‘พ้นความโกโรโกโส’ : ระบอบของมนุษย์ โดยมนุษย์ เพื่อมนุษย์ ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2476/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

‘พ้นความโกโรโกโส’

: ระบอบของมนุษย์ โดยมนุษย์ เพื่อมนุษย์

ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2476

 

“การเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามนี้เก่งมาก. ครั้งนี้แหละ ที่น่าหวังว่า ประเทศสยามจะพ้นความโกโรโกโสอย่างที่เคยมีอยู่ก่อน! …ประเทศสยามเป็นของชาวสยามทั่วทุกคน. ไม่ใช่ประเทศจำเพาะของคนหมู่หนึ่ง, ประเภทหนึ่งเท่านั้น…”

(ทรงขิม สีบุญเรือง, 2475)

 

งานฉลองรัฐธรรมนูญ คืองานรื่นเริงที่มีพลเมืองเป็นศูนย์กลางที่สร้างความตื่นตัวให้กับเหล่าพลเมืองเป็นอย่างมากในการจัดงาน สนับสนุน บริจาค และรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของต่องาน

ฉลองรัฐธรรมนูญจึงแตกต่างไปจากงานเฉลิมฉลองในระบอบเก่าที่ราษฎรเป็นเพียงตัวประกอบ

(ปรีดี หงษ์สต้น, 2562)

เหรียญวิ่งมาราธอน 2476 และอาคารสโมสรคณะราษฎร เปิดในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2476

“สยามจะพ้นความโกโรโกโสอย่างที่เคยมีอยู่ก่อน!”

งานฉลองรัฐธรรมนูญปีแรกในเดือนธันวาคม 2475 ดูประหนึ่งจัดขึ้นท่ามกลางความประนีประนอมรอมชอมระหว่างคณะราษฎรกับสถาบันกษัตริย์และกลุ่มอนุรักษนิยม

แต่ไม่นานหลังจากฉากทัศน์ก็เปลี่ยนอย่างฉับพลัน การต่อต้านก็เริ่มต้นขึ้นจากการปิดสภาผู้แทนฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญ ติดตามด้วยการโยกย้ายคณะราษฎรออกจากการกุมกำลังทางการทหารพร้อมย้ายนายทหารกลุ่มอำนาจเก่ากลับมาแทน

แต่คณะราษฎรตอบโต้กลับด้วยการรัฐประหารในเดือนมิถุนายน 2476 ตามด้วยการก่อกบฏด้วยกำลังการทหารในเดือนตุลาคมของกลุ่มอนุรักษนิยมในปลายปีนั้นเอง

ภายหลังชัยชนะของรัฐบาลคณะราษฎรมีชัยเหนือกบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม 2476 แล้ว รัฐบาลขยายระยะเวลาของงานฉลองรัฐธรรมนูญที่เคยมีเพียง 3 วันเป็นเวลาถึงครึ่งเดือน

คือ งานเริ่มตั้งแต่ 28 พฤศจิกายน ไปจนถึง 12 ธันวาคม

รวมทั้งขยายขนาดของสถานที่ในการจัดงานออกไปในหลายสถานที่ เช่น ท้องสนามหลวง วังสราญรมย์ ท่าราชวรดิษฐ์ เขาดินวนา (ปรีดี หงษ์สต้น, 2562, 92)

ขุนจำนงภูมิเวท สมาชิกคณะราษฎร ได้เคยเสนอความเห็นถึงการเคารพเทิดทูนรัฐธรรมนูญในงานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นไปเพื่อเตือนให้ระลึกถึงคณะราษฎร ผู้นำการปฏิวัติและการมีรัฐธรรมนูญทำให้ไทยเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย และสร้างชาติไทยให้เจริญก้าวหน้า รวมถึงยังผลให้ประเทศชาติในด้านต่างๆ ตลอดจนคุณภาพชีวิตของพลเมืองก็มีการพัฒนามากขึ้นเป็นทวีคูณ (ศรัญญู เทพสงเคราะห์, 2562, 39-40)

ทั้งนี้ ผู้รับบทแม่งานในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญ คือ สโมสรคณะราษฎร พร้อมกับสมาชิกคณะราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนฯ และข้าราชการะดับสูง เป็นผู้รับผิดชอบจัดงานยิ่งใหญ่ดังกล่าว

กรรมการสมาคมคณะราษฎร 2475 และเข็มงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2476

ขยายงานฉลองรัฐธรรมนูญให้ยิ่งใหญ่

หลังปราบกบฏบวรเดช

สาเหตุหนึ่งแห่งการขยายงานฉลองรัฐธรรมนูญในปี 2476 เป็นงานขนาดใหญ่โต เนื่องจากรัฐบาลต้องการให้งานฉลองนี้เป็นงานที่ยืนยันถึงสถานะของรัฐธรรมนูญอันเป็นการปกครองที่มีกฎหมายสูงสุดแทนการปกครองที่ยึดถือพระมหากษัตริย์ (ชาตรี ประกิตนนทการ, 2563, 230)

ภายหลังความพ่ายแพ้ของกบฏบวรเดช พระปกเกล้าฯ ทรงร่วมงานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2476 เป็นครั้งสุดท้าย จากนั้นพระองค์เสด็จพระราชดำเนินยุโรปเพื่อรักษาพระเนตรตั้งแต่ 12 มกราคม 2477 จากนั้น ทรงสละราชย์ที่ลอนดอน เมื่อเดือนมีนาคม 2478 ในท้ายที่สุด

นายทรงขิม สีบุญเรือง บุตรของนายเซียงฮุดเส็ง-ปัญญาชนที่มีบทบาทในการสนับสนุนการเก็กเหม็งในจีนและการปฏิวัติ 2475 ในไทย ทรงขิมเขียนจดหมายลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2475 เล่าความตื่นเต้นในข่าวการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ภราดา ฟ.ฮีแลร์ ในอัสสัมชัญอุโฆษสมัย ฟังว่า

“การเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามนี้เก่งมาก. ครั้งนี้แหละ ที่น่าหวังว่า ประเทศสยามจะพ้นความโกโรโกโสอย่างที่เคยมีอยู่ก่อน! ผม ผู้ซึ่งมีเลือดไทยอยู่ในร่างกายจะไม่รู้สึกภูมิใจอย่างไร ที่เห็นประเทศสยามเป็นของชาวสยามทั่วทุกคน. ไม่ใช่ประเทศจำเพาะของคนหมู่หนึ่ง, ประเภทหนึ่งเท่านั้น แต่นี้ไปชาวสยามทุกคนควรจะต้องมีความรู้สึกดังนี้ และช่วยกันพยายามแบกภาระของประเทศ นำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศ ให้สมชื่อว่าเป็นไทย สามารถจะเดินเทียมทันบ่าไหล่ของชาวอารยชนได้เหมือนกัน.” (อัสสัมชัญอุโฆษสมัย เล่ม 76 , 2475, หน้า 212-213)

รัฐบาลขยายขนาดของสถานที่ในการจัดงานฉลองรัฐธรรมนูญออกไปในหลายสถานที่ เช่น ท้องสนามหลวง วังสราญรมย์ ท่าราชวรดิษฐ์ เขาดินวนาด้วย

ที่ท้องสนามหลวงมีพลับพลาประดิษฐานรัฐธรรมนูญตั้งเด่นเป็นสง่า มีขบวนแห่รัฐธรรมนูญติดด้วยขบวนรถตบแต่งจากหน่วยราชการและเอกชนเข้าร่วมขบวนแห่นั้นด้วย เช่น ขบวนรถถัง รถรบแบบต่างๆ มีเครื่องบินจำลองที่ติดตั้งบนจักรยาน มีรถบรรทุกลากเครื่องบินปีกสองชั้นเข้าร่วมขบวนด้วย มีรถแห่จากร้านค้าเอกชน เช่น หอการค้า สินค้าต่างๆ มีขบวนจักรยานโฆษณาสินค้าด้วย เช่น โอวัลติน เป็นต้น

นอกจากนี้ รอบๆ งานและบริเวณงาน มีร้านค้าหาบเร่สามารถเร่ขายสินค้าอาหารได้อย่างอิสระ สร้างความครึกครื้นให้กับประชาชนผู้เข้าร่วมงานเป็นอย่างมาก

ที่ท่าราชวรดิษฐ์ริมเจ้าพระยา กองทัพเรือเปิดให้ประชาชนขึ้นชมเรือรบอีกด้วย นอกจากมีขบวนแห่รัฐธรรมนูญทางบกแล้ว ยังมีการจัดเรือขบวนแห่รัฐธรรมนูญในน้ำด้วย

ขบวนแห่รัฐธรรมนูญในเจ้าพระยาประกอบด้วยเรือรบ เรือยาว เรือกลไฟ เรือเมล์ เรือแจวของประชาชน แบบจำลองเครื่องบินน้ำ แบบจำลองเรือดำน้ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ บนท้องฟ้าในแถบนั้น ปรากฏเครื่องบินโปรยข้าวตอกดอกไม้เหนือท้องฟ้าอีกด้วย

ทั้งนี้ งานออกร้านของหน่วยราชการและเอกชนและงานรื่นเริงจำนวนหนึ่งจัดขึ้นในสวนสราญรมย์ จากความทรงจำของผู้เข้าไปเที่ยวชมงานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2476 คนหนึ่งเล่าว่า เขาเห็นอาคารที่ทำการสโมสรคณะราษฎรที่สร้างเสร็จแล้วในสวนสราญรมย์นั้นด้วย (ทรงพันธุ์ บุนนาค, 2507)

พระปกเกล้าฯ เสด็จฯ งานฉลองรัฐธรรมนูญ เมื่อ 12 ธันวาคม 2476 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงาน

ระบอบของมนุษย์ โดยมนุษย์ เพื่อมนุษย์

มีร่องรอยว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญปี 2476 จัดแข่งขันกีฬาอันแสดงความแข็งแกร่งของพลเมืองหลายชนิด จากความทรงจำงานฉลองรัฐธรรมนูญของสงวน โภโต นักเรียนมัธยมปลายในช่วงเวลานั้น เขาบันทึกว่า งานฉลองรัฐธรรมนูญมีกิจกรรมทั้งในยามกลางวัน มีการแข่งขันกีฬาต่างๆ ทั้งกีฬาทางบกและทางน้ำ กีฬาบนบก เช่น เตะตะกร้อวงใหญ่ ตะกร้อข้ามข่าย ที่ท้องสนามหลวง เป็นต้น

การแข่งขันกีฬาของพลเมืองระบอบประชาธิปไตยบนทุ่งพระเมรุของระบอบเก่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ของสนามหลวงกลายเป็นสนามราษฎร์ไปเสียแล้ว

หลักฐานที่หลงเหลือ คือ เหรียญวิ่งมาธอนอันเป็นเหรียญรูปทรงโล่ มีข้อความว่า “ที่ระลึกวิ่งทน 6,000 เมตร” กลางเหรียญเป็นนักวิ่งทนสองคนกำลังวิ่งแข่งขันกันอย่างเต็มที่ มีข้อความด้านล่างว่า “งานฉลองรัฐธรรมนูญ 2476”

นอกจากนี้ ยังมีการแข่งขันกีฬาทางน้ำ เช่น การแข่งเรือ การแข่งว่ายน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยา นักเรียนมัธยมร่วมสมัยบันทึกสิ่งที่พบเห็นไว้ว่า “ทั้งสองฝั่งแม่น้ำดูจะคับคั่งไปด้วยหมู่มหาชนที่คอยชมกีฬาทางน้ำ เสียงปรบมือ และไชโย! ดังสนั่นหวั่นไหวภายหลังฝ่ายของตนเป็นฝ่ายชะนะในการแข่งขัน ดูช่างเป็นที่ยินดีและปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะว่ากีฬาเหล่านี้ ประเทศเราไม่ค่อยจะมีการแสดงกันบ่อยนัก” เขาเห็นว่า กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้การกีฬาและสุขภาพของพลเมืองของระบอบใหม่มีความแข็งแรง (สงวน โภโต, 2480)

กล่าวโดยสรุป งานฉลองรัฐธรรมนูญในปี 2476 อันมีการเฉลิมฉลองทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ประดุจการเฉลิมฉลองทั้ง 3 ภพที่สะท้อนแสนยานุภาพของระบอบประชาธิปไตย ความแข็งแกร่งของพลเมืองในระบอบใหม่จากการแข่งขันกีฬาและวิ่งมาราธอนที่แสดงความแข็งแกร่งของมนุษย์ให้ประจักษ์ว่า ระบอบประชาธิปไตยคือการปกครองของมนุษย์ โดยมนุษย์ และเพื่อมนุษย์ อันพ้นไปจากความโกโรโกโสของระบอบเก่านั่นเอง

พลับพลาประดิษฐานรัฐธรรมนูญ งานฉลองรัฐธรรมนูญ 2476

เรือแห่รัฐธรรมนูญในเจ้าพระยา ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2476
เต็นท์ของหน่วยราชการและร้านค้าเอกชนตั้งที่แถบท้องสนามหลวงในงานฉลองรัฐธรรมนูญ 2476
รถแห่รัฐธรรมนูญของหอการค้ากับป้ายผ้าหลัก 6 ประการ
รถโฆษณาสินค้าในขบวนแห่งานฉลองรัฐธรรมนูญ 2476
เหรียญที่ระลึกการวิ่งทน 6,000 เมตร งานฉลองรัฐธรรมนูญ ปี 2476 (เครดิตภาพ สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ)