’10 ไฮไลท์แห่งปี 2564′ รัฐบาลประยุทธ์ร้าว : สงครามเย็นใน พปชร. “ประยุทธ์ vs ธรรมนัส” พ่นพิษสภาล่มมาราธอน

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2564 กลายเป็นจุดเริ่มต้นของรอยร้าวใหญ่ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำที่อยู่ในเก้าอี้มานานกว่า 7 ปี แต่ความนิยมและความเชื่อมั่นต่อพล.อ.ประยุทธ์ กำลังเข้าภาวะขาลง

ผลการอภิปรายและลงมติไว้วางใจนั้น แม้ประยุทธ์กับอีก 5 รมต.จะรอดจากการเชือดกลางสภา แต่อันดับที่ไว้วางใจของประยุทธ์นั้น กลับเป็นประเด็น เพราะผลคะแนนไว้วางใจของ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯ เกือบอันดับท้าย ผิดกับที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐเคยให้ความเชื่อมั่นว่าจะได้คะแนนเป็นที่หนึ่ง

ส่วนสำคัญคือ แผนการณ์โค่นนายกฯกลางสภาระหว่างอภิปรายไม่ไว้วางใจ พอข่าวแผนโค่นสะพัดทั่วสภา ก็ทำให้ ประยุทธ์ ต้องรีบล็อบบี้ส.ส. จนเกิดการร้องเรียนกลางสภาโดย วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เพื่อไทยว่า ประยุทธ์ จ่ายเงิน 5 ล้านแลกโหวตไว้วางใจ ระหว่่างนั้นก็มีการไล่สืบว่าเป็นผู้บงการแผนการณ์ดังกล่าว

ทุกสายข่าวพุ่งไปที่ชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีความเป็นผู้มีอิทธิพลและมีความใกล้ชิดกับส.ส.ทั้งพลังประชารัฐและพรรคเล็ก

ปฏิบัติการโหวตล้มเก้าอี้นายกฯ ด้วยเกมการเมืองของคนกันเองภายในพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

มติชนออนไลน์รายงานสกู๊ปหน้า 1 ถึงเบื้องลึกรอยร้าวภายใน พปชร.เมื่อวันที่ 8 กันยายน รายงานว่า โดยคะแนนไว้วางใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาอยู่ที่ 264 เสียง เรียกว่าได้ “รองบ๊วย” แม้พรรค พปชร.จะไม่แตกแถว ลงคะแนนไปในทิศทางเดียวกันทั้ง 119 เสียง แต่ที่เหนือการควบคุมคือ การแสดงพลังของพรรคเล็ก ที่มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับแกนนำพรรค พปชร.คนสำคัญ

แม้จะอยู่ร่วมรัฐบาลเดียวกัน แต่กลับโหวตสวนไม่ไว้วางใจนายกฯ แสดงให้เห็นร่องรอยของความไม่พอใจในการทำหน้าที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะความนิยมที่ตกต่ำได้ส่งผลกระทบต่อการลงพื้นที่ของส.ส.เขต

ผลตามมาหลังการอภิปรายคือ ประยุทธ์ ได้ลงนามปลด ร.อ.ธรรมนัส พ่วงด้วยนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงแรงงาน ทำให้หลุดจากวงจรโคจรคณะรัฐมนตรี เหลือแต่รัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐในกลุ่มสามมิตรและคนของประยุทธ์ ซึ่งมีความพยายามจะทำลายอิทธิพลของธรรมนัสในพรรค ด้วยการพยายามโน้มน้าว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พี่ใหญ่กลุ่ม 3 ป.ให้ปลดร.อ.ธรรมนัสจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค แต่ในที่สุด ประวิตร ยืนยันให้ร.อ.ธรรมนัส ทำหน้าที่เดิม อีกทั้งยังมอบหมายให้ธรรมนัสและนฤมล เป็นคนคุมการหาเสียงและลงพื้นที่ร่วมกับส.ส.พลังประชารัฐอย่างต่อเนื่อง

การออกตัวปกป้องธรรมนัส-นฤมล ทำให้สายสัมพันธ์ 3 ป.ไม่ค่อยดี โดยเฉพาะ ประยุทธ์กับประวิตร ที่แสดงให้เห็นได้ชัดผ่านสีหน้าและอากัปกิริยาของประยุทธ์ต่อหน้าสื่อมวลชนที่สะท้อนชัดถึงความหมางเมินระหว่างกัน

พอเป็นข่าว ทั้งประยุทธ์และประวิตร ต้องเล่นบทเคลียร์ใจ แม้จะให้ธรรมนัสพบกับประยุทธ์ที่มูลนิธิป่ารอยต่อเพื่อขอโทษ เสมือนอโหสิกรรมต่อกัน แต่หลังจากนั้น บทกาวใจเชื่อมรอยร้าวก็หมดมนต์ขลัง เบื้องหน้า แม้จะเห็นความเหนียวแน่นของ 3 ป.อยู่ แต่เบื้องหลังก็ยังคงมีสิ่งค้างคาใจ และรอยร้าวนี้ยากจะสมานกลับมาเหมือนเดิมง่ายๆ

ส่วนประยุทธ์กับธรรมนัสนั้น แม้จะออกข่าวทำนองว่าเคลียร์ใจกันแล้ว แต่ความจริงต่างฝ่ายต่างเลี่ยงพูดถึงอีกฝ่าย ก็พอทำให้เห็นได้ว่ารอยร้าวในพรรคไม่ได้สมานจริง

นอกจากนั้น วิรัช รัตนเศรษฐ์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค อดีตประธานวิปรัฐบาล ได้ตอบกับสื่อว่า ตำแหน่งเลขาธิการพรรคนั้น ยังคงเดิม ซึ่งหมายถึงธรรมนัส หลังจากนั้น วิรัช ยังคงร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐในการลงพื้นที่ร่วมกับธรรมนัสและนฤมล

แต่แล้วในเดือนพฤศจิกายน ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง ได้รับฟ้องคดีทุจริตสนามฟุตซอลและสั่งให้ วิรัช หยุดทำหน้าที่ส.ส. ส่งผลทำให้วิรัชหลุดจากประธานวิปรัฐบาล จากนั้นได้เสนอให้ นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ รับนั่งประธานวิปรัฐบาลคนใหม่

ในช่วงการเมืองสภาในปี 2564 ก็มีเหตุสภาล่มมาก่อนช่วงต้นปีแล้ว แต่หลังเหตุรอยร้าวในพรรคพลังประชารัฐ ตลอดช่วงปลายปี 64 เกิดเหตุสภาล่มบ่อยขึ้น แม้นิโรธจะมานั่งเป็นประธานวิปรัฐบาลคนใหม่ แต่แสดงให้เห็นว่ายังไม่มีบารมีและอำนาจพอคุมเสียงส.ส.รัฐบาลได้

เหตุสภาล่มที่บ่อยขึ้น ได้ทำให้ประวิตร ต้องออกมากำชับ ส.ส.พรรคให้เข้าร่วมประชุมสภา และอยู่จนเลิกประชุม เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาองค์ประชุม หรือสภาล่ม และยังพูดทิ้งท้ายว่า “ถ้าองค์ล่มบ่อยๆ ก็จะโดนบอกให้ยุบสภา”

เหตุสภาล่ม แม้มีการโจมตีกล่าวหากันระหว่างส.ส.ฝ่ายค้านกับส.ส.ราษฎร แต่เหตุการณ์ดังกล่าวดูแนวโน้มไปทางส.ส.ฝั่งรัฐบาล ส่งผลทำให้ประยุทธ์กังวลต่อร่างกม.สำคัญที่ต้องผ่านให้ได้ก่อนจะทำการตัดสินใจครั้งใหญ่

เหตุการณ์รอยร้าวในพลังประชารัฐและแผนกบฎล้มนายกฯของธรรมนัส นับเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อนภาวะถดถอยอย่างหนักของรัฐบาลประยุทธ์และเป็นตัวชี้วัดถึงโอกาสการยุบสภาและนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ แม้ไม่ชัดว่าการยุบสภาและการเลือกตั้งใหม่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่

แต่สภาพรัฐบาลและสภาในตอนนี้ ได้ถูกตั้งเป็นฉายาจากสื่อสายสภาและทำเนียบในปี 2564 นั้นคือ “สภาอัปปาง”, รัฐบาล “ยื้อยุทธ์” และประยุทธ์ ในฉายา “ชำรุดยุทธ์โทรม”