จาก ‘ผกก.โจ้’ ถึง ‘ส.ต.ต.คฝ.’ สะท้อนสิ้น ‘ศรัทธา-ไว้วางใจ’ ตร. ยกเครื่อง “ความปลอดภัยบนถนน”/โล่เงิน

โล่เงิน

 

จาก ‘ผกก.โจ้’ ถึง ‘ส.ต.ต.คฝ.’

สะท้อนสิ้น ‘ศรัทธา-ไว้วางใจ’ ตร.

ยกเครื่อง “ความปลอดภัยบนถนน”

 

นับตั้งแต่เสร็จสิ้นคดี “ผกก.โจ้” หรือ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ และตำรวจจำนวนหนึ่ง เป็นผู้ต้องหาคดีใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ต้องหาในคดียาเสพติด และซ้อมผู้ต้องหาจนเสียชีวิตนั้น

มาถึง 21 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งที่สาธารณชน และสื่อสังคมออนไลน์เนืองแน่นไปด้วยความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อวงการสีกากี

หลังจากอุบัติเหตุของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย อายุ 33 ปี แพทย์ผู้ชำนาญการด้านจักษุวิทยา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปฏิบัติหน้าที่ในโรงพยาบาลตำรวจ ถูกบิ๊กไบก์ยี่ห้อดูคาติ รุ่นมอนสเตอร์ ชนขณะเดินข้ามทางม้าลาย บริเวณหน้าสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

โดยผู้ขับขี่จักรยานยนต์คันดังกล่าวคือ ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กองกำกับการ 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน (กก.1บก.อคฝ.)

ทำให้กระแสสังคมมุ่งเป้าไปที่วงการสีกากี ว่าเหตุใดผู้บังคับใช้กฎหมายกลับเป็นผู้ละเมิดกฎหมายเสียเอง

มิหนำซ้ำยังเป็นตำรวจ คฝ.ซึ่งบางกลุ่มมีทัศนคติไม่ค่อยดีอยู่แล้วจากการชุมนุมทางการเมืองกลางกรุงที่ผ่านมา จึงเสมือนมีชนักติดหลังไปแล้วว่า ตำรวจ คฝ.อยู่คนละฝ่ายกับประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย

ยิ่งโหมกระแสสังคมที่มองมายังตำรวจไปในแง่ลบมากขึ้น

ภายหลังทราบโปรไฟล์ของ “หมอกระต่าย” ผู้เสียชีวิต ยิ่งเสียดายบุคลากรล้ำค่า เป็นแพทย์ที่ศึกษาแพทย์เฉพาะทางต่อยอดถึง 2 สาขา คือจักษุวิทยาภูมิคุ้มกันอักเสบ และด้านจอตาและวุ้นตา คาดว่ามีบุคลากรในระดับนี้ไม่ถึง 50 คนทั้งประเทศ ส่งผลให้สังคมไม่พอใจกับเหตุดังกล่าวมากแล้ว

ซ้ำร้ายรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว ยังปราศจากแผ่นบ้ายทะเบียน และกระจกข้างมองหลัง ทำให้ความเดือดดาลโซเชียลที่มีต่อกรณีดังกล่าวระอุขึ้นไปอีก

จนถึงขั้นมีข้อครหากันในสื่อสังคมออนไลน์ ว่ารถจักรยานยนต์คันดังกล่าว เป็นรถของกลางหรือรถที่ยึดมาหรือไม่

ประกอบกับกระบวนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ใช้เวลาถึง 2 ชั่วโมง กว่าจะสืบทราบตัวตนของผู้เสียชีวิต อีกทั้งยังมีความไม่ไว้วางใจในกระบวนการยุติธรรมต้นธารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ว่าจะสามารถเอาผิดผู้ก่อเหตุ โดยที่ไม่มีการช่วยเหลือจาก “พรรคพวก” ในวงการได้หรือไม่ เพราะผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัว

รวมถึงปัญหาคนข้ามทางม้าลาย ที่ปกติแล้วต้องให้สิทธิแก่คนเดินเท้าในทางข้ามก่อน แต่กลับเกิดอุบัติเหตุกับผู้ใช้ทางข้ามเป็นประจำ

จนกล่าวได้ว่า อุณหภูมิแห่งความไม่ไว้วางใจการทำงานตำรวจเดือดดาลยิ่งนัก

 

ร้อนถึงกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ต้นสังกัด บก.อคฝ. ต้องเร่งตั้งโต๊ะแถลงคลายทุกปมข้อสงสัยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 เพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจ

โดยแจงลำดับเหตุการณ์ในขั้นตอนพิสูจน์ทราบตัวบุคคลผู้เสียชีวิตอย่างละเอียด ถึงเหตุผลที่ต้องที่ใช้เวลานานในการยืนยันตัวตนผู้เสียชีวิต และรายละเอียดการซื้อขายรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวว่าไม่ใช่รถของกลางที่ยึดมาตามที่มีข้อครหา

รวมถึงยืนยันความหนักแน่นในการดำเนินคดี ว่าการปล่อยตัวผู้ต้องหาได้กระทำภายใต้ขั้นตอนตามกฎหมาย และจะไม่มีการช่วยเหลือทางคดีแน่นอน โดยสามารถส่งตัวผู้ต้องหาและสำนวนให้พนักงานอัยการได้ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้

สำหรับ พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น. โฆษก บช.น. ผู้แถลงข่าวดังกล่าวได้ยอมรับว่าเป็นการแถลงข่าวครั้งที่ยากที่สุดตั้งแต่ทำหน้าที่มา ไม่ได้ยากที่เนื้อหา, ข้อกฎหมาย หรือการดำเนินการ แต่เพราะผู้เสียชีวิตถือเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่าของประเทศ และปฏิบัติงานในโรงพยาบาลตำรวจอีกด้วย จึงถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ต่อวงการแพทย์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเช่นกัน

ส่วน ส.ต.ต.นรวิชญ์ ผู้ต้องหา ได้เปิดเผยความรู้สึกว่า เสียใจและสำนึกผิดต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมได้เข้าเข้าพิธีอุปสมบท ร่วมกับ ร.ต.ต.นิคม บัวดก ผบ.หมู่ งานจราจร สน.ปทุมวัน ผู้เป็นบิดา เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับ พญ.วราลัคน์ ที่วัดปาริวาสราชสงคราม ถนนพระรามที่ 3 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพฯ

แต่ดูเหมือนผ้าเหลืองจะร้อน ถูกสำนักงานพระพุทธศาสนา (พศ.) แจ้งว่าไม่เหมาะ เพราะยังมีคดีอาญาติดตัว จึงต้องลาสิกขาไปหลังพระราชทานเพลิงศพหมอกระต่าย

 

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก ได้พยายามสร้างความมั่นใจกับผู้ใช้รถใช้ถนน ด้วยการยกร่างระเบียบระบบตัดคะแนนสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย และจะเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเพื่อดำเนินการต่อไป คาดว่าจะบังคับใช้ได้ในเดือนกันยายน พ.ศ.2565 และการเสนอเพิ่มโทษการฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจร จากปรับไม่เกิน 1,000 บาท เป็นไม่เกิน 4,000 บาท จะประกาศใช้ได้ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2565

รวมทั้งมอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ลงสำรวจพื้นที่บริเวณทางข้ามถนนจุดเกิดเหตุ เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลในการสร้างมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนนและการบังคับใช้กฎหมาย ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ทว่าไม่ได้ช่วยลดกระแสความไม่พอใจสังคม และไม่ไว้วางใจในองค์กรสีกากีได้เลยว่าจะทำคดีนี้อย่างตรงไปตรงมา เป็นห่วงว่าผู้ตายซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญของชาติแล้วต้องเสียชีวิตจากการขาดวุฒิภาวะ ส.ต.ต.หนุ่มจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ หลังเวลาผ่านเลยไปข่าวนี้ไม่ได้อยู่ในกระแส

ยิ่งข้อสงสัยในประเด็นรถของกลางยังคลางแคลงใจ ซ้ำยังเกิดข้อครหาว่าอุปสมบทโดยที่คดียังไม่สิ้นสุด แท้จริงแล้วเป็น “กลยุทธ์” ในการลดกระแสความไม่พอใจของสังคมหรือไม่

 

ทั้งหมดยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดเจนมากขึ้น ว่าความเชื่อมั่นในเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้นสั่นคลอนเพียงใด

แต่ยังมีความโชคดีอยู่บ้าง คดีหมอกระต่ายทำให้ทั้ง กทม. กระทรวงคมนาคม ตำรวจ ต่างหันมาร่วมปรับปรุงแก้ไขทางม้าลาย เพื่อไม่ให้เกิดเหตุสลดซ้ำอีก

จะเป็นเหมือนไฟไหม้ฟางหรือไม่ ต้องติดตามกันไป

จากนี้เป็นหน้าที่องค์กรผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ที่ต้องเร่งฟื้นศรัทธาอาณาจักรโล่เงินที่เหลืออยู่น้อยเต็มที

หลายคนคิดถึงการปฏิรูปตำรวจอย่างจริงจัง ไม่ใช่ “พิธีกรรม” ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยทำไว้ แล้วออกมาลูบหน้าปะจมูกเข้าอีหรอบเดิม