วิรัตน์ แสงทองคำ/ดีล TRUE-DTAC (2)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ/https://viratts.com/

  ดีล TRUE-DTAC (2)

 

ดีลสำคัญ ก่อให้เกิดการพลิกโฉมธุรกิจสื่อสาร ด้วยมุมมองเชิงบวกต่อผู้เล่นในธุรกิจโดยตรง

โดยเฉพาะเมื่อมองมายังเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE)

จากหัวข้อข่าวใหญ่ “เครือซีพี และกลุ่มเทเลนอร์ พิจารณาสร้างความร่วมมือ อย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership)” ขณะมีเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ ผ่านถ้อยแถลงของ Telenor Group ในวันเดียวกัน (Oslo/Bangkok, 22 November 2021) หัวข้อ “C.P. Group and Telenor Group support True and dtac in exploring the creation of a new telecom-tech company” บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการ โดยเน้นว่า “… new company will be a merger of equals”

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาขนาดของกิจการซึ่งไม่เท่ากันแล้ว ที่สำคัญพบว่า TRUE ใหญ่กว่า สัดส่วนถือหุ้นในบริษัทควบรวมย่อมมากกว่า

จากถ้อยแถลงของทั้ง TRUE  และ DTAC ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ มีสาระสำคัญ ระบุการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมไว้ด้วย

“1 หุ้นเดิมใน DTAC ต่อ 24.53775 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมใน TRUE ต่อ 2.40072 หุ้นในบริษัทใหม่” ทั้งนี้ “อัตราการจัดสรรหุ้นข้างต้นกําหนดขึ้นจากสมมุติฐานว่า ภายหลังการควบบริษัท บริษัทใหม่จะมีหุ้นที่ออกและจําหน่ายแล้วทั้งหมด จํานวน 138,208,403,204 หุ้น โดยมีมูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1 บาท”

เมื่อคำนวณคร่าวๆ จากฐานทุนจดทะเบียนของแต่ละบริษัทไม่เท่ากัน และที่มีจำนวนหุ้นแตกต่างกัน ปรากฏว่า TRUE (33,368.20 ล้านหุ้นเดิม) จะมีหุ้นในบริษัทใหม่ ราวๆ 80 ล้านบาท ขณะ DTAC (2,367.81 ล้านหุ้นเดิม) มีหุ้น 58 ล้านหุ้น

นั่นหมายความว่า บริษัทใหม่ซึ่งเกิดจากการควบรวม TRUE จะถือหุ้นมากกว่า DTAC ในสัดส่วน ราวๆ 58/42

 

ว่าไปแล้ว TRUE ในนามธุรกิจสื่อสารของซีพี เป็นเพียงหนึ่งในสามธุรกิจหลัก ยังไม่ถือว่าเป็นผู้นำตลาดอย่างแท้จริง ไม่เป็นเฉกเช่นเดียวกับ CPF (ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร) กับ CPALL (ธุรกิจค้าปลีก) แม้ว่าการก่อตั้งได้ผ่านมากว่า 3 ทศวรรษ การดำเนินธุรกิจยังคง “ผ่านร้อนผ่านหนาว” เผชิญแรงเสียดทานมากเป็นพิเศษ หลายช่วงหลายตอน ที่สำคัญมีประสบการณ์ ผัดเปลี่ยนผู้ร่วมทุนหรือพันธมิตรธุรกิจระดับโลกหลายต่อหลายครั้ง

“30 ปีที่ผ่านมา ซีพีต้อง ‘สู้’ สารพัดอุปสรรคกว่าจะสร้างทรูมาได้ เราต้องอดทนต่อคำสบประมาท ต่อสู้กับความไม่เข้าใจของประชาชน การกดจากฝ่ายรัฐ วิกฤตเศรษฐกิจ และอีกมากมาย” ธนินท์ เจียรวนนท์ กล่าวไว้ (ในหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”)

จากจุดเริ่มต้นเข้าสู่ธุรกิจใหม่อย่างครึกโครมแห่งยุค เมื่อปี 2533 รัฐบาลได้เชิญชวนภาคเอกชนร่วมลงทุน ในการขยายเลขหมายโทรศัพท์ จำนวน 3 ล้านเลขหมายทั่วประเทศ การประมูลที่มีมูลค่าการลงทุนใหญ่ที่สุดในยุคนั้น

ไม่นานก็มาถึงอุปสรรคใหญ่ ท่ามกลางวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในปี 2540 เวลานั้นมีการประเมินกันว่า ซีพีมีหนี้สินราวๆ 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนใหญ่เกี่ยวกับ TRUE (ขณะนั้นชื่อ เทเลคอมเอเชีย) คาดว่ามีมากถึงราว 800 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกัน Bell Atlantic แห่งสหรัฐอเมริกา (ช่วงนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น NYNEX) หุ้นส่วนสำคัญของเทเลคอมเอเชีย กำลังปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่อีกครั้ง ในเวลาต่อมาพักใหญ่ (NYNEX เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น Verizon Communication) ได้ถอนตัวจากการร่วมทุน

ที่หนักกว่านั้น แผนการเกี่ยวกับเทคโนโลยีผิดคาด “…คาดไม่ถึงจะมีเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเคเบิลใยแก้วไม่มีค่าอีกต่อไป…” ธนินท์  เจียรวนนท์ กล่าวไว้อีกในหนังสือที่อ้างไว้ข้างต้น

อย่างไรโอกาสใหม่เกิดขึ้น ช่างบังเอิญเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ DTAC เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ปี 2543 เครือข่ายธุรกิจสื่อสารต่างชาติเข้ามาเป็นกรณีแรกในสังคมธุรกิจไทย Telenor Group กลุ่มธุรกิจสื่อสารระดับโลก ถือหุ้นส่วนใหญ่โดยรัฐบาลนอร์เวย์ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน DTAC

ปีเดียวกัน (ปี 2543) ซีพีปรับโครงสร้างหนี้ โครงสร้างธุรกิจสื่อสาร เข้าซื้อบริษัท ไวร์เลส คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส หรือ WCS ผู้ถือสัมปทานธุรกิจโทรศัพท์มือถือคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรซต์ และร่วมทุนกับ Orange Plc. UK ในนาม TA Orange ในแบรนด์ Orange ในปี 2544 เป็นจุดเริ่มต้นธุรกิจสื่อสารไร้สาย รายที่ 3 แต่อีกครั้ง Orange Plc. UK ปรับเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นหลายครั้ง

ในที่สุด Orange ถอนตัวจากการร่วมทุนไล่หลัง Verizon ซีพีจึงได้จังหวะปรับโครงสร้างธุรกิจสื่อสารอีกครั้งมาเป็น TRUE

 

จากนั้น TRUE ได้ดำเนินแผนการเชิงรุกอย่างเต็มสตรีม

ปี 2554 ซื้อกิจการสื่อสารและผนวกรวมผู้ใช้บริการหลายพันราย จากเครือข่าย Hutchison Whampoa แห่งฮ่องกง โดยใช้เงิน 6,300 ล้านบาท

ปี 2557 TRUE สามารถแสวงหาพันธมิตรธุรกิจต่างชาติอีกครั้ง จากเครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งโลกตะวันตก สู่โลกตะวันออก จากกิจการเก่าแก่ ซึ่งเผชิญการปรับตัวบ่อยครั้ง ไม่ว่า Verizon Communications (มีรากฐานก่อตั้งเกือบๆ 150 ปี)  และ Orange (ในเครือข่ายธุรกิจ ซึ่งมีตำนานย้อนกลับไปในยุคปฏิวัติฝรั่งเศส กว่า 2 ศตวรรษที่แล้ว) สู่กิจการใหม่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตการณ์ “ต้มยำกุ้ง” และเติบโตอย่างมหัศจรรย์

China Mobile ภายใต้อาณัติรัฐบาลจีน เดินแผนการระดมทุนจากตลาดหุ้นทั้งที่ฮ่องกงและนิวยอร์ก กิจการเติบโตอย่างอย่างน่าทึ่ง กลายเป็นผู้ให้บริการสื่อสารไร้สายที่มีจำนวนผู้ใช้บริการมากที่สุดในโลก   กำลังขยายเครือข่ายธุรกิจออกนอกแผ่นดินใหญ่ เข้ามาเมืองไทยถือหุ้น TRUE ด้วยสัดส่วน 18%

เข้ากับจังหวะก้าวของ TRUE ตามแผนระดมทุนครั้งใหญ่ได้เงินจาก China Mobile เกือบๆ 30,000 ล้านบาท สอดคล้องกับแผนการใหญ่ (ปี 2558) การประมูลคลื่นความถี่ หรือที่เรียกว่า 4G ในที่สุด TRUE ได้เป็นผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว สามารถคว้าใบอนุญาต ทั้งย่านความถี่ 900 และ 1800 MHz

การเดินเครื่องเต็มสตรีม มาพร้อมการลงทุนครั้งใหญ่ ไม่ว่าราคาใบอนุญาตใหม่ที่แพงลิ่ว กับการลงทุนอย่างเร่งรีบขยายเครือข่ายสื่อสารใหม่ทั่วประเทศ

แรงบันดาลใจในการแข่งขันทางธุรกิจเพื่อก้าวเป็นผู้นำธุรกิจสื่อสาร ด้วยแผนการเต็มสตรีมข้างต้น ผลที่ตามมาโดยเฉพาะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ถือว่าก้าวหน้าเป็นลำดับ แต่เมื่อพิจารณาดัชนีต่างๆ ไม่ว่าราคาหุ้น ผลประกอบการ และตัวเลขผู้ใช้บริการ ฯลฯ ดูไปแล้ว แผนการและความพยายามทั้งหมดที่ดำเนินมา คงไม่สามารถบรรลุเป้าหมายอย่างที่ตั้งไว้โดยง่าย

ดีลใหม่ ด้วยพันธมิตรใหม่ ดังที่ว่ามา จึงบังเกิด

————————————————–

ข้อมูลจำเพาะทางการเงิน

(ล้านบาท)

ปี                                2560                            2561                2562                     2563                        2564/3

ADVANCE – บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)

รายได้รวม          158,471.80        170,716.67        181,740.18        173,720.31        132,020.10

กำไรสุทธิ           30,077.31          29,682.18          31,189.57          27,434.36          20,058.77

TRUE – บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

รายได้รวม          144,448.99        173,736.43        149,631.69        143,338.54        103,177.24

กำไรสุทธิ           2,322.53            7,034.59            5,636.74            1,048.40            -1,482.76

DTAC – บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

รายได้รวม          78,740.51          75,539.25          81,228.20          78,883.40          59,855.12

กำไรสุทธิ           2,114.97            -4,368.69           5,421.89            5,107.12            3,184.86

ที่มา : ข้อสนเทศตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย