ครูเอื้อ สุนทรสนาน / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

ครูเอื้อ สุนทรสนาน

 

วันที่ 21 มกราคม เป็นวันคล้ายวันเกิดบรมครูของวงการเพลงไทยสากล คือ “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” แห่งวงดนตรีสุนทราภรณ์ ที่ในปี 2565 นี้ หากครูเอื้อยังอยู่ก็จะมีอายุครบ 112 ปีบริบูรณ์

เมื่อครั้งวาระครบ 100 ปีชาตกาลของครูเอื้อ สุนทรสนาน ในปี 2552 นั้น ครูเอื้อได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกสาขาวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล ซึ่งนำความภาคภูมิใจมาสู่ครอบครัว ลูกศิษย์ และประเทศไทยอย่างยิ่ง

ในโอกาสฉลอง 100 ปีชาตกาลของครูเอื้อคราวนั้น บริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด ก็ได้รับเกียรติจากมูลนิธิสุนทราภรณ์ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้นำบทเพลงอันไพเราะของสุนทราภรณ์มาสร้างสรรค์เป็นละครเวที ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก

จนมีการทำเป็นละครเวทีชุด “สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” มาแล้วถึง 7 เรื่องในเวลา 10 ปี ซึ่งในคอลัมน์เครื่องเคียงข้างจอก็เคยเขียนถึงไปแล้ว

ในละครทั้ง 7 เรื่องนี้ได้นำบทเพลงของสุนทราภรณ์ในท่วงทำนองและเนื้อหาต่างๆ มาร้อยเรียงกับการแสดงร่วม 160 เพลง

ซึ่งจริงๆ แล้วเพลงของสุนทราภรณ์มีอยู่กว่า 2,000 บทเพลงด้วยกัน

 

เสน่ห์ของเพลงสุนทราภรณ์คือ ทำนองที่หลากหลายสไตล์ โดยฝีมือการประพันธ์ของครูเอื้อเป็นหลัก ที่นับว่าทันสมัยมากในสมัยนั้น และร่วมสมัยอย่างมากในสมัยนี้ พิสูจน์ได้จากการที่รายการเพลงดังๆ ต่างๆ ตอนนี้ ได้นำบทเพลงสุนทราภรณ์มาใช้ในการแข่งขันร้องเพลง และได้มีการเรียบเรียงดนตรีขึ้นใหม่ ซึ่งก็สามารถสร้างสรรค์บทเพลงเก่าอันเป็นอมตะให้มีความไพเราะในทำนองเดิมแต่รสชาติใหม่ที่คนในยุคสมัยนี้ฟังได้อย่างรื่นรมย์

ผนวกกับเนื้อหาของเพลงที่มีการใช้คำที่ไพเราะ ลึกซึ้ง เปรียบเปรย มีความหมาย และกลมกล่อม ที่สะท้อนยุคสมัยของผู้คนและสังคมได้เป็นอย่างดี

ซึ่งบทเพลงของสุนทราภรณ์ที่แต่งขึ้นในเทศกาลสำคัญต่างๆ ก็กลายเป็นเพลงประจำเทศกาล ที่ได้รับการเปิดจนคุ้นหูคนทุกวัยอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเพลง “สวัสดีปีใหม่”, เพลง “รำวงวันสงกรานต์”, เพลง “รำวงลอยกระทง” เป็นต้น

ในช่วงนี้หลายคนคงได้เคยชมคลิปเพลง “บ้านเกิดเรือนนอน” ในหลายๆ เวอร์ชั่น ซึ่งอยู่ในโปรเจ็กต์ “บ้านเกิดเมืองนอน 2564” โดยมีการนำทำนองเดิมมาเรียบเรียงใหม่ทั้งแนวร็อก ป๊อป แจ๊ซ และเดี่ยวเปียโน และยังทำในเวอร์ชั่นท้องถิ่นต่างๆ ทั้งเหนือ อีสาน ใต้ หรือฉบับเด็กก็ยังมี นี่ก็เป็นผลงานดั้งเดิมของวงสุนทราภรณ์ โดยครูเอื้อ สุนทรสนาน ประพันธ์ทำนอง และครูแก้ว อัจฉริยะกุล ประพันธ์คำร้อง

เป็นที่ประจักษ์ว่า บทเพลงจากการสร้างสรรค์ของครูเอื้อนั้นร่วมสมัยเพียงใด

 

ภาพจำของแฟนเพลง คือ ภาพครูเอื้อสีไวโอลิน อันเป็นเครื่องดนตรีประจำตัวของครูที่ใช้ในการบรรเลงและควบคุมวง ที่ครูเอื้อเลือกสีไวโอลินนั้นมีที่มาว่า ตอนยังเด็กครูเอื้อเริ่มเรียนหนังสือที่ อำเภออัมพวา จ.สมุทรสงคราม บ้านเกิด จน พ.ศ.2460 บิดาได้พาครูเข้ามาเรียนหนังสือที่กรุงเทพมหานคร พักอาศัยอยู่กับหมื่นไพเราะพจมาน ผู้เป็นพี่ชาย โดยเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดระฆังโฆสิตารามจนจบชั้นประถมศึกษา

ซึ่งตอนนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงตั้งโรงเรียนพรานหลวงขึ้นที่บริเวณสวนมิสกวัน เพื่อสอนวิชาสามัญตามปกติในภาคเช้า และสอนวิชาดนตรีทุกประเภทในภาคบ่าย ซึ่งถือว่าทันสมัยอย่างมาก และเป็นการปลูกฝังให้นักเรียนมีจิตใจอ่อนโยน รักในศิลปะ และดนตรี

ที่โรงเรียนนี้ ครูเอื้อเลือกเรียนดนตรีสากลตามความถนัด นับว่าเป็นการปูพื้นฐานของการเป็นนักดนตรีและนักแต่งเพลงที่ยิ่งใหญ่ในเวลาต่อมา

หลังจากที่ครูเอื้อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ในปี 2465 พระเจนดุริยางค์ที่เป็นครูสอนดนตรีเห็นว่าครูมีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรีมาก จึงให้หัดเล่นไวโอลิน และแซ็กโซโฟน ทั้งยังให้เปลี่ยนมาเรียนดนตรีเต็มวัน ส่วนวิชาสามัญนั้นให้งดเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นต้นมา

นี่มันตรงกับหลักการศึกษาสมัยใหม่ของหลายๆ ประเทศ ชัดๆ ที่เอานักเรียนเป็นศูนย์กลาง และผลักดันให้เด็กได้ฝึกหัดในสิ่งที่ตนสนใจอย่างเต็มที่ เพื่อแสดงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายในออกมาให้มากที่สุด

ซึ่งครูเอื้อก็พิสูจน์ได้ถึงความเป็นอัจฉริยะทางด้านดนตรีนี้จากการได้เข้ารับราชการประจำที่กองเครื่องสายฝรั่งหลวงในกรมมหรสพ กระทรวงวัง โดยมีอายุเพียงแค่ 14 ปีเท่านั้น

 

พัฒนาการและความสามารถด้านดนตรีของครูเอื้อเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ได้มีโอกาสแสดงฝีมือผ่านงานต่างๆ จนเมื่ออายุ 26 ปี ครูเอื้อกับเพื่อนๆ ก็ได้ร่วมกันตั้งวงดนตรีไทยฟิล์ม ของบริษัท ภาพยนตร์ไทยฟิล์ม จำกัด โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล เพื่อเล่นดนตรีประกอบภาพยนตร์

ต่อมาเมื่อบริษัทเลิกกิจการลงในปี พ.ศ.2482 ครูเอื้อซึ่งตอนนั้นมีอายุ 29 ปี และเพื่อนนักดนตรีวงไทยฟิล์ม จึงได้นำวงดนตรีเข้ามาประจำเป็น วงหัสดนตรีกรมโฆษณาการ ที่ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์

โดยนักดนตรีชุดเดียวกันนี้เมื่อรับงานของทางราชการ จะใช้ชื่อว่า “วงดนตรีกรมโฆษณาการ” แต่เมื่อใช้รับงานส่วนตัวนอกเวลาราชการ จะใช้ชื่อว่า “วงดนตรีสุนทราภรณ์”

นอกจากจะสร้างสรรค์บทเพลงอันเป็นอมตะแล้ว ครูเอื้อยังสร้างนักร้องขึ้นมาประดับวงการดนตรีบ้านเรามากมาย อาทิ เพ็ญศรี พุ่มชูศรี, รวงทอง ทองลั่นทม, ชวลีย์ ช่วงวิทย์, มัณฑนา โมรากุล, วินัย จุลละบุษปะ, สมศักดิ์ เทพานนท์, บุษยา รังสี, ศรีสุดา รัชตะวรรณ, เลิศ ประสมทรัพย์ เป็นต้น

ซึ่งแต่ละท่านก็มีบทเพลงจากการขับร้องของตนเองที่เป็นที่นิยมและชื่นชอบของแฟนเพลงมากมาย

 

เพลงของสุนทราภรณ์ ได้ถูกนำมาดัดแปลงเรียบเรียงใหม่เพื่อใช้ในโอกาสต่างๆ เรื่อยมา เช่น เป็นเพลงประกอบหนังโฆษณา, เพลงประกอบภาพยนตร์ และละคร, เพลงในการแสดงดนตรีสดในงานรื่นเริงต่างๆ รวมทั้งบทเพลงที่ได้ถวายพระเกียรติยศแด่พระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์อีกด้วย

ในบทเพลงดังของสุนทราภรณ์นั้น มีหลายบทเพลงที่ขับร้องโดยครูเอื้อเอง และก็กลายเป็นเพลงจำประเภทขึ้นหิ้งของวงสุนทราภรณ์ไปเลย

เช่น เพลง “ขอให้เหมือนเดิม” ที่ร้องว่า “…ก่อนจากกันคืนนั้นสองเรา แนบซบเนาเคล้าคลอพ้อพรอดภิรมย์ หวานล้ำบำเรอเธอให้ชิดชม ฉันกอดเล้าโลม ชื่นใจ…”

เป็นไงครับได้อารมณ์ของความใกล้ชิดกันของหนุ่มสาวมากเลย

หรือเพลง “พี่รักเจ้า” ที่หนุ่มบอกสาวถึงความรักที่มีให้เชิงเปรียบเปรยว่า “…พี่รักเจ้ายิ่งกว่าปลารักน้ำ กินนรรักถ้ำ ไม่ล้ำพี่รักเจ้า กุญชรหวงงา มฤคาหวงเขา ยังไม่เท่าพี่หวงนงเยาว์ พี่หวงเจ้ากว่าดวงฤทัย…”

โอ้โฮ…คำที่เลือกใช้นั้นไพเราะและมีความหมายแบบอุปมาอุปมัยได้ดียิ่ง อย่างนี้จะไม่รับรักไหวหรือ

หรือเพลง “พรานทะเล” ที่ฟังแล้วเหงา ว้าเหว่อยู่ท่ามกลางผืนท้องทะเลกว้างจริงๆ “…มองน้ำตรงหน้าจรดฟ้าไกลไกล ว้าเหว่ดวงใจไม่เห็นผู้คน คลื่นและลมสู้ทน ทุกข์ใจปานใดไม่บ่น สู้แดดฝนลำบากกาย…”

ซึ่งบทเพลงพรานทะเลนี้ เป็นเพลงสุดท้ายที่ครูเอื้อได้ร้องถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร ในปี 2523 ด้วย

 

ครูเอื้อสิ้นชีวิตลงหลังจากทำงานต่อเนื่องมาอย่างหนักและต้องต่อสู้กับอาการป่วยอยู่นับปี โดยถึงแก่อนิจกรรมลงในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2524 รวมอายุได้ 71 ปี 2 เดือน 11 วัน

จากวันนั้นมาถึงตอนนี้เป็นเวลาร่วม 41 ปีแล้ว แต่บทเพลงของสุนทราภรณ์ยังคงก้องกังวาลอยู่ในความประทับใจของแฟนเพลง และอยู่เคียงข้างกับสังคมไทยในโอกาสต่างๆ เรื่อยมาอย่างที่ไม่มีวงดนตรีไหนในประเทศไทยทำเช่นนี้ได้

และเชื่อว่าบทเพลงอันเป็นอมตะของสุนทราภรณ์ โดยการนำของครูเอื้อ สุนทรสนาน จะยังคงไพเราะอยู่ในหัวใจนักฟังเพลงชาวไทยที่รวมถึงคนรุ่นใหม่ๆ ด้วยไปอีกนาน

ขอคารวะแด่อัจฉริยภาพด้านด้านดนตรีอันเอกอุของ “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” ในโอกาสครบ 112 ปีนี้ด้วยอย่างชื่นชมยิ่ง