกก็เข้าทำงานต่อ

ในระหว่างปี พวกเขาบางคนไม่ได้พบปะ แม้ว่าจะอยู่หมู่บ้านเดียวกัน แต่ช่วงเวลาพักไม่ตรง อีกทั้งการเดินทางก็ไม่ง่ายนัก คิดถึงก็ทำเพียงส่งเสียงทักทายโดยวิทยุสื่อสารเท่านั้น

แต่เมื่อถึงวันที่ 1 กันยายนของทุกๆ ปี

ทุกคนจะมารวมกันที่สำนักงานเขตเพื่อร่วมพิธีทำบุญเลี้ยงพระ

และรำลึกถึงเสียงปืน 11 ม.ม. นัดหนึ่ง

เสียงปืนที่นำพาชีวิต “หัวหน้าสืบ” ของพวกเขาไป

ผมร่วมเดินทางไปกับสมพงษ์ และลูกน้องเขาอีกสองคน ด้วยรถกระบะสีขาวมอมๆ

หลังเสร็จพิธี เราแวะซื้อเสบียงจากร้านค้าเจ้าประจำ

หลังผ่านหมู่บ้านสุดท้าย ฝนทำให้เส้นทางค่อนข้างลื่นไถล ระดับน้ำในห้วยสูงท่วมล้อรถ

พวกเขารีบกลับหน่วย เพราะรุ่งขึ้นจะออกเดินลาดตระเวน ในช่วงเวลาที่ยังไม่ได้ใช้การลาดตระเวนเชิงคุณภาพเป็นเครื่องมือ การเดินยังไม่เป็นระบบนัก

อาทิตย์ที่ผ่านมา ด่านตรวจทหารพรานตรวจพบรถกระบะที่ขนซากสัตว์ป่า มีชิ้นส่วนเสือโคร่งซุกใต้เบาะ อีกสองวันต่อมา สายตรวจจับผู้ต้องหาได้ 5-6 คน พร้อมซากค่างจำนวนหนึ่ง

เสียงปืนในป่าดังขึ้นเสมอ

บางครั้งดังเพียงแว่วๆ

บางนัดดังกึกก้อง ที่ไม่ต่างกันคือ

เมื่อปืนเงียบเสียง จะมีชีวิตต้องจากไป

สมพงษ์บังคับรถไต่ขึ้นเส้นทางที่ขนาบด้วยป่าเต็งรัง

“13 ปีก่อนคุณอยู่ที่ไหน” เขาหมายถึงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2533

“มาเลเซีย” ผมตอบ

“กำลังเดินขึ้นยอดคินาบาลู ยอดสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” สมพงษ์พยักหน้า

“ผมอยู่ที่เขต นั่นแหละตอนนั้นยังไม่บรรจุ ได้ยินเสียงปืนแว่วๆ เหมือนกัน แต่ไม่ได้สงสัยอะไร สายๆ ถึงรู้เรื่อง”

“เสียงปืนนัดนั้น ผมได้ยินแว่วๆ แต่มันดังมากนะครับ จากวันนั้น ใครๆ ก็รู้จักป่าห้วยขาแข้ง มีคนเข้ามาช่วยมากมาย มีโครงการต่างๆ เต็มไปหมด”

ไม่ผิดนัก หากจะเรียกสิ่งเหล่านั้นว่า “สรรพกำลัง” ที่เข้ามาช่วยกันปกป้องป่าแห่งนี้

เวลาผ่านไป สรรพกำลังอ่อนแรงลง

คล้ายเป็นเรื่องธรรมดา

ที่น่าแปลกใจคือ เสียงปืน 11 ม.ม. นัดนั้น

ไม่เคยจางหาย แต่ดูเหมือนจะดังขึ้นทุกๆ ปี

ปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ.2560

อีกวันสองวัน จะถึงวันที่ 1 กันยายนอีกครั้ง

วันนั้น จะมีคนจำนวนมากไปรวมตัวที่บริเวณรูปปั้นผู้ชายร่างสูง เสื้อยับๆ สวมแว่น ห้อยกล้อง ยืนมองเข้าไปในผืนป่ากว้าง

เวลาผ่านมาแล้ว 27 ปี ที่ผู้ชายคนนี้ใช้ชีวิตตนเองประกาศให้โลกรู้ถึงความสำคัญของแหล่งอาศัยของพืชพันธุ์และสัตว์ป่าแห่งนี้

ทุกๆ ปี ผมร่วมอยู่ในงานรำลึกถึงพี่สืบ จากปีแรกๆ ซึ่งเป็นเพียงงานเล็กๆ ทำบุญเลี้ยงพระ โดยเจ้าหน้าที่ซึ่งพร้อมใจกันมา งานใหญ่ขึ้น และมีคนมาร่วมมากขึ้น

ผมนึกถึงครั้งแรกที่ได้มาป่าห้วยขาแข้งกับพี่สืบ

และในวันที่หนึ่งกันยายน

จะมีงานชิ้นหนึ่งที่เขียนถึงพี่สืบ

ในคืนวันที่ 31 สิงหาคม แสงเทียนจะวับแวมอยู่รายรอบรูปปั้นผู้ชายร่างสูง

ทุกคนจะสงบนิ่ง

รำลึกถึงผู้ชายคนหนึ่ง

การกระทำของเขา ทำให้ผืนป่าใหญ่คงอยู่

และทำไห้เขาไม่เคยจากไปไหน…