ข่าวดีต้อนรับปี 2022 ตั้ง Little Thailand Way (ไทยทาวน์) ในนิวยอร์ก อเมริกา/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

มงคล วัชรางค์กุล

 

ข่าวดีต้อนรับปี 2022

ตั้ง Little Thailand Way (ไทยทาวน์)

ในนิวยอร์ก อเมริกา

 

ในบรรดาข่าวร้ายเรื่องไวรัสโควิด-19 ที่โหมกระหน่ำจนถึงการกลายพันธุ์เป็นไวรัสโอมิครอน (Omicron) โจมตีชาวโลกในช่วงท้ายปีเก่าต่อข้ามยาวปีใหม่

ยังบังเกิดมีข่าวดีรับปีใหม่ 2022 แด่ชุมชนคนไทยในมหานครนิวยอร์ก นั่นคือข่าวใน SETH CHAD 18 ธันวาคม 2021 ระบุว่า

เทศบาลมหานครนิวยอร์กได้แจ้งให้ชุมชนคนไทยได้ทราบว่า คณะกรรมการ COMMUNITY BOARD The city of New York มีมติเป็นเอกฉันท์ให้มีการตั้ง Little Thailand Way (ไทยทาวน์) ขึ้นอย่างเป็นทางการในมหานครนิวยอร์ก โดยตั้งอยู่ใกล้โรงพยาบาล Elmhurst ถนน Woodside Avenue 77 Street ในย่าน Queens ห่างจากใจกลาง Manhattan ราว 25 นาที

สร้างความภาคภูมิใจให้ชุมชนคนไทยในนิวยอร์กเป็นอย่างยิ่ง

กว่าสี่สิบปีที่ผ่านมา ผู้อพยพชาวไทยมาบุกเบิกร้านอาหารไทยร้านแรก ชื่อร้านอาหาร Jai Ya อยู่บนถนน Broadway

หลังจากนั้น ธุรกิจ ร้านค้าของคนไทยก็เริ่มขยายตัวกันมาทำธุรกิจในย่านนี้มากขึ้น มีการสร้างร้านอาหารไทย ร้านกาแฟ ร้านซักรีด ตลาดร้านค้ามินิมาร์ตมีสินค้าทุกชนิดจากประเทศไทยขายในย่านนี้

ประมาณปี 1977 คนไทยมาอาศัยตั้งถิ่นฐานกันที่ย่าน Woodside, Jackson Heights, Broadway และ Elmhurst

หลังจากมีชุมชนคนไทยมาอยู่กันมากขึ้น ในปี 1994 คนไทยในย่านนี้ก็ร่วมกันสร้างวัดพุทธไทยถาวรวนารามขึ้น เป็นศูนย์รวมของคนไทย มีพระไทยออกบิณฑบาตยามเช้าในชุมชนคนไทย

การประกาศตั้ง Little Thailand Way (ไทยทาวน์) ทางสภาเทศบาลมหานครนิวยอร์กได้มีเอกสารประกาศแจ้งมาอย่างเป็นทางการถึงผู้ประสานงานริเริ่มก่อตั้ง คุณยุทธนา ลิ้มเลิศวาที (คุณ Moo) เมื่อ 19 พฤศจิกายน 2021 ระบุให้ติดป้ายประกาศชื่อ Little Thailand Way บนถนน Woodside Avenue จากแยกถนน 76 Street ถึงถนน 79 Street (ตำแหน่ง Location ใกล้หัวมุมของถนน Woodside Avenue และถนน 77 Street)

การที่เทศบาลมหานครนิวยอร์กประกาศตั้งชื่อ Little Thailand Way นี้ สำหรับคนไทยที่อยู่ในอเมริกาโดยเฉพาะในนิวยอร์กถือว่ามีความหมายมาก เพราะนิวยอร์กนั้นยิ่งใหญ่ระดับเป็นมหานครของโลก

ดังนั้น เมื่อเทศบาลมหานครนิวยอร์กประกาศรับรองการดำรงอยู่ของชุมชนชาวไทยจึงถือเป็นเกียรติประวัติยิ่งใหญ่ของชาวไทย

 

ก่อนหน้านั้นผมเคยเห็นชุมชนต่างชาติในนิวยอร์ก คือ China Town แห่งนิวยอร์ก, Brazilian Town, Korean Town และ India Town ทั้งหมดอยู่ใน Queens Borough (เขต Queens) เป็นโบโรฮ์ขนาดใหญ่ที่สุดของนิวยอร์กซิตี้

ผมเคยไปเยือนทุกชุมชน ขอเล่าถึง Indian Town หรือ Little India ที่ตั้งอยู่ที่ Jackson Heights, Queens ตรงถนน 74 Street ระหว่าง Roosevelt Avenue กับ 37th Avenue ย่านนี้จะมีร้านค้าของอินเดียมากมายทั้งสองฝั่งถนน โรงแรมอินเดีย,ร้านอาหารอินเดียหลายสิบร้าน, ร้านเสื้อผ้าแพรพรรณ, โกรเซอรี่สโตร์อินเดีย, ร้านขนมหวานอินเดียประเภทกุหลาบ จามูน (Gulab Jamun) บางร้านมีกลิ่นกำยานเหมือนร้านในประเทศอินเดีย จะมีการปิดถนนจัดงาน Indian Fair ทุกปี

ผมซื้อ Chai ชานมอินเดียใส่ซองไปชงกิน รวมทั้งซื้อชาอัสสัมและชาดาร์จีลิ่ง (Darjeeling tea) ใบชาชั้นยอดของอินเดีย, น้ำมะม่วงแสนอร่อยจากอินเดีย

ก่อนโควิด-19 ระบาด สมัยที่รถบัส ourbus.com วิ่งระหว่าง Reading-New York City จะมาหมดระยะรับส่งคนที่ย่าน Indian Town จึงได้อุดหนุนสินค้าแขกเป็นประจำ

 

ส่วนการจัดงานไทยแฟร์ในนิวยอร์กนั้น เคยจัดกันแค่ 4 ครั้ง จะขอเล่าถึงครั้งล่าสุดที่ชื่อว่า Experience Thailand 2019 เมื่อ 8 กันยายน 2019 จัดโดยสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครนิวยอร์ก ท่านกงสุลใหญ่ไทย ณ นครนิวยอร์ก คุณนิพนธิ์ เพ็ชรพรประภาส (ตำแหน่งในขณะนั้น) เป็นประธานจัดงาน ร่วมกับ the Tourism Authority of Thailand NA, Thai Trade Center USA Office, Bord of Investment (BOI), Bank of Thailand, Bangkok Bank และชุมชนไทยแห่งนิวยอร์ก

งานจัดที่บริเวณสวน Union Square Park ใจกลางมหานครนิวยอร์ก โดยใช้พื้นที่สวนด้านที่ติดกับถนน 17 Street ขวางตลอดหน้ากว้างของสวนด้านนี้เป็นที่จัดงาน

ผมขับรถ 3 ชั่วโมงครึ่งจากบ้านเรดดิ้งมาเที่ยวงาน บนเวทีมีการแสดงศิลปะไทยหลายชุดต่อเนื่อง มีพิธีกรคู่ขวัญบรรยายทั้งภาษาไทยและอังกฤษให้ผู้ชมรู้เรื่องศิลปวัฒนธรรมไทย ผู้ชมจับจองเก้าอี้หน้าเวทีเต็มทุกที่ และยืนชมอีกจำนวนมาก

นอกจากแสดงศิลปะไทยแล้ว บนเวทียังมีโชว์หลากหลาย เช่น มวยไทยจากค่ายยิมในนิวยอร์ก, chef ไทย 3 คนในนิวยอร์ก สาธิตวิธีทำอาหารไทย คนสนใจกันมาก, ขบวนกลองยาวรำแหวกผู้ชมขึ้นเวที สร้างความสนุกสนาน ต่อด้วย “เซิ้งกะโปง” ผู้แสดงชายโดดลงจากเวทีมาโค้งสุภาพสตรีฝรั่งขึ้นไปเซิ้งบนเวทีชื่นม่วน ปิดท้ายรายการบนเวทีด้วยการโชว์วงปี่พาทย์ของหนูน้อยลูกหลานไทยฝึกฝนจากโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ที่วัดไทยในลองไอร์แลนด์

ผู้คนมาร่วมงานเนืองแน่นเรือนหมื่น เป็นชาว New Yorkers ทั้งคนเอเชียน, Hispanic (คนเชื้อสายสเปน), คนฝรั่งและคนไทย

มีร้านอาหารมาออกงาน 14 เจ้า จัดเป็นซุ้มเรียงรายหลังคาติดกัน ทุกร้านขายดิบขายดี คนเข้าคิวซื้ออาหารยาวเหยียด

ร้านขายขนมหวานนำเข้าจากเมืองไทย ขนมบางชนิดขายหมดตั้งแต่ก่อนบ่าย ร้านขายอาหารสำเร็จรูปนำเข้าจากเมืองไทยก็ขายดีพอกัน

ด้านหน้างาน มียักษ์ยืนเฝ้าอยู่ 2 ตน ตนหนึ่งสีเขียว อีกตนสีม่วง ผู้คนเข้าคิวถ่ายรูปกับยักษ์ ซุ้มของการท่องเที่ยวฯ สาวๆ พากันถ่ายรูปกางร่มกับฉากพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่โบราณสถานสุโขทัย

ร้านนวด 2 ร้าน นวดหน้า หลัง ไหล่ และฝ่าเท้า คนเข้าคิวรอนวดน่าปลื้มใจ

ถ้าคุณรู้จักนิวยอร์ก จะเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีชนชาติใดมาจัดงานแฟร์กลางนครแห่งนี้ได้เยี่ยงนี้

งาน Experience Thailand 2019 จึงประกาศเกียรติคุณของประเทศไทยให้เกริกไกรในนิวยอร์กและในอเมริกา

เดือนธันวาคม 2019 คุณนิพนธิ์ เพ็ชรพรประภาส ได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงดาการ์ (Dakar) ประเทศเซเนกัล (Senegal) จนปัจุบัน

ผมเดินทางไปนิวยอร์กทุกปี บางปีไป 2 ครั้ง พักในนิวยอร์กหลายวันเพราะมี Time share ที่ Manhattan Club ต้องไปใช้สิทธิ์พักห้อง sweet suite 7 วัน วันสุดท้ายก่อนกลับ จะขับรถไปกินอาหารไทยแถว Queens กล่าวกันว่ามีร้านอาหารไทยในย่านนี้ 60 ร้าน รวมทุกประเภทของอาหารไทยจนถึงร้านข้าวแกง แล้วเดินช้อปปิ้งซื้อขนมไทย เครื่องปรุงอาหารไทยและผลไม้ไทยจากซูเปอร์สโตร์ไทยกลับเรดดิ้ง

ย่านนี้มีอพาร์ตเมนต์คนไทย เขียนชื่ออาคารเป็นภาษาไทย ติดป้ายให้เช่าเป็นภาษาไทยอย่างเดียว ไม่มีป้ายภาษาอังกฤษ

 

ในคำประกาศจัดตั้ง Little Thailand Way ของเทศบาลนครนิวยอร์กระบุให้มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์และงานฉลองใหญ่ปีละ 2 ครั้ง

ทุกวันศุกร์, เสาร์และอาทิตย์ ให้ Little Thailand Way ปิดถนน จัดเป็นถนนคนเดินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

โปรโมตสินค้าไทยและวิถีไทยตลอดทั้งปี