คะแนนเลือกตั้งซ่อม กทม. บอกอนาคตการเมือง/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

คะแนนเลือกตั้งซ่อม กทม.

บอกอนาคตการเมือง

 

เขตเลือกตั้งที่ 9 กทม. คือเขตหลักสี่และและจตุจักร ลักษณะของพื้นที่ไม่ใช่ชั้นในจริงๆ แบบปทุมวัน บางรัก แต่ก็ไม่ถึงกับเป็นชั้นนอกแบบหนองจอก บางขุนเทียน ของ กทม. จึงพอจะเป็นตัวแทนของประชากรและภูมิศาสตร์การเมืองของ กทม.ได้

ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งปี 2565 ลดจำนวนจากปี 2562 ไปเพียงแค่ 4,000 คน แต่ผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งลดลงไปประมาณ 22 เปอร์เซ็นต์ การที่มีผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งเพียงแค่ 52 เปอร์เซ็นต์ อาจเป็นเพราะว่าเป็นการเลือกตั้งซ่อมที่ไม่มีลักษณะต่อสู้แย่งชิงกันเป็นรัฐบาล อีกเหตุผลหนึ่งก็คือคนเคยเลือกพรรครัฐบาล ผิดหวังที่เลือกไปแล้วไม่ได้ดั่งใจ ก็เลยไม่ออกมาเลือกตั้ง

ผลของคะแนนเลือกตั้ง สำหรับพรรคการเมืองที่เคยลงสมัครรับเลือกตั้งในปี 2562 น้อยกว่าเดิมทุกพรรค

แต่คะแนนของแต่ละพรรคสามารถคาดการณ์แนวโน้มทางการเมืองและสภาพของพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้พอสมควร

 

พรรคพลังประชารัฐ

จะไม่ได้ ส.ส.ใน กทม.อีกแล้ว

ครั้งนี้ได้คะแนน 7,906 คะแนน แต่ปี 2562 ได้คะแนน 34,097 คะแนน เสียงหายไป 77%

การที่คะแนนหายไปเยอะแบบนี้จะต้องมีสาเหตุมาทั้งจากตัวบุคคลและพรรคการเมือง

ในแง่ของตัวบุคคลคือไม่พอใจทั้ง ส.ส.เก่าและคนที่มาลงรับสมัครเลือกตั้งใหม่

คะแนน พปชร.เมื่อเทียบกับผู้ใช้สิทธิ์ครั้งนี้ 88,124 คน แม้เป็นพรรคแกนนำรัฐบาลแต่มีคนเลือกแค่ 8.9 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่ยังครองอำนาจรัฐอยู่ แสดงว่าคนกรุงเทพฯ ไม่ยอมรับอีกแล้ว

ตัวแปรที่ทำลายคะแนนเสียงก็คือ

ผลงานของรัฐบาล

พฤติกรรมและฝีมือการบริหารและการปกครองของนายกรัฐมนตรี

พฤติกรรมของ ส.ส.รัฐบาลที่ถูกปลดออกไป และที่เหลืออยู่

พฤติกรรมและความนิยมต่อพรรคพลังประชารัฐ เมื่อเทียบกับพรรคอื่นๆ

ฐานคะแนนเดิมที่เทให้พลังประชารัฐในปี 2562 เป็นของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ดังนั้น เมื่อเลือกมาแล้วไม่ได้ดั่งใจ คะแนนเหล่านั้นก็ต้องเทกลับไปให้พรรคการเมืองอื่นที่อยู่ในแนวทางเดียวกัน เพราะ ปชป.ไม่ส่งสมัคร

เห็นผลคะแนนแบบนี้นึกถึงสำนักต่างๆ ที่เชียร์รัฐบาล เชียร์นายกฯ สงสัยว่านั่งเทียนทํามาได้อย่างไร

ถ้าให้ประเมินผลการเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งหน้า (ในปี 2565) ของ พปชร. ในเขต กทม. คือยังพอมีคะแนน แต่จะไม่ชนะแม้แต่เขตเดียว เพราะคะแนนจะไหลกลับไปที่ ปชป. และพรรคกล้า

 

พรรคกล้า

เอาคะแนนมาจากไหน?

พรรคกล้าแม้เป็นพรรคตั้งใหม่แต่ก็มีฐานเดิมมาจากประชาธิปัตย์ ซึ่งครั้งนี้ไม่ได้ส่งลงเลือกตั้งซ่อม

ดังนั้น พรรคกล้าถือว่ามีฐานเสียงสนับสนุนประมาณ 16,000 คะแนน โดยดูจากคะแนน ปชป.ปี 2562 เมื่อมีคะแนนเสียงที่แปรมาจากกลุ่มเคยเลือกพลังประชารัฐจำนวนหนึ่งจึงสามารถทำให้มีคะแนนขึ้นไปถึง 20,000 คะแนนซึ่งคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ 22.7 เปอร์เซ็นต์จากผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนน เยอะพอสมควรสำหรับการเปิดตัวครั้งนี้

ถ้าเป็นฐานเสียงส่วนตัวของผู้สมัคร ก็นับว่ามีโอกาสในครั้งต่อไป แต่ถ้าเป็นของ ปชป.ก็คงไม่สามารถเอาไปนับเป็นฐานในการคิดคะแนนเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นครั้งหน้า

การเลือกตั้งใหญ่ ถ้า ปชป.ลงแข่งด้วย ยังประเมินได้ว่าพรรคกล้าไม่ชนะประชาธิปัตย์ใน กทม.

สถานะทางอุดมการณ์ของพรรคกล้าอาจจะเรียกได้ว่าเป็นขวาใหม่ทันสมัยกว่าขวาอนุรักษ์แบบ ปชป. ดังนั้น ถือเป็นทางเลือกของกลุ่มอนุรักษนิยม และมีโอกาสเติบโต ถ้ากำหนดยุทธศาสตร์ดี และมีผู้สนับสนุนค่าใช้จ่าย

 

พรรคไทยภักดี

ควรส่งลงเลือกตั้งทั่วประเทศ

เป็นพรรคการเมืองใหม่ในเชิงอุดมการณ์ เป็นขวาจารีตนิยม ประกาศตัวอย่างเปิดเผย การโยนก้อนหินถามทางในการเลือกตั้งซ่อม ได้คะแนนถึง 5,987 คะแนน คิดเป็น 6.8% ของผู้มาใช้สิทธิ์

ในการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศครั้งหน้า ถ้าไทยภักดีลงแข่งขันทุ่มกำลังอย่างเต็มที่อาจจะมี ส.ส.เข้าสภาได้ ถ้าอาศัยคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ทั่วประเทศ แต่ถ้ารวมคะแนนของกลุ่มขวาจารีตนิยมแล้วยังไม่ได้ ก็ต้องยอมรับว่า โลกเปลี่ยน ประเทศเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ประชาชนต้องการให้การปกครองและการบริหารเป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย

ถ้าเอาคะแนนของ 3 พรรคที่กล่าวมาแล้วรวมกันจะได้คะแนนรวม 33,940 คะแนน มากกว่าพรรคเพื่อไทย หรือพรรคก้าวไกล เพียงพรรคเดียว แต่ถ้าเพื่อไทยและก้าวไกลรวมกันจะได้ 51,162 คะแนน ยังมากกว่า ในอัตรา 6 ต่อ 4

การเลือกตั้งครั้งหน้าในเขต กทม. การแข่งขันน่าจะมีอยู่ประมาณ 4-6 พรรค เพื่อไทย ก้าวไกล ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ พรรคกล้า ไทยสร้างไทย แต่ไทยภักดีก็จะส่งลงหลายเขตเพราะหวังว่าจะได้คะแนนใน กทม.เป็นแสน

แนะนำให้พรรคตั้งใหม่ส่งคนลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. เพื่อทดสอบเสียง

 

พรรคก้าวไกล

จะสร้างพรรคอย่างไร

ดูจากคะแนนที่ได้ 20,361 คะแนน คิดเป็น 23.1 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่มาใช้สิทธิ์ แต่ถ้าเทียบกับปี 2562 คะแนนหายไปประมาณ 20% ก็ถือว่าใกล้เคียงกับจำนวนผู้ใช้สิทธิลดลง 22% อาจมีคนที่แปรไปหนุนเพื่อไทย เพื่อให้ได้รับในชัยชนะบ้าง แต่ก็จะเป็นแค่ครั้งนี้เพราะผู้สนับสนุนส่วนใหญ่เข้าใจเกมการเมือง จึงถือเป็นฐานการเมืองที่มีลักษณะพรรคและอุดมการณ์สูง มีความเข้มแข็งที่จะยืนอยู่ได้ในท่ามกลางมรสุมการเมือง แม้ถูกตัดสิทธิ์การเมือง ถูกยุบพรรคแบบไทยรักไทย แต่จะยังก้าวต่อไปบนเส้นทางการเมืองได้อีกไกล

การได้คะแนนในเขตพื้นที่ทหารทำให้ความเชื่อมั่นในการเสนอนโยบายต่างๆ มั่นคงขึ้น ถ้าทำตามหลักการ ความถูกต้อง และผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ พรรคและนโยบายจะเป็นที่ต้อนรับ

การพ่ายแพ้ของ พปชร.จะเกิดพื้นที่ว่าง แต่คะแนนส่วนนั้นมิได้ไหลกลับมาที่ก้าวไกลได้ง่ายๆ

ถ้าประเมินการเลือกตั้งครั้งหน้าฐานคะแนนของก้าวไกลคือพื้นฐานคะแนนเดิมของพรรคในการเลือกตั้ง 2562 ซึ่งจะต้องแยกให้ดีว่าในเขตไหนมีฐานคะแนนจริงของอนาคตใหม่ในครั้งนั้น แล้วจัดตัวเก่ง ดี เด่น ลงสมัครก็อาจสามารถช่วงชิงชนะในเขตนั้นๆ ได้ แต่ดูคู่แข่งในครั้งหน้าแล้วไม่ใช่ใครที่ไหน คือพรรคเพื่อไทย กับ ปชป.

แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ เวลานี้ก้าวไกลเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์เป็นแกน ไม่ใช่จำนวน ส.ส. จึงต้องคิดว่าก้าวต่อไปคือการสร้างพรรคที่แข็งแกร่ง

เพราะผู้สนับสนุนพรรคเป็นประชาชนส่วนที่ก้าวหน้าที่สุด

การคัดกรองพวกงูเห่า และลิง เป็นเรื่องจำเป็น

ในระยะใกล้คงไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่จะเติบโตไปได้เรื่อยๆ

แนวทางการสร้างพรรคสำคัญมาก เพราะจะทำให้โตไปได้เรื่อยๆ ในระยะ 10 ปีนี้

 

พรรคประชาธิปัตย์

พรรค ปชป.แม้ไม่ส่งคนลงสมัครแข่งขันในการเลือกตั้งซ่อมเขต 9 กทม.ครั้งนี้ แต่ชนะ พปชร.ในการเลือกตั้งซ่อมทางใต้ ปชป.เลือกที่จะไม่ส่ง เพราะประเมินอยู่แล้วว่าถ้าไปตัดคะแนนกันเองกับพลังประชารัฐ ใน กทม.ยังไงก็ไม่ชนะ

แต่เมื่อเห็นคะแนนของพรรคกล้า ย่อมเตรียมการฟื้นฐานเสียงเดิมใน กทม.อีกครั้งโดยผ่านการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ จะพ่ายแพ้ก็ไม่เป็นไร แต่การปูฐานลงในทุกเขตเลือกตั้งโดยใช้ ส.ก. เป็นเรื่องจำเป็นและเป็นการหยั่งคะแนนเสียงในเขตต่างๆ ว่าเขตใดบ้างที่จะเป็นเขตหลักในการต่อสู้ครั้งหน้า

ปชป.รู้แล้วว่าคะแนนของพรรคพลังประชารัฐจะถูกเหวี่ยงกลับมา

ปัญหามีอยู่ว่าจะได้คะแนนมากแค่ไหนในเขตที่มุ่งหวังเพราะ ปชป.ก็ประเมินว่าคะแนนของเพื่อไทยกับก้าวไกลต้องตัดกันเอง แถมยังมีพรรคไทยสร้างไทย ซึ่งมีความเข้มแข็งในบางเขตของ กทม.มาเป็นตัวแทรก ดังนั้น ดูแล้วมีโอกาสหลายเขต

เมื่อเป็นเช่นนี้ ปชป.จึงพยายามเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศเพื่อที่จะปรับฐานเสียงอีกครั้ง แต่ถึงอย่างไรก็มีอุปสรรคที่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะมีพรรคกล้าและพรรคพลังประชารัฐมาเป็นตัวตัดคะแนนเช่นเดียวกัน

 

พรรคเพื่อไทย

ต้องคิดยุทธศาสตร์ทางเลือก

จากคะแนนที่ได้ 29,416 คะแนน คิดเป็น 33.33 เปอร์เซ็นต์ของผู้มาใช้สิทธิ์ หรือประมาณ 1 ใน 3 แต่ถ้าเทียบกับการเลือกตั้งปี 2562 คะแนนจะหายไปประมาณ 8.5% ซึ่งเมื่อเทียบกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ์ลดลง 22% กลับถือว่าดีขึ้นเล็กน้อย แต่การได้คะแนนในสถานการณ์เลือกตั้งที่กระแสดีถือว่ายังไม่น่าเป็นที่พอใจ

สิ่งที่เพื่อไทยต้องคิดให้ดีคือ ยุทธศาสตร์ เพราะตราบใดที่ยังมี ส.ว. 250 คน โอกาสเป็นรัฐบาลยากมาก ยกเว้นฝ่ายตรงข้ามจะแตกแยกกัน แต่วันนี้คือขาลงของประยุทธ์ จันทร์โอชา คาดได้ว่าถ้าหลุดตำแหน่งเมื่อไร คงไม่สามารถกลับมาได้

การตั้งรัฐบาลแบบฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจทำไม่ได้

ถ้าต้องร่วมรัฐบาลกับบางพรรคที่ไม่ใช่ประยุทธ์แต่เป็นรัฐบาลเดิม เพื่อไทยจะเอาหรือไม่?