กสอ. ผลักดันสถานประกอบการเร่งพัฒนาต้นแบบ BCG Economy Model เพื่อขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยกองพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ดำเนินการจัดกิจกรรมการพัฒนาสถานประกอบการด้วย BCG Economy Model เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยใช้หลัก BCG Economy Model ให้อุตสาหกรรมต่อยอดและขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยในกิจกรรมดังกล่าวได้ พัฒนาต้นแบบขึ้นด้วยกัน 3 ต้นแบบ ได้แก่ ต้นแบบผ้าปิดจมูกจากเส้นใยธรรมชาติ ต้นแบบเครื่องฆ่าเชื้อธนบัตร และต้นแบบถุงมือจับอาหารจากยางพารา

ในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ต้นแบบผ้าปิดจมูกจากใยธรรมชาติ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ร่วมพัฒนากับ บริษัท ซิมพลิ เด็ดคอร์ จำกัด (แบรนด์ ปาป้า เปเปอร์ คราฟต์) จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากกระดาษสาและกระดาษจากใยธรรมชาติหลายชนิด โดยผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่กำลังพัฒนาภายใต้โครงการฯ คือ “หน้ากากปิดจมูกจากเส้นใยกัญชง” ด้วยคุณสมบัติของเส้นใยกัญชง ที่สามารถป้องกันฝุ่นและระบายอากาศได้ดี ไม่ก่อให้เกิดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย โดยกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นบุคคลที่ชอบออกกำลังกายและบุคคลทั่วไปที่ต้องการหน้ากากปิดจมูกที่มีอากาศไหลเวียนได้ดี หน้ากากปิดจมูกจากเส้นใยกัญชงจึงตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งยังช่วยเพิ่มมูลค่าของพืชเศษฐกิจบนพื้นที่สูง รวมถึงการขยายตัวของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่บนพื้นฐานของ BCG Model การเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ทั้งในด้านการปลูกและการตัดเย็บต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ประมาณ 5 แสน – 1 ล้านบาทต่อปี

ด้านการพัฒนาต้นแบบเครื่องฆ่าเชื้อธนบัตรทางกรมฯ ได้ร่วมพัฒนากับ บริษัท กษมา เฮลิคอปเตอร์ จำกัด จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องปั๊มจานใบไม้สู่ชุมชน โดยผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่กำลังพัฒนาภายใต้โครงการฯ คือ “เครื่องฆ่าเชื้อธนบัตร” ซึ่งใช้หลักการการฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC ที่มีความยาวคลื่น 254 นาโนเมตรจากงานวิจัยต่างๆ ที่อ้างว่ารังสี UVC สามารถทำลายเชื้อโรคได้ในระดับ DNA ต้นแบบนี้ได้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อจากห้องปฏิบัติการแล้ว พบว่าสามารถฆ่าเชื้อ S.aureus ที่เป็นแบคทีเรียแกรมบวก ได้ภายใน 2 วินาที อีกทั้งยังช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากธนบัตรสู่คนได้ ซึ่งจากการทดสอบนี้สามารถขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต โดยคาดว่าจะช่วยลดค่าเสียโอกาสต่างๆ เมื่อนำเครื่องฆ่าเชื้อธนบัตรไปใช้งาน ซึ่งคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 10 – 12 ล้านบาทต่อปี

และในส่วนของกิจกรรมพัฒนาต้นแบบถุงมือจับอาหารจากยางพารา ทางกรมฯ ได้ร่วมพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์กับบริษัท อุตสาหกรรมยางไทยหยก จำกัด จังหวัดเชียงราย ทางบริษัทฯ เป็นผู้นำด้านการผลิตถุงมือยางสำหรับการใช้งานอเนกประสงค์ทั่วไป โดยผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่กำลังพัฒนาภายใต้โครงการฯ คือ “ถุงมือหยิบจับอาหารจากยางพารา” ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือมีปุ่มที่บริเวณฝ่ามือเพื่อลดการช้ำของพืชผักผลไม้ ทางบริษัทฯ พร้อมขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์ โดยเจาะกลุ่มผู้บริโภคอุตสาหกรรมอาหารที่เป็นกลุ่มตลาดใหม่ของบริษัท ซึ่งจากการพัฒนาต้นแบบถุงมือยางพารานี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับแรงงานภายในพื้นที่และผู้ประกอบการยางพาราที่เป็นต้นน้ำได้ในวงกว้าง โดยคาดว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ประมาณปีละ 7 – 8 ล้านบาท