ครม. ไฟเขียว ร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง บัตรสองใบ ส.ส.เขต 400 ปาร์ตี้ลิสต์ 100

ครม. ไฟเขียว ร่างกฎหมายลูกเลือกตั้ง บัตรสองใบ ส.ส.เขต 400 ปาร์ตี้ลิสต์ 100

วันที่ 28 ธันวาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ รวม 2 ฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่..) พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอ เพื่อให้สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2564 ที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 83 มาตรา 86 และมาตรา 91 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ ..) (พ.ศ. ….) มีสาระสำคัญ อาทิ

1.ให้ กกต.ดำเนินการจัดให้มีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน 400 คน และการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 100 คน

2.ให้พรรคการเมืองต้องส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้วจึงมีสิทธิส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ และต้องกำหนดให้ส่งบัญชีรายชื่อดังกล่าวก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยต้องกำหนดวันที่พรรคการเมืองจะส่งบัญชีรายชื่อผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 3 วัน

3.กำหนดให้มีคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 7 คน มีหน้าที่เกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนในที่เลือกตั้งและนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งแต่ละแห่ง

4.ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบละ 1 ใบ (บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส่วนหีบบัตรเลือกตั้งให้มีลักษณะตามที่ กกต. กำหนด)

5.แก้ไขเพิ่มเติมการประกาศผลเลือกตั้ง โดยเมื่อรวมผลเลือกตั้งแล้ว คะแนนทุกหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น รวมทั้งคะแนนที่ได้จากการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง และการลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแล้ว ให้ กกต. ประจำเขตเลือกตั้ง ดำเนินการประกาศผลรวมคะแนน ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง คะแนนที่ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด ผลการรวมคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และคะแนนที่ไม่เลือกพรรคการเมืองใด แล้วรายงาน กกต. โดยเร็ว

ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. มีสาระสำคัญดังนี้ 1.แก้ไขเพิ่มเติมให้คณะกรรมการสรรหาของแต่ละพรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อไม่เกิน 100 รายชื่อ

2.แก้ไขเพิ่มเติมให้สมาชิกพรรคการเมืองลงคะแนนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อได้คนละไม่เกิน 10 รายชื่อจากเดิม 15 รายชื่อ