ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 10-16 ธันวาคม 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม

คอลัมน์ My Country Thailand ของณัฐพล ใจจริง (หน้า 30) ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

พาเราหวนคืนไปสัมผัสงาน “ฉลองรัฐธรรมนูญ” ในอดีต

ที่ณัฐพล ใจจริง เกริ่นว่า

“…ไม่แต่เพียงการปฏิวัติ 2475 จะเปลี่ยนระบอบการปกครองเท่านั้น

แต่ยังเปิดพื้นที่ใหม่ๆ ทางความคิดและพื้นที่สาธารณะให้กับประชาชน

ดังเห็นจากงานฉลองรัฐธรรมนูญทุกวันที่ 10 ธันวาคม

…เป็นงานเฉลิมฉลองที่สำคัญในช่วง 2475-2484 เป็นเวลาติดต่อกันราว 10 ปีก่อนระงับไปในช่วงสงครามโลก และฟื้นคืนกลับมาจวบจนคณะราษฎรสิ้นสุดอำนาจลง”

 

เพื่อยืนยันถึง “งานเฉลิมฉลองที่สำคัญ” ดังกล่าว

ณัฐพล ใจจริง ได้อ้างถึงงานค้นคว้าของ “ปรีดี หงษ์สต้น” ว่า

“…งานฉลองรัฐธรรมนูญเป็นงานรื่นเริงของพลเมืองอย่างแท้จริง

เป็นการเปิดพื้นที่ให้เหล่าพลเมืองเชื่อมต่อเข้ากับการปกครองระบอบใหม่ที่กำเนิดขึ้นได้

และเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่ไทยเคยจัดมา

และไม่เคยมีงานไหนที่ใหญ่โตขนาดนี้มาก่อนจวบต้นสงครามเย็น…

…งานฉลองรัฐธรรมนูญ คือ งานรื่นเริงที่มีพลเมืองเป็นศูนย์กลาง

สร้างความตื่นตัวให้กับเหล่าพลเมืองเป็นอย่างมากในการจัดงาน การสนับสนุน การบริจาค

ความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของต่องานฉลองรัฐธรรมนูญนี้แตกต่างไปจากงานเฉลิมฉลองในระบอบเก่าที่ราษฎรเป็นเพียงตัวประกอบ…”

 

สอดคล้องกับเรียงความฉลองรัฐธรรมนูญ

ของนายสงวน โภโต นักเรียนชั้นมัธยม 8 โรงเรียนมัธยมอมรินทร์โฆสิต

ที่ได้รับรางวัล “ระดับดีเยี่ยม” ในการประกวดเรียงความในปี 2481 หัวข้อ “งานฉลองรัฐธรรมนูญอำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติอย่างไร?”

โดยนายสงวนระบุถึงงานฉลองรัฐธรรมนูญ ในเรียงความ ว่า

“พี่น้องชาวไทยทั้งหลาย เราคงจำกันได้อย่างดีว่า งานประจำปีอันมโหฬารที่เคยปรากฏขึ้นในประเทศสยามนั้น ไม่มีงานใดที่จะครึกครื้นและปลุกตาปลุกใจมากไปกว่างานฉลองรัฐธรรมนูญ…”

“…เนื่องจากวันที่ 10 ธันวาคมนั้น ทางราชการถือเอาวันนี้เป็นวันสำคัญของชาติ

เป็นวันที่ชวนให้ระลึกว่า อำนาจอธิปไตยได้ตกเป็นของประชาชนแล้ว”

“…มีงานมหรสพแทบทุกชนิดที่ทำให้ประชาชนร่าเริงบันเทิงใจ

ส่วนที่เป็นศูนย์กลางของงานคือ รัฐธรรมนูญที่เป็นมิ่งขวัญ ที่วางอยู่บนพานใหญ่ ใจกลางท้องสนามหลวง ทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของรัฐธรรมนูญ

อันได้ให้ความเจริญแก่เราชาวสยามพร้อมทั้งไตรภพ คือ อิสรภาพ เสรีภาพ และสมภาพโดยทั่วกัน…”

“…งานฉลองรัฐธรรมนูญนี้ เป็นงานที่เปิดโอกาสให้ประชาชนโดยทั่วหน้ากัน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือคหบดี ก็มีสิทธิเสมอกัน ประชาชนที่มาชมงาน ก็มีสิทธิที่จะชมงาน ณ ที่ต่างๆ ตามความพอใจ

นี่แหละเป็นการให้สิทธิเสมอภาคและเสรีภาพแก่ปวงชนทั่วไป

หรือกล่าวโดยทางการเมืองว่า เป็นการส่งเสริมหลักเสมอภาคและเสรีภาพ

อันเป็นหลักการปกครองประเทศให้มั่นคงยิ่งขึ้น”

 

จากเรียงความดังกล่าว

นายสงวน โภโต อันเป็นประหนึ่ง “คนรุ่นใหม่” ในวันนั้น

ดูเหมือนเขาจะมีความหวังกับสิทธิเสมอภาคและเสรีภาพ อย่างยิ่ง

แต่กระนั้น จากปี พ.ศ.2481 มาถึงปัจจุบัน

มิเพียงงาน “ฉลองรัฐธรรมนูญ” จะกลายเป็น “ครั้งหนึ่งในอดีต” และ “ถูกทำให้ถูกลืม” เท่านั้น

สิทธิเสมอภาคและเสรีภาพ อันเป็นหลักการสำคัญของประชาธิปไตย ตามที่คนรุ่นใหม่ยุคนั้นตั้งความหวังไว้อย่างสูงว่าจะเกิดขึ้น ณ ดินแดนแห่งนี้

ยังมิอาจเป็นจริง

แถมยังเสื่อมถอยออกไปจากความเป็น “ประชาธิปไตย” อย่างที่หากนายสงวน โภโต ได้รับรู้ไม่ว่าทางใด

คงตกใจและเสียใจ

ที่ชาวสยาม “ไม่ได้” ถึงพร้อมทั้งไตรภพ คือ อิสรภาพ เสรีภาพ และสมภาพโดยทั่วกัน แต่อย่างใด