30 ปีแห่งความหลัง/ชกคาดเชือก วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ชกคาดเชือก

วงค์ ตาวัน

 

30 ปีแห่งความหลัง

 

เมื่อซาอุดีอาระเบีย ยอมก้าวข้ามปมปัญหาในอดีต ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ร้าวฉานมายาวนาน ยอมเปิดประตูประเทศฟื้นความเป็นมิตรกับไทย เปิดให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้ไปเยือนอย่างเป็นทางการ ทำให้มีโอกาสฟื้นความร่วมมือกันทางการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ไปจนถึงด้านตลาดแรงงาน อันเป็นผลประโยชน์มหาศาลของคนไทย

ย้อนไปเมื่อ 30-40 ปีก่อน แรงงานไทยเดินทางไปทำงานที่ซาอุฯ นับแสนราย ส่งรายได้กลับบ้านเป็นกอบเป็นกำ จนเปรียบกันว่าไปขุดทองที่ซาอุฯ

เป็นยุคที่ธุรกิจส่งคนงานไปซาอุฯ เติบโตสุดขีด คนชนบทขายไร่ขายนาไปขายแรงงานที่ซาอุฯ ส่งรายได้กลับมาให้ครอบครัวได้ปลูกบ้าน ยกระดับการอยู่กิน

แต่ทุกอย่างก็พังทลายลง ตลาดแรงงานไทยหายวับ เพราะปัญหาความผิดพลาดอย่างร้ายแรงของเจ้าหน้าที่ไทย

ตั้งแต่ปี 2532 เป็นต้นมา ทางการไทยได้ทำให้ประเทศซาอุฯ ไม่พอใจอย่างมากมายหลายเหตุการณ์

ทั้งคดีฆ่าเจ้าที่สถานทูตซาอุฯ 4 ศพ คดีอุ้มฆ่าอัล-รูไวลี นักธุรกิจที่เป็นเชื้อพระวงศ์ คดีคนงานไทยโจรกรรมเพชรจากวังเจ้าชายซาอุฯ แล้วเมื่อตำรวจไทยตามจับได้ กลับมีการปลอมของกลางนำกลับไปส่งคืน รวมไปถึงเพชรเม็ดสำคัญบลูไดมอนด์ก็ยังสูญหายไร้วี่แวว

ทั้งฆ่าทูต ทั้งอุ้มหายเชื้อพระวงศ์ และทั้งอมเพชรซาอุฯ ทั้งหมดไม่ได้รับการคลี่คลาย ไม่มีความกระจ่าง เป็นหลายเรื่องร้ายแรงที่ประเดประดัง จนทำให้ซาอุฯ ตัดสินใจสะบั้นไมตรีกับไทยมายาวนานถึง 30 ปี

ยังโชคดีที่ผู้นำซาอุฯ เป็นช่วงเปลี่ยนรุ่น ยอมลืมเรื่องราวเสียหายร้ายแรงเหล่านี้ เดินหน้านโยบายซาอุฯ วิชั่น 2030 เร่งสร้างมิตรทั่วโลก

30 ปีแห่งความหลังอันขมขื่น ถือเป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว

แต่กระนั้นก็ตาม สำหรับไทยเรา ควรทบทวนเรียนรู้อดีตอันเลวร้ายเหล่านี้ เพื่อจะได้ไม่เดินซ้ำ ก่อปัญหาร้ายแรงระหว่างประเทศขึ้นมาอีก

อันเนื่องจากความผิดพลาด ทั้งการสืบสวนคดีฆ่าเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ คดีอุ้มนักธุรกิจเชื้อพระวงศ์ และคดีเพชรซาอุฯ

 

เริ่มจากวันที่ 4 มกราคม 2532 ขณะเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ ประจำไทย เดินออกจากสำนักงานภายในซอยที่ไม่ห่างจากสถานทูตมากนัก ได้ถูกลอบยิงตาย โดยมือปืนที่ใช้ปืนขนาดเล็ก 6.35 อันไม่ใช่ชนิดที่มือปืนในไทยนิยมใช้

ตำรวจสืบสวนสอบสวนคลี่คลายคดี โดยมุ่งไปขบวนการผลประโยชน์ส่งแรงงานไทยไปซาอุฯ เพราะเป็นยุคที่กำลังเฟื่องฟูสุดขีด แต่คดีก็ยังมืดมน

จากนั้นก็เกิดเหตุซ้ำอีกใน 1 ปีต่อมา คือ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2533 โดยคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนขนาดเล็กเหมือนเดิม แต่ลงมือยิงเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ อีก 3 ศพ ลักษณะการฆ่าเหมือนเดิมอีก

เท่ากับมีการฆ่าเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ ในใจกลางกรุง 2 ครั้ง รวมเป็น 4 ศพ

แม้จะมีการรายงานด้านข่าวกรองระบุถึง กลุ่มก่อการร้ายระหว่างประเทศ ที่อยู่ตรงข้ามกับซาอุฯ ล่าสังหารเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ หลายแห่งทั่วโลก อีกทั้งปืน 6.35 เป็นอาวุธที่ใช้ในหมู่สายลับ แต่ดูเหมือนตำรวจไทยยังให้ความสำคัญกับชนวนด้านผลประโยชน์การส่งแรงงาน

โดยมีประเด็นขนาดอาวุธปืน บ่งบอกว่าคนร้ายต้องประกบยิงแบบประชิดตัวเท่านั้น จึงเชื่อว่ามือปืนต้องเป็นคนต่างชาติ รูปร่างหน้าตาภาษา ต้องคุ้นเคยกับผู้ตาย จึงสามารถเดินเข้ามาหาหรือมาพูดคุยแบบใกล้ตัว แต่ตำรวจก็ยังมองว่าเป็นขบวนการที่เกี่ยวกับการค้าแรงงานอยู่ดี

จึงเล็งเป้าไปยังนักธุรกิจซาอุฯ รายหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจส่งแรงงาน แถมมีที่พักใกล้กับจุดสังหารเจ้าหน้าที่สถานทูตทั้ง 4 ศพ

สุดท้ายนักธุรกิจดังกล่าวได้หายตัวไปลึกลับ เกิดคดีใหม่อุ้มหาย นายโมฮัมหมัด อัล-รูไวลี แล้วมารู้กันภายหลังว่า ไม่แค่นักธุรกิจธรรมดาแต่ยังเป็นเชื้อพระวงศ์ของซาอุฯ ด้วย!

คราวนี้ทางซาอุฯ ยิ่งโกรธทางการไทยมากขึ้น เพราะข่าวสะพัดว่า ตำรวจกลุ่มหนึ่งอุ้มตัวอัล-รูไวลีไป เพื่อจะไปสอบสวนคลายคดีฆ่าเจ้าหน้าที่ทูต แต่ผิดพลาดจนถึงแก่ความตาย แล้วก็เลยต้องทำลายศพทิ้ง

ลงเอยคดีอัล-รูไวลีก็ไม่สามารถหาตัวคนกระทำผิดมาลงโทษได้ มีการจับกุมตำรวจชุดหนึ่งแต่ศาลยกฟ้องเพราะพยานหลักฐานไม่เพียงพอ

ส่วนคดีฆ่าเจ้าหน้าที่ทูต 2 หน 4 ศพ ก็สืบสวนผิดทิศผิดทางจนคลี่คลายไม่ได้

ในภายหลังเชื่อกันว่า สาเหตุการฆ่าเจ้าหน้าที่สถานทูต ต้องมาจากสายลับต่างชาติ เป็นกลุ่มประเทศตรงข้ามกับซาอุดีอาระเบีย

นอกจากจับมือปืนยิง 4 ศพไม่ได้ ยังไปเพิ่มคนตายชาวซาอุอีก 1 ราย!!

 

ไม่แค่ 5 ศพเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ และเชื้อพระวงศ์ ยังมีคดีเพชรซาอุฯ เป็นอีกเหตุการณ์เลวร้าย ที่สร้างความเจ็บช้ำใจให้กับทางการซาอุฯ เป็นอย่างมาก เป็นอีกชนวนที่นำมาสู่การลดความสัมพันธ์ทางการทูตมายาวนาน

โดยในช่วงปลายปี 2532 ช่วงที่คดีฆ่าเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ ในกลางกรุง ยังไม่คลี่คลาย ได้เกิดเรื่องเขย่าประเทศอีกคดี เมื่อพบว่านายเกรียงไกร เตชะโม่ง คนงานไทยที่ไปเป็นคนทำความสะอาดในวังเจ้าชายซาอุฯ ได้ก่อเหตุโจรกรรมเพชร เครื่องประดับ จากภายในห้องบรรทม

เนื่องจากนายเกรียงไกรสังเกตว่า สร้อยเพชรต่างๆ มักวางเอาไว้อย่างระเกะระกะ หากขโมยไป เจ้าของก็คงไม่ไหวตัว จึงค่อยๆ หยิบเครื่องประดับมีค่าเหล่านั้น โยนออกจากหน้าต่าง ให้ไปตกนอกรั้ววัง พอตกเย็นเมื่อเลิกงานกลับที่พัก นายเกรียงไกรก็จะไปเก็บทรัพย์สินที่โยนลงมาในทุกๆ วัน

จนกระทั่งเมื่อได้มาเป็นจำนวนมาก ได้ลักลอบนำกลับไทย โดยใส่ในลังผลไม้แล้วชั่งน้ำหนักให้พอดี ให้เท่ากับลังที่บรรจุผลไม้ตามปกติ จึงลักลอบนำกลับมาไทยได้

เมื่อนายเกรียงไกรกลับไทยไประยะหนึ่ง ทางการไทยจึงได้รับแจ้งจากซาอุฯ ว่าเกิดการขโมยเพชรจากวังเจ้าชายจำนวนมาก จากนั้นตำรวจออกติดตามจับกุมนายเกรียงไกรได้ ยอมรับสารภาพ และเปิดเผยตัวพ่อค้าที่รับซื้อเครื่องประดับจากวังซาอุฯ ดังกล่าว ทำให้ตำรวจสามารถติดตามทรัพย์สินกลับคืนมาได้เกือบครบ

แต่ระหว่างที่นำของกลางมารวบรวมที่กรมตำรวจ เพื่อให้ตำรวจชั้นผู้ใหญ่แถลงข่าว ได้มีนายตำรวจใหญ่ที่เชี่ยวชาญพวกของโบราณของเก่าที่มีค่า เกิดไอเดีย เอาเพชรเหล่านี้ไปปลอมเลียนแบบให้เหมือน ก่อนจะนำไปคืนให้ซาอุฯ

ครั้นเมื่อของกลางนำกลับไปส่งมอบ ได้รับคำขอบคุณปลื้มปีติจากซาอุฯ แต่ไม่ทันไรก็รู้ว่าเป็นของปลอมจำนวนมาก คราวนี้ความสัมพันธ์จึงยิ่งร้าวฉานหนัก

จากนั้นตำรวจอีกชุด ออกติดตามหาเพชรซาอุฯ ของจริงกลับคืนมาได้จำนวนมาก แต่ติดขัดที่เพชรเม็ดสำคัญคือบลูไดมอนด์ หายสาบสูญไป เชื่อว่าพ่อค้าเพชรรายสำคัญที่เป็นลูกน้องนายตำรวจใหญ่คนหนึ่ง นำไปขายในต่างประเทศไปแล้ว

ในภายหลัง มีความพยายามจะตามหาบลูไดมอนด์อีกรอบ ส่งผลให้เกิดการอุ้ม 2 แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ เพื่อหวังจะบีบนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ ให้คายความลับเพชรเม็ดใหญ่ ลงเอยเป็นการฆ่าทิ้ง 2 แม่ลูกดังกล่าว สังเวยตำนานเพชรซาอุฯ อีก 2 ศพ

ปัญหาเหล่านี้คาราคาซังมาหลายปี นับจากปี 2532 เป็นต้นมา เกิดเรื่องราวเลวร้ายมากมาย จนกลายเป็นความร้าวฉานระหว่าง 2 ประเทศ

ก่อนจะคลี่คลายลง เพราะนโยบายของผู้นำใหม่ซาอุฯ ทั้งที่ปัญหาคดีฆ่าและคดีเพชรซาอุฯ ยังมืดมน

แต่สมควรทบทวนเป็นบทเรียนว่าได้ทำให้ผลประโยชน์ประเทศชาติมหาศาลต้องพังทลาย!