ถ้าเราต้อง One For The Road / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

ถ้าเราต้อง One For The Road

 

One For The Road เป็นผลงานภาพยนตร์ลำดับที่ 3 ของผู้กำกับฯ “บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ” ที่เคยทำให้ “ฉลาดเกมส์โกง” ไปไกลถึงตลาดโลกมาแล้วเมื่อ 5 ปีก่อน

หลังจากเรื่องนั้น แฟนหนังก็รอคอยว่าบาสจะกลับมาด้วยงานรสชาติไหนเป็นลำดับต่อไป

และเราก็พบว่า One For The Road เป็นรสชาติแบบ cocktail ที่เป็นองค์ประกอบหลักของเรื่องเป็น นั่นคือ มีหลากหลายรสชาติ อะไรหลายอย่างที่ไม่น่าจะเข้ากันก็มาอยู่รวมกันได้ และเกิดเป็นรสชาติใหม่ ถ้าเป็นเครื่องดื่มก็ละมุนลิ้น ถ้าเป็นหนังก็ละมุนใจ

ผมให้นิยามหนังเรื่องนี้แล้วกันว่าเป็นหนังละมุนใจเรื่องหนึ่ง

 

จากแวดวงชีวิตนักเรียนชั้นมัธยมปลายในหนัง “ฉลาดเกมส์โกง” คราวนี้บาสเสนอชีวิตที่โตขึ้นของคนทำงานแบบปากกัดตีนถีบ แต่ละชีวิตเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว สู้กับความสุขทุกข์ของชีวิตมาสักพักใหญ่ และบางคนก็สู้จนมาถึงช่วงสุดท้ายของชีวิตอย่าง “อู๊ด” ที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย

จากแก่นแกนของเรื่องว่า ถ้าถึงเวลาสุดท้ายของชีวิตแล้ว เราอยากจะทำอะไรมากที่สุด

ความจริงประเด็นเรื่องอย่างนี้ไม่ใช่ประเด็นใหม่ในการทำภาพยนตร์ แต่ใน One For The Road บาสได้หยิบมานำเสนอด้วยความซับซ้อนของชีวิตที่ซุกซ่อนอยู่ และมีความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ที่ไม่มีใครสมบูรณ์ มีที่ทำผิดและทำถูก มีทั้งเสียใจและสุขใจ สมหวังและผิดหวัง

แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร หากเราตระหนักได้ว่าเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิตแล้ว เราคงได้คิดอะไรมากขึ้น

 

เมื่อได้รับรู้เบื้องหลังว่ากว่าจะมาเป็นหนังเรื่องนี้ได้ บาสต้องพบกับความผิดหวัง เสียใจ และสับสนในความผิดถูกมาก่อน

เพราะโปรเจ็กต์ที่ตั้งใจจะทำแต่แรกโดยมีผู้กำกับฯ ระดับตำนานชาวฮ่องกง หว่อง กา ไว เป็นผู้อำนวยการสร้างนั้นไม่ผ่าน หลังจากเสียเวลาในการพัฒนามาเป็นปีๆ สุดท้ายก็ต้องโยนมันทิ้งไป

สำหรับคนทำหนังแล้ว หนังเรื่องหนึ่งเปรียบได้กับลูกของเขาทีเดียว ลูกในท้องยังใช้เวลา 9 เดือนก็คลอดออกมาให้เราได้เชยชมแล้ว แต่กับหนังหนึ่งเรื่องใช้เวลามากกว่านั้น และหนังในโปรเจ็กต์แรกของบาสกับหว่อง กา ไว ที่ตั้งใจก็แท้งคาท้องที่มีอายุครรภ์กว่าหนึ่งปี เมื่อเราต้องโยนมันทิ้งก็เหมือนเราเป็นหมอตำแยที่ทำแท้งเสียเอง

แต่สิ่งที่ได้มาใหม่ มันเป็นหนังที่ได้สำรวจเข้าไปในความรู้สึกและชีวิตของบาสอย่างจริงๆ จนออกมาเป็น One For The Road ตอนที่โปรเจ็กต์แรกยังลูกผีลูกคนอยู่นั้น หว่องได้บอกกับบาสว่า

“ถ้าไม่รู้สึกกับมันจริงๆ ก็อย่าทำ”

เราจึงมั่นใจว่า One For The Road เป็นสิ่งที่บาสรู้สึกและอยากทำมันออกมาจริงๆ

 

หนังพาเราติดตาม “อู๊ด” (ไอซ์ซึ-ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์) ที่ชวน “บอส” (ต่อ-ธนภพ ลี รัตนขจร) ช่วยขับรถพาเขาตระเวนไปพบกับแฟนเก่า(ส์) เพราะมีหลายคน ด้วยว่าเขาอยากจะมอบของให้ ก่อนจะจากลากันไป แต่ของที่มอบนั้นเป็นเพียงข้ออ้าง แท้จริงแล้วเขาอยากกลับไป “ขอโทษ” คนเหล่านั้นต่างหาก

เราค่อยเรียนรู้เรื่องราวความสัมพันธ์ของแฟนแต่ละคนที่มีกับอู๊ด และลุ้นว่าในภารกิจสุดท้ายนี้จะลงเอยอย่างไร ซึ่งบาสก็เลือกให้แต่ละคนที่อู๊ดกลับไปพบเจอ จบลงด้วยผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งก็นี่แหละชีวิต ที่มีหลากหลายรสชาติเหมือนกับ cocktail ดังว่า

และในครึ่งเรื่องหลัง หนังค่อยเปิดเผยว่า คนที่อู๊ดอยากกลับมาขอโทษมากที่สุดก็คือ “บอส” เพื่อนคนเดียวของเขายามนี้ และของที่เขาอยากเอากลับมาคืนให้บอสไม่ใช่สิ่งของที่ไร้ชีวิตแต่อย่างใด หากเป็น “แฟนเก่า” ของบอส ที่ชื่อ “พริม” ที่รับบทโดยวี-ไวโอเล็ท วอเทียร์

จากนั้นเราก็จะได้ย้อนรู้จักชีวิตของบอสอย่างลึกซึ้ง หลังจากที่ครึ่งแรกเรารับรู้เพียงว่าบอสเป็นชายหนุ่มเจ้าสำราญ เป็นเจ้าของบาร์ที่นิวยอร์ก ที่ใช้ชีวิตอย่างเริงร่ามากโดยเฉพาะกับผู้หญิง ที่เขารู้สึกเป็นของเล่น และทางผ่านสนุกๆ เท่านั้น

เรียกได้ว่าบอสเป็นคนไม่จริงจังกับชีวิต ในขณะที่อู๊ดอยู่ในห้วงของการจริงจังต่อชีวิตที่สุดแล้ว เพราะเวลาของตัวเองเหลือน้อยลงไปทุกที

หากย้อนมาคิดถึงชีวิตจริงของเรา หลายคนคิดว่าคงจะดีหากเราได้รู้กำหนดเวลาชีวิตของเราว่าจะจบลงเมื่อไหร่ เพื่อที่เราจะได้คิดว่าจะทำอะไรให้ดีที่สุดในห้วงเวลาสุดท้ายนี้

 

เจ เอส แอล เคยทำรายการทอล์กโชว์แนวชีวิตที่ชื่อ “วันสุดท้าย” ออกทางช่องโมเดิร์นไนน์ ทีวี เมื่อราว 10 ปีก่อน โดยให้โจทย์กับแขกรับเชิญว่า ถ้าคุณเหลือเวลาในชีวิตอีกเพียง 7 วันคุณอยากจะทำอะไรมากที่สุด

แขกรับเชิญที่มาเป็นคนดังในวงการ ตอนตอบตกลงมาออกรายการใช้เวลาไม่นาน แต่ที่ใคร่ครวญอยู่นานคือ “ฉันจะทำอะไรดี”

อย่างน้อยรายการก็ได้เปิดพื้นที่ให้คนเหล่านั้นได้หันไปขบคิดดู ซึ่งเขาและเธออาจจะไม่เคยคิดมาก่อน หรืออาจจะคิดแบบไม่จริงจังมาแล้ว แต่ครั้งนี้รายการเอาจริง

แน่นอนที่แขกรับเชิญส่วนใหญ่ เลือกที่จะให้เวลาช่วงสุดท้ายกับครอบครัวในแง่มุมที่แตกต่างกัน แต่ที่เหมือนกันคือ การได้ใช้เวลาสุดท้ายกับครอบครัวที่หมายถึงพ่อและแม่ที่สร้างความอบอุ่นใจให้กับตนเอง

“หนุ่ม กรรชัย” เลือก “ทำ” ได้น่ารักมาก หนุ่มขอเพียงได้พาพ่อไปเดินเล่นกันริมทะเลสวยงามและสงบเท่านั้น ทำให้นึกถึงภาพพ่อกับลูกเดินเล่นกันริมทะเลในฉากที่เป็นครั้งสุดท้ายที่พ่อกับลูกชายจะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ในหนัง About Time ขึ้นมาทันที

ส่วน “หนุ่ม ศรราม” ที่มาออกในรายการและตอบคำถามรายการว่า เขาจะบวชให้พ่อแม่ และผู้มีพระคุณ เพราะเขารู้สึกว่าการบวชเพื่อตอบแทนคนที่มีพระคุณกับเรา เป็นความสำคัญยิ่งเพื่อแสดงความกตัญญูและความขอบคุณที่พ่อแม่ และคนเหล่านั้นมีให้กับชีวิตทั้งหมดที่ผ่านมาของเขา

“เปิ้ล จารุณี” อดีตนางเอกหนังไทยที่ครั้งหนึ่งเคยประสบอุบัติเหตุจากการถ่ายทำ เพราะตกลงมาจากรถจี๊ปที่ขับโดยพระเอกสรพงศ์ ชาตรี จารุณีต้องพักการแสดงที่เคยมีทุกวันเพื่อรักษาตัวให้หายพอจะกลับมาทำงานแสดงได้อีก ถึงกระนั้นก็รู้ว่าร่างกายตนเองไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ลึกๆ แล้วเธอรู้สึกโกรธคุณเอก สรพงศ์ มาก แต่ไม่เคยได้บอกหรือแสดงออก

เมื่อโยนโจทย์ของรายการให้เธอคิด เธอก็ได้ใคร่ครวญกับตัวเองและบอกว่า ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เธออยากจะให้อภัยคุณสรพงศ์ และจะไม่ผูกใจโกรธเหมือนที่เป็นมาอีกต่อไป และเธอได้กล่าวในรายการว่า พอได้พูดอย่างนี้ รู้สึกอย่างนี้ ก็รู้สึกโล่งอก ปลอดโปร่งในใจขึ้นมาทันที

นี่เองที่พระท่านเคยสอนให้คนเรารู้จักการให้อภัย ซึ่งเป็นการกระทำที่ยิ่งใหญ่ เพราะการชนะใจตนเองนั้นยากที่สุด หากให้อภัยคนอื่นได้ เราก็จะอยู่บนโลกนี้อย่างเป็นสุข หรือถ้าจะไปก็จะจากไปอย่างสงบ ไม่ติดค้างอะไรกับใคร

 

มีหลายคนที่เลือกจะ “กล่าวคำขอโทษ” กับคนที่ใกล้ชิด หรือกับคนที่ตนเคยทำไม่ดีไว้ ซึ่งแม้จะเป็นเพียงการกล่าวในรายการ ไม่ใช่ 7 วันสุดท้ายจริงๆ แต่เขาก็รู้สึกเหมือนกับว่าได้ปลดโซ่ตรวนอันหนักอึ้งบางอย่างออกไปจากใจ

คงเหมือนกับ “อู๊ด” ในหนัง One For The Road ที่อยากจะกล่าวคำขอโทษให้กับแฟนเก่าของเขา แม้บอสจะบอกว่า มันเท่ากับกลับไปเปิดแผลที่เขาเคยเจ็บมา ก็ตาม

เมื่อเราไม่สามารถรู้ว่าเราจะถึงวันสุดท้ายเมื่อไหร่ หากเราคิดว่า ณ ขณะนี้เวลานั้นได้มาถึงแล้ว ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้คิด ทบทวน เรื่องราวในชีวิตและจิตใจตนเองว่าเราน่าจะทำอย่างไร และเราก็เพียงแต่ลงมือทำในขณะที่เรายังมีชีวิตอยู่ก็น่าจะดี

ในหนังนอกจากความค้างคาเรื่องแฟนเก่าแล้ว อู๊ดยังมีเรื่องคาใจที่สำคัญกับพ่อของเขา ด้วยในวันที่พ่อป่วยเป็นมะเร็งจนเสียชีวิตลง เขาอยู่เมืองนอกและไม่สามารถจะเดินทางกลับมาร่วมงานศพพ่อได้

ในโอกาสนี้เขาจึงชดเชยโดยการไปหาพ่อที่เจดีย์เล็กที่บรรจุอัฐิของพ่อ และนำมันออกมา อย่างน้อยแม้เขาจะไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับพ่อในวันสุดท้ายของชีวิตพ่อ แต่วันนี้เขายังได้อุ้มโกศที่ใส่อัฐิของพ่อไว้ในมือ ฉากที่เขาอยู่บนรถที่แล่นไปและโปรยเถ้าของผู้เป็นพ่อให้ลอยไปตามสายลม เหมือนเป็นการได้ปลดปล่อยทั้งความรู้สึกผิดในใจเขา และปลดปล่อยพ่อคืนสู่ธรรมชาติ

ในหนังได้เพลง “Father and Son” มาประกอบอย่างถูกจังหวะและลงตัวยิ่ง ส่งผลให้มันกระแทกใจผู้ชมที่เป็นพ่อและเป็นลูกได้ไม่น้อยเลย

 

เรื่องราวของตัวละครในหนังเรื่องนี้ พาให้เรารู้สึกอยากย้อนไปสำรวจความสัมพันธ์ของเรากับคนอื่นๆ เพื่อทบทวนว่าเราและเขาเป็น cocktail รสชาติใด

และเราก็จะได้คำตอบกับตัวเองว่า ไม่ว่าจะดื่ม cocktail กี่ชื่อกี่รสก็ตาม แต่สุดท้ายเราก็ต้องดื่มกับตัวเราเองเพียงลำพังคนเดียวในโลกใบนี้ และควรเป็นการดื่มอย่างมีความสุขด้วย หากเราได้สำรวจใจของเราอย่างท่องแท้แล้ว

One For The Road จึงเป็นหนังที่ผมบอกไว้ตอนต้นว่า “ละมุนใจ” นั่นเอง