เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ / ซอยลาดหญ้า 15

ริมซ้ายสุดใส่หมวกคือคุณทากะยูกิ

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ซอยลาดหญ้า 15

 

ถนนลาดหญ้าอยู่ฝั่งธนฯ เริ่มต้นจากอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินทรงม้าวงเวียนใหญ่ไปสุดที่คลองสาน

ซอยลาดหญ้า 15 อยู่ซ้ายมือ เริ่มต้นจากวงเวียนใหญ่ไปคลองสานนี่แหละ เป็นซอยสั้นๆ ยาวสักห้าสิบเมตรกระมัง

เหมือนซอยทั่วไปที่ขนาบด้วยห้องแถว รถราจอดเกะกะอยู่ในซอกซอยแคบๆ

เด็กๆ วิ่งเล่นกันขวักไขว่เจี๊ยวจ๊าว มีตั้งแต่ราวห้าหกขวบจนถึงราวสิบสามสิบสี่ปี พวกเขาไม่สนใจอะไรเลยนอกจากวิ่งไล่วิ่งเล่นตลอดซอย

เราเองต้องคอยระวังหลบ

 

ห้องแถวหัวมุมนี้คือร้านหรือบ้านของคุณทากะยูกิ อิโมริ หนุ่มญี่ปุ่นวัยใกล้จะกลางคน กุลีกุจอต้อนรับ นั่งได้สักครู่ก็มีหนุ่มไทยข้ามฟากจากห้องแถวเข้ามาวัดเท้าเรา ขณะคุณทากะกุลีจอพาเพื่อนบ้านอีกคนเข้าไปเลือกเสื้อผ้ามือสองที่แขวนแน่นอยู่เต็มราวกลางห้อง

ฝาผนังห้องด้านในนั้นเต็มไปด้วยรูปเขียนฝีมือเด็ก

และเด็กอีกนั่นแหละ ยกน้ำยกขนมจีบวางบนโต๊ะต้อนรับด้วยกิริยาเรียบร้อย เสร็จแล้วก็วิ่งไปเล่นเจี๊ยวจ๊าวกับผองเพื่อนที่ขวักไขว่อยู่ทั้งนอก-ในบ้าน

คุณทากะเอาตัวอย่างหนึ่งเพื่อตัดรองเท้าให้เราเลือก

ทากะเป็นช่างตัดรองเท้ามือดี มีร้านอยู่แถวสีลม

บ้านและเพื่อนบ้านคือโรงงานตัดรองเท้าตามที่เราคิดเอาก่อนมาเห็นว่าแท้คือซอยแสนสนุกของเด็กๆ

ซอยแสนสนุกที่ “มอมแมมไปด้วยความงาม” ตามสำนวนของ ‘รงค์ วงษ์สวรรค์

ผนังด้านนอกตรงไหนว่าง ตรงนั้นจะมีรูปเขียนเต็มไปด้วยชีวิตชีวา

“ศิลปินทั้งไทยและต่างชาตินะที่เราชวนมาเขียนผนังในซอย”

เพื่อนของทากะขยายความให้ฟังว่าเริ่มจากตัวทากะเองที่มีเพื่อนจากญี่ปุ่นมาแสดงผลงานทั้งรูปเขียนและเล่นดนตรี

กระทั่งเนรมิตซอยลาดหญ้า 15 ให้มีชีวิตชีวา “มอมแมมไปด้วยความงาม” อย่างว่า

 

บ้านหรือห้องแถวของทากะกลายเป็นสโมสรเด็ก นอกจากเขียนรูป เล่นดนตรี เล่นกีฬา เช่น ปิงปอง โดยมีโต๊ะปิงปองอยู่ตรงที่ว่างๆ กลางพื้นห้องนั้น

“เสื้อผ้ามือสองนี่ทากะก็นำมาออกแบบด้วยการเขียนรูปเขียนลายให้เป็นงาน ชนิดมีตัวเดียวในโลกเลยนะ”

ยืนยันได้โดยแน่แท้เลยว่า นี้คือศิลปินเพื่อชีวิตตัวจริง ด้วยทุกงานล้วนเข้าถึงทุกคน และทุกคนเข้าถึงงานศิลปะได้โดยตรง

ที่ได้ชัดเจนยิ่ง ก็คือเข้าถึงธรรมชาติบริสุทธิ์ในจิตใจเด็กทุกเพศวัย

เหนือกว่านั้น งานศิลปะที่เป็นพลังดึงเด็กๆ ให้ได้มาแสดงออกด้วยกัน เป็นพลังที่ดึงพ่อ-แม่ของเด็กๆ ในซอยทั้งซอยให้มาเป็นมิตรไมตรี รู้สึกได้ถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นชุมชนเดียวกันด้วย

ที่เวลานี้หาได้ยากนัก

เราอยู่หมู่บ้านเดียวกัน ซอยเดียวกัน แต่แทบทุกหมู่บ้าน ทุกซอยซอกตรอกตระการล้วนต่างคนต่างอยู่

ยิ่งหมู่บ้านใหญ่ก็ยิ่งเหมือนบ้านร้าง ต่างขังตัวเองไว้ในอาณาจักรส่วนตนมิดชิด

 

เคยผ่านซอยอย่างนี้แทบทุกซอย แต่ไม่เคยได้รู้สึกเหมือนซอยนี้เลย อยู่ท่ามกลางความขวักไขว่แต่ให้รู้สึกได้ถึงบความสงบ

ความสงบที่ได้จากสัมผัสถึงความมีชีวิตชีวา ความเป็นธรรมชาติล้วนๆ ไม่ปรุงแต่งเสแสร้งใดๆ สิ้น

“วันดีคืนดีมีนิทรรศการศิลปะที่ไหน ทากะจะพาเด็กๆ ในซอยนั่งท้ายรถกระบะไปชม”

ประสบการณ์อย่างนี้เป็นห้องเรียนมีค่ายิ่ง เป็นพื้นฐานรสนิยมที่จะทำให้คนเป็นมนุษย์ได้จริง

ที่ประเทศอังกฤษจะมีหอศิลป์ใหญ่ แทบทั้งวันจะมีเด็กนักเรียนตั้งแต่วัยอนุบาลเข้าแถวไปนั่งดูรูปเขียน โดยมีผู้เล่าให้เด็กฟังถึงเรื่องราวของแต่ละรูปนั้น

ที่วัดพุทธประทีปของไทย ทุกเช้าจะมีนักเรียนในละแวกนั้นเข้าไปดูจิตรกรรมฝาผนังในโบสถ์โดยพระไทยจะคอยบรรยายให้เด็กฟังถึงเรื่องราวจากภาพผนังนั้น

สามจิตรกรผู้เขียนจิตรกรรมฝาผนังคือสามจิตรกรเอกของไทยคือ เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ปัญญา วิจินธนสาร และสมภพ บุตราช

เด็กๆ ถูกปูพื้นด้วยรสนิยมทางศิลปะเหล่านี้จะโตขึ้นอย่างมีพัฒนาการ โดยเฉพาะทางจินตนาการอันมีค่ายิ่ง

อย่างที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ยอดนักวิทยาศาสตร์ของโลกว่าไว้คือ

จินตนาการสำคัญกว่าความรู้

 

นี่คือ “พลังศิลปะ” ที่เด็กและเยาวชนเรายังขาดการปูพื้นอยู่ จึงมักตกเป็นเหยื่อของความไร้รสนิยมที่ยุคสมัยฉาบฉวยหยิบยื่นให้ในวันนี้

ได้ทราบว่าบางประเทศในยุโรปนั้นจะมีกิจกรรมให้เด็กอย่างสำคัญอยู่สามอย่างคือ เขียนรูป เล่นดนตรี และเดินป่า

เขียนรูปจะช่วยสร้างจินตนาการ

เล่นดนตรีจะช่วยสร้างความละเอียดอ่อนในจิตใจ

เดินป่าจะช่วยส่งเสริมความใฝ่รู้ของเด็ก

ซอยลาดหญ้า 15 เป็นห้องเรียนชีวิตให้เด็กในซอยได้อย่างน่าทึ่ง สามารถสร้างพัฒนาการให้เด็ก ให้ผู้ใหญ่ และให้ความเป็นชุมชนที่มีชีวิตชีวายิ่ง

ขอบคุณคุณทากะยูกิ อิโมริ ช่างรองเท้าผู้สร้างทางเดินด้วยพลังศิลปะสู่ชุมชน

เสกซอยเล็กๆ ให้อยู่ในความทรงจำไม่รู้ลืมว่านี่คือ

ซอยลาดหญ้า 15