คนมองหนัง : ‘พญาโศกพิโยคค่ำ’ : มากกว่า ‘นิทานเปรียบเทียบ’

คนมองหนัง

คนมองหนัง

 

‘พญาโศกพิโยคค่ำ’

: มากกว่า ‘นิทานเปรียบเทียบ’

 

“พญาโศกพิโยคค่ำ” ภาพยนตร์ทดลองขาว-ดำ โดย “ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์” ซึ่งตระเวนฉายมาแล้วในหลายเทศกาลหนังทั่วโลก กำลังเข้าฉายเชิงพาณิชย์ในโรงหนังบ้านเรา

หากลองตัดหรือลืม “เรื่องย่อ” ของหนังที่เผยแพร่ตามสื่อต่างๆ ออกไปก่อน เนื้อหาที่พอจับต้องได้ของ “พญาโศกพิโยคค่ำ” จะประกอบด้วยเรื่องราวสองช่วงเวลา ซึ่งค่อยๆ กลืนกลายเข้าหากัน

ท้ายสุดแล้ว นี่คือเรื่องราว/ความทรงจำ/ชะตากรรมว่าด้วยบาดแผลชีวิต ที่เกิดขึ้นซ้ำซ้อนเวียนวนไม่รู้จบ ของสมาชิกหลายรุ่นในครอบครัวหนึ่ง

เมื่อเรื่องราวของผู้เป็นพ่อที่ต้องพลัดพรากจากบ้าน คล้ายหลบลี้หนีภยันตรายบางอย่าง เหลือทิ้งไว้แค่คนเป็นแม่กับลูกสาว ซึ่งต้องจมค้างอยู่ในอดีตมืดทะมึนและปัจจุบันอันแน่นิ่ง สกปรก โสมม ถูกบอกเล่าซ้ำสองครั้ง ผ่านกลุ่มตัวละครที่แตกต่างกัน (แต่เชื่อมโยงถึงกัน)

ในแง่หนึ่ง คนดูบางส่วนอาจทดลองตั้งคำถามว่า “พญาโศกพิโยคค่ำ” กำลังพยายามทำตัวเป็น “นิทานเปรียบเทียบ” ของอะไรอย่างอื่น (เช่น ประวัติศาสตร์การเมืองไทย) อยู่หรือไม่?

ถ้าคุณลักษณะหนึ่งของ “นิทานเปรียบเทียบ” คือ การที่เราสามารถแทนค่าตัวละครในหนังเข้ากับบุคคลจริงๆ ในเหตุการณ์/สถานการณ์เฉพาะที่ภาพยนตร์อ้างอิงถึง ได้อย่างแนบสนิท

หนังยาวเรื่องแรกของไทกิก็มิได้มีคุณสมบัติทำนองนั้น

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น บรรดาตัวละครชายผู้ต้องพลัดพรากจากครอบครัวและบ้านเกิดในหนัง ซึ่งดูจะมีบทบาทเป็นทั้ง “เหยื่อ-ผู้ถูกกระทำ” และ “นักล่า-ผู้กระทำเรื่องเลวร้ายต่อคนอื่น”

กระทั่งยากระบุชัดว่าพวกเขาคือใคร? อยู่ฝ่ายไหน? (หรือว่าเขาอาจเป็นภาพแทนของใครหลายต่อหลายคน?) โดยเราอาจรับรู้แค่เพียงว่าเขาทั้งคู่ได้ประสบความพ่ายแพ้ ณ ช่วงเวลาใดช่วงเวลาหนึ่ง เท่านั้น

หรือวิธีการพูดจาสละสลวยราว “กลอนเปล่าฝรั่ง” ของตัวละครพ่อรายหนึ่ง ก็ดูจะมิใช่จารีตของชนชั้นนำ-ปัญญาชนไทยส่วนมาก ซึ่งยึดโยงตัวเองเข้ากับบทกวีมีฉันทลักษณ์มากกว่า

จนยากจะเทียบเคียงตัวละครผู้นี้เข้ากับบุคคลสำคัญคนใดคนหนึ่งได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว

ถ้าไม่ใช่ “นิทานเปรียบเทียบ” แล้ว “พญาโศกพิโยคค่ำ” ยังทำหน้าที่เป็นอะไรได้อีก?

ภาพเคลื่อนไหวขาว-ดำ (ฝีมือการกำกับภาพของ “ชนานันท์ โชติรุ่งโรจน์” ที่เคยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล “อินดีเพนเดนต์ สปิริต อวอร์ดส์” จากผลงานในภาพยนตร์เวียดนามเรื่อง “The Third Wife”) และเสียง-ดนตรีประกอบ (โดย “อัคริศเฉลิม กัลยาณมิตร” และ “ยาสุฮิโร โมรินากะ”) อันทรงพลัง ได้ผลักดันให้หนังทดลองเรื่องนี้ถูกขับเน้นด้วยมวลอารมณ์ความรู้สึกที่ทะลักล้น

เป็นอารมณ์ความรู้สึกแห่งการพลัดพรากสูญเสียแหลกสลายในระดับปัจเจกบุคคล-ครอบครัว ซึ่งได้รับผลกระทบจากโศกนาฏกรรมบางประการที่ใหญ่โตกว่านั้น (แต่คนดูมองไม่เห็น)

หรือที่ตัวผู้กำกับภาพยนตร์ เช่น ไทกิ เอง นิยามว่านี่เป็น “อาการอัมพาตทางด้านอารมณ์ความรู้สึก”

สอดคล้องกับที่นักวิจารณ์หลายคนบรรยายคล้ายคลึงกันว่าหนังเรื่องนี้ได้นำเสนอ “ห้วงฝันร้าย” ที่อุบัติขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่รู้จบ

ดังนั้น ถ้าอยากมองว่า “พญาโศกพิโยคค่ำ” คือภาพยนตร์ที่บอกเล่าถึง “สังคมการเมืองไทย”

นี่ก็เป็นหนังทดลองที่พยายามบันทึก-ถ่ายทอด “โครงสร้างทางอารมณ์ความรู้สึก” ของผู้คนหลากเจเนอเรชั่น ซึ่งใช้ชีวิตอยู่ภายในสังคมการเมืองอันสิ้นหวังแห่งนี้

มากกว่าจะเป็น “นิทานเปรียบเทียบ” เรื่องหนึ่ง

ปัญหาต่อเนื่องชวนขบคิดอีกข้อ ก็คือ เวลาเราพยายามทำความเข้าใจเรื่อง “โครงสร้างทางอารมณ์ความรู้สึก” เรามักมองหาว่า “อารมณ์ความรู้สึก” ของผู้คนในแต่ละยุคสมัยนั้นเปลี่ยนแปลงผันแปรไปอย่างไรบ้าง

ทว่าหากมองเผินๆ แล้ว “โครงสร้างทางอารมณ์ความรู้สึก” ใน “พญาโศกพิโยคค่ำ” กลับแลดูแน่นิ่ง เป็นอัมพาต ปราศจากความเปลี่ยนแปลง

ราวกับว่าหนังเรื่องนี้นั้นไม่มีและไม่ต้องการ “บริบท” หรือ “ประวัติศาสตร์” ใดๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม การปรากฏขึ้นของภาพ “ตึกชาโต” หรือ “ตึกกองบัญชาการบนเขาน้ำโจน” แม้เพียงเสี้ยวนาทีบนจอภาพยนตร์ (โดยคนดูหลายราย -รวมทั้งผู้เขียนบทความชิ้นนี้- ก็คิดไม่ทันและคิดไม่ออกด้วยซ้ำว่าอาคารดังกล่าวมีความหมายอย่างไรในหนัง) กลับช่วยยืนยันว่ามี “ประวัติศาสตร์” ดำรงอยู่ในหนังของไทกิ

ทั้งยังเป็นประวัติศาสตร์อันโยงใยกับมรดกของคณะราษฎรและจอมพล ป.พิบูลสงคราม อีกด้วย

ยิ่งกว่านั้น วิถีการดำเนินชีวิต-เผชิญหน้าปัญหาของตัวละคร “แม่” สองรุ่น ก็มีความผิดแผกกันอย่างน่าสนใจ

ขณะที่แม่รุ่นหนึ่งยอมทนทุกข์แบกรับชะตากรรมไปเรื่อยๆ แบบผู้ถูกกระทำ ท่ามกลางอารมณ์ความรู้สึกเศร้าโศกที่ถาโถมเข้ามาไม่หยุดหย่อน

แม่อีกคน ซึ่งเคยเป็นลูกสาวมาก่อน กลับเลือกจะหาหนทางระงับล้มเลิกอิทธิพลของ “อดีต” ที่ส่งผลต่อ “ปัจจุบัน” และอาจรวมถึง “อนาคต” ด้วยการลงมือทำอะไรบางอย่าง (ไม่ว่ามันจะถูกหรือผิดก็ตาม)

นี่ย่อมบ่งชี้ถึงบริบทและ “โครงสร้างทางอารมณ์ความรู้สึก” ของผู้คนอีกรุ่น ที่กำลังผันแปรไป