“ธนาธร” จับมือ “NFT1” เปิดประมูลศิลปะดิจิทัล แนะรัฐทบทวนเก็บภาษีคริปโต ชี้อุปสรรคขวางเติบโต

“ธนาธร” จับมือ “NFT1” เปิดประมูลศิลปะดิจิทัลในรูปแบบ NFT มอบรายได้ศูนย์ทนาย-มูลนิธิคณะก้าวหน้า-iLaw – แนะรัฐทบทวนเก็บภาษีคริปโต

วันที่ 12 มกราคม 2565 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความลงบนเพจเฟซบุ๊ก Thanathorn Juangroongruangkit – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เปิดตัวผลงานศิลปะดิจิทัลในรูปแบบ NFT (Non-fungible Token) ซึ่งมีลักษณะการจัดเก็บรายได้โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นบนโลกศิลปะและดิจิทัลในระดับสากล
.
โดยนายธนาธรร่วมมือกับ NFT1 ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพตลาดประมูล NFT ออนไลน์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทย เปิดประมูลภาพวาดดิจิทัลของนายธนาธร 3 ภาพ และเตรียมส่งมอบรายได้ให้กับองค์กรฝ่ายประชาธิปไตยหลังการประมูลสิ้นสุดลง
.
โดยผลงานของนายธนาธรที่จะนำมาประมูลครั้งนี้มีทั้งสิ้น มี 2 ชิ้นตั้งอยู่บนบล็อกเชนตระกูล Binance หรือ BSC (Binance Smart Chain) ประมูลด้วยคริปโต Binance Coin (BNB) และอีกหนึ่งชิ้นใช้ระบบ Polygon ที่เชื่อมโยงกับ Ethereum และประมูลด้วยคริปโต Matic ประกอบด้วย :

ชิ้นแรก: “When She Opens the Door” ที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Damian Lechoszest เป็นภาพของ “เบนจา อะปัญ” กำลังเปิดประตู ถือตะเกียงส่องสว่างขับไล่ความมืดมิด วาดครั้งแรกด้วยสีอคริลิค ลงบนผ้าใบ จากนั้น จึงนำต้นฉบับมาสร้างเป็น NFT โดยรายได้จากภาพนี้จะนำไปบริจาคให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ชิ้นที่สอง: “Silence” ซึ่งเป็นงานชิ้นแรกที่นายธนาธรทำขึ้นโดยใช้โปรแกรม ProCreate วาด โดยได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดของ @colorbyfeliks ซึ่งรายได้จากภาพนี้จะนำไปบริจาคให้มูลนิธิคณะก้าวหน้าใช้ทำกิจกรรมต่อไป

ชิ้นที่สาม: “The sky is angry, so is the traveler” เป็นภาพสีคริลิคบนผ้าใบ ที่นายธนาธรวาดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน ปี 2563 สะท้อนทั้งสถานการณ์การเมืองและความรู้สึกของนายธนาธรในในช่วงเวลานั้น โดยรายได้จากภาพนี้ จะมอบให้กับ iLaw ต่อไป
.
นายธนาธร ระบุในโพสต์ดังกล่าว ว่าตนมีความสนใจเรื่องนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ มาโดยตลอด เพราะเชื่อว่านวัตกรรมเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงโลก และระบบการเงินอย่างถึงรากถึงโคนในอีกหนึ่งทศวรรษข้างหน้า โดยที่ NFT เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ถูกใช้มากขึ้นในโลกศิลปะดิจิทัล
.
ตลาดศิลปะดิจิทัลใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ในปีที่ผ่านมา และราคาของ NFT ก็เติบโตขึ้นมาก NFT ซื้อขายกันด้วยคริปโตสกุลต่าง ๆ หลังจากที่ถูกสร้างขึ้นมาแล้ว ผู้เป็นเจ้าของจะนำมาประมูลบนออนไลน์ ใครได้ถือครอง NFT ก็สามารถนำมาขายต่อ รวมทั้งการใช้บนโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมถึงเมตาเวิร์ส และโลกของเกมออนไลน์ด้วย
.
ศิลปินรายเล็กสามารถใช้ประโยชน์จาก NFT ได้เช่นกัน เพราะโดยทั่วไปศิลปินส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์จากการขายผลงานของตนเองในครั้งแรกเพียงครั้งเดียว จะไม่ได้ส่วนแบ่งจากการขายรอบต่อ ๆ ไป แต่ในรูปแบบ NFT ศิลปินจะสามารถเขียนเงื่อนไขในการซื้อขายครั้งต่อ ๆ ไป ไว้ใน Smart contract ให้ศิลปินได้ส่วนแบ่งจากการซื้อขายครั้งต่อ ๆ ไปได้
.
ในอนาคต NFT สามารถนำมาใช้ในชีวิตจริงได้หลายอย่าง นอกจากงานศิลปะ ในเมตาเวิร์ส หรือในเกมออนไลน์แล้ว ในอนาคต โฉนดที่ดิน, ตั๋วคอนเสริต, เอกสารสำคัญ ภาพถ่ายช่วงเวลาประวัติศาสตร์, เสียงเพลงหรือเสียงดนตรีของคนสำคัญ ก็สามารถเก็บในรูปแบบ NFT ได้

นายธนาธรยังระบุด้วย ว่าตนเป็นนักวาดภาพมือสมัครเล่น ผลงานมีเพียงไม่ถึง 20 ชิ้น และแต่ละชิ้นก็ไม่ได้สวยงดงามเหมือนศิลปินจริง ฝึกฝนจาก Youtube เป็นหลักเพื่อผ่อนคลาย ไม่ได้คิดว่าจะไปถึงระดับนักวาดมืออาชีพ แต่ก็ตัดสินใจทำศิลปะในรูปแบบ NFT ของตัวเองขึ้นมาครั้งนี้ ด้วยสองเหตุผล คือ
.
ประการแรก ในฐานะที่ตนเป็นบุคคลที่นำเสนอประเด็นที่เกี่ยวกับ Digital Transformation, NFT, Blockchain, DeFi, และ Cryptocurrency การสามารถอธิบาย กำหนดนโยบายเกี่ยวกับดิจิทัลให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยการลงมือทดลองด้วยตนเอง
.
ประการที่สอง NFT1 เป็นสตาร์ทอัพเจ้าใหม่ คนรุ่นใหม่ของไทยหลายคนทำงานอยู่ที่นี่ ซึ่งตนอยากสนับสนุนให้บริษัทที่คนไทยมีส่วนร่วมได้เติบโตไปพร้อมกับการเกิดขึ้นของตลาดเทคโนโลยีใหม่
.
นายธนาธรยังระบุด้วย ว่าแม้จะตื่นเต้นกับการสร้าง NFT ของตัวเองมาก แต่ก็มีเรื่องหนักใจจากการที่รัฐมีแนวคิดที่จะเก็บภาษีคริปโต ซึ่งตนเห็นว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมการเติบโตของตลาดนี้ในวันข้างหน้า และหวังว่ารัฐบาลจะทบทวนนโยบายดังกล่าวในอนาคต
.
“ผมไม่มีปัญหาใด ๆ กับการจ่ายภาษี ในฐานะผู้เสียภาษีอย่างครบถ้วนมาตั้งแต่สมัยทำธุรกิจ แต่ผมเชื่อว่ารัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ จะเห็นว่าวงการคริปโตและ NFT คืออนาคตของเศรษฐกิจการเงินโลก และออกนโยบายที่ดึงดูด ส่งเสริมการลงทุน การเติบโตของธุรกิจนี้ มากกว่าเห็นมันเป็นเพียงช่องทางเก็บภาษีเข้าคลังเพิ่ม” นายธนาธรระบุ
.
ทั้งนี้ การประมูลดังกล่าว จะมีขึ้นบนช่องทางของ NFT1 (https://app.nft1.market) โดยจะสิ้นสุดการประมูลในวันที่ 17 มกราคม 2565 ในเวลาที่แตกต่างกัน
.
ล่าสุด เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันนี้ (12 ม.ค.65) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าราคาประมูลล่าสุดของทั้งสามผลงาน อยู่ที่ 1,721 BNB หรือ 26,403.96 บาท สำหรับภาพ “When she opens the door”, 0.813 BNB หรือ 12,474.7 บาท สำหรับภาพ “Silence”, และ 153.2 MATIC หรือ 11,919.9 บาท สำหรับภาพ “The sky is angry, so is the traveller”