‘ปรารถนา-อารยะ’ ตอน : ศึกลูกหนังหมู่บ้านอาเซียน/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

‘ปรารถนา-อารยะ’

ตอน : ศึกลูกหนังหมู่บ้านอาเซียน

 

คุณเคยเห็น “ธรรมนูญ” อาเซียนที่เปราะบางนั่นหรือไม่? ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ก่อตั้งอาเซียนใหม่ๆ และมี 4-5 ประเทศสุมหัวกันเขียนธรรมนูญกฎบัตรที่ประเทศอินโดนีเซียและใช้กันมาถึงจนวันนี้ยังมีแต่ความล้าหลังและไม่เคยสังคายนาแม้สมาชิกภาพและสังคมภูมิภาคและความมั่นคงนานา จะเปลี่ยนไปแล้วมาก

แต่เชื่อไหม คุณภาพการเติบโตชุมชนของภูมิภาค ความเป็นพลเมืองคุณภาพ วิสัยทัศน์-การเรียนรู้ที่เกิดจากฐานล่างกลับเกิดจากวงการลูกหนังอาเซียนที่จัดขึ้น 2 ปีครั้ง และวันนี้ เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพได้นำพาเราออกจากภาพลวงตานั้น

มันทำให้เราได้เห็นปรากฏการณ์ “นอกกระแส” ที่เกิดจากแต่ละหมู่บ้านที่ทุ่มเทสรรพกำลังพัฒนาทีมตนอย่างสุดคลั่งเพื่อสนองตอบความต้องการของชุมชนจนคล้ายกับ “ธรรมนูญ” ใหม่ในกระแสรองของออนไลน์

ความดราม่า กลบเกลื่อน ขบขำที่ฟาดฟันกันไปมาในเกรียนคีย์บอร์ดของอาเซียน ที่แม้แต่ทัศนคติ ความแตกต่างวิถีชุมชนและเพศสภาพก็ยังถูกนำมาใช้ในการบูลลี่

แต่ดราม่าล้อเลียนความโอ้อวดวิพากษ์นำไปสู่ข้อดี การเรียนรู้เสรีในจริตตนและหมู่บ้านผ่านกีฬาฟุตบอล

นี่เป็นประโยชน์ต่อพลเมืองเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่า “ธรรมนูญอาเซียน” ที่จับต้องไม่ได้ อย่างที่เห็นแต่ละสมัยการประชุมผู้นำมีแต่ตีหัวเข้าบ้านในผลประโยชน์ตนเองมากกว่าความยั่งยืนประชาคมในองค์รวม

คุณเคยเห็นความกระเหี้ยนกระหือรือในการเปลี่ยนพลังงานอันทรงพลังนั่นไหม? มันคือจริตของชาวอาเซียนที่ธรรมนูญอาเซียนไม่เคยให้ความสำคัญในข้อนี้

แต่เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ 2020 คือเสาเหลี่ยมอันแหลมคมของโลกเสมือนจริง ที่เปิดชุมชนโลกอาเซียนให้ซ่านไปด้วยความจริงที่เหนือกว่าชัยชนะและความพ่ายแพ้เจ็บช้ำ มันคือความจริงอันมากไปด้วยมูลค่าในคอมเมนต์ดราม่าหรือแม้แต่เงินอัดฉีดมากมายที่ไทยใส่ไปในงานนี้ ไม่ว่าจะเพื่ออะไร แต่มันคือนิมิตหมายอันดี

นอกเหนือจากการเมืองเรื่องสาระอันหาไม่ ภายใต้ความเกรียนเว่อวังอวยยศเพื่อเกียรติยศของชัยชนะและความสงบ ทั้งหมดคือจริตจะก้านอันหลากหลายของอาเซียน มันคือจุดแข็งที่เรียกกันว่า solt power สกิลซึ่งทัวร์นาเมนต์การแข่งขันฟุตบอลครั้งนี้ ทักษะดังกล่าวได้ถูกนำมารวมในฟุตบอลทั้งหมด

มันเป็นการห้ำหั่นกันระหว่างแผนทักษะแบบเชิงแข็งและเชิงอ่อน (hard core-soft core) บนเกมแข่งขันสนามกลาง โดยผู้ชนะมักถูกนำไปถอดแบบความสำเร็จในอนาคตสักวันในทีมของตน แต่เรื่องแบบนี้ไม่เคยมีในผู้นำหมู่บ้าน

เชิงการเมือง เราจึงไม่เคยเห็นการตัดสินใจที่ให้ประโยชน์ต่อพลเมืองของหมู่บ้านอย่างกล้าหาญจริงใจและเต็มไปด้วยจริยธรรม

และความเพิกเฉยเหล่านั้น มันคือความล้าหลังต่อองค์รวม

แต่พลันเช้าวันที่ผลการข่งขันนั้นออกมา พลันโลกออนไลน์ก็ถล่มพลเมืองอาเซียน ณ เบื้องหน้า โดยเฉพาะคู่ดราม่าไทย-เวียดนาม ที่เป็นเหมือนไฮไลต์ประจำงานกีฬาของหมู่บ้าน

– กัมพูชา-เวียดนาม ที่ผลการแข่งขันออกมา 4-0 แต่กระนั้น เวียดนามก็ไม่ได้เป็นที่หนึ่งของสาย

การชนะกัมพูชาถึง 4-0 กลับเป็นความล้มเหลวที่น่าละอาย? แต่ถึงกระนั้น ก็ยังโทษลาวและเขมรที่พวกเขาเอาชนะด้วย “สกอร์” ที่น้อยเกินไป? และชาวเขมรจะรู้สึกเจ็บใจในท่าทีที่หมิ่นแคลนของวีเอ็นนั้นหรือไม่?

การแสดงออกทางสีหน้าเหยเก ผิดหวังและวิตกกังวลอย่างเห็นได้ชัด หลังรู้คะแนนตนเป็นรองอินโดฯ เมื่อจบการแข่งขัน แฟนบอลวีเอ็น (vn) ยังโกรธแค้นสื่อตนที่ตีพิมพ์ภาพชุดนั้นราวกับประจานความพ่ายแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มแข่งขันกับทีมไทย

“น่าละอาย” และด้วยถ้อยคำเผ็ดร้อน “นายเป็นคนเวียดนามหรือเปล่า? ลบมันออกเดี๋ยวนี้นะ!”

“เราก็แค่เสียใจที่ไม่บรรลุเป้าหมาย แต่คุณมันบ้ากว่านั้น ที่ทำลายจิตวิญญาณของนักเตะ”

หรือแท้จริงแล้ว กัมพูชาได้ยัดเยียดความปราชัยแก่เวียดนามไว้ล่วงหน้า ด้วยการยืมมือ “ช้างศึก” ในการสังหาร “ดาวทอง” และตนเองได้แก้แค้นราวกับพล็อตของละครหลังข่าว?

ยังไม่หมดเท่านั้น มันยังลามไหลไปสู่วงนอกของดราม่า ระหว่าง “ญี่ปุ่น-เกาหลี” ที่ต่างเป็นตัวแทน (โค้ช/ลีก) อันซับซ้อนต่อความสำเร็จฟุตบอลอาเซียน

พอทันทีที่เวียดนามแพ้ไทย 2-0 พลันดราม่าคอมเมนต์นานาก็ตามมา เดือด กระจาย

อย่างเนืองๆ ก่อนหน้านี้ฉันเคยคิดว่า กีฬาฟุตบอลคือมรดกของการแสดงออกในลัทธิชาตินิยมอินโดจีนที่มีเวียดนามเป็นแกนนำ

แต่ไม่เคยนึกว่า การเป็นประชาคมอาเซียนจะทำให้เวียดนามยกระดับชาตินิยมมากว่านั้น มันยังสร้างแรงผลักดันที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นยิ่งเสียกว่าสมัยอินโดจีนเสียอีก

อย่ากระนั้น ในสังคมอาเซียนที่มีแบบแผนเชิงการเมืองอนุรักษนิยม แต่กลับพบว่าดีเอ็นเอของความเป็นชนชาติในหมู่บ้านแห่งนี้ คือตัว “เปลี่ยนเกม” ทางความคิดที่น่าสนใจ

แม้เรื่องราวของหมู่บ้านแห่งนี้จะเต็มไปด้วยความวุ่นวายกันต่อไป

ในโลกโซเชียล แฟนบอลชาววีเอ็นสอนให้เราเรียนรู้อะไรหลายอย่าง ในแง่วิสัยทัศน์และแนวคิดที่แตกต่างของวิถีโลกสมัยใหม่ ที่มีความสำเร็จเป็นเป้าหมายหลัก

แต่อย่างน้อย สำหรับทศวรรษนี้ สิ่งที่เราได้เห็นในความทะเยอะทะยานทางกีฬาของเวียดนามนั้น ได้ถูกสร้างขึ้นโดยมีไทยเป็นโมเดล

ซึ่งเมื่อยกระดับขึ้นมาอยู่แถวหน้าของความสำเร็จนั้น พวกเขาไม่เคยยอมรับความพ่ายแพ้ได้อีกแม้เพียงครั้ง

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

เพราะโลกไม่เคยรู้จักความสงบอีกต่อไป แฟนบอลเวียดนามยังเป็นตัวแทนของความก้าวหน้า (หรือทะเยอทะยาน) ขั้นสูง จนบางครั้งก็ลืมเอื้อเฟื้อจิตใจไปสู่หมู่บ้านอื่น

ชาวเวียดนามจึงมักทำให้พวก “หมู่บ้าน” อาเซียนลุกเป็นไฟในบ่อยครั้ง โลกโซเชียลได้รู้จักคำว่า “ราชาแห่งอาเซียน” ผ่านจริตเวียดนามชาตินิยมอย่างบ่อยครั้ง อย่างตรงไปตรงมาจนเกือบจะเรียกว่าความยโสโอหัง

ในเนืองๆ บ่อยครั้งของการสังฆกรรม ก็มีลาว-กัมพูชา ถูกดึงเข้ามาร่วม

 

แต่ความพ่ายแพ้ก็เป็นบทเรียนที่สวยงามเสมอ ความจริงที่ปรากฏในประสิทธิภาพของผู้แข่งขันหมู่บ้านอื่นด้วยผลลัพธ์ที่เหนือกว่า ได้ถูกนำมาประเมินผ่านตัวตน อีโก้ และสุ้มเสียงที่เปลี่ยนไป (แม้เพียงส่วนหนึ่ง)

ดังนี้ แม้โลกออนไลน์จะลุกเป็นไฟจากความพ่ายแพ้ของวีเอ็นเมื่อไม่กี่วันก่อน

“คุณเห็นอะไรในเกมนี้ไหม?” เกรียนวิจารณ์นักเลงคีย์บอร์ดมักจะเกริ่นด้วยคำนี้ ก่อนจะเมามันต่อไปด้วยคอมเมนต์ดราม่าของแฟนบอลเวียดนาม อาทิ “ทำไมไทยถึงแซงหน้าเวียดนามในทุกวงการเลย ทั้งการท่องเที่ยว, ภาพยนตร์, บันเทิง, เศรษฐกิจ, กีฬา…มันช่างน่าเบื่อ” (Ej คอมเมนต์)

ถูกแล้ว มันเป็นความจริงที่ไม่ถูกใจ แต่ก็เป็นมุมมองที่เปลี่ยนไปหลังเห็นฟอร์มรอบชิงไทย-อินโดนีเซีย ที่เล่นกันอย่างแฟร์เพลย์บนเกม 180 นาทีนั่น

“ไทยคือราชาแห่งอาเซียน เวียดนามก็แค่โชคดี, พูดตรงๆ นะ ผมว่าไทยยังอยู่ระดับที่แตกต่างจากภูมิภาคนี้, ที่เวียดนามแพ้ไทย ผมไม่เสียใจอีกแล้ว” (Farangthink)

“ผมเคยได้พูดว่า ไทยนั้นยังมีเงาความแข็งแกร่งและทีมฟุตบอลที่ทันสมัย แต่แฟนบอลก็พูดนั่นพูดนี่ ตั้งแต่เริ่มต้นทัวร์นาเมนต์จนถึงตอนนี้ ถ้าพวกเขาแข็งแกร่ง เราก็ควรเรียนรู้สิ่งดีๆ แล้วเราจะยกระดับได้”

และบูลลี่ตัวเองว่า-ดีแต่ดูถูก “ลาว-เขมร”