คุยกับ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร โอกาสจีน-ไทย ท่ามกลางความท้าทายใหม่ในโลกยุคปัจจุบัน

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความก้าวหน้าของจีนในรอบ 40 ปีผ่านมาว่า จีนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดจากประเทศที่รายได้ต่ำมาก แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจขึ้นมาเป็นอันดับสองของโลก ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีเศรษฐกิจที่เป็นอันดับหนึ่งของโลกภายในช่วงเวลา 15 ปี หรืออาจจะสั้นกว่านั้น

ปัจจุบัน GDP ของจีนขึ้นมาประมาณ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อประชากร ซึ่งถือว่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายการประเมินกล่าวว่าอีกไม่กี่ปีคาดว่าขึ้นแซงที่ 15,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยับขึ้นมาเป็นประเทศที่ประชาชนมีรายได้ปานกลาง-ค่อนข้างไปทางสูงหรือมีรายได้สูง

สำหรับพัฒนาการทั้งหมดมาจากการปฏิรูปและการเปิดเศรษฐกิจในช่วง 40 ปี โดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีจีนทางด้านต่างๆ

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้จีนมีความเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว มีอยู่ 3 ปัจจัยหลัก

อย่างแรก คือการปฏิรูประบบเศรษฐกิจซึ่งเปลี่ยนแปลงจากระบบการวางแผนจากส่วนกลางที่เป็นแบบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิม มาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบตลาดหรือมาร์เก็ตอีโคโนมี เปิดการค้าขายกับต่างชาติ เปิดให้มีภาคเอกชนเข้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ประเด็นต่อมาจากการให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการยกระดับเทคโนโลยีต่อเนื่อง สมัยก่อนจีนขายของเทคโนโลยีต่ำ ขายของราคาถูก แต่ว่าเขามีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับเทคโนโลยีให้เกิดขึ้นไปอย่างต่อเนื่องแล้ว ในยุคปัจจุบันจีนก็พยายามที่จะขายของที่มีคุณภาพเทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้น

ลำดับสุดท้ายเป็นปัจจัยที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ แต่เป็นเรื่องที่สำคัญ คือจีนมีการกระจายอำนาจในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง จีนเป็นประเทศมหาอำนาจทางการคลังน่าจะสูงที่สุดในโลก งบประมาณส่วนใหญ่เป็นงบประมาณที่ใช้จ่ายในมณฑลไม่ใช่ระดับชาติ เราจะเห็นการแข่งขันระหว่างมณฑลต่างๆ ในการทดลอง ในการแข่งขันกันทางนโยบาย เพื่อแข่งกันพัฒนามณฑลให้ก้าวกระโดดขึ้นมา

: บทบาทของจีนในเวทีโลกและความสัมพันธ์ หลังจากนี้จะเห็นปรากฏการณ์อะไรบ้าง

หากมองเป็นภาพใหญ่ในโลกจะพบว่าโลกมาถึงจุดเปลี่ยนบทบาทสำคัญเป็นยุคที่มีขั้วมหาอำนาจที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นเบอร์หนึ่งกับจีนเป็นเบอร์สองที่แข่งขันกันอย่างสูสี

คงต้องย้ำอีกครั้งว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้หายไปไหน ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อเวทีโลกและยังคงเป็นอันดับหนึ่ง เพียงแต่ว่าสหรัฐไม่ใช่อันดับหนึ่งที่ทิ้งโดดอันดับสองอีกต่อไป จีนเข้ามาหายใจรดต้นคอ ทำให้หลายคนมองว่าเป็นโลกที่เรียกว่าเป็นโลกสองขั้วอำนาจ

นอกจากนี้ ยังมีหลายมหาอำนาจอำนาจที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ญี่ปุ่น รัสเซีย เยอรมนี สหภาพยุโรป

แต่ที่โดดเด่นจริงๆ ก็คือสหรัฐอเมริกากับจีนที่มีศักยภาพเริ่มใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านอิทธิพลการทหาร เป็นต้น

: การแข่งขันการเป็นมหาอำนาจจะส่งผลต่อโลกอย่างไร

จริงๆ แล้วจะมีทั้งส่วนที่บวกและส่วนที่ลบ ก็คือเป็นความท้าทายมหาศาลและความผันผวนมหาศาลระบบเศรษฐกิจการเมืองโลก ต้องยอมรับว่าในรอบ 40 ปีที่ผ่านมาเราอยู่ในโลกที่เสถียรมาก โลกที่มีการนำเดี่ยวมีกฎระเบียบที่ชัดเจน แล้วก็เป็นโลกที่การค้าก็เปิด การค้าเสรี มีการเดินทางติดต่อกันก็กำลังเป็นยุคที่เรียกว่ายุครุ่งเรืองของโลกาภิวัตน์

แต่แล้วยุคนี้มันจบลงแล้วตั้งแต่ประธานาธิบดีสมัยทรัมป์ที่ทำสงครามการค้ากับจีน จนกลายเป็นยุคของสงครามการค้า เป็นความขัดแย้งทางการค้า-เทคโนโลยี

หลายคนบอกว่าตอนนี้เป็นการแข่งขันเรื่องความมั่นคงอีกด้วย เพราะฉะนั้น ก็อาจจะกระทบกับเศรษฐกิจโลกโดยรวมซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก เลยกลายเป็นว่าเป็นลบ การค้าก็หดตัว ทั่วโลกอาจจะเกิดความท้าทาย

แต่ในสงครามนี้มันก็อาจจะมีโอกาส ในยุคภูมิรัฐศาสตร์แบบใหม่ที่ประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กก็สามารถที่จะแสวงประโยชน์ได้ จากการที่ทั้งสองยักษ์ใหญ่เนี่ยต่างก็ต้องแข่งกันในการแสวงมิตร

เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดว่าประเทศกำลังพัฒนาเรามีจุดยืน มีความชัดเจนผลประโยชน์ของชาติอยู่ตรงไหน-ต้องการอะไรก็มีโอกาสที่เราจะแสวงความร่วมมือกับทั้งสองยักษ์ใหญ่ ซึ่งตอนนี้เขาก็ต้องแข่งกันการแสวงเพื่อนเช่นเดียวกัน

: ความเหมาะสมของบทบาทในการแสดงจุดยืนของการค้าของประเทศไทย

หลายคนพูดตรงกันว่าเราคงจะต้องรักษาสมดุลก็คือเราไม่เลือกข้าง

แน่นอน เราไม่บอกว่าอยู่ข้างจีนอยู่ข้างสหรัฐอเมริกา แต่ว่าเราต้องพยายามที่จะรักษาสมดุลระหว่างสองฝ่าย

แต่ข้อสังเกตหนึ่งของผม คือการรักษาสมดุลมันมีสองลักษณะคือ แบบแรก ก็อาจจะเรียกว่าเป็นรักษาสมดุลเชิงรับความหมาย คือพอสหรัฐอเมริกาอยากจะมาสนิทกับเรา ก็กลัวว่าจะผิดใจกับจีน พอจีนอยากจะสนิทกับเรา เราก็อาจจะลังเลเพราะว่าเดี๋ยวจะผิดใจกับสหรัฐหรือเปล่า

กลายเป็นว่าถ้ารักษาสมดุลเชิงรับในลักษณะนี้ก็ไม่ต้องทำอะไรเลยเพราะว่ากลัวไปหมด

ข้อเสนอของผมเป็นอีกแบบหนึ่งคือการรักษาสมดุลเชิงรุก หมายถึงเรามีจุดยืนเราเข้าใจ เอาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นที่ตั้ง และเข้าใจโจทย์ว่าเราต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไรในเชิงรุก แล้วเราก็แสวงความร่วมมือจากทั้ง 2 ฝ่าย

ถ้าฝ่ายสหรัฐมีสิ่งไหนที่อาจจะตกลงกันไม่ได้หรือไม่เป็นประโยชน์กับผลประโยชน์ของชาติ เราก็บอกสหรัฐว่าเรามีเพื่อนก็คือจีน

ถ้าเกิดว่าฝ่ายจีนมาตกลงกับเราแล้วบางอย่างอาจจะไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เราต้องการ ก็บอกว่าเรามีเพื่อนก็คือสหรัฐ

ถ้าเป็นแบบนี้เราสามารถที่จะใช้ความผันผวนในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ให้เป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยได้

ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ของไทยกับจีนเป็นเหมือนเมืองพี่เมืองน้องไม่มีความขัดแย้งใดๆ กับจีนเลย เราไม่ได้มีชายแดนติดกัน เราไม่ได้มีความขัดแย้ง ปัญหาทะเลจีนใต้ ไม่ได้มีปัญหาชาติพันธุ์ หลายชาติในอาเซียนจะมีปัญหาเหล่านี้ เราไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งในเรื่องชาติพันธุ์ การค้า การทหาร หรือเชิงประวัติศาสตร์ เพราะฉะนั้น ตรงนี้เป็นจุดบวกเป็นรากฐานความเข้าใจ ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน และการที่เป็นบ้านพี่เมืองน้องอย่างแท้จริง

แต่แน่นอนว่าในยุคปัจจุบันเราต้องบอกว่าความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจในฝั่งจีนกับสหรัฐ มันก็ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่เป็นความขัดแย้งด้านเศรษฐกิจ ด้านเทคโนโลยี แต่ว่ามันกำลังลามมาถึงเรื่องของคุณค่าทางการเมือง เรื่องของอุดมการณ์ทางการเมือง

เมื่อเป็นความขัดแย้งเรื่องอุดมการณ์ก็เริ่มที่จะกลายเป็นความขัดแย้งภายในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ ที่ต้องบีบให้เราเลือกข้างว่าจะเป็นฝั่งอุดมการณ์ไหน

แต่อย่างที่กล่าวไปและทุกคนคงจะเห็นตรงกันว่าต้องการรักษาสมดุล ปัจจุบันผมคิดว่าการเลือกข้างคงไม่ใช่คำตอบโดยเฉพาะในยุคที่เราบอกว่าความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าและความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างไทยกับจีนก็สูงมาก เช่นเดียวกันระหว่างไทยกับสหรัฐก็สูง

สำหรับจีนไม่ได้มีจุดยืนว่าต้องการขยายอุดมการณ์ทางการเมือง นโยบายของจีนในเชิงการต่างประเทศของเขามักจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจการค้ามากกว่าที่จะเป็นเรื่องการเมืองหรืออุดมการณ์ เพราะฉะนั้น ประเด็นตรงนี้ คิดว่าเราควรจะต้องใช้ฐานของความร่วมมือที่ดีระหว่างไทยจีนในการสร้างความสัมพันธ์ให้เป็นเชิงบวก

ขณะเดียวกันเราก็ต้องยืนหยัดหลักการว่าเป็นการรักษาสมดุลในเชิงรุก ก็คือเราคงไม่ได้เข้าเอนทางจีนหรือสหรัฐ แต่ว่ายืนหยัดในสิ่งที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศชาติ เรารู้ชัดเจนว่าเรามีความต้องการ มีจุดยืนอย่างไร ที่จะขับเคลื่อนประเทศไปในเชิงรุกภายใต้การรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับทั้งสองมหาอำนาจ

จีนได้ขึ้นมาเป็นคู่ค้าหลักของไทยในด้านการลงทุน เข้าใจว่าทางสถิติ จีนแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นมาเป็นนักลงทุนหลักภายในประเทศแล้ว

หากเราพูดถึงภาคการท่องเที่ยวที่สำคัญมากต่อประเทศไทย ที่มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละยี่สิบของจีดีพีประเทศ มองดูเนื้อในเราก็จะพบว่านักท่องเที่ยวจีนก็เป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด

เพราะฉะนั้น เราก็คงจะเห็นชัดเจนว่า ไม่ว่าจะด้านการส่งออก ด้านการลงทุน สถานการณ์ท่องเที่ยว ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนอยู่ในระดับที่สูงมาก

และเมื่อมองจากความเชื่อมโยงนี้ เรายังมีโอกาสในการพัฒนาอีกมาก

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าไปดูสถิติการค้าไทยกับจีน เราจะพบว่าความเชื่อมโยงอย่างเป็นความเชื่อมโยงกับมณฑลกวางตุ้งค่อนข้างสูง แปลว่ายังมีพื้นที่ของการพัฒนาความเชื่อมโยงทางการค้ากับมณฑลอื่นๆ ของจีนอีกมาก

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เราอาจจะได้ข่าวเมื่อปลายปีที่แล้ว มีความสำเร็จในการสร้างเส้นทางรถไฟจีน-ลาว ซึ่งเป็นการพลิกโฉมเศรษฐกิจชายแดนมากพอสมควร แล้วโอกาสในการกระตุ้นส่งเสริมการค้าชายแดนคิดว่ามีสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะหลังจากที่วิกฤตโควิดผ่านพ้นไป

ชมคลิป