การทูตไทยแบบ Quiet Diplomacy หรือแบบ ‘เครื่องบินล่องหน’ กันแน่?/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

การทูตไทยแบบ Quiet Diplomacy

หรือแบบ ‘เครื่องบินล่องหน’ กันแน่?

 

สัปดาห์ก่อนผมเขียนถึงจุดยืนประเทศไทยในภาวะที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันของสองมหาอำนาจอย่างเข้มข้น

เป็นคำถามว่าไทยต้องวางตัวอย่างไรในภาวะที่สหรัฐกับจีนกำลังพันตูกันอย่างดุเดือดในเกือบทุกเวที

เป็นหัวข้อใหญ่ที่ผมมีโอกาสตั้งวงเสวนากับผู้รู้ 3 ท่านเมื่อเร็วๆ นี้ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021

หัวข้อทางการคือ Cold War 2.0 : How Will Thailand Cope With Superpowers?

สะท้อนถึงความท้าทายสำหรับผู้วางนโยบายต่างประเทศของเราบนจุดเปลี่ยนขั้วอำนาจโลก

ได้แนวทางวิเคราะห์และข้อเสนอแนะที่หลากหลายและน่าสนใจอย่างยิ่งจากผู้ร่วมเสวนาที่ล้วนเป็น “กูรู” ในหัวข้อนี้อย่างลุ่มลึกและหลากหลาย

เช่น ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

ตอนหนึ่งผมยกประเด็นเรื่องนโยบายของไทยต่อเมียนมาซึ่งเป็นหัวข้อที่ท้าทายและทดสอบแนวทางของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

ในเมื่อผู้นำอาเซียนไม่เชิญมินอ่องหล่ายมาร่วมประชุมสุดยอดประจำปีนี้

และเมื่อผู้นำจีนสีจิ้นผิงมานั่งหัวโต๊ะร่วมกับสมเด็จราชาธิบดีของบรูไนในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ร่วมกับผู้นำอาเซียนอื่นๆ เราก็เห็นที่นั่งของเมียนมาถูกทิ้งว่างลง

เพราะปักกิ่งเคารพในมติของผู้นำอาเซียนว่ายังไม่อาจจะเชิญผู้นำทางการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาร่วมวงได้ตราบที่ยังไม่มีความคืบหน้าในการทำตามฉันทามติ 5 ข้อ

ดร.สุรชาติวิเคราะห์ว่า

ไทยเจอบททดสอบหลายอย่างในประเด็นนี้

“ส่วนใหญ่สอบตก…” คือผลการตรวจการบ้านของอาจารย์ที่คร่ำหวอดในการวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของไทย

ดร.สุรชาติมองว่า ไทยทำตัวเป็นเครื่องบินรบล่องหน (Stealth Fighter) เพื่อที่เรดาร์จะตรวจจับไม่ได้

“เหมือนเราไม่อยากทำอะไร โดยเชื่อว่าการไม่ทำอะไร ทำให้เราปลอดภัยที่สุด”

แต่ในขณะเดียวกันเราไม่คิดต่อว่า การที่เราไม่ทำอะไรนั้น เราเสียโอกาสและอาจเสียประโยชน์

ความจริงในกรณีเมียนมา ไทยสามารถเล่นบทพระเอกได้

แต่ไทยกลับเลือกใช้ Secret Diplomacy หรือการทูตแบบลับๆ ซึ่งกลายเป็นการทูตแบบลับๆ ล่อๆ

ทำให้เกิดคำถามตามมาว่า จุดยืนไทยอยู่ตรงไหน

สรุปแล้วนโยบายของไทยคือการไม่มีนโยบายใช่หรือไม่

ผมถามว่าจะใช้สำนวน “ลู่ตามลม” ได้หรือไม่

อาจารย์ตอบทันควันว่า “ใช้ไม่ได้แล้ว เพราะลมแรง ลู่ไปแล้วอาจจะไม่คืนกลับมาหรืออาจหักก็ได้”

เหตุเพราะเงื่อนไขของสถานการณ์โลก บวกกับทักษะและขีดความสามารถของผู้นำไทยในแต่ละช่วงเวลาเปลี่ยนไปแล้ว

โดยเฉพาะเมื่อทุกวันนี้เราอยู่ในยุคการแข่งขันของรัฐอำนาจใหญ่ระหว่างสหรัฐและจีน

 

ดร.อาร์มตอบคำถามว่าไทยพร้อมแค่ไหนด้วยการชี้ให้เห็นว่าโครงสร้างการเมืองระหว่างประเทศปัจจุบันปรับเปลี่ยนไปมากแล้ว

เพราะมีปัจจัยใหม่เรื่องเทคโนโลยี โรคระบาด สิ่งแวดล้อม จากที่ในอดีตมีเพียงปัจจัยเรื่องการเมืองและความมั่นคงเป็นหลัก

ดร.อาร์มหยิบยกบันทึกของริชาร์ด นิกสัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ที่เขียนไว้หลังไปเยือนจีนและพบประธานเหมาเจ๋อตุงว่า เขากล่าวว่ายุคนั้นมี 5 มหาอำนาจ ประกอบด้วย สหรัฐซึ่งเป็นมหาอำนาจทุกมิติ, ยุโรปเป็นมหาอำนาจด้านอารยธรรม, ญี่ปุ่นเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจ, สหภาพโซเวียตเป็นมหาอำนาจด้านการทหารความมั่นคง และจีนเป็นมหาอำนาจด้านภูมิรัฐศาสตร์

กล่าวคือ จีนอยู่เฉยๆ ก็สำคัญ ทั้งในเชิงที่ตั้งและด้านจำนวนประชากร

แต่สิ่งที่ทำให้ปัจจุบันมีความซับซ้อนขึ้นก็คือ จีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจในทุกมิติ และเริ่มแข่งขันกับสหรัฐในทุกมิติ

ทั้งในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ เทคโนโลยี อารยธรรม อุดมการณ์ ดังนั้น จึงกลายเป็นโลกทวิภพที่ท้าทายขึ้นมาก ซึ่งความท้าทายนี้สามารถแบ่งเป็นสองมิติ

มิติแรก ดร.อาร์มมองว่าเรื่องการต่างประเทศไม่ใช่เรื่องของผู้เล่นระดับประเทศอีกต่อไป แต่ธุรกิจต้องมียุทธศาสตร์ต่างประเทศด้วย

คือต้องมียุทธศาสตร์เรื่องจีน โดยดูว่าธุรกิจจะใช้ประโยชน์อย่างไรจากห่วงโซ่เศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันก็ต้องดูว่าการต่อสู้กันของสองยักษ์กระทบกับโลกอย่างไร และกระทบกับธุรกิจอย่างไร

มิติสอง ไม่ใช่แค่มียุทธศาสตร์อย่างไรกับต่างประเทศเท่านั้น แต่ต้องมียุทธศาสตร์กับการปรับตัวเองด้วย

เพราะการแข่งขันของสองมหาอำนาจเกี่ยวโยงกับทั้งเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี

และเทคโนโลยียังแบ่งเป็นเทคโนโลยีดิจิตอล เทคโนโลยีพลังงานสะอาดด้วย

ดร.อาร์มมองว่าภายใต้บริบทที่สองมหาอำนาจแข่งขันกัน ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นหลายเท่า

ยกตัวอย่างการพัฒนาวัคซีน ซึ่งในอดีตใช้เวลาพัฒนา 10 ปี แต่ในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด ซึ่งแม้จะมีปัจจัยเรื่องความเร่งด่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแข่งขันของสหรัฐและจีนก็เป็นอีกตัวเร่งให้การพัฒนาวัคซีนสำเร็จเร็วขึ้น โดยใช้เวลาเพียง 8 เดือนเท่านั้น

ผมถามต่อว่า มหาอำนาจมองเราอย่างไร ให้คุณค่าไทยมากแค่ไหน

ดร.อาร์มตอบว่า เรารู้ตัวเราเองไหม ใช้ประโยชน์จากมันอย่างไร

พร้อมแนะนำว่าไทยต้องทบทวนว่าเราต้องทำอย่างไรเพื่อให้อยู่ในเรดาร์ ให้โลกมองเรา

ไม่ใช่แค่เพียงอยู่ในสายตาสหรัฐและจีนเท่านั้น

ดร.สุรเกียรติ์เสริมว่า มหาอำนาจมองข้ามไทยไม่ได้เป็นเพราะเรามีจุดเด่นด้านที่ตั้งทางยุทธศาสตร์

และสอง ไทยไม่มีปัญหากับใคร

แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกมองข้ามไม่ได้ด้วยนั้น

ย่อมทำให้หลายประเทศอยากได้ไทยเป็นเพื่อน

“การที่เรานั่งเฉยๆ ทำให้เราเสียโอกาส เอกชนเสียโอกาส เราต้องมีความคิดริเริ่ม” ดร.สุรเกียรติ์ยืนยัน

 

คําถามที่ว่าไทยจะสร้างสมดุลจีนกับสหรัฐอย่างไรนั้น ดร.สุรเกียรติ์บอกว่าไทยต้องตามเขาให้ทัน

เช่น เรื่อง CPTPP ที่พูดกันตั้งแต่หลายปีก่อน แต่เวลานี้สหรัฐเสนอผลักดัน Indo-Pacific Flamework ที่จะเริ่มมีผลปีหน้า

เป็นกรอบความร่วมมือหลวมๆ ไม่เน้นเรื่องการค้า แต่เน้นเรื่องซัพพลายเชนทางเทคโนโลยี โดยสามารถดึงอินเดียเข้ามาร่วม ซึ่งไทยต้องตามให้ทัน

ดร.สุรเกียรติ์มองว่าในอนาคตจะเป็น “สงครามสีเขียว”

หมายถึงเทคโนโลยีบวกเศรษฐกิจสีเขียว

คำถามคือประเทศไทยอยู่ตรงไหน สังคมไทยยังไม่เห็นความสำคัญของ COP26

 

ขณะที่ ดร.สุรชาติตอบคำถามเรื่องไทยอยู่ตรงไหนในยุคสงครามเย็น 2.0 ว่า มีโจทย์ 4 เรื่องซ้อนอยู่และต้องแก้ไข คือ ไทยยังไม่มีความคิดริเริ่ม ไม่มีมุมมองทางยุทธศาสตร์ ไม่เข้าใจภูมิรัฐศาสตร์ และไม่เข้าใจพลวัตของโลก

“เราจะอยู่อย่างไร เมื่อเราไม่รู้เขา ไม่รู้โลก ไม่รู้เรา คือไม่รู้ตำแหน่งตัวเอง จึงวางตำแหน่งของตัวเองไม่ได้ และไม่มีนโยบาย เพราะไม่ต้องการอยู่ในสปอตไลต์” ดร.สุรชาติเน้น

“ผมสรุปว่าหากเราไม่สามารถนิยามว่าผลประโยชน์ของไทยเองอยู่ตรงไหน เราก็ย่อมไม่สามารถจะวางยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศได้”

สรุปว่าหากไทยไร้ยุทธศาสตร์ เราก็ย่อมไม่สามารถวางจุดยืนของประเทศในเวทีระหว่างประเทศ ที่กำลังคุกรุ่นไปด้วยการแข่งขันที่อุดมไปด้วยความขัดแย้งของมหาอำนาจได้เช่นกัน

เห็นภาพชัดอย่างนี้ผมก็หวังว่าจะกระตุ้นให้เกิดการปรับวิธีคิดและยุทธศาสตร์ของชาติให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่น่ากลัวและน่าท้าทายมากขึ้นทุกที